ThaiPublica > คนในข่าว > เบื้องหลัง “มนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข” สอบตกเก้าอี้เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์

เบื้องหลัง “มนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข” สอบตกเก้าอี้เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์

11 กุมภาพันธ์ 2014


ผู้บริหาร SME (1)

นับจากวันที่กระทรวงการคลัง ยกระดับจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) ขึ้นเป็น “เอสเอ็มอีแบงก์” เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กรรมการผู้จัดการ หรือ “เอ็มดี” ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ทุกคน “ถูกตั้งคณะกรรมการสอบทุจริต” กันถ้วนหน้า ยกเว้น ดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ คนเดียวที่เดินออกจากธนาคารอย่างสง่างาม จนระยะหลังๆ ไม่มีใครกล้ามาลงสมัครเป็นเอ็มดีที่นี่

โดยเฉพาะนายโสฬส สาครวิศว ถูกกรรมการธนาคาร หรือ “บอร์ด” ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงหลายประเด็น แต่ที่หนักที่สุดมี 4 เรื่อง คือ ปล่อยสินเชื่อโครงการชะลอการเลิกจ้างเกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ, ปล่อยสินเชื่อไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบริษัทเดียวกันเกินวงเงิน 500 ล้านบาท, ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยที่ไม่มีลายเซ็นของลูกหนี้ และตั้งสำรองขาดไป 1,700 ล้านบาท วันที่ 14 สิงหาคม 2555 บอร์ดจึงมีมติเลิกจ้างนายโสฬส

หลังจากนั้นธนาคารเปิดรับสมัครเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่มีคนมายื่นใบสมัคร เปิดรับครั้งที่ 2 นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข อดีตผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ผ่านการคัดเลือกได้รับการแต่งตั้งจากบอร์ดเป็นเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์คนใหม่ ทำงานได้ประมาณ 7 เดือน ปรากฏว่าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติเลิกจ้างนายมนูญรัตน์อย่างเป็นเอกฉันท์

เบื้องลึกเหตุผลการปลดนายมนูญรัตน์ออกจากตำแหน่งเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์ครั้งนี้ แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีในหมู่พนักงานเอสเอ็มอีแบงก์ ว่านายมนูญรัตน์มีปัญหาขัดแย้งกับกรรมการแบงก์หลายคน ความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่นายมนูญรัตน์เริ่มมาทำงานที่ธนาคาร ค่อยๆ สะสมมาจนถึงขั้นที่ไม่อาจจะทำงานร่วมกันได้ โดยปมความขัดแย้งหลักๆ มี 3 เรื่อง แต่ประเด็นที่ขัดแย้งกันรุนแรงที่สุดคือเรื่องการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ถัดมาเป็นเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 33 คน โดยไม่มีอำนาจ และผลงานของนายมนูญรัตน์ไม่ผ่านการประเมิน

นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
นายมนูญรัตน์ เลิศโกมลสุข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์กล่าวต่อไปอีกว่า เรี่องการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นประเด็นเผือกร้อนที่เกิดขึ้นก่อนที่นายมนูญรัตน์เข้ารับตำแหน่งเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวคือ สัญญาเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์กับบริษัทอินเนอร์เทค คอร์ปอเรชั่น สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ธนาคารจัดประกวดราคา 2 ครั้ง ครั้งแรกมีบริษัทผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเพียง 1 ราย เนื่องจาก TOR กำหนดว่าบริษัทผู้ให้เช่าคอมพิวเตอร์ต้องมีศูนย์บริการเป็นของตนเอง 20 แห่ง จึงต้องยกเลิกการประมูลตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อเปิดประมูลครั้งที่ 2 มีบริษัทที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้ามายื่นเสนอราคาผ่านระบบ e-Auction 3 ราย

ผลการประกวดราคาครั้งนั้น บริษัทพอยท์ไอที คอนซัลทิ่ง เป็นผู้ชนะการประมูลที่ราคา 144 ล้านบาท แต่ธนาคารไม่สามารถลงนามในสัญญาเช่าคอมพิวเตอร์กับพอยท์ไอทีฯ ได้ เนื่องจากบริษัทอินเนอร์เทคฯ (ผู้ให้เช่ารายเดิม) ทำหนังสือร้องเรียนกรมบัญชีกลางกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า การประมูลครั้งนี้มีการล็อกสเปก กีดกันไม่ให้บริษัทอินเนอร์เทคฯ เข้าร่วมประมูล เนื่องจาก TOR ไประบุว่าผู้ให้เช่าต้องมีศูนย์บริการเป็นของตนเอง 20 แห่ง

แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์กล่าวต่อไปอีกว่า ปมความขัดแย้งระหว่างนายมนูญรัตน์กับกรรมการเริ่มขึ้นหลังจากคณะกรรมการประกวดราคาเสนอชื่อบริษัทพอยท์ไอทีฯ ผู้ชนะการประมูลให้นายมนูญรัตน์ลงนามอนุมัติ แต่นายมนูญรัตน์ไม่เซ็น เพราะการจัดซื้อครั้งนี้มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท เป็นอำนาจของคณะกรรมการ นายมนูญรัตน์จึงให้ฝ่ายจัดการส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการอนุมัติวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ระหว่างคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ นายมนูญรัตน์ลุกขึ้นแสดงความเห็นโต้แย้งต่อที่ประชุมบอร์ดในประเด็น TOR ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามระเบียบ

ขณะที่คณะกรรมการประกวดราคา ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ e-Auction ทุกขั้นตอน แต่สุดท้ายนายมนูญก็ยอม ที่ประชุมบอร์ดวันที่ 28 สิงหาคม 2556 จึงมีมติอนุมัติธนาคารทำสัญญาเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์กับพอยท์ไอทีฯ และในวันที่ 12 กันยายน 2556 นายมนูญรัตน์ทำหนังสือตกลงเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ถึงบริษัทพอยท์ไอทีฯ จากนั้นบริษัทพอยท์ไอทีฯ นำหลักทรัพย์มูลค่า 0.5% มาวางเป็นหลักประกัน และสั่งซื้ออุปกรณ์บางส่วน

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 กรมบัญชีกลางทำหนังสือถึงผู้ร้องเรียนและธนาคารว่า ข้อกล่าวหาของผู้ร้องเรียนฟังไม่ขึ้น เนื่องจากช่วงที่ทำประชาวิจารณ์ TOR บริษัทที่ร้องเรียนไม่มีข้อเสนอแนะหรือท้วงติงแต่ประการใด และในการประมูลครั้งนั้นมีบริษัทผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเข้ามาเสนอราคาถึง 3 ราย ดังนั้น กรณี TOR กำหนดให้บริษัทที่เข้าร่วมประมูลต้องมีศูนย์บริการ 20 แห่ง จึงไม่ถือว่ามีการกีดกันหรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลรายใด ตามที่กล่าวหา

วันที่ 13 ธันวาคม 2556 นายมนูญรัตน์ทำหนังสือถึง สตง. สอบถามความคืบหน้ากรณีมีผู้ร้องเรียนการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ของธนาคาร ระหว่างที่รอผลการพิจารณา สตง. จะสั่งระงับการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ของธนาคารไว้ก่อนหรือไม่

วันที่ 27 ธันวาคม 2556 สตง. ทำหนังสือชี้แจงนายมนูญรัตน์ว่า “สตง. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่มีอำนาจยับยั้งหรือยกเลิกการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการลงนามในสัญญาว่าจ้าง ก็เป็นหน้าที่ของธนาคาร”

จำนวนอุปกรณ์

แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์กล่าวว่า นับจากวันที่คณะกรรมการอนุมัติ (28 ส.ค. 2556) จนถึงปัจจุบัน ธนาคารยังไม่มีการลงนามในสัญญาเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์กับบริษัทพอยท์ไอทีฯ โดยพอยท์ไอทีฯทำหนังสือเร่งรัดให้ธนาคารลงนามในสัญญา 2 ครั้ง คือวันที่ 18 ตุลาคม 2556 และวันที่ 28 ตุลาคม 2556 แต่นายมนูญรัตน์ก็ไม่ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมีมติ การชะลอการลงนามในสัญญาเช่าคอมพิวเตอร์กับบริษัทพอยท์ไอทีฯ เท่ากับเป็นการต่อสัญญาให้กับบริษัทอินเนอร์เทคฯ ออกไปเรื่อยๆ ทำให้ธนาคารต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์เก่ามีอายุการใช้งานมากกว่า 4 ปี เดือนละ 3,433,705 บาท (60% ของค่าเช่าเดิม 5,878,563 บาท)

“แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ บริษัทอินเนอร์เทคฯ เป็นลูกหนี้ของเอสเอ็มอีแบงก์ ติดค้างชำระหนี้กับธนาคารหลายเดือน คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 21 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารก็ติดค้างค่าเช่ากับบริษัทอินเนอร์เทคฯ ประมาณ 10 ล้านบาท บอร์ดจึงเสนอให้ใช้วิธีการหักกลบลบหนี้ เสมือนหนี้การค้าทั่วไป แต่นายมนูญรัตน์ชี้แจ้งกับบอร์ดท่านนั้นว่าทำไม่ได้ หลังจากนั้น ปรากฏว่าธนาคารก็จ่ายเงินค่าเช่าส่วนที่ติดค้างให้กับบริษัทอินเนอร์เทคฯ โดยไม่หักหนี้ที่ติดค้างอยู่กับธนาคาร นับตั้งแต่วันเริ่มทำสัญญาจนถึงปัจจุบัน ธนาคารจ่ายค่าเช่าคอมพิวเตอร์เฉลี่ย 134,356 บาทต่อเครื่อง” แหล่งข่าวเอสเอ็มอีแบงก์กล่าว (ดูรายละเอียดคณะกรรมการร่าง TOR และคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างชี้แจงประธานบอร์ด)

ส่วนเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานเอสเอ็มอีแบงก์ 33 คน โดยไม่มีอำนาจนั้น แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์กล่าวต่อไปอีกว่า ปี 2549 อดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์เคยออกคำสั่งปรับขึ้นเงินเดือน 5% ให้พนักงานที่ได้รับการ “เลื่อนชั้นตำแหน่ง” ต่อมาปี 2551 ฝ่ายกฎหมายของธนาคารมีความเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวขัดกับระเบียบธนาคาร ทั้งนี้ การปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมบอร์ด

ปี 2552 ธนาคารจึงออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งปี 2549 ทำให้พนักงาน 33 คน ที่ได้รับการโปรโมตเลื่อนตำแหน่งในขณะนั้นไม่ได้ปรับขึ้นเงินเดือนมาจนถึงปัจจุบัน กระทั่งนายมนูญรัตน์เข้ามาเป็นเอ็มดี นายมนูญรัตน์อนุมัติให้ธนาคารปรับขึ้นเงินเดือนแก่พนักงาน 33 คน ตามข้อเสนอของฝ่ายบุคคล ทั้งๆ ที่ระเบียบการปรับขึ้นเงินให้กับพนักงานที่ได้รับการโปรโมตถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2549

นายนริศ ชัยสูตร
นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์

เหตุผลสุดท้ายที่ทำให้บอร์ดตัดสินใจเลิกจ้างนายมนูญรัตน์ คือ ผลงานไม่ผ่านการประเมิน ขณะที่นายมนูญรัตน์แถลงข่าวยืนยันว่า ผลงานของตนเป็นที่น่าพอใจ โดยในปี 2556 มีกำไรสุทธิ 407 ล้านบาท และสามารถพลิกฟื้นฐานะการเงินปี 2555 ที่ขาดทุนสุทธิ 4,039 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อ ณ วันสิ้นปี 2556 มียอดคงค้างอยู่ที่ 93,475 ล้านบาท ลดลง ณ สิ้นปี 2555 มียอดคงค้างอยู่ที่ 96,797 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 31,539 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33.74% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

ด้านนายนริศ ชัยสูตร ประธานคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า การประเมินผลงานนายมนูญรัตน์ ไม่ได้ดูที่ตัวเลขกำไรเพียงอย่างเดียว หลักเกณฑ์การให้คะแนนมี 2 ส่วน กล่าวคือ 70% พิจารณาที่ผลประกอบการของธนาคาร ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาผลงานของนายมนูญรัตน์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คณะกรรมการกำหนด ส่วนที่เหลืออีก 30% พิจารณาที่รูปแบบหรือวิธีการบริหาร นายมนูญรัตน์ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล หากนายมนูญรัตน์ไม่พอใจการประเมินผลงานของคณะกรรมการสามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลได้