
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน
โยน คสช.พิจารณา “ยิ่งลักษณ์” แจงรัฐสภายุโรป
พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ กรณีที่มีกระแสข่าวสมาชิกรัฐสภายุโรปส่งหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ คสช. อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาอย่างเป็นทางการจริงหรือไม่ และมีการเชิญผ่านช่องทางที่เป็นทางการอย่างกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ เพราะรับรู้เพียงข่าวจากสื่อมวลชนเท่านั้น ส่วนจะอนุญาตให้เดินทางไปชี้แจงหรือไม่ คสช. อยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ติดเงื่อนไขที่ต้องขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งจาก คสช. และจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยในคดีรับจำนำข้าว
“เรื่องนี้ถ้าเป็นผม ผมคงไม่เชิญเฉพาะคนที่มีคดีอยู่ไปชี้แจง แต่จะเชิญคนของฝ่ายรัฐไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับฟังความข้างเดียวหรือไม่ เคารพกฎหมายไทยหรือเปล่า ซึ่งผมก็ไม่อยากจะพูดมาก เพราะเราก็ต้องค้าขายกับเขาอยู่” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
วอนอย่าขยายปม “ราชภักดิ์” จนเข้าทางฝ่ายจ้องเลิก ม.112
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของกองทัพบก (ทบ.) ด้วยว่า ขออย่านำเรื่องนี้ไปขยายจนเป็นเครื่องมือของคนบางฝ่าย ยืนยันว่าตนจะไม่ปกป้องใคร หากใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ แต่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เริ่มจากบุคคลใกล้ชิดสถาบันเบื้องสูงไปหลอกลวงคนข้างนอก ซึ่งก็มีเฉพาะบางคนเท่านั้น จะสอบคนเหล่านี้ก็สอบไป แต่จะไปถึงขั้นรื้อ ทบ. เลยก็ไม่ใช่ ในวันนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโครงการนี้อีกระดับหนึ่ง จึงถือว่ามีการตรวจสอบทั้งในระดับ ทบ. และกระทรวงกลาโหม (กห.) และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็คงต้องไปสอบต่ออยู่แล้ว
“แต่ไม่ใช่สอบจนเละเพื่อแก้แค้นใคร เพราะเรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับคดีความที่มีผู้ถูกกล่าวว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 ด้วย เดี๋ยวต่างชาติจะไม่เข้าใจไปกันใหญ่ ผมห่วงเรื่องกฎหมายของไทยด้วย เพราะรู้อยู่ว่าคนเลวๆ พยายามที่จะเลิกมาตราสำคัญนี้อยู่ ซึ่งหากไม่มี จะไม่มีอะไรมาปกป้องสถาบันเบื้องสูงได้เลย”
แจงสหรัฐฯ เข้าใจปมส่ง “2 ผู้ลี้ภัยจีน” กลับประเทศ แล้ว
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ทางการสหรัฐอเมริกาแสดงความผิดหวังกรณีที่ทางการไทยส่งผู้ลี้ภัยชาวจีน จำนวน 2 คน กลับประเทศจีนว่า เรื่องนี้ตนได้อธิบายให้เขาเข้าใจแล้วว่าทั้ง 2 คน ทำผิดกฎหมายไทยด้วยการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งตามขั้นตอนปกติจะต้องมีการตรวจสอบว่ามีต้นทางมาจากประเทศใด และมีคดีความติดตัวหรือไม่ เมื่อพบว่ามีหมายจับอยู่ในประเทศจีนจึงต้องส่งทั้ง 2 คนกลับไป แต่ข้อมูลเหล่านี้องค์การผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) อาจจะไม่ทราบ จึงนำชื่อของทั้ง 2 คน ไปขึ้นไว้ในบัญชีผู้ลี้ภัย และมีการหาประเทศให้ลี้ภัยภายในระยะเวลาแค่ 2-3 วันเท่านั้น ซึ่งหลังจากตนได้อธิบายไป หลายคนก็เข้าใจ
“ใครจะไม่เข้าใจผมไม่รู้ ขอให้คนไทยเข้าใจเท่านั้นว่าผมทำเพื่อประเทศชาติ และทำเพื่อคนไทย” นายกฯ กล่าว
ย้ำฝ่าฝืนประกาศ คสช. ต้องถูกดำเนินคดี
ส่วนกรณีที่มีคณาจารย์และนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติ รวม 323 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินคดีกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จำนวน 5 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. กรณีมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากกรณีร่วมแถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็คนหน้าเดิมๆ ต้องไปดูว่าก่อนแถลงข่าว ทหารเข้าไปคุยกับทั้ง 5 คนว่าอย่างไร มีการขอให้บรรยายในกรอบของกฎหมาย ไม่พูดเรื่องนี้เรื่องนั้น แต่พอถึงเวลากลับมีการฝ่าฝืน สิ่งที่พวกเขาพูดตนไม่เดือดร้อน แต่เมื่อกฎหมายเป็นเช่นนี้ จึงต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ส่วนใครจะใช้กรณีนี้เคลื่อนไหวให้เข้มข้นมากขึ้นก็ทำไป แต่ใครทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี
วอนลอยกระทงใช้วัสดุธรรมชาติ – “ปล่อยโคม” ระวังผิด กม.
พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงเทศกาลลอยกระทงที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ว่า ที่มีการเขียนข่าวว่าจะมีการห้ามลอยกระทงในบางจังหวัดทั้งจังหวัด ตรวจสอบแล้วยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริง เพียงแต่บางจังหวัดอาจจะมีน้ำน้อยทำให้ลอยกระทงไม่ได้ ทั้งนี้อยากให้คำนึงถึงคนทำความสะอาด ลดการใช้วัสดุที่ทำจากโฟมและพลาสติก หันไปใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติมากขึ้น ส่วนประเพณีบางอย่างเช่นการปล่อยโคมลอย ก็มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ไปรบกวนการบิน ไม่เช่นนั้นหากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกรณีเครื่องบินตกหรือทำให้บ้านไฟไหม้ ผู้ที่ลอยโคมลอยดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษ
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบมาตรการเนื่องในประเพณีลอยกระทงตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ มี 5 มาตรการ โดยมีมาตรการหนึ่งระบุว่า ให้ปล่อยโคมลอยเฉพาะช่วงเทศกาลลอยกระทงหลังเวลา 21.00 น. เท่านั้น และห้ามปล่อยโคมลอยบริเวณใกล้สนามบิน
ตีกลับร่าง พ.ร.บ.ตั้งกองทุนคลัสเตอร์ – โยนคลังหาข้อสรุปที่มาเงิน
สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นที่สำคัญ มีอาทิ
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนการเกิดขึ้นของคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่ได้ส่งร่าง พ.ร.บ. นี้กลับไปให้กระทรวงการคลังพิจารณารายละเอียดกันอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องที่มาของแหล่งเงินของกองทุนนี้ ซึ่งตั้งวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท ว่าจะนำมาจากแหล่งใด
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้จัดตั้งกองทุนคลัสเตอร์ว่าจะเป็นแหล่งใดบ้าง เช่น จะนำมาจากเงินของกองทุนที่ได้รับงบประมาณจากภาษีบาป อย่างกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้หรือไม่ โดยอาจมีการตั้งเพดานวงเงินที่ควรได้รับสูงสุด และให้ส่งเงินส่วนเกินเข้าคลังเพื่อนำมาใช้ในกองทุนคลัสเตอร์
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นอกจาก ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหาแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในการจัดตั้งกองทุนคลัสเตอร์ ยังให้กองทุนหมุนเวียนอื่นๆ ที่อาจถูกนำเงินมาใช้ อย่าง สสส. หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ไปดูว่าเพดานที่เหมาะสมในการดำเนินงานของตัวเองอยู่ที่เท่าไร อย่างกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ต้องไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าควรจะอยู่ที่เท่าไร
ไฟเขียว MOC ให้ “สมคิด” เซ็นสร้างรถไฟกับญี่ปุ่นระหว่างโรดโชว์
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperating: MOC) ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ หรือร่าง MOC รถไฟไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการพิจารณาร่าง MOC นี้ครั้งที่ 2 ที่ลงรายละเอียดมากขึ้น หลังจากการพิจารณาร่าง MOC ครั้งแรก เป็นการเห็นชอบในหลักการกว้างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ใช้ลงนามกับตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น ระหว่างเดินทางร่วมคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ไปโรดโชว์ในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2558
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบเอกสารสำคัญอีก 2 ฉบับ ที่ทางการไทยจะไปลงนามกับทางการญี่ปุ่น ระหว่างนายสมคิดและคณะเดินทางไปโรดโชว์ ประกอบด้วย
- เอกสาร Statement of intent between the Government of Japan and the Government of the Kingdom of Thailand on HighLevel Joint Commission ซึ่งเป็นเอกสารเชิงนโยบายสำหรับการตั้งกลไกการหารือระดับสูงด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ
- เอกสาร Memorandum of Intent on Human Resource Development in the Mekong Sub-Region between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Japan ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ว่าไทย-ญี่ปุ่น จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจะเน้นไปที่คุณภาพการศึกษาและทักษะฝีมือแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันพัฒนา SMEs เพื่อให้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลกได้
ขยายเวลาเสนอโครงการ”ตำบลละ 5 ล้าน” เป็นภายใน 30 ธ.ค.
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาขยายระยะเวลาการเสนอโครงการและเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) จากเดิมที่ให้แต่ละจังหวัดเสนอโครงการให้สำนักงบประมาณแต่ละเขตพื้นที่ต่างๆ ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2558 แต่เนื่องจากในการปฏิบัติงานเกิดปัญหามากมาย ทั้งบางโครงการต้องขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน บางโครงการต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือป่าสงวน ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันกำหนด จึงให้ขยายระยะเวลาไปจนถึง 30 ธันวาคม 2558 และเลื่อนระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณ จากเดิมภายในวันที่ 31 มกราคม 2559 เป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบอนุมัติการใช้จ่ายงบกลาง เพื่อใช้ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ระหว่างปี 2558-2559 จำนวน 2 มาตรการ รวมเป็นเงิน 1,177 ล้านบาท
ปิดฉาก “ไทยเข้มแข็ง” ดันใช้เงินก้อนสุดท้าย 1.6 พันล้านบาท
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ตามที่ ครม. เคยมีมติให้นำงบประมาณที่เหลือจากโครงการตามโครงการตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 (ไทยเข้มแข็ง) วงเงิน 15,200 ล้านบาท มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรากฏว่า ยังมีโครงการอีกกว่า 1.3 พันล้านบาท ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เนื่องจากดำเนินการไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา แบ่งเป็น
- โครงการที่ลงนามในสัญญาไม่ทันตามกำหนด คือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 กว่า 106 ล้านบาท
- โครงการที่แม้จะลงนามในสัญญาไปแล้ว แต่เบิกจ่ายงบประมาณไม่ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 กว่า 1,266 ล้านบาท
ที่ประชุมจึงต้องหามาตรการแก้ไขปัญหา โดยกรณี 1. ให้นำเงินส่งคืนคลังทันที ส่วนกรณี 2. ให้ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณออกไปอีก 360 วัน หลังจากวันที่มีการลงนามในโครงการ หากยังดำเนินการไม่ทันอีกให้นำเงินส่งคืนคลัง โดยไม่สามารถตั้งโครงการมาของบได้อีก
“นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ลดขั้นตอนการอนุมัติโครงการที่จะใช้งบประมาณของโครงการไทยเข้มแข็งที่เหลืออยู่อีกกว่า 323 ล้านบาท จากเดิมต้องขอผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง มาเป็นขอตรงผ่านสำนักงบประมาณได้เลย ถือเป็นการปิดฉากโครงการไทยเข้มแข็งที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว
เห็นชอบ กม.คุมเข้ม “พืช-สัตว์” จีเอ็มโอ
พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. …. เพื่อควบคุมดูแลการใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพสมัยใหม่ โดยเฉพาะการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ให้เกิดความปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายที่รองรับเรื่องนี้อย่างเป็นสากล
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้มี 3 ประการ
- ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะบังคับใช้กับสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แต่จะไม่รวมการดัดแปลงเพื่อใช้เป็นยาที่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะอยู่แล้ว
- ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะกำหนดว่าการปล่อยสัตว์หรือพืชจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อม จะต้องมีการทดลองในภาคสนามก่อนเพื่อประเมินความเสี่ยง และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นผู้ประกอบการจะต้องชดใช้
- สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์หรือพืชจีเอ็มโอที่มีอยู่แล้ว จะต้องไปจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลา 120 วันหลังจากร่าง พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้
“หลัง ครม. เห็นชอบ ก็จะส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ ไปให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 1 ปี” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว
สั่ง “วิษณุ” ใช้มาตรการ กม. ทวงเงิน กยศ. คืน
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการใช้จ่ายเงินของกองทุนหมุนเวียนบางกองทุนที่อาจมีปัญหา เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องนักศึกษาบางคนที่กู้เงินไปแล้วยังไม่คืนเงิน จึงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย รวมถึงกระทรวงการคลัง ไปหาวิธีแก้ปัญหานี้โดยข้อกฎหมาย ว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกเงินกู้ กยศ. คืนจากนักศึกษาตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน เพราะยิ่งเรียกเงินกู้คืนได้น้อย ก็ยิ่งทำให้วงเงินของ กยศ. ที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับนักศึกษาใหม่ๆ มีน้อยลง จนต้องไปหาแหล่งเงินอื่นมาเพิ่มเติม
“รัฐบาลมีความจำเป็นต้องทำให้ กยศ. เดินต่อไปได้ โดยที่วงเงินไม่ลดลง จึงต้องใช้วิธีทางกฎหมายนี้เพื่อเรียกเงินคืน แต่ก็มีคนบางกลุ่มไปบิดเบือนว่ารัฐบาลนี้ขัดขวางไม่ให้นักศึกษากู้เงินจาก กยศ. ซึ่งไม่เป็นความจริง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำควบคู่ไปกับการชี้แจงข้อเท็จจริง”
ตั้งคณะทำงานดึง ปชช. ร่วมลุยเมกะโปรเจกต์
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ได้ปรารภในที่ประชุมว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่มักมีปัญหาในการดำเนินงาน จึงสั่งการให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ไปพิจารณาว่าควรจะมีการจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมไปถึงผู้ประกอบการ ด้วยหรือไม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสียของโครงการอย่างเท่าเทียมกัน
“หลายโครงการที่มีการพูดคุยเช่นนี้ตั้งแต่ต้นก็จะขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ถ้าต่างคนต่างทำ ปล่อยคาราคาซัง สุดท้ายก็จะเกิดปัญหา เช่น รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ผ่าน เพราะมีชาวบ้านออกมาคัดค้านเช่นที่ผ่านมา”
นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้นายสมคิดไปศึกษาหาวิธีให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เกิดการพัฒนาได้ เพราะแม้จะมีสำนักงาน สสว. ระดับพื้นที่ แต่ยังมีบทบาทแค่เป็นการโฆษณาแคมเปญต่างๆ ของรัฐบาลเท่านั้น แต่การปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ SMEs ยังพึ่งพาธนาคารพาณิชย์อยู่
“นายกฯ ยังขอให้ผู้เกี่ยวข้องไปสำรวจด้วยว่าจำนวน SMEs ของไทยในปัจจุบันมีอยู่เท่าไร มีที่จดทะเบียนกับภาครัฐแล้วเท่าไร ยังไม่จดทะเบียนเท่าไร เกิดใหม่เป็น startup เท่าไร หรือล้มแล้วฟื้นกิจการได้เท่าไร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องไว้สำหรับพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว