ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังโต้กลับคตง.ทุกข้อหา ยัน ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซให้หลวงครบ ชี้สตง.เปิดข้อมูลสำคัญไม่ครบ

คลังโต้กลับคตง.ทุกข้อหา ยัน ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซให้หลวงครบ ชี้สตง.เปิดข้อมูลสำคัญไม่ครบ

19 พฤษภาคม 2016


เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2559 นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงข้อกล่าวคตง. กรณีปตท.ส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ที่มาภาพ : http://www.mof.go.th/home/mof_new.html
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2559 นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงข้อกล่าวคตง. กรณีปตท.ส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ที่มาภาพ : http://www.mof.go.th/home/mof_new.html

ตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่า บมจ. ปตท.คืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน และกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ได้ชี้แจงโดยออกเอกสารข่าวกระทรวงการคลังฉบับที่ 66/2559 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีบมจ. ปตท.คืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วนและกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ระบุว่ามีข้อเท็จจริงที่สำคัญบางส่วนที่ คตง.และ สตง. ตั้งใจไม่เปิดเผยให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบ โดยขอชี้แจงเป็น 2 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องความครบถ้วนถูกต้องของทรัพย์สินที่ บมจ.ปตท.จะต้องแบ่งแยกและโอนให้กระทรวงการคลัง

วันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี รวม 4 ราย คือ ครม. ที่ 1, นายกรัฐมนตรี ที่ 2, กระทรวงพลังงาน ที่ 3, และ บมจ.ปตท. ที่ 4 รวมกันทำการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ครม. มีมติมอบหมายกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้ สตง.ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้ง ทางกฎหมายให้หารือ คณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นที่ยุติต่อไป
กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดำเนินการ กรมธนารักษ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา

วันที่ 26 ธันวาคม 2550 ในระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการที่กรมธนารักษ์แต่งตั้ง บมจ.ปตท. ได้รายงานผลการดำเนินการทุกระยะให้ศาลปกครองสูงสุดทราบ โดยได้ดำเนินการตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกเสร็จสิ้นและรายงานให้กระทรวงการคลังเห็นชอบ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 มีการลงนามในบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สิน ในวันที่ 24 กันยายน 2551 ซึ่งบันทึกการแบ่งแยกมีข้อตกลงว่า ถ้าศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่าต้องแบ่งแยกเพิ่มขึ้นหรือลดลง กรมธนารักษ์และ บมจ.ปตท. ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ต่อมาได้มีการลงนามในสัญญาให้ใช้ที่ราชพัสดุ โดยมีค่าตอบแทนระหว่างกรมธนารักษ์กับ บมจ.ปตท. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551

วันที่ 11 มิถุนายน 2551 กระทรวงการคลังได้แจง สตง.ว่าได้ตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินของ บมจ.ปตท.ที่จะโอนให้กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ สตง.ตรวจสอบ หลังจากนั้นก็ได้มีการไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตามกฎหมาย ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นที่ตั้งของทรัพย์สิน และแล้วเสร็จครบถ้วนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551

วันที่ 25 ธันวาคม 2551 บมจ.ปตท.ได้รายงานสรุปผลการดำเนินการต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด ได้มีความเห็นว่า มีการดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สตง. มีหนังสือลับถึงศาลปกครองสูงสุดและนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษายังไม่ครบ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า “ทั้งนี้การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ บมจ. ปตท. ให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดซึ่งคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่ยุติ”

วันที่ 10 มีนาคม 2552 ศาลปกครองได้มีหนังสือตอบ สตง.ว่า ศาลปกครองได้ติดตามการดำเนินการตามคำพิพากษาและรายงานให้ศาลทราบ ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 1 – 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเอกสารฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 และวันที่ 10 มีนาคม 2552

ลำดับเหตุการณ์ทวงคืนท่อก๊าซ

“คตง. และ สตง. ตั้งใจปกปิดไม่แถลงต่อสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการให้ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ

นอกจากนี้ในระหว่างดำเนินการก็ได้มีผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อให้วินิจฉัยว่าการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินดังกล่าว ยังไม่ครบถ้วนอีกหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องและยืนยันท้ายคำฟ้องมาโดยตลอดว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้แบ่งแยกและโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษา เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีมติยืนยันเช่นเดียวกันว่าผู้ถูกฟ้องคดี ได้แบ่งแยกและโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว ในส่วนนี้ คตง.และ สตง. จงใจปิดบังไม่ให้ข้อเท็จจริงแก่สื่อมวลชนและประชาชน

ข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินของ บมจ.ปตท. โดย สตง. รับรองแบบไม่มีเงื่อนไขมาโดยตลอด ทั้งที่ สตง. เองเป็นผู้ทักท้วงมาโดยตลอด บมจ.ปตท.โอนทรัพย์สินไม่ครบ เท่ากับว่า สตง.ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ถือหุ้นของ บมจ.ปตท. ผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงและต้องมีผู้รับผิดชอบ

วันที่ 10 สิงหาคม 2553 ครม. ได้มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน

วันที่ 14 สิงหาคม 2557 สตง. ได้มีหนังสือรายงานถึงหัวหน้า คสช. ว่า สตง. เห็นว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน ซึ่ง คสช. มีคำสั่งให้ คตง.หารือสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของกฤษฎีกา

ในประเด็นนี้จึงไม่มีเหตุผลใดที่ คตง. และ สตง. จะบอกว่าการโอนทรัพย์สินไม่ครบเพราะศาลปกครอง ได้ยืนยันหลายครั้งแล้วว่าครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดย่อมถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

ประเด็นที่ 2 เรื่องการละเว้นไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2550 และรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จ

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ กับ บมจ.ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาและมติ ครม. กรมธนารักษ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินและเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คณะกรรมการได้รายงานให้กรมธนารักษ์ทราบและขอความเห็นชอบจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้รายงานให้ ครม. รับทราบ รายงานศาลปกครอง เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ และรายงาน สตง. เพื่อตรวจสอบตามมติ ครม. จึงเป็นแนวทางปฏิบัติราชการปกติทั่วไป ครม. มิได้มีมติให้ สตง. ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องก่อน แล้วจึงให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รายงาน ครม. หรือศาลปกครองแต่อย่างใด การดำเนินการของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และ บมจ.ปตท. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ครม.มอบหมาย และมิได้มีการรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จแต่ประการใด

รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า ข้อกล่าวหาของ คตง. และ สตง. ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากซึ่งเหตุและผลทุกประการ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่สำคัญที่ สตง. ได้ทำความเห็นไปยังศาลปกครองและศาลปกครองได้ตอบยืนยันเป็นทางการแล้วว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง คตง. และ สตง. ก็รู้ว่าที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้วว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว การที่ คตง.และ สตง. ยังเห็นว่าไม่ครบจึงเท่ากับเป็นการดูหมิ่นศาลปกครอง อีกทั้งยังปกปิดความผิดของตัวเองที่รับรองงบการเงินของ บมจ.ปตท. ที่ผ่านมาอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งที่ สตง. เป็นผู้ทักท้วงว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน รวมทั้งละเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. ที่ให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่มีปัญหา โดยได้ข้อยุติต่อไป แต่กรณีนี้ คตง.และ สตง. หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่เป็นที่ยุติ คตง. กับ สตง.กลับมาสรุปเองว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน และใช้อำนาจกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และรายงานเท็จ พฤติกรรมของ คตง.และ สตง. ดังกล่าวเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเป็นอย่างยิ่ง