ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สหกรณ์ฯ คลองจั่นเดินหน้าฟ้อง “ศุภชัยและพวก-วัดธรรมกาย” เรียกทรัพย์สินคืน เจรจาเจ้าหนี้รับแผนฟื้นฟู – กองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้กู้ 200 ล้าน

สหกรณ์ฯ คลองจั่นเดินหน้าฟ้อง “ศุภชัยและพวก-วัดธรรมกาย” เรียกทรัพย์สินคืน เจรจาเจ้าหนี้รับแผนฟื้นฟู – กองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้กู้ 200 ล้าน

30 กันยายน 2014


นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 จนถึงปัจจุบัน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นยังคงประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง สมาชิกรายบุคคลมากกว่า 50,000 คน รวมทั้งสหกรณ์อื่นกว่า 70 แห่ง ยังไม่สามารถถอนเงินฝากประมาณ 14,000 ล้านบาทได้ สืบเนื่องจากอดีตผู้บริหารถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งข้อกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์ไปกว่า 16,000 ล้านบาท และถูกยึดอายัดทรัพย์ไปหลายพันล้านบาท ส่วนสหกรณ์ฯ คลองจั่นเองถูกเจ้าหนี้ทั้งสหกรณ์อื่นและรายบุคคลฟ้องร้องเป็นมูลหนี้มากกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งบางคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นถูกอายัดทรัพย์ไปบางส่วนแล้ว

นายเผด็จ มุ่งธัญญา
นายเผด็จ มุ่งธัญญา

ทางด้านคณะกรรมการชุดใหม่ในปัจจุบันนำโดย นายเผด็จ มุ่งธัญญา เริ่มเข้าทำงานตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2557 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความช่วยเหลือหาแนวทางแก้ปัญหา หลังจากร่วมประชุมหลายครั้งระหว่างคณะกรรมการและภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรฯ จนได้ข้อยุติเลือกแนวทางยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งศาลล้มละลายรับคำร้องเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และนัดไต่สวนครั้งแรกวันที่ 15 ธันวาคม 2557

นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวถึงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาว่า จากข้อมูลล่าสุดจากนายบุญมี จันทรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ให้รายละเอียดว่ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) อนุมัติเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยก้อนแรก 200 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องดำเนินกิจการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเงื่อนไขว่ากรรมการบริหารสหกรณ์ฯ คลองจั่นทั้ง 15 คนต้องเป็นผู้ร่วมค้ำประกันด้วย ซึ่งตามแผนฟื้นฟูฯ สหกรณ์ต้องการเงินทุน 5,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะระดมเงินทุนจากไหน ทั้งนี้ทุกแนวทางจะมีเงื่อนไขดอกเบี้ยต่ำ และปลอดการส่งคืนเงินต้นในช่วงปีแรก

นายเผด็จกล่าวอีกว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และนัดไต่สวนระหว่างสหกรณ์กับเจ้าหนี้ครั้งแรก สหกรณ์ฯ คลองจั่นส่งเอกสารรายละเอียดการฟื้นฟูกิจการให้สมาชิกและเจ้าหนี้กว่า 56,000 ราย และร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์เชิญตัวแทนเจ้าหนี้ทั้งที่ฟ้องร้องและไม่ได้ฟ้องสหกรณ์ฯ ร่วมหารือเมื่อวันที่ 27 – 28 กันยายน 2557 เพื่อจัดทำปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการที่คณะกรรมการจัดทำโครงร่างไปก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าต้องมีการหารือร่วมกันหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนศาลล้มละลายนัดไต่สวน ซึ่งหากมีจำนวนเงินมากกว่า 70% และจำนวนเจ้าหนี้มากกว่า 50% เห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการ การวินิจฉัยของศาลให้บังคับใช้แผนฟื้นฟูฯ ก็จะดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

“หากบริหารสหกรณ์ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยที่มีเงินทุน 5,000 ล้านบาท ภายใน 7 ปีสหกรณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ฝากสามารถถอนเงิน และสหกรณ์ชำระเงินกู้รวมทั้งดอกเบี้ยส่วนใหญ่ทั้งเก่าและใหม่” นายเผด็จกล่าว

ด้านคดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ฯ คลองจั่น นายเผด็จกล่าวว่า ผลจากคำสั่งศาลรับคำร้องฟื้นฟูฯ ทำให้สหกรณ์ฯ คลองจั่น เข้าสู่ภาวะพักชำระหนี้ (automatic stay) เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับคดีกับสหกรณ์ได้ และรายรับรายจ่ายของสหกรณ์ทุกประเภทต้องให้ศาลอนุญาตก่อนทุกครั้ง ส่วนคดีแพ่งที่สหกรณ์เป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกคืนทรัพย์สิน จากทั้งนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ วัดธรรมกาย

คดีที่สหกรณ์ฯคลองจั่นฟ้องศุภชัย

ในส่วนการดำเนินคดีอาญา นายกิตติก้อง คณาจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า คดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบมีทั้งหมด 3 คดี คดีแรกดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556 ตั้งข้อกล่าวหานายศุภชัย ศรีศุภอักษร และพวกรวม 4 คนในข้อหายักยอกทรัพย์สหกรณ์ ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นอัยการกำลังสรุปสำนวนเตรียมส่งฟ้อง หลังจากตีกลับให้ดีเอสไอสอบพยานและเอกสารเพิ่มเติมเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ส่วนอีกสองคดีเป็นคดีใหม่ที่ดีเอสไอเพิ่งรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้แก่ คดีตั้งข้อกล่าวหานายศุภชัยและพวก ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ 27 ล้าน ร้องโดยสถานีตำรวจลาดพร้าว อีกคดีหนึ่งคือตั้งข้อกล่าวหานายศุภชัยและพวก ปลอมแปลงเอกสารการเงินและฉ้อโกงประชาชน ซึ่งดีเอสไอจะรีบสอบสวนทั้งสองคดีให้เร็วที่สุด

ด้านนายธัชพล กาญจนกูล รักษาการณ์ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงข่าวเรื่องธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้สหกรณ์ฯ คลองจั่น 5,000 ล้านบาทว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป เพราะคณะกรรมการบริหารของธนาคารยังไม่เห็นรายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการตัวจริง คงต้องรอให้ทางราชการและสหกรณ์มีข้อสรุปก่อน และต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของกิจการเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องพิจารณามูลค่าทรัพย์สินที่นำมาค้ำประกันประกอบด้วย