ThaiPublica > เกาะกระแส > มติร่วมอัยการ-ป.ป.ช. ส่งฟ้องอาญา “ยิ่งลักษณ์” แล้ว ฟัน “บุญทรง” กับพวกรวม 21 คน ทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี

มติร่วมอัยการ-ป.ป.ช. ส่งฟ้องอาญา “ยิ่งลักษณ์” แล้ว ฟัน “บุญทรง” กับพวกรวม 21 คน ทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี

20 มกราคม 2015


ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า วันที่ 20 มกราคม 2558 ที่ประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาหาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยประชุมเป็นนัดสุดท้าย ซึ่งได้มีการนำข้อไม่สมบูรณ์ที่มีอยู่และพยานหลักฐานที่ ป.ป.ช. ได้สอบเพิ่มเติมมาพิจารณาในที่ประชุม ในที่สุดคณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าข้อสมบูรณ์ในคดีนี้ขณะนี้ได้มีพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้คณะทำงานร่วมจะส่งเรื่องไปให้ อสส. พิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป เท่าที่ทราบ ฝ่าย อสส. จะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วภายในไม่กี่วันนี้ ขอให้ติดตามท่าทีจาก อสส. ว่าจะสั่งฟ้องคดีได้เมื่อใด

ในช่วงเช้าวันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ตามที่อนุกรรมการไต่สวนรายงาน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com

ต่อมาเวลา 15.20 น. นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวน มีรายละเอียดดังนี้ว่า นายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ และประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พ.ต. วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมว.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง (ทีปวัชระ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม และผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ นายสมคิด เอื้อนสุภา นายรัฐนิธ โสจิระกุล นายลิตร พอใจ ผู้รับมอบอำนาจชำระเงินและผู้รับมอบอำนาจรับมอบข้าว

ส่วนบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง ในฐานะกรรมการบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด นางสาวสุธิดา จันทะเอ ในฐานะกรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นางสาวเรืองวัน เลิศศลารักษ์ ในฐานะกรรมการบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด และในฐานะส่วนตัว นายโจ หรือนิมล รักดี นายสุธี เชื่อมไธสง นางสาวสุนีย์ จันทร์สกุลพร นายกฤษณะ สุระมนต์ นายสมยศ คุณจักร บริษัทสิราลัย จำกัด หรือบริษัทกีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด นางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร ในฐานะกรรมการบริษัทสิราลัย จำกัด และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ได้ร่วมกันกระทำความผิด ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยช่วยเหลือ มุ่งหมาย และเอื้อประโยชน์ให้กับ Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. และ Hainan grain and oil industrial trading company ซึ่งมิได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย แต่ให้มีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่นแล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายภายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่ฝ่ายไทยเสนอ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ และประเทศชาติอย่างร้ายแรง

นายวิชากล่าวต่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 (ทั้งนี้ พล.ต.อ. สถาพร หลาวทอง และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ได้ขอถอนตัวในการไต่สวนเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้น) แล้วว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 21 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย นักการเมือง 3 คน คือ นายบุญทรง นายภูมิ และ พ.ต. วีระวุฒิ เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คน คือ นายมนัส นายทิฆัมพร และนายอัครพงษ์ และเอกชน 15 ราย ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดําเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่ยังไม่ได้ชี้มูล ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป

“นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติให้ส่งสำนวนเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจีของนายบุญทรงไปให้คณะทำงานร่วม ป.ป.ช. กับ อสส. ที่กำลังพิจารณาสำนวนโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อไปเป็นพยานหลักฐานตามที่คณะทำงานร่วมร้องขออีกด้วย” นายวิชากล่าว

นายวิชากล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ให้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหานี้ ในส่วนของการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไปดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 19 (12) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

2. สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับ Guangdong Stationery & Sporting Goods Imp. & Exp. Corp. และ Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company แจ้งให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสียหายชดใช้ค่าเสียหาย ตามมาตรา 73/1 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

3. แจ้งให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน หรือการชำระภาษีของผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่ทำการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 103/7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อีกทั้งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติให้สรุปคดีดังกล่าวโดยย่อว่าได้พิจารณาชี้มูลอย่างไร มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไร เพื่อแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบโดยละเอียด

4. กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งมีนางปราณี ศิริพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวเป็นผู้เสนอ และมีนายบุญทรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ กับ บริษัท Haikou Liangmao Cereals and Oils Trading Co., Ltd. ปริมาณ 3,000,000 ตัน, บริษัท Haikou Liangyunlai Cereals and Oils Trading Co., Ltd. ปริมาณ 2,000,000 ตัน, บริษัท Hainan Province land Reclamation Industrial Development ปริมาณ 4,000,000 ตัน และบริษัท Hainan Land Reclamation Commerce and Trade Group Co., Ltd. ปริมาณ 5,000,000 ตัน นั้น

“บริษัทฯ ดังกล่าวมิได้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่กระทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตตามกฎหมายอื่น เห็นควรดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยให้นายประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และนางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นอนุกรรมการไต่สวน”นายวิชากล่าว

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ที่มาภาพ : http://www.bangkok-today.com/sites/default/files/field/image/article/2014/03//2041395031200.jpg
ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ที่มาภาพ : http://www.bangkok-today.com/sites/default/files/field/image/article/2014/03//2041395031200.jpg

นายวิชากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานว่าในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการซื้อขายมันสำปะหลังในรูปแบบสัญญาซื้อขายรัฐต่อรัฐหรือไม่อย่างไร แล้วนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าเสียหายที่จะให้กระทรวงการคลังดำเนินการฟ้องร้องในครั้งนี้มูลค่าเท่าไร นายวิชากล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขความเสียหายยังไม่นิ่ง แต่ตัวเลขของอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวสรุปว่ามียอดขาดทุน 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการจัดทำตัวเลขในรายละเอียดต่อไป เนื่องจากต้องมีการแยกแยะว่าใครจะต้องรับผิดชอบแค่ไหนเพียงไร เป็นไปตามระบบของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพราะฉะนั้น ป.ป.ช. ต้องส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ความเสียหาย 6 แสนล้านบาทเป็นความเสียหายทั้งโครงการรับจำนำข้าว แต่เฉพาะการทุจริตการระบายข้าวแบบจีทูจีมีความเสียหายเท่าไรที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย นายวิชากล่าวว่า ดูประกอบกัน เพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแจ้งความกับกองปราบเพื่อเอาผิดกับคู่สัญญาของรัฐในโครงการรับจำนำข้าว นอกจากนี้ ฝ่ายรัฐบาลเองระบุว่า มีกรณีโรงสีข้าวทุจริตประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งได้บอกว่าให้รวมเข้าไปด้วย โดยทางอัยการสูงสุดคงจะทำตัวเลขให้ชัดเจนต่อไปเมื่อตอนฟ้องร้อง

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ได้มีการกำหนดกรอบเวลาให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า คงรีบดำเนินการ เพราะที่ทราบ นายกฯ ครม. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ต่างร้อนใจ อย่างน้อยจะต้องหาตัวคนรับผิดชอบ เนื่องจากผลความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว และนับว่าคดีนี้เป็นคดีที่เป็นความเสียหายที่สุด มีบุคคลเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ขอให้แต่ละส่วนช่วยกันทำงาน งานนี้ ป.ป.ช. ชี้มูลเพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ส่วนการเรียกค่าเสียหายรัฐบาลต้องช่วยเราต่อไป เพราะฉะนั้น เมื่อท่านรับทราบแล้วก็ต้องรีบลงมือในการดำเนินการต่อไป ดังนั้น จะต้องดำเนินการจัดทำเอกสารหลักฐานให้เรียบร้อย โดยขอเวลา 1–2 สัปดาห์ น่าจะเรียบร้อยดี

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า ป.ป.ช. ชี้มูลนายบุญทรงในช่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายวิชากล่าวว่า “มันบังเอิญนะครับ จำได้หรือไม่ผมบอกมาล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก่อนที่ สนช. จะกำหนดวันถอดถอนเสียอีก ผมได้บอกสื่อไว้แล้วว่าการทำงานคืบหน้าไปถึงไหนทุกขั้นตอน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะปุบปับมาชี้มูลกัน จะเห็นได้ว่าอนุกรรมการไต่สวนทำงานอย่างมีขั้นตอนชัดเจนแน่นอน”