ThaiPublica > คอลัมน์ > เตือนภัยสงครามค่าเงิน

เตือนภัยสงครามค่าเงิน

19 มกราคม 2015


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

อาทิตย์ที่ผ่านมามีเรื่องตื่นเต้นในตลาดการเงิน เมื่อธนาคารกลางสวิสออกมาประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินขั้นต่ำกับเงินยูโรที่มีมาตั้งแต่ปี 2011 พร้อมกับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเหลือ -0.75% (ใช่ครับธนาคารไหนอยากเอาเงินมาฝากไว้กับธนาคารกลางสวิสต้อง “จ่ายดอกเบี้ย” ให้กับธนาคารกลาง!)

ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่ ค่าเงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นกว่า 40% ในเวลาไม่ถึงสิบนาที ก่อนจะปรับตัวคืนมา แต่ก็ยังแข็งค่าขึ้นเกือบ 20%

มันเกิดอะไรกันขึ้นครับ? และจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต? ลองมาช่วยกันคิดดีกว่าครับ

หลายๆ คนคงได้ยินมาสักพักแล้วว่า กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เงินฝืดกำลังเป็นปัญหาใหญ่ บางคนบอกว่ายุโรปอาจจะกำลังกลายเป็นญี่ปุ่นที่เจอกับปัญหาเงินฝืดมากว่ายี่สิบปี และยังคงทำให้เศรษฐกิจตกสะเก็ดถึงทุกวันนี้

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาส่งสัญญาณหลายครั้งว่าอาจจะต้องใช้นโยบายพิเศษในการจัดการปัญหา ที่คงจะเป็นการพิมพ์เงินเพิ่มในปริมาณมหาศาลอีกรอบ มีการพูดกันถึงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศต่างๆ ขนาด 5 แสนล้านถึงหนึ่งล้านล้านเลยทีเดียว และตลาดการเงินเฝ้าจับตาการประชุมของ ECB ในวันที่ 22 มกราคม ว่าจะประกาศอะไรออกมาหรือไม่

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่หลายคนคงรู้จักกันดีในฐานะประเทศที่มีระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง คนรวยมักจะเอาเงินไปเก็บไว้กับสวิสแบงก์กันเยอะๆ และสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศในยุโรปตะวันตกที่ไม่ได้ใช้เงินยูโร และยังคงมีเงินสกุลของตัวเอง คือเงินฟรังก์สวิส (CHF)

สวิสประกาศตรึงค่าเงินขั้นต่ำไว้ไม่ให้แข็งไปกว่า 1.20 ฟรังก์ต่อยูโรตั้งแต่ปี 2011 สมัยที่มีวิกฤติค่าเงินยูโรรอบที่แล้วที่ทำเอาค่าเงินฟรังก์สวิสแข็งปั๋ง (เพราะใครๆ ก็อยากเอาเงินออกจากยูโร) จนทำให้สวิตเซอร์แลนด์กังวลเรื่องความสามารถในการแข่งขัน สวิตเซอร์แลนด์ป้องกันค่าเงินอย่างเข้มแข็งมาหลายปี จนทำให้เงินสำรองของสวิสเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในสี่ปีที่ผ่านมา และมีกว่าห้าแสนล้านยูโรในปัจจุบัน จนกระทั่งประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีสัญญาณก่อนหน้านี้ (ธนาคารกลางเพิ่งจะออกมายืนยันสองวันก่อนจะประกาศ)

ที่มาภาพ : http://www.bloomberg.com/image/iyqE1pRwX18Q.jpg
ที่มาภาพ : http://www.bloomberg.com/image/iyqE1pRwX18Q.jpg

โดยให้เหตุผลว่าค่าเงินยูโรอ่อนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์แล้ว การตรึงค่าเงินไว้จึงไม่จำเป็นต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันอีกต่อไป

ทันทีหลังประกาศเงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นกว่า 40% ซึ่งต้องถือว่าเป็นการขยับที่ใหญ่มากในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนหนึ่งเพราะคงมีคนคาดการณ์ว่าเงินฟรังก์สวิสคงอ่อนไปพร้อมๆ กับยูโรค่อนข้างเยอะ และคงมีคนกู้เงินฟรังก์สวิสไปลงทุนเงินสกุลอื่นไว้เพื่อเอาไปทำ carry trade (กู้เงินสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแล้วเอาไปลงทุนในเงินสกุลที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง) หลังประกาศคงมีคนอยากซื้อเงินฟรังก์สวิสเพื่อเอาไปคืนเยอะมากจนหาเงินฟรังก์สวิสไม่ได้และค่าเงินเลยแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีคนเจ็บตัวกันระนาว มี hedge fund บางแห่งถึงเจ๊งเลยทีเดียว (แต่ใครถือเงินสวิสไว้ก็รวยเลยครับ)

ธนาคารกลางสวิสประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินจากที่เก็บจากสถาบันการเงินเหลือ -0.75% (ใช่ครับดอกเบี้ยติดลบ) เพื่อลดแรงจูงใจไม่ให้คนมาถือเงินฟรังก์สวิส

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ธนาคารกลางสวิสทำคือความต้องการแยกตัวเองจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ก่อนที่ ECB กำลังจะประกาศพิมพ์เงินเพิ่มเร็วๆ นี้ เพราะถ้า ECB มีการพิมพ์เงินมากๆ ขึ้นมาจริงๆ คงมีเงินจำนวนมากไหลเข้าสวิส และการตรึงค่าเงินขั้นต่ำไว้กับยูโรหมายความว่าธนาคารกลางสวิสต้องซื้อเงินยูโรแบบไม่มีทางเลือก และต้องพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบการเงินสวิสตาม ECB อีกปริมาณมาก

การตรึงค่าเงินก็คือการยอมรับเอานโยบายการเงินของอีกประเทศมาใช้อย่างไม่มีทางเลือก แม้ว่าธนาคารกลางสวิสอาจจะสามารถดูดเงินออกจากระบบได้ (sterilize) แต่ก็มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยและคงไม่สามารถหนีนโยบายอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ไปได้ เท่ากับว่าสวิสจะเสียทั้งนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไป

สมมตินะครับว่าถ้าสวิตเซอร์แลนด์มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาฟองสบู่ เกิดขึ้น ธนาคารกลางสวิสอาจจะไม่มีเครื่องมือนโยบายอื่นมาแก้ปัญหาเลย เพราะต้องเก็บดอกเบี้ยไว้ที่ศูนย์เสมอ (ถ้าขึ้นดอกเบี้ยเงินจะยิ่งไหลเข้ามากไปอีก)

แม้จะก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อตลาดเงินและกระทบต่อการส่งออกในระยะสั้น และหลายคนบอกว่านี่คือความผิดพลาดครั้งใหญ่ของธนาคารกลาง แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็ได้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนกลับคืนมา

แต่ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของสวิตเซอร์แลนด์ ภาพใหญ่คือเรากำลังอยู่ในโลกที่มีแนวโน้มแยกออกจากกัน (divergence) ในแง่ของการฟื้นเศรษฐกิจ นโยบายของธนาคารกลาง และค่าเงิน ของยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ คือสหรัฐฯ ที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวและเพิ่งจะประกาศยุติการพิมพ์เงิน กับยุโรปและญี่ปุ่นที่ยังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและธนาคารกลางยังคงพิมพ์เงินอย่างแข็งขัน

ในภาวะแบบนี้ เสมือนกับการมีสงครามค่าเงินระหว่างสามเงินสกุลหลักของโลก คือ ดอลลาร์ ยูโร และเยน ปีที่ผ่านค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นประมาณ 15% เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ (เงินเยนอ่อนจากประมาณ 100 เยนต่อดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วมาเป็น 118 ในตอนนี้ และยูโรอ่อนจาก 1.3-1.4 ดอลลาร์ต่อยูโร เหลือ 1.16 ในตอนนี้) และดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ เพราะเงินมีแนวโน้มไหลออกจากประเทศที่มีการพิมพ์เงินอยู่เรื่อยๆ ไปหาดอลลาร์ และแต่ละประเทศคงอยากให้เงินตัวเองอ่อนเพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น

หรือนี่คือสงครามค่าเงิน

ยิ่งก่อนที่ ECB จะประกาศพิมพ์เงินเพิ่มคนยิ่งเร่งเอาเงินออกจากยูโรจนเงินยิ่งอ่อนเร็วขึ้น ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุสองปีของหลายประเทศในยุโรปที่ไม่ได้ใช้เงินยูโร เช่น เดนมาร์ก สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ต่ำขนาดติดลบ!! เท่ากับว่านักลงทุนยอมซื้อพันบัตรที่ราคาแพงกว่ามูลค่าหน้าตั๋ว หรือยอมจ่ายรัฐบาลเหล่านี้เพื่อให้เก็บเงินไว้สองปี! ซึ่งไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก นอกจากความเชื่อว่าดีกว่าเก็บเงินสดสกุลยูโรไว้ เพราะคงด้อยค่าไปเรื่อยๆ

ดูเหมือนว่ายุโรปและญี่ปุ่นกำลัง “ส่งออก” ภาวะเงินฝืด นโยบายดอกเบี้ยต่ำ และการพิมพ์เงิน ไปให้ประเทศอื่น ประเทศไหนไม่ลดอัตราดอกเบี้ยตาม ก็ต้องเสี่ยงกับอัตราแลกเปลี่ยนที่จะแข็งขึ้น

เราเริ่มเห็นประเทศเล็กๆ หลายประเทศ เช่น เกาหลี จีน และอินเดีย เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกอย่างเราจะเป็นอย่างไร

ในปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทไทยอาจจะไม่ค่อยขยับเท่าไรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ (เราก็ถือว่าอยู่ใน dollar bloc แบบกลายๆ) และเริ่มมีแนวโน้มแข็งขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่เราราคาน้ำมันลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดเราน่าจะกลายเป็นเกินดุลเพิ่มขึ้น

แต่อย่าลืมว่าค่าเงินเราแข็งค่าขึ้น 10-15% เมื่อเทียบกับยูโรและเยนพร้อมๆ กับเงินดอลลาร์นะครับ และเท่ากับเราเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดเหล่านี้ไปแบบไม่ทันสังเกต ถ้าเทียบกับคู่ค้าทั้งหมด ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสัก 5-6% ในปีที่ผ่านมา และอาจจะแข็งขึ้นไปอีกพร้อมๆ กับค่าเงินดอลลาร์

ระหว่างนี้การส่งออกเราก็ไม่ค่อยโตเสียด้วย เตรียมรัดเข็มขัดกันไว้หน่อยนะครับ

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วเราควรรับมืออย่างไร ในระหว่างที่สงครามค่าเงินอาจจะดำเนินต่อไป และอาจจะมีเงินไหลเข้าจากการพิมพ์เงินเพิ่มของประเทศเหล่านี้ และเรามีข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพจากหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง

และถึงเราไม่ลดดอกเบี้ยตลาดก็หาทางลดดอกเบี้ยให้เอง ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี เหลือเพียง 2.5% ซึ่งถือว่าต่ำมากๆ

การดำเนินนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อยังคงใช้ได้ดีในภาวะที่โลกไม่มีเงินเฟ้อ และประเทศใหญ่ๆ ใช้นโยบายการเงินแบบไม่ปกติหรือเปล่า ผมสงสัยจัง

จงติดตามด้วยใจระทึก