ThaiPublica > เกาะกระแส > แผนขอฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่นยังไม่จบ ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนพยานต่อ 10 ก.พ. 58

แผนขอฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่นยังไม่จบ ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนพยานต่อ 10 ก.พ. 58

16 ธันวาคม 2014


ตลอดระยะเวลากว่า 20 เดือนที่สหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท อย่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ผู้ฝากเงินไม่สามารถถอนเงินของตนได้ ทั้งสหกรณ์และผู้ฝากเงินต้องผ่านมรสุมหลายระลอก ตั้งแต่การพยายามดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหารที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ ภาวะแห่ถอนเงินและฟ้องร้องยึดทรัพย์สินสหกรณ์ จนไปถึงความพยายามร่วมมือแก้ปัญหาการเงินของสหกรณ์ร่วมกับภาคราชการ ด้วยการทำแผนฟื้นฟูกิจการผ่านอำนาจของศาล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องของสหกรณ์ให้มีคำสั่งฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยการไต่สวนมีตลอดทั้งวันและได้รับความสนใจจากสมาชิกสหกรณ์ เจ้าหนี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กว่า 200 คน ซึ่งหากศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะถือเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินบังคับใช้กฎหมายนี้

นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น(ซ้าย) นายฐนปวัชร์ สระสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามลีเกิล แอนด์ แทคเซชั่น จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างทำแผนฟื้นฟูกิจการจากสหกรณ์(ขวา)
นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น(ซ้าย) นายฐนปวัชร์ สระสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามลีเกิล แอนด์ แทคเซชั่น จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างทำแผนฟื้นฟูกิจการจากสหกรณ์(ขวา)

ทั้งนี้ การนัดไต่สวนของศาลมีขึ้นเพื่อพิจารณาว่า หากได้รับคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ก็มีผลให้หยุดการฟ้องร้องบังคับคดียึดทรัพย์ของเจ้าหนี้ตลอดระยะเวลา 5 ปีตามคำสั่งศาล สหกรณ์จะมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังปรกติในอนาคตหรือไม่ ซึ่งในภาวะปัจจุบันไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว สินทรัพย์หรือรายได้ไม่เพียงพอจ่ายคืนหนี้ ซึ่งองค์ประกอบของการพิจารณาศาลจะตัดสินจากเหตุผลของผู้ร้องและผู้คัดค้าน รวมถึงความเป็นไปได้ของการทำธุรกิจและกระแสเงินสดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนเจ้าหนี้ผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาราว 56,000 คน และอีก 82 สหกรณ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 21,749 ล้านบาท มีผู้ตั้งใจแสดงตนคัดค้านการทำแผนฟื้นฟูต่อศาลทั้งหมดประมาณ 60 ราย เป็นสหกรณ์ทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลราชวิถี สหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานี และสหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยศาลเปิดให้ผู้คัดค้านและทนายความสามารถซักถามพยานที่ฝ่ายผู้ร้องเชิญมาให้การสนับสนุนการทำแผนฟื้นฟูทั้งหมด 11 คน แต่ในวันดังกล่าวไต่สวนครบถ้วนไปเพียง 5 คน ประกอบด้วย นายฐนปวัชร์ สระสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามลีเกิล แอนด์ แทคเซชั่น จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างทำแผนฟื้นฟูกิจการจากสหกรณ์, นายกิตติก้อง คณาจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเจ้าพนักงานสอบสวนคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ คลองจั่น, นายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในฐานะผู้รับผิดชอบคดียึดทรัพย์อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น (ศุภชัย ศรีศุภอักษร), นางนฤมล พนาวงศ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และนางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล เลขานุการคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น

ทั้งนี้เนื่องจากการไต่สวนพยานยังไม่ครบถ้วน ศาลจึงนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องเพิ่มเติมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และนัดสืบผู้คัดค้านแผนอีก 3 วัน คือวันที่ 2, 3 และ 9 มีนาคม 2558 โดยนายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานดำเนินการสหกรณ์ฯ คลองจั่น กล่าวหลังจากการไต่สวนว่าพอใจกับกระบวนการไต่สวน เนื่องจากผู้คัดค้านส่วนใหญ่ตั้งข้อสงสัยถึงศักยภาพของผู้ทำแผนที่อาจไม่มีประสบการณ์ด้านกฎหมายหรือการเงินเพียงพอในการบริหารองค์กรที่ขาดทุนอย่างหนัก หรือบางรายตั้งข้อสังเกตเรื่องค่าใช้จ่ายการจัดทำแผน ซึ่งไม่ได้มุ่งจะล้มการทำแผนฟื้นฟูฯ เพราะทราบกันดีว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าปล่อยให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นล้มละลายและขายทอดตลาดทรัพย์สิน หากทำเช่นนั้นเจ้าหนี้จะได้ส่วนแบ่งกันรายละประมาณ 7% ของมูลหนี้เท่านั้น

นายเผด็จกล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่เผยแพร่มาก่อนหน้านี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสหกรณ์กับภาคราชการคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง จัดทำเพื่อเป็นแนวทางบริหารเพื่อขอสินเชื่อจากภาครัฐ เนื่องจากตามกฎหมายต้องให้ศาลล้มละลายมีคำสั่งตั้งผู้จัดทำและบริหารแผนก่อน โดยอาจจะเป็นผู้ที่ศาลเห็นว่ามีความสามารถ ซึ่งกระบวนการทำแผนจะใช้เวลาไม่เกิน 5 เดือนหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และคาดว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี สหกรณ์จะกลับสู่ภาวะปรกติ คือจ่ายคืนเงินต้นให้สมาชิกและมีสภาพคล่องเพียงพอจ่ายหนี้สิน

จดหมายปีติพงษ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างกระบวนการเบิกพยานทั้ง 5 รายเพื่อไต่สวน มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ โดยนางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล เลขานุการคณะกรรมการสหกรณ์ฯ คลองจั่น กล่าวว่า ข้อมูลสถานะการเงินของสหกรณ์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 สหกรณ์มีเจ้าหนี้ 21,749 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทสมาชิกผู้ฝากเงิน 56,600 ราย วงเงินรวม 15,545 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผู้ฝากประเภทสหกรณ์อื่นๆ 82 ราย มีวงเงินฝาก 7,584 ล้านบาท นอกจากนั้นเป็นผู้ฝากรายบุคคล ส่วนเจ้าหนี้ประเภทเงินกู้ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1,431 ล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ 150 ล้านบาท ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย 34 ล้านบาท และเจ้าหนี้ประเภทสุดท้ายคือ สมาชิกเงินฝากทุนเรือนหุ้น (ซื้อหุ้นสหกรณ์สะสม) จำนวน 53,000 ราย คิดเป็นเงิน 4,623 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบหนี้สินต่อทรัพย์สินของสหกรณ์ อันได้แก่ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ คิดเป็นมูลค่า 2,200 ล้านบาท พบว่ามีมูลค่าน้อยกว่าหนี้สินประมาณ 19,533 ล้านบาท ประกอบกับสภาวะที่มีผู้ฝากแห่ถอนเงินและฟ้องร้อง ทำให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ไม่มีเงินสดให้ผู้ฝากถอนเป็นเวลาเกือบ 2 ปี

นางประภัสสรกล่าวเพิ่มว่า เมื่อสิ้นสุดบัญชี 31 ธันวาคม 2556 สหกรณ์มียอดขาดทุนสุทธิ 15,279 ล้านบาท อันเป็นผลสืบเนื่องจากปีก่อนๆ (พ.ศ. 2552 – 2555) สหกรณ์ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ 28 ราย เป็นวงเงินรวม 12,973 ล้านบาท และเป็นเงินยืมทดรองจ่ายแก่ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ ที่บริหารงานในช่วงดังกล่าวอีก 3,298 ล้านบาท ซึ่งการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เคยทำความเห็นว่าผิดข้อบังคับสหกรณ์หลายประเด็น รวมถึงประเด็นที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ และทำให้นายศุภชัยพร้อมพวกถูกตั้งข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์และยึดทรัพย์สินจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ส่วนแผนการฟื้นฟูกิจการ จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระเงินคืนเกินกว่าการปล่อยให้ล้มละลาย โดยโครงสร้างหลักของแผนคือหาแหล่งเงินทุนมาปล่อยกู้กับสมาชิกและสหกรณ์อื่นๆ ซึ่งแหล่งเงินทุนตามที่มีการหารือกันจะมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ การบริหารทรัพย์สิน ได้แก่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่าตามการประเมินประมาณ 1,700 ล้านบาท แม้ติดจำนองกับสหกรณ์ฯ จุฬาฯ ถึง 1,400 ล้านบาท แต่ก็สามารถหารายได้จากการให้เช่า ต่อมาคือการบริหารหนี้สินซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้กู้ซื้อบ้านเอื้ออาทร สร้างรายรับในปัจจุบันหลังจากหักค่าใช้จ่ายพวก ค่าน้ำไฟ หรือเงินเดือนเจ้าหน้าที่จะเหลือเดือนละประมาณ 30-40 ล้านบาท

นอกจากนี้คือการบังคับคดีกับอดีตผู้บริหาร ล่าสุดสหกรณ์ฯคลองจั่นฟ้องคดีแพ่งนายศุภชัยและพวกรวม 18 คน 2 คดี รวมเป็นมูลค่า 14,811 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ได้ขออายัดทรัพย์ต่อจากที่ ปปง. เคยยึดอายัดมูลค่า 3,811 ล้านบาทแล้ว ส่วนกรณีที่นายศุภชัยนำเงินสหกรณ์ไปบริจาคแก่วัดพระธรรมกาย พระเทพญาณมหามุนี (พระธมฺมชโย) และพระครูปลัดวิจารณ์ ธีรางกุโร มูลค่ารวม 937 ล้านบาทนั้น สหกรณ์ฯ คลองจั่นดำเนินการฟ้องร้องวัดและพระทั้ง 2 รูป และมีการเจรจากับทนายความของวัดและอดีตสมาชิกวุฒิสภาหลายครั้ง โดยมีข้อเสนอว่าจะจัดตั้งกองทุนให้ลูกศิษย์วัดช่วยกันทยอยบริจาคเงินคืนแก่สหกรณ์เฉพาะในส่วนที่เป็นเงินบริจาคในชื่อพระทั้ง 2 รูป ประมาณ 500 ล้านบาท พร้อมกับการถอนคดีความ แต่ส่วนที่บริจาคให้วัดโดยตรงนั้นคงไม่สามารถคืนได้ เนื่องจากได้นำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์แล้ว

จดหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์
ส่วนเงินทุนอีกก้อนหนึ่งก็คือเงินสนับสนุนจากภาครัฐ โดยตามแผนฟื้นฟูที่เคยจัดทำระบุว่าต้องการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากรัฐทั้งหมด 5,000 ล้านบาท โดยเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ต่างๆ และธนาคารต่างๆ โดยสหกรณ์ได้รับหนังสือยืนยันการสนับสนุนทางการเงินในการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น จากกระทรวงเกษตรฯ และในหนังสือระบุว่าวิธีการสนับสนุนจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแหล่งทุนหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการบังคับใช้แล้ว

ด้านนายกิตติก้อง คณาจันทร์ จากดีเอสไอ กล่าวว่า คดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นที่ดีเอสไอดูแลอยู่มี 3 คดี ได้แก่ คดีที่นายศุภชัยและพวกอีก 4 คน ยักยอกทรัพย์โดยการปล่อยกู้ให้ผู้อื่นกว่า 12,000 ล้านบาท หลังสรุปสำนวนให้อัยการแล้ว มีการสั่งให้ดีเอสไอสอบเพิ่มอีก 2 ครั้ง ขณะนี้อยู่ที่ว่าอัยการจะสั่งฟ้องเมื่อใด อีกคดีหนึ่งแจ้งข้อหาแก่นายศุภชัยและคณะกรรมการสหกรณ์ชุดก่อนข้อหายักยอกทรัพย์อีก 27 ล้านบาท ส่วนคดีสุดท้ายซึ่งจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายศุภชัยในวันที่ 16 ธันวาคม 2557 คือคดีฉ้อโกงประชาชน โดยมีที่มาจากนายศุภชัยเคยไปให้การต่อศาลในคดีอื่นว่าปลอมแปลงงบดุลของสหกรณ์ให้ได้ผลกำไรเกินจริง เพื่อจูงใจให้มีผู้ฝากเงินเพิ่มขึ้น