ThaiPublica > เกาะกระแส > ปลัดคลังเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ ครม. 7 มิ.ย. นี้ เคาะบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 ล้านยกเว้นภาษี หลังที่ 2 ขึ้นไปจ่ายอัตราก้าวหน้า

ปลัดคลังเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ ครม. 7 มิ.ย. นี้ เคาะบ้านหลังแรกไม่เกิน 50 ล้านยกเว้นภาษี หลังที่ 2 ขึ้นไปจ่ายอัตราก้าวหน้า

5 มิถุนายน 2016


ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง

หลังจากที่รอคอยกันมานานกว่า 30 ปี ในที่สุดกระทรวงการคลังได้นำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2559 ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า หลังจากกระทรวงการคลังส่งร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ล่าสุดได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการนำเสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามอนุมัติ คาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559

ดร.สมชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่นายกรัฐมนตรีและสาธารณชนแสดงความเป็นห่วงไปแล้วหลายประเด็น เริ่มจากประเด็นที่ว่าทำไมกระทรวงการคลังต้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอ คนจนจะได้รับผลกระทบหรือไม่

ประเด็นนี้ กระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อคนจน ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้าไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินกรมธนารักษ์ (เพดานสูงสุด) สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย เฉพาะบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี ส่วนผู้ที่ครอบครอบกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง อปท. จะเริ่มเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ โดยไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี (ไม่เกิน 50 ล้านบาท) เหมือนกรณีบ้านหลังแรก

ยกตัวอย่าง หากรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ อปท. จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,000,000 บาท ในอัตรา 0.1% ของราคาประเมินกรมธนารักษ์ สำหรับเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังแรกได้รับการยกเว้นภาษี เพราะมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นเจ้าของบ้านหลังที่ 2 จะไม่ได้รับยกเว้นภาษี จะต้องเสียภาษีกับ อปท. ปีละ 1,000 บาท เป็นต้น

“สำหรับอัตรา 0.5% ของราคาประเมินกรมธนารักษ์ เป็นอัตราสูงสุด (เพดาน) ที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ แต่ในทางปฏิบัติ กระทรวงการคลังต้องยกร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดอัตราภาษีให้ อปท. จัดเก็บในอัตราก้าวหน้าอีกครั้ง ก่อนที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ส่วนผู้ที่ได้รับมรดก (บ้านพร้อมที่ดิน) ไม่มีเงิน ต้องขายบ้านพร้อมที่ดินมาเสียภาษี ประเด็นนี้กระทรวงการคลังจะกำหนดหลักเกณฑ์ผ่อนผันกับผู้ที่ได้รับมรดกจนกว่าจะนำทรัพย์สินไปหาประโยชน์และมีรายได้มาเสียภาษีกับ อปท.” ดร.สมชัยกล่าว(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ปัญหา

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง_2

ยกเว้นภาษี

ดร.สมชัยกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 พล.อ. ประยุทธ์ เป็นห่วงเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิด คิดว่ารัฐบาลถังแตก เก็บภาษีไม่ได้ จึงต้องนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มาบังคับใช้ ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า การปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมทั้งภาษีบำรุงท้องที่ ปัจจุบันล้าสมัย ฐานภาษีไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มาบังคับใช้ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา มีรายได้เพิ่มขึ้น

“เงินรายได้ทั้งหมดเป็นของรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลกลางไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว ไม่ได้ใช้ปิดหีบ ทำเพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น” ดร.สมชัยกล่าว

ดร.สมชัยกล่าวต่อว่า ใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ กำหนดอัตราภาษีสูงสุด (เพดาน) แบ่งเป็น 4 ประเภท 1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมเก็บภาษีในอัตราสูงสุดไม่เกิน 0.2% ของราคาประเมินกรมธนารักษ์ 2)ที่อยู่อาศัยเก็บภาษีในอัตราสูงสุดไม่เกิน 0.5% แต่ยกเว้นสำหรับบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน 3)สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและพาณิชกรรมและอื่นๆ เก็บภาษีในอัตราสูงสุดไม่เกิน 2% และ 4)ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสมควรจัดเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 5% ของราคาประเมินกรมธนารักษ์ หากยังไม่มีการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ให้ปรับเพิ่มอัตราภาษีอีก 1 เท่าตัว ทุกๆ 3 ปี

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพดานอัตราภาษีสูงสุดที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทรวงการคลังต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีอีกครั้ง ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ดังนั้น ในระหว่างนี้กระทรวงการคลังต้องทำเรื่องขอใช้งบกลางให้กรมธนารักษ์เร่งทำการประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม ปฎิรูประบบภาษี เพื่อสังคมไทยเสมอหน้า