ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ตรวจรายชื่อร่างกฏหมาย เศรษฐกิจ ปราบคอรัปชัน แก้ปัญหาการเมือง สังคม เช็คภารกิจสนช.เตรียมโหวตบัญชีกฏหมาย 38 ฉบับ

ตรวจรายชื่อร่างกฏหมาย เศรษฐกิจ ปราบคอรัปชัน แก้ปัญหาการเมือง สังคม เช็คภารกิจสนช.เตรียมโหวตบัญชีกฏหมาย 38 ฉบับ

8 สิงหาคม 2014


บัญชีรายชื่อกฏหมาย 38 ฉบับ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) 9 ครั้ง ถูกเตรียมบรรจุวาระเพื่อพิจารณาของสภาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะเปิดประชุมครั้งแรก วันที่ 8 สิงหาคม 2557

ด้วยหลักการและเหตุผลในการเสนอกฏหมาย ของคณะทำงาน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. และกฏหมายที่ค้างวาระพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฏร ค้างการพิจารณามาจากวุฒิสมาชิก นำมาจัดลำดับความสำคัญใหม่

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย(กลาง) และกระบวนการยุติธรรม และ ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(ขวา) พร้อมด้วย ศ.ดร.นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(ซ้าย)
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย(กลาง) และกระบวนการยุติธรรม และ ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(ขวา) พร้อมด้วย ศ.ดร.นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(ซ้าย)

ในช่วงโรดแมป ขั้นที่ 1 มีการนำกฏหมาย ที่นำเสนอจากฝ่ายข้าราชการประจำ และสำนักงานกฤษฎีกา จากการเสนอขององค์กรอิสระ รวม 140 ฉบับ

เมื่อเข้าสู่ช่วงโรดแมปขั้นที่ 2 คือ หลังจากที่มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว มีการกลั่นกรองกฏหมาย ที่สำคัญเร่งด่วน โดยทีม ดร.วิษณุ เครืองาม และ ศจ.พิเศษ ดร.พรเพชร วิชิตชลชัย นำเสนอให้ที่ประชุมคณะคสช.เห็นชอบในหลักการ รวม 38 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2557)

เบื้องหลังหลักการและเหตุผลของกฏหมาย ที่อยู่ในลำดับสำคัญสำหรับ คสช. เรียงตามลำดับ ดังนี้ กลุ่มแรก กลุ่มกฏหมายที่ต้องการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชัน เช่น แก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้คดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการการเมืองไม่มีอายุความ, แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และยกร่าง พ.ร.บ.พิสูจน์หลักฐานทางการเงินและบัญชี

กลุ่มที่สำคัญลำดับรองลงมา คือ กฏหมายที่บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ เพื่อแก้ปัญหาการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง หรือการใช้กำลังประทุษร้าย, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อจัดระบบการค้ำประกันและการจำนองใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเจ้าหนี้ใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจบังคับทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันหรือจำนองต้องรับผิดในลักษณะลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับลูกหนี้ ทั้งที่ฐานะทางกฎหมายของผู้ค้ำประกันกับผู้จำนองต้องเป็นลูกหนี้ลำดับรอง

ร่างกฏหมายที่อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เพื่อควบคุมงานการให้ใบอนุญาตแก่ภาคเอกชนในเรื่องต่างๆ ด้วยการตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ลดความซ้ำซ้อน ลดปัญหาการเรียกรับสินบน โดยจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ควบคู่กันไป เพื่อควบคุมให้ผู้มีอำนาจต้องพิจารณาคำขอของภาคเอกชนอย่างรวดเร็ว

กลุ่มกฏหมายที่อยู่ลำดับความสำคัญอันดับสาม คือกลุ่มกฏหมาย เศรษฐกิจ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520, แก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

กลุ่มสุดท้าย เป็นกฏหมายด้านสังคม เช่น กฏหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไทยถูกขึ้นบัญชีค้ามนุษย์ ได้แก่ ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล เพื่ออนุวัตรตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเลที่จะก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเดินเรือทางทะเลที่ใช้ธงชาติไทย พร้อมสร้างมาตรฐานคุ้มครองแรงงานในกิจการทางทะเลให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าการคุ้มครองแรงงานในภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน ยังมี ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงานที่ทำงานอันเป็นอันตรายต่อสาธารณะด้วย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557
ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th

ทั้งนี้ ในการประชุม คสช.ครั้งที่ 7/2557 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานการประชุม ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ 12 ฉบับ ประกอบด้วย

1. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ฉบับที่..) พ.ศ….
2. ร่างพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย (ฉบับที่..) พ.ศ….
3. ร่างพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่..) พ.ศ…..
4. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่..) พ.ศ….
5. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ฉบับที่..) พ.ศ…..
6. ร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
7. ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่..) พ.ศ…..
8. ร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
9. ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
10. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
11. ร่างพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
12. ร่างพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….

จากนั้นในการประชุมครั้งที่ 8 /2557 มีการเห็นชอบในหลักการ กฏหมาย อีก 12 ฉบับ และมีการแถลงถึงสาระสำคัญ ประกอบด้วย

1.ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ…… สาระสำคัญคือกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการคุ้มครองครองคนไร้ที่พึ่ง โดยให้มีการจัดตั้งสถานคุ้มครอง เพื่อให้ความช่วยเหลือบุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัย และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จัดให้จัดสวัสการสังคม และเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ และการให้อาชีพ

2.ร่างพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ…… สาระสำคัญคือให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเน็ญบำนาญข้าราชการ และผู้รับบำนาญ ทหารกองหนุน มีเบี้ยหวัด ซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเน็ญบำนาญข้าราชการ ที่รับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 โดยข้าราชการสามารถกลับไปใช้สิทธิตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494ได้

3.ร่างพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่…..) พ.ศ…… สาระสำคัญคือกำหนดให้มีการจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้กับทายาทกองอาสารักษาดินแดน ที่ได้รับบำนาญพิเศษจากเหตุพิการ ทุพลภาพเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ถึงแก่ความตาย เป็นจำนวน 30 เท่าของบำนาญพิเศษรายเดือน

4.ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่…..) พ.ศ…… สาระสำคัญคือ การแก้ไขพิ่มเติม โดยมีการขยายขอบเขตการบังคับใช้ให้ครอบคลุมลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ กำหนดการคำนวนค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ รวมทั้งเพิ่มหลักเกณฑ์และอัตราเงินสมทบที่รัฐ จะออกให้กับผู้ประกันตน

5.ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ฉบับที่..) พ.ศ…… สาระสำคัญ คือกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และกำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บเงินจากสถาการเงินของรัฐเข้ากองทุน เพื่อไปช่วยเหลือและสนับสนุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งรูปแบบของกองทุนจะอยู่ในสถานะที่ไม่เป็นนิติบุคคล อยู่ในสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง

6.ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่…..) พ.ศ…… สาระสำคัญคือเพิ่มเติมข้อยกเว้นเกี่ยวกับการให้สินเชื่อทางธุรกรรม แก่กรรมการผู้บริหาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว

7.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ.2540 พ.ศ…… สาระสำคัญ คือ การกำหนดให้การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องโอนทรัพย์สินอย่างเด็ดขาดไปยังนิติบุคคลเฉพาะกิจ แต่สามารถใช้วิธีใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินแทนได้ และให้จัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบของรัฐ

8.ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พ.ศ.2482 พ.ศ…… สาระสำคัญคือ เนื่องจากไม่มีการใช้บังคับ โดยสภาพอันเป็นผลจากการดำเนินงานของกรมชลประทาน ตามพ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485

9.ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…..) พ.ศ…… สาระสำคัญคือ การกำหนดเวลาการขอคืนภาษีให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

10.ร่างพระบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่…..) พ.ศ….. สาระสำคัญ คือการเพิ่มการดำเนินคดีแบบกลุ่มเข้าไป เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคม อีกทั้งเป็นมาตการในการดำเนินคดีที่เป็นมูลคดีอย่างเดียวกันได้รับผลอย่างเดียวกันด้วย เพื่อเป็นมาตรการอำนวยความยุติธรรม อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

11.ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่…..) พ.ศ…… สาระสำคัญ เป็นการปรับปรุงน้ำหนักของรถที่ใช้ในการขนส่งส่วนบุคคล จากเดิม 1.6 ตัน เป็น 2.2 ตัน เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตรถในปัจจุบัน และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการการตรวจสภาพรถให้ได้รับความเป็นธรรม และมีการปรับปรุงบทกำหนดโทษด้วย

12.ร่างพระราชบัญญัติสวนป่า (ฉบับที่..) พ.ศ…… สาระสำคัญ เป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสวนป่า การแปรรูปไม้ในสวนป่า การเก็บหาค้า มีไว้ในครอบครอง หรือนำเคลื่อนที่ซึ่งของป่าในสวนป่า และยังมีเรื่องของการออกใบสำคัญรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นมาตรการในการส่งเสริมและจูงใจในการปลูกสวนป่าเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับพันธกรณีการร่วมมือด้านป่าไม้ของอาเซียน

การประชุม ครั้งที่ 9/2557 เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ อีกจำนวน 14 ฉบับ ประกอบด้วย

1. ร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ….. เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย
2. ร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ…. เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม
3. ร่างพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่…) พ.ศ….
4. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ (ฉบับที่..) พ.ศ….
5. ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่…) พ.ศ…
6. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่…) พ.ศ….
7. ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่….) พ.ศ….
8. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่…) พ.ศ….
9. ร่างพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่..) พ.ศ….
10. ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ (ฉบับที่..) พ.ศ…
11. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. (ฉบับที่..) พ.ศ….
12. ร่างพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …..
13. ร่างพระราชบัญญัติรับขนคนโดยสารและสัมภาระทางถนนระหว่างประเทศ (ฉบับที่..) พ.ศ…
14. ร่างพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่..) พ.ศ…

นอกจากนี้ ยังมีกฏหมายพิเศษ ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะนำเสนอเพิ่มเติม เช่น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนตัวจะผลักดันกฎหมาย อาทิ บริหารชุมชนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ

ส่วนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภารกิจหลักที่จะผลักดัน คือ การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจของประเทศ ให้เอื้อต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการลงทุนของประเทศ เช่น กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กฎหมายภาษีซ้อน เพื่อเอื้อกับการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พิธีศุลกากร

ทั้งหมดนี้ คือ บัญชีกฏหมาย ที่สนช.ยุค ที่ถูกแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นผู้คัดเลือก เพื่อปรับโครงสร้าง ปฏิรูป และจัดระเบียบประเทศหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557