ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนจากถ้ำ

บทเรียนจากถ้ำ

10 กรกฎาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://web.facebook.com/ThaiSEAL/photos/

คนไทยจำนวนมากใจจดใจจ่อกับเด็ก 13 คน และหนึ่งโค้ชทีมฟุตบอลที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงเชียงรายจนลืมดูประกวดนางสาวไทย และรู้สึก “งั้นๆ” กับฟุตบอลโลก 2018 วันที่เขียนนี้ (วันล่าสุดที่ผู้เขียนดึงไว้เพื่อให้ได้ข้อมูลทันสมัยที่สุด) เข้าใจว่าจะเป็นวันดี-เดย์ คือวันเอาเด็กออกจากถ้ำ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นวันไหนเราควรถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อประโยชน์ในวันหน้า

ประเด็นในเรื่องบทเรียนดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

(1) หน่วยงานรัฐต้องกวดขันการเข้าถึงธรรมชาติ ทั้งลำน้ำ ทะเล ป่าเขา ถ้ำ ฯลฯ ให้รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาดังที่เกิดขึ้น (ครั้งนี้เด็กปฏิบัติตนตามกฎคือเข้าไปในถ้ำก่อนกรกฎาคมซึ่งติดประกาศไว้หน้าถ้ำ เด็กจึงไม่มีความผิด) สิ่งที่ต้องกวดขันก็คือปรับและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้ว เช่น การปฏิบัติตน วันเวลาที่เข้า บริเวณสถานที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ฯลฯ

ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังนั้น วันเวลาและข้อปฏิบัติตนในการเข้าถึงธรรมชาติต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ถ้ำหลวงปีนี้น้ำท่วมถ้ำเร็วกว่าปกติจึงทำให้เด็กติดออกไม่ได้

เรือที่ภูเก็ตที่คว่ำจนมีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตถึงกว่า 40 คน มาจากการออกไปในหน้ามรสุม ซึ่งเป็นวันเวลาที่ห้าม การบังคับกฎเกณฑ์ต้อง “ขันน็อต” ยิ่งขึ้น ซึ่งน่าเห็นใจเพราะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และสถานที่ท่องเที่ยวบ้านเราก็มีมากเสียด้วย

(2) การเล่นกีฬาเป็นเรื่องสำคัญจนอาจเป็นเรื่องคอขาดบาดตายได้ หากเด็กเหล่านี้และโค้ชมีร่างกายไม่แข็งแรงแล้ว 10 วันที่ติดอยู่เดียวดายอย่างขาดอาหารคงทำร้ายเด็กๆ เป็นอย่างมาก

คนที่ควรชื่นชมก็คือ “โค้ชเอก” ที่สามารถควบคุมเด็กในวัย 11-16 ปี ไว้เป็นกลุ่มก้อนได้ ไม่แตกออกเป็นกลุ่มๆ จนตามหาได้ยาก ข้อมูลเท่าที่มีทำให้พอเห็นภาพได้ว่าเขามีบทบาทสำคัญในการทำให้เด็กอยู่รอด ทั้งให้กำลังใจและเสียสละเป็นผู้นำของกลุ่ม

สังคมไม่ควรตำหนิเขาว่าพาเด็กไปติดอยู่ในถ้ำ (คล้ายกับตรรกะที่ว่า “จำลองพาคนไปตาย”) ตอนไปนั้นทุกคนเต็มใจไปด้วยกันและไปกันมาหลายครั้งแล้ว เมื่อเข้าไปก็อยู่ในกฎเกณฑ์ของการเข้าถ้ำ เพียงแต่โชคร้ายที่ฝนมาเร็ว เด็กในชนบทใกล้ป่าเขาก็ต้องไปเที่ยวสถานที่ลักษณะนี้เป็นธรรมดา และเขาก็ทำเช่นนี้กันมายาวนานทั้งประเทศ

(3) เรื่องระดับน้ำในถ้ำเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นปัจจัยในการนำเด็กออกมา น้ำไหลมาจากไหน ไปทางไหน มากน้อยเพียงใด ต้องถามคนท้องถิ่นเพราะส่วนใหญ่อยู่กันมาหลายชั่วคน เข้าออกถ้ำเหล่านี้กันจนพรุน ข้อมูลเส้นทางเดินและลักษณะต่างๆ ในถ้ำชาวบ้านในบริเวณนั้นรู้ดีกว่าใครทั้งหมดถึงแม้จะไม่เป็นวิชาการเชิงธรณีวิทยาก็ตาม

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการกับธรรมชาตินั้นไม่ควรมองข้ามเพราะเขาสังเกตเห็นและเรียนรู้มาเป็นระยะเวลายาวนาน เขาจะมีโอกาสบอกก็ต่อเมื่อมีผู้ถาม

(4) เหตุการณ์ครั้งนี้ตอกย้ำว่าความรู้นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีความรู้จากหลากหลายศาสตร์แล้วจะไม่สามารถเข้าถึงเด็กในเบื้องต้นได้เลย เครื่องมืออุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในครั้งนี้ก็ล้วนมาจากองค์ความรู้เช่นเดียวกัน ในทุกเรื่องที่ต้องการแก้ไขปัญหา การมีความรู้ในเรื่องนั้น (การ “เข้าถึง” ของศาสตร์พระราชา) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

(5) คุณภาพของคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ความเป็นผู้นำและความสามารถในการจัดการของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและทีมงาน ตลอดจนคนจากภาครัฐและเอกชนที่ช่วยเหลือกันเต็มที่ชี้ชัดว่าคนคือคำตอบ

การฝึกฝนให้พร้อมของหน่วยงานซีล (ว่ายน้ำได้เก่งมากเพราะว่ายที่เชียงรายแต่ไปโผล่ที่พัทยา) การมีความพร้อมในการเจาะบาดาล สูบน้ำ การมีจิตอาสาของคนไทยอย่างไม่หวั่นไหว ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง

(6) คนไทยร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพตราบที่มีการจัดการที่ดี มีคนให้กำลังใจ ให้เกียรติ สนับสนุนทรัพยากรอย่างเต็มที่ มีบทบาทของสื่อที่เหมาะสม ฯลฯ

เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นศักยภาพของสังคมไทยในการช่วยเหลือกัน การมีน้ำใจโดยไม่แตกแยกกันตามความคิดทางการเมือง หรือความเชื่อ บทเรียนครั้งนี้น่าศึกษาให้ลึกซึ้ง

เด็กๆ เหล่านี้ต้องตระหนักถึงความรักความห่วงใยที่คนไทยทั้งประเทศมีให้ตน ตลอดจนการเสียสละทรัพยากรมูลค่ามหาศาลเพื่อทุ่มเทช่วยเหลือ เมื่อโตขึ้นต้องตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้และตอบแทนด้วยการเป็นคนดีและพลเมืองดีอย่างสุดหัวใจ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 10 ก.ค. 2561

ที่มาภาพ : https://web.facebook.com/ThaiSEAL/photos