วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
Open Data เป็นคำค่อนข้างใหม่แต่มีอิทธิฤทธิ์อย่างยิ่งในการปราบคอร์รัปชัน และกำลังเป็นกระแสที่มาแรงในระดับโลก ลองมาดูกันว่ามันช่วยให้ประชาชนมีความหวังในการจัดการโรคร้ายนี้ได้อย่างไร
Open Data มาจากแนวคิดที่ว่าข้อมูลบางอย่างควรที่จะมีการเปิดเผยอย่างเสรีให้ทุกคนนำไปใช้ และตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์ตามประสงค์อย่างไม่มีข้อจำกัดในเรื่องลิขสิทธิ์หรือการควบคุมในลักษณะต่างๆ
เป้าหมายของ Open Data ก็คล้ายกับการ “open” ในเรื่องอื่นๆ ในยุคเสรีนิยมของโลกปัจจุบัน เช่น Open Sky (เปิดท้องฟ้าเสรียอมให้มีสายการบินได้โดยไม่จำกัดและมิให้บริษัทใดผูกขาด อีกทั้งไม่ควบคุมราคาตั๋ว) Open Source (ไม่มีลิขสิทธิ์ในเรื่องซอฟต์แวร์) Open Access (การเปิดเสรีในการเข้าถึงบริการของรัฐ การใช้อินเทอร์เน็ต ฯลฯ)
จริงๆ แล้วหลักการในเรื่องนี้มีมานานแล้ว เพราะสาธารณชนตระหนักดีว่าการเปิดเผยเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ดังเช่นความเป็นเสรีของเนื้อหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติของมนุษยชาติ ไม่ใช่ของบุคคลใดหรือบริษัทใด
ในยุคอินเตอร์เน็ต Open Data ยิ่งมีความหมายมากขึ้นเพราะข้อมูลที่เปิดเผย เช่น จากภาครัฐซึ่งประชาชนเป็นนายนั้นสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ง่าย
กลุ่มประเทศ EU มีข้อตกลงในเรื่อง Open Data ของภาครัฐซึ่งเรียกว่า Open Government Data กล่าวคือ ประเทศสมาชิกควรเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้เพื่อสองเรื่อง หนึ่ง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินภาษีอากรที่เก็บมาจากประชาชน สอง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ สิ่งสำคัญที่อยู่ใจกลางของเรื่องนี้ก็คือการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน ข้อถกเถียงสำคัญก็คือทั้งหมดเป็นเงินของประชาชน ดังนั้น เจ้าของก็มีสิทธิจะรู้ว่านำไปใช้จ่ายอะไรและอย่างไร
อังกฤษเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากที่สุด ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษได้เปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ผลปรากฏว่ากลุ่มประชาสังคมและประชาชนนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ ประเมิน และได้ข้อสรุปมากมายที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณมากขึ้น
เป็นที่มั่นใจได้ว่าพนักงานภาครัฐของอังกฤษจะระมัดระวังในการใช้จ่ายและทุ่มเทการทำงานมากขึ้น เพราะต่อนี้ไปมีผู้คนเป็นตาสับปะรดที่คอยจับตามองและเป็นแขนขาในการปราบคอร์รัปชันโดยใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวนำทาง
ในปี 2007 จำนวน 30 กลุ่มสนับสนุน Open Government Data ได้ประชุมกันที่เมือง Sebastopol ในรัฐแคลิฟอร์เนียและได้ร่วมกันประกาศ 8 หลักการของ Open Government Data ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 Complete ข้อมูลสาธารณะทั้งหมดต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนยกเว้นที่เกี่ยวกับความมั่นคง ความเป็นส่วนตัว ฯลฯ
ข้อ 2 Primary ต้องเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานมิใช่การวิเคราะห์ข้อมูลมาให้แล้ว (ไม่ต้องการถูกบิดเบือนหรือทำให้เข้าใจผิด)
ข้อ 3 Timely ต้องเปิดเผยข้อมูลเร็วที่สุดที่ทำได้เพื่อรักษาคุณค่าของข้อมูลหากช้าไปก็ไม่ทันการณ์ เช่น ข้อมูลก่อนการประมูล หรือข้อมูลก่อนเริ่มโครงการ ฯลฯ
ข้อ 4 Accessible ต้องเปิดเผยอย่างกว้างขวางที่สุดให้แก่ประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์ที่กว้างขวางที่สุด
ข้อ 5 Machine Processable ต้องเป็นรูปข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ในเชิงอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อมูลที่ให้มาเป็นกล่องหรือมัดเชือกมาเพื่อให้ไปแกะหาความจริงเองใช้ไม่ได้)
ข้อ 6 Non-Discriminatoryเปิดเผยข้อมูลให้ใครก็ได้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
ข้อ 7 Non-Proprietary ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่ไม่ทำให้ใครเป็นเจ้าของหรือควบคุมได้แต่เพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว
ข้อ 8 License-Free ข้อมูลต้องไม่มีข้อห้ามในเรื่องสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือข้อจำกัดในเชิงการค้า อาจมีการผ่อนผันได้ในเรื่องเกี่ยวกับความลับทางการค้าหรือความมั่นคง
ลองจินตนาการดูว่าถ้ามีการอัปโหลดข้อมูลงบประมาณไทยทั้งหมดสู่สาธารณชนจะเกิดอะไรขึ้นในสังคมเรา เชื่อว่าจะมีคนนำไปแยกว่า แต่ละจังหวัด แต่ละ อบต. ได้รับเงินงบประมาณเท่าใด มีการก่อสร้างโครงการใดบ้าง และถ้ายิ่งเปิดเผยผลการใช้งบประมาณปีที่ผ่านมาว่าใครเป็นผู้ประมูลได้ในโครงการใดด้วยราคาเท่าใด อบต. ใดได้รับเงินเท่าใด ใช้ทำอะไรไปบ้าง ฯลฯ
นี่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ชะงัดโดยทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพียงนโยบาย Open Data ของภาครัฐก็สามารถปราบคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าข้าราชการไทยระดับรองอธิบดีขึ้นไปทุกคนต้องเปิดเผยทรัพย์สินเหมือนรัฐมนตรีต้องเปิดเผยในปัจจุบัน หน้าตาของคอร์รัปชันในบ้านเราจะเปลี่ยนไปเพียงใด
ปัจจุบัน Open Government Data ในบ้านเรามีอยู่พอควรแล้ว ไม่เชื่อลองเหลียวไปดูการเปิดเผยทรัพย์สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติดูก็ได้ ขอแต่ให้อยู่ในรูปแบบของ machine processable เท่านั้นแหละ ข้าราชการและนักการเมืองไทยจะมีพฤติกรรมในเรื่องคอร์รัปชันเปลี่ยนไปมาก
Open Data กำลังคืบคลานมาสู่บ้านเรา แต่ยังช้าอยู่ ในยุคปฏิรูปประเทศไทยไอเดียนี้สมควรได้รับการพิจารณาเพราะไม่เสียเงินเพิ่มและมีประสิทธิภาพยิ่งในการปราบคอร์รัปชัน
Open Government Data คมยิ่งกว่าดาบในการปราบโรคร้ายซึ่งเปรียบเหมือนกับปลวกที่กำลังกินบ้านเมืองของเราอยู่
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับอังคาร 16 ธ.ค. 2557