ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ. ประยุทธ์” เคลียร์ตัวเลขสต็อกข้าว 18 ล้านตัน-แจงลงทุน 3 ล้านล้าน ส่งสัมปทานปิโตรเลียมให้ สปช. พิจารณา

“พล.อ. ประยุทธ์” เคลียร์ตัวเลขสต็อกข้าว 18 ล้านตัน-แจงลงทุน 3 ล้านล้าน ส่งสัมปทานปิโตรเลียมให้ สปช. พิจารณา

28 ตุลาคม 2014


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/

พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ปัจจุบันได้ตรวจปริมาณและคุณภาพข้าวในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีในสต็อกประมาณ 18 ล้านตันจากข้อมูลของกระทรวงการคลัง โดยมีข้าวที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานทั้ง DNA ของข้าวและคุณภาพข้าว ประมาณ 10% ขณะที่มีข้าวที่มีคุณภาพต่ำ เช่น มีสีเหลือง เนื่องจากถูกเก็บไว้เป็นระยะเวลานาน ประมาณ 70% และมีข้าวมีเสื่อมคุณภาพ ถึงขั้นต้องนำไปผลิตเป็นเอทานอล ประมาณ 19.4% และมีข้าวหายไป ประมาณ 1 แสนตัน

ทั้งนี้ ปริมาณข้าวที่หายไปเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สืบสวนต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่สามารถปิดบัญชีข้าวได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องทำเรื่องขออนุมัติ ป.ป.ช. อย่างรวดเร็วเพื่อระบายข้าวก่อนจะเสียหายมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องรักษาเสถียรภาพราคาและผลผลิตฤดูกาลใหม่ด้วย โดยปัจจุบันมีมาตรการรับจำนำข้าวให้เกษตรกรเก็บไว้ในยุ้งฉาง ให้เงินเกษตรกร 90% ของราคาข้าวในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยรักษางบประมาณในการเก็บรักษาข้าวของรัฐได้ 2,600 ล้านบาทต่อเดือน

พล.อ. ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 จำนวน 29 แปลง ของกระทรวงพลังงาน ว่าจำเป็นต้องเปิดสัมปทาน เพื่อการผลิตพลังงานของไทยมีความต่อเนื่องและมีความมั่นคง เนื่องจากปัจจุบันส่วนที่ดำเนินการอยู่ได้หมดสัญญามาแล้ว 2 ปี ขณะที่การสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ต้องใช้เวลาอีก 7 ปี รวมระยะเวลาดำเนินการอีก 1 ปี ขณะเดียวกัน ได้สั่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เร่งพิจารณาปฏิรูปพลังงานเป็นวาระแรกให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อให้มีข้อสรุปทันระยะเวลาประกาศรับสมัครผู้ประมูลสัมปทานและการให้สัมปทานของกระทรวงพลังงานใน 120 วัน หรือ 4 เดือน

นอกจากนี้ สัมปทานที่จะเปิดประมูลได้นำส่วนที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนออกไปแล้ว ขณะที่ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนต้องพูดคุยกับแต่ละประเทศต่อไปว่าจะสามารถแบ่งปันให้แต่ละประเทศเข้ามาใช้ประโยชน์ก่อนจะมีการปักปันเขตแดนได้หรือไม่ เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยวางเรื่องเขตแดนก่อน

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงวงเงินก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีตัวเลขออกมา 3 ล้านล้าน ระยะเวลาการดำเนินการ 8 ปี การดำเนินการของรัฐบาลนี้ แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา มีหลักการเรื่อง connectivity เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้าน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จุด เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าและพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน ด้านเหนือต้องการเชื่อมลาว เวียดนาม ลงมา จะมีการเจรจาลงทุนแบบรัฐต่อรัฐ หรือเจรจาแลกเปลี่ยนสินค้า

“ตัวเลข 3 ล้านล้านเป็นแผนที่วางไว้ แต่ไม่ได้ทำคราวเดียวหมด ช่วงที่หนึ่งลงทุน 6 หมื่นล้าน ช่วงที่สองลงทุนอีก 1 แสนล้าน ไม่ได้ใช้เงินกู้ทั้งก้อน ลงทุนทีละสัญญา เรื่องรถไฟ ที่จำเป็นคือรถไฟทางคู่ 1 เมตร กับรถไฟ 1.435 เมตร เพื่อไปเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนรถไฟความเร็วสูง แม้ชะลอไว้ก่อน แต่ก็อยู่ในแผน 8 ปี” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ซี่งมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน มีการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ รับทราบแผนงานและโครงการ โดย พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญ ดังนี้

อนุมัติต่อสัญญาบีเอ็มซีแอล 15 ปี เชื่อมรถไฟฟ้าบางซื่อ-เตาปูน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการคัดเลือกเอกชนร่วมงานหรือดำเนินการตามมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือคณะกรรมการตามมาตรา 13 ไปเจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ซึ่งเป็นผู้เดินรถไฟสายเฉลิมรัชมงคล เพื่อเข้ามาลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–บางซื่อ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร หลังจากการลงทุนในช่วงดังกล่าวล่าช้ามานาน และไม่สามารถจัดหาผู้มาดำเนินการได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีระยะเวลาของสัญญาเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 2 กรกฎาคม 2572 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ในการเจรจาจะต้องพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์กับรัฐ โดยมีระยะเวลาของสัญญาเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของโครงการรรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล อีก 15 ปี (สิ้นสุดวันที่ 2 กรกฎาคม 2572) ซึ่งการลงทุนครั้งนี้มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะจะทำให้สถานีเตาปูนเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางของประชาชน ขณะเดียวกัน บริเวณสถานีดังกล่าวยังเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง–บางซื่อ) รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่–บางซื่อ และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ–ท่าพระ

อย่างไรก็ตามตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ในข่วงรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางซื่อ (งานสัญญาที่ 5) โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 13 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกให้เอกชนร่วมงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางซื่อ (งานสัญญาที่ 5) ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือการเปิดประมูล โดยเริ่มต้นจากรูปแบบ PPP Net Cost หากรูปแบบดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ให้คณะกรรมการตามมาตรา 13 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ พิจารณารูปแบบการลงทุน PPP Gross Cost หรือรูปแบบอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ

ในวาระเดียวกันนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ของโครงการรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง คือ สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 ก.ม., สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 21.2 ก.ม., สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 ก.ม. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-คูคต ระยะทาง 18.4 ก.ม. โดยแต่ละเส้นทางจะออกกฎหมายเส้นทางละ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน และร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สำรวจที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของเอกชนมีทั้งหมด 83 แปลง และได้ตกลงทำสัญญาไปแล้ว 76 แปลง ยังเหลืออยู่อีก 7 แปลง ซึ่งเดิมแม้ว่าได้จ่ายค่าทดแทนไปแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องออก พ.ร.บ.เพื่อเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ดำเนินโครงการต่อไปได้

ยกเลิก “กองทุนตั้งตัวได้” โดยงบ 1,300 ล้านให้เอสเอ็มอี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยกเลิกโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ หรือ “กองทุนตั้งตัวได้” ที่เป็นนโยบายยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วงเงิน 1,300 ล้านบาท และนำงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินการตามกรอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2558–2559 ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557

กองทุนตั้งตัวได้อยู่ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้สิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 กันยายน 2557 ประกอบกับคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงเห็นควรให้มีการเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณดังกล่าว

โดยมีเป้าหมายดำเนินการใน 2 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีการเติบโตสูงของประเทศไทย (SME High Growth Sectors) จำนวน 12 กลุ่มสาขาธุรกิจ และกลุ่มธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในสาขาที่มีความสำคัญต่อกลุ่มธุรกิจไทย (High Impact Sectors) จำนวน 7 กลุ่มสาขาธุรกิจ แทนกองทุนตั้งตัวได้

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างพิจารณาวาระนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความเป็นห่วงนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากที่อาจต้องการเงินกู้มาเริ่มกิจการ จึงขอให้อย่าละเลยในส่วนนี้ซึ่งสามารถไปขอกู้เงินจากกองทุนตั้งตัวได้ในส่วนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ที่ยังมีเงินคงเหลืออย่ 4,952 ล้านบาทได้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/

อนุมัติงบกลางช่วยเกษตรประสบภัยพิบัติ 154.8 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557 จำนวน 26 จังหวัด รวม 10 ภัย ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย อัคคีภัย ภัยอากาศแปรปรวน ศัตรูพืชระบาด ภัยหนาว ภัยฝนทิ้งช่วง ภัยพายุและคลื่นลมแรง และปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำ แก่เกษตรกรจำนวน 12,860 ราย วงเงินขอรับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 154,823,741 บาท

โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมประมง ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและรวบรวมส่งสำนักงบประมาณ (สงป.) พร้อมทั้งจัดทำคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณในคราวเดียวกันและให้ถือว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมสำเนาส่ง ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ตั้งอธิบดีดีเอสไอ โยกย้ายผู้ว่าฯ การแต่งตั้งข้าราชการ มหาดไทย 22 ราย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ให้นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 22 ราย ดังนี้

1. นายธานี ธัญญาโภชน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครปฐม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุรินทร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายวรวิทย์ สายสุพัฒน์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดชลบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายอำนวย ตั้งเจริญชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครสวรรค์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดกระบี่
6. นายวงศศิริ พรหมชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดชุมพร
7. นายณรงค์ ธีรจันทรางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดตราด ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดตราด
8. นายชาติชาย อุทัยพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดชุมพร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดนครปฐม
9. นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดชลบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดบึงกาฬ
10. นายวีรพงค์ แก้วสุรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนราธิวาส ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดปัตตานี
11. นายประยูร รัตนเสนีย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดพังงา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดพังงา
12. นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดเพชรบูรณ์
13. นายศักดิ์ สมบุญโต รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดกำแพงเพชร ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดแพร่
14. นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดนครราชสีมา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดมหาสารคาม
15. นายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดยะลา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดยะลา
16. นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดกาญจนบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดระนอง
17. นายณรงค์ อ่อนสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสิงห์บุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดลำพูน
18. นายปัญญา งานเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดอ่างทอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสมุทรสงคราม
19. นายปิติ แก้วสลับสี รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุโขทัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดสุโขทัย
20. นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดหนองคาย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดหนองคาย
21. นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดอุดรธานี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอำนาจเจริญ
22. นายสมชาย เลิศพงศ์ภากรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองต้น) จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอุทัยธานี