การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นัดแรก วันที่ 9 กันยายน 2557 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการพิจารณาวาระการจัดทำร่างนโยบาย ก่อนที่จะจัดพิมพ์เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557
วาระนี้ มีความสำคัญยิ่งในการนำเสนอความเคลื่อนไหวของ ครม. ทำให้ทั้ง ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกประจำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องหลีกทางให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและอดีตรักษาการในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2535 สมัยรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร
ดร.วิษณุ เครืองาม กลับเข้าประจำการที่ตึกนารีสโมสร ใช้โพเดียมแถลงข่าวเป็นคนแรก หลังปิดซ่อมแซมเมื่อ 2 เดือนก่อน ถ้อยแถลงมีทั้งเรื่องร่างนโยบาย แผนปฏิบัติการรายกระทรวง และวาระการทำงานของคณะรัฐมนตรี
ดร.วิษณุกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นรูปธรรม ส่วนเรื่องการเมือง ให้เป็นหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยจากนี้ไปจะมีการโอนงานที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับของหัวหน้า คสช. ไปอยู่ภายใต้รัฐบาล ภาระกิจด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นคณะกรรมการระดับชาติด้านเศรษฐกิจ จะกลับไปขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่มีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน มีทั้งหมด 14 ชุด ยกเว้นคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่ คสช. ใช้อำนาจในการจัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแล และตรวจสอบการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นการตั้งขึ้นโดยอำนาจพิเศษของ คสช. โดยซูเปอร์บอร์ดไม่ได้มีกฎหมายรองรับมาก่อน จึงสามารถใช้โครงสร้างคณะกรรมการชุดเดิมในการทำงานต่อไปได้
ที่ผ่านมา คสช. ได้มีการออกคำสั่งในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารมาเป็นการทำงานภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลและมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน 9 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 2. คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ 3. คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 4. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 6. คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 7. คณะกรรมการที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้านโครงสร้างคมนาคม 8. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 9. กรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ
นอกจากนี้ ยังมีสายงานขึ้นตรงกับ “หัวหน้า คสช. ” อีก 5 หน่วยงานหลัก ที่ต้องโอนกลับมาอยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี คือ 1. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) 2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 3. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 4. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) 5. สำนักงบประมาณ
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันที่ 9 กันยายน 2557 เป็นการประชุม 3 หัวข้อ ก่อนที่ ครม. จะเข้าสู่การบริหารราชการแผ่นดิน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นการซักซ้อมความเข้าใจวิธีทำงานรวมทั้งการเตรียมตัวการปฏิบัติภารกิจของ ครม. โดยนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ชี้แจงแนวทางการเสนอแต่งตั้งเลขานุการ ที่ปรึกษา และการเสนอแต่งตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรีตามกฎหมาย
ส่วนที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้หัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายของ คสช. มารายงานผลการทำงานรอบ 3 เดือน เพราะบางเรื่องเมื่อมีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงแล้วจะต้องรับช่วงไปทำต่อ และรัฐมนตรีต้องรู้ว่าของเก่าเขาทำอะไรไว้บ้าง ดังนั้นทุกฝ่ายได้มาสรุปภารกิจของฝ่ายตัวเองให้ฟังอย่างรวบรัด ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการว่า ผลงานของ คสช. ที่ผ่านมาจะมีการจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อแจกจ่ายตามกระทรวงต่างเพื่อเป็นคู่มือสานต่ออย่างถูกต้อง
ส่วนที่สาม มีการพูดถึงเรื่องนโยบายที่รัฐบาลจะต้องแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 12 กันยายน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น ครม. จึงต้องมีส่วนร่วมในการติชมเพิ่มเติม ตัดทอน เพิ่มเติมบางส่วน โดยมีการเสนอให้ ครม. รับทราบว่าการยกร่างนโยบายเสร็จสิ้นแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีลงมากำกับอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ต้นร่างเดิมมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นฝ่ายยกร่างนโยบายเหมือนทุกรัฐบาล เมื่อร่างเสร็จก็เสนอให้หัวหน้ารัฐบาลให้ไปดู โดยมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ทีมงาน สำนักงบประมาณช่วยดูแล และวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีก็ให้เวลาอย่างมากกับเรื่องนี้
ดร.วิษณุกล่าวอีกว่า ร่างนโยบายที่มีมาจาก 5 แหล่ง ซึ่งต่างจากการทำนโยบายจากอดีตที่นโยบายมาจากพรรคการเมืองที่ใช้ในการหาเสียง
1. นายกรัฐมนตรีให้ทำนโยบายให้ยึดยุทธศาสตร์ตามแนวพระราชดำริมาเป็นหลัก ในการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ที่แทรกซึมนโยบายทุกข้อ 2. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นความพอดี พอสมพอควร ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ที่สะท้อนให้เห็นในนโยบายเกือบทุกข้อ
3. แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11
4. นโยบายของ คสช. เช่น โรดแมปสามระยะ หรือหลักค่านิยม 12 ประการ
5. ปัญหาของประเทศและความต้องการของประชาชนในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมาว่าเขาต้องการอะไร เรียกร้องอะไร อยากเห็นอะไร
“นายกฯ เน้นเป็นพิเศษให้ใส่ในนโยบายด้วยว่าปัญหาของประชาชนคือไม่รู้ไม่เห็นว่าเขาจะทำอะไรบ้าง นโยบายต้องตอบคำถามที่ค้างคาใจของคนให้ได้ เช่น ต้องเกิดความชัดเจนว่าบ้านช่องของเขาจะถูกเวนคืนหรือไม่ ที่ดินจะอยู่จัดในพื้นที่แบบไหน เป็นพื้นที่เกษตรหรืออุตสาหกรรม เพราะทุกวันนี้คนอยู่กันโดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือเรื่องผังเมืองที่วันไหนไม่รู้ว่าจะมาถึง และบ้านจะตกไปอยู่โซนใดของผังเมือง” ดร.วิษณุกล่าว
ดร.วิษณุกล่าวอีกว่า รัฐบาลที่ผ่านมาในอดีต 60 กว่าชุด มีภารกิจที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญเพียงข้อเดียวคือบริหารราชการแผ่นดิน แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เป็นการกำหนดครั้งแรก โดยกำหนด 3 ข้อ คือ 1. บริหารราชการแผ่นดิน 2. ปฏิรูป และ 3. สร้างความสมานฉันท์สามัคคีปรองดอง ดังนั้น สิ่งที่แถลงจะต้องครอบคลุมสามด้านนี้ ที่จะแตกเป็นเรื่องย่อยหลายข้อ
สำหรับงานด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ดร.วิษณุกล่าวว่า นโยบายที่ใช้แถลงจะครอบคลุมปัญหาของประเทศ 11 ด้าน เช่น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการศึกษา การทำนุบำรุงศาสนาดูแลศิลปะวัฒนธรรม เรื่องความมั่นคง ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เรื่องอาเซียน เรื่องการต่างประเทศ การสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้แนวทางว่าแต่ละปัญหาใหญ่ 11 ข้อ ให้แตกออกเป็นข้อย่อย และต้องแบ่งให้ได้ว่าอะไรที่ต้องทำเร่งด่วนในระยะแรก เฉพาะหน้า ในเวลา 1 เดือนหลังจากรัฐบาลเข้าทำงาน ระยะกลางต้องทำต่อระยะแรก ต้องทำให้เสร็จภายในเวลา 1 ปี และระยะยาวกว่าจะเห็นผลก็ใช้เวลา 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า อาทิ รถไฟทางคู่ แม้เป็นเรื่องอนาคต รัฐบาลก็จะสร้างรากฐานเอาไว้ให้ ถ้าต้องมีกฎหมายก็จะเตรียมกฎหมาย ถ้าต้องศึกษาก็จะเตรียมศึกษา ถ้าต้องเลือกสถานที่ก็จะเตรียมสถานที่ ไว้ให้รัฐบาลต่อไป
“ท่านนายกฯ ได้ย้ำว่า สิ่งที่ท่านเคยพูดมาแล้วนั้นอาจจะถือเป็นคำขวัญประจำรัฐบาลนี้ก็ได้ เพราะมันจะปรากฏในนโยบายทั้งหมด นั่นก็คือเรื่องทำก่อน ทำจริง ทำทันที หวังผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน ซึ่งคำเหล่านี้จะปรากฏเป็นรูปธรรมในนโยบาย เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องรถไฟ เรื่องเศรษฐกิจ การสร้างความปรองดอง การปฏิรูป ต้องลงรายละเอียดไปว่าอะไรคิดไว้ก่อนต้องทำก่อน ต้องทำให้จริง และต้องทำทันที” ดร.วิษณุกล่าว
ส่วนงานด้านการปฏิรูป ดร.วิษณุกล่าวว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะตั้งขึ้นเป็นสถาปนิกหลักในการออกแบบประเทศ ที่รัฐบาลและหน่วยงานจะต้องให้ความร่วมมือ รัฐบาลจะประสานงาน สปช. โดยไม่มีการแทรกแซง โดยรัฐบาลจะเปิดเวทีในการปฏิรูปเพิ่มขึ้นจากเวทีที่เป็นเวทีทางการของ สปช. ที่มี 250 คน ต้องทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ใน 250 คน มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น เพราะคนสมัครมา 3,000 กว่าคน และเข้ารอบ 500 กว่าคน รัฐบาลจะส่งเสริมให้คนที่ตกรอบมีจุดยืนในการแสดงความเห็น ในการให้เป็นกรรมาธิการ หรืออนุกรรมการ ที่ปรึกษาของ สปช. ก็เป็นไปได้
ส่วนงานในด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก่อนหน้านี้ คสช. มอบหมายให้กองทัพ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ทำไปก่อนแล้ว โดยจะต้องขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม รายได้ การอำนวยความยุติธรรมที่รู้สึกว่าสองมาตรฐาน ซึ่งรัฐบาลก็จะแก้ไขสิ่งนี้ให้ได้
“เรื่องหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีให้แทรกและต้องปรับปรุงในร่างนโยบายสุดท้ายก่อนที่จะมีการส่งพิมพ์ คือ ทุกหัวข้อ ทุกเรื่อง ไม่ว่าทำเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา ความมั่นคง สาธารณสุข ให้แทรกเรื่องการป้องกันและปราบการทุจริตและคอร์รัปชัน เรื่องการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลง และเรื่องการเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เข้าไปด้วย ทั้งสามเรื่องจะเป็นวาระแห่งชาติ”
ดร.วิษณุกล่าวว่า หลังการแถลงนโยบายในวันวันศุกร์ที่ 12 กันยายน แล้ว ในสัปดาห์หน้า จะให้มีการประชุมระดับปลัดกระทรวง อธิบดี และฝ่ายปฏิบัติ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ หรือ Action Plan ให้แต่ละกระทรวงกำหนดว่าจะทำอะไร อย่างไร ใช้งบเท่าไร ใช้บุคลากรเท่าไร จากไหน จะเกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะเวลาเท่าไร ให้ครอบคลุมระยะเวลา 1 ปี และจะใช้ Action Plan เป็นคู่มือในการตรวจราชการและประมวลผลงาน เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ดร.วิษณุกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีต้องการปฏิรูปกฎเกณฑ์กติกา เรื่องการเมือง การค้า ระบบราชการเพื่อนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ใสสะอาด การไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ต้องพูดการปฏิรูประบบราชการให้คล่องตัว ลดขั้นตอนการอนุญาต อนุมัติต่างๆ และทำให้รวดเร็ว ซึ่งถือเป็นประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง ที่ประชุมได้นำข่าวการจัดอันดับของบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) มาแก้ไขให้ได้ทั้งหมดภายใน 1 ปี
“การทำงานของรัฐบาลมีทั้งเงื่อนไขและเงื่อนเวลา จึงทำให้รัฐบาลนี้ต่างจากรัฐบาลอื่น เงื่อนไขก็คือรัฐบาลนี้เข้ามาหลังจากที่ คสช. ได้วางหลักไว้ก่อนแล้วหลายเดือน ส่วนเงื่อนเวลารัฐบาลนี้มีเวลาทำงานประมาณ 1 ปี อาจจะบวกลบ ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญจะเสร็จเมื่อไร ซึ่งก็มีการวางแผนไว้ว่ารัฐธรรมนูญจะเสร็จภายใน 1 ปี”
“ดังนั้น รัฐบาลจึงรู้กรอบเวลา ไม่ใช่อยู่ 4 ปีเหมือนรัฐบาลอื่น นโยบายจึงเขียนไว้เพื่อให้ทำงานได้ใน 1 ปี เพราะฉะนั้น เป้าหมายเรื่องประชาธิปไตย การปฏิรูปเรื่องการไม่ทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นเป้าหมาย จะทำอะไรก็ตามก็เดินให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ คือมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลหน้า เป็นเป้าหมายคำตอบสุดท้าย และเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งจะเดินไปในแนวทางนี้ เชื่อว่าหากมีการปฏิรูประบบราชการ ขจัดคอร์รัปชันได้ ดูแลเรื่องการปกครองส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และได้ปฏิรูปการเมืองเท่าที่ทำได้ ทั้งหมดก็จะเป็นคำตอบของประชาธิปไตยได้ในตัวเอง” ดร.วิษณุกล่าว
ดร.วิษณุกล่าวถึงนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ได้ชูขึ้นเป็นหัวข้อหนึ่งในหมวดความมั่นคงและเป็นเรื่องระยะเร่งด่วน