ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > 2 เดือน คสช. อนุมัติงบกลางสำรองจ่ายโครงการด่วน 31 รายการกว่า 3 แสนล้าน

2 เดือน คสช. อนุมัติงบกลางสำรองจ่ายโครงการด่วน 31 รายการกว่า 3 แสนล้าน

2 สิงหาคม 2014


ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่บังคับใช้มา 55 ปี นั้น ถือเป็น 1 ใน มรดกของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งคนคุมเงินของหลวง หรือเงินรัฐบาล ในสมัยนั้น จึงขึ้นอยู่กับ 2 คน คือ นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ “งบกลาง” หรือ “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น”

ต่อมามีการกำหนดอำนาจการจัดสรรเงินงบกลางทุกรายการ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๙ วรรคสองได้บัญญัติอำนาจจัดสรรเงินงบกลางไว้ว่า “รายจ่ายรายการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในงบกลาง ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจจัดสรรให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายโดยตรง หรือเบิกจ่ายในรายการต่างๆ ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ได้ตามความจำเป็น…..”

กฏหมายกำหนดชัดเจนว่า “อำนาจการสั่งจ่ายเงินงบกลาง” เป็นของ “ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ” มิได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแม้ว่าจะมี “มติคณะรัฐมนตรี” หรือ “คำสั่ง” ของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หากว่า ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเห็นว่าโครงการใดเป็นการใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ หรือไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ผู้อำนวยการต้องทักท้วง “คำสั่งที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ได้ ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ มาตรา ๒๖

การพิจารณาการอนุมัติงบประมาณในรัฐบาลพลเรือนในภาวะบ้านเมือง “ปกติ” จึงต้องนำเสนอผ่านการพิจารณาร่วมกันของคณะรัฐมนตรี เพื่อ “อนุมัติ” ในที่ประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันอังคาร ที่ทำเนียบรัฐบาล

การอนุมัติแต่ละครั้ง ต้องเป็นไปตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน และกฏหมาย แผนงาน และนโยบายที่รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกอบกับต้องมีบันทึกความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ สำนักงานกฤษฎีกา ประกอบการพิจารณา เว้นแต่จะเป็นเรื่อง “เร่งด่วน” เช่น มีภัยพิบัติ และเกิดเหตุ “ฉุกเฉิน” จึงจะเสนอเรื่อง เป็น “วาระด่วน” หรือ “วาระจร” แทรกเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำบันทึกไม่ทัน ต้องมา “ชี้แจงด้วยวาจา”

กระนั้นก็ตาม ในการอนุมัติงบกลาง หรือเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต้องมีองค์ประชุมที่ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการประจำระดับสูง อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ร่วมอยู่ด้วย เว้นแต่เป็นวาระ “ลับเฉพาะ” ข้าราชการระดับสูงจะต้องออกจากห้องประชุม เหลือเพียงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเท่านั้น ที่อยู่ร่วมพิจารณา

ทั้งนี้ ระเบียบการขอใช้เงินงบกลางในภาวะ “รัฐบาลพลเรือนปกติ” รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเจ้าของเรื่องทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ โดยกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาอนุมัติภายในวงเงิน 10 ล้านบาท กรณีที่มีวงเงินเกิน 10 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณพิจารณานำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน โดยหากนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการก่อนก็ได้ สำหรับกรณีที่มีวงเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท ควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการก่อน จึงจะอนุมัติได้

การบริหารสไตล์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก่อนหน้านี้ 2 เดือน อยู่ภายใต้บรรยากาศไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีนโยบาย และไม่มีแผนบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นไปตามลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาเร่งด่วนตามที่ คสช. กำหนด ดังนั้น การอนุมัติงบประมาณ หรือการอนุมัติงบกลาง กรณีฉุกเฉินจำเป็น จึงเป็นไปแบบ เร่งด่วน และต่างไปจากปกติ

ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการเปิดสมัยประชุมวันที่ 7 สิงหาคม 2557 และจะมีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” รวบรวมการอนุมัติงบประมาณ ทั้งรายการปกติในปี 2557 และการอนุมัติงบค้างจ่ายต่อเนื่องมาจากปี 2556 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบผูกพันข้ามปี และการปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ

จากผลการประชุมคณะคสช. เพื่อขับเคลื่อนการบริหารประเทศ 8 ครั้ง ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และการประชุมคณะกรรมการระดับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน และการประชุมระดับกระทรวงต่างๆ ในรอบรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2557) รวม 31 รายการ วงเงิน 304,969 ล้านบาท ดังนี้

2 เดือนคสช.อนุมัติงบประมาณ
1. อนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายเงินค้างชำระหนี้ของชาวนา ในโครงการจำนำข้าว วงเงิน 92,431 ล้านบาท

2. อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรปี 2555-2557 วงเงิน 5,498.9ล้านบาท

3. อนุมัติงบกลาง จากรายการงบกลางเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยแผ่นดินไหวในจังหวัดเชียงราย วงเงิน 449 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณช่วยเหลือสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนเงิน 322 ล้านบาท และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ วงเงิน 127 ล้านบาท

4. อนุมัติงบประมาณ ช่วยชาวสวนยาง 2 โครงการ วงเงิน 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เพื่อช่วยเหลือการปลูกยางทั้งระบบจำนวนเงินงบประมาณ 6,600 ล้านบาท มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 100,000 ราย และโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นโครงการตกค้างในการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2555 และปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ประสบภัยทางธรรมชาติประมาณ 580,000 กว่าราย และวงเงินอีก 5,400 กว่าล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ

5. อนุมัติงบกลางประจำ ปี 2557 โครงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดิน ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และภาคภูมิใจในความเป็นไทย บริเวณหอประชุมกองทัพบก ถนนนครราชสีมา วงเงิน 2,455 ล้านบาท

6. อนุมัติงบประมาณ เพื่อสมทบค่าเบี้ยประกันภัยนาข้าวปี 2557 วเงิน 2,292 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาฤดูกาลผลิต 2557/58 โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตให้เกษตรปลูกข้าวนาปีลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท

7. อนุมัติใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 2 โครงการ 400 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานปี 2557 วงเงิน 200 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนปี 2557 วงเงิน 200 ล้านบาท โดยทั้งสองโครงการอยู่ใน 23 โครงการที่ทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เสนอให้ทบทวน และทางคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน พิจารณาเรียบร้อยแล้วว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์จึงให้ดำเนินการต่อไป

8. อนุมัติงบประมาณ สำหรับกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต วงเงิน 163 ล้านบาท เช่น ลำไยจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 74.5 ล้านบาท เงาะและลองกองจากภาคตะวันออกจำนวน 51 ล้านบาท มังคุดและลองกองจากภาคใต้จำนวน 37.5 ล้านบาท

9. อนุมัติงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเพื่อแก้ปัญหาราคายางพารา ระยะสั้น วงเงิน 6,160 ล้านบาทให้กับเกษตรกร 112,253 ราย เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ในอัตราไร่ละ 2,520 บาท เฉพาะที่เปิดกรีดแล้ว ขณะที่ระยะยาว จะสนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต

10. อนุมัติงบกลาง ให้กรมประมงแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเลจากกลุ่มการตายด่วน วงเงิน 96 ล้านบาท

11. อนุมัติตามกรอบงบประมาณเดิม ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อการปรับปรุงปรับทัศนียภาพและอาคารสถานที่ภายในทำเนียบรัฐบาลจำนวน 252 ล้านบาท

12. อนุมัติงบกลาง โครงการสนับสนุนงบกลางช่วยการศึกษาทางไกล ขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 15,441 โรงเรียนทั่วประเทศ วงเงิน 1,300.6ล้านบาท

13. อนุมัติงบประมาณ ให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าเหมาซ่อมสำหรับปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,401 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 2,870 ล้านบาทเศษ และค่าเหมาซ่อม 1,531 ล้านบาทเศษ เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และให้เกิดการประหยัดดอกเบี้ยจ่ายกรณีผิดนัดชำระหนี้

14. อนุมัติงบ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสร้างโรงพัก 8,357 ล้านบาท แต่มีงบเก่าอยู่ 2,459 ล้านบาท ดังนั้นจะเหลือที่ต้องอนุมัติใหม่เพียง 5,898 ล้านบาท (จำนวนโรงพักทั่วประเทศ 375 แห่ง) สำหรับอาคารอีก 215 หลังนั้น ต้องใช้วงเงินประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะต้องตั้งคำของบประมาณในปีงบประมาณ 2558

15. อนุมัติงบประมาณ ที่ผูกพันไว้แล้ว ให้สำนักงานป้องกันการฟอกเงิน หรือ ปปง. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร วงเงิน 200 ล้านบาท

16. อนุมัติงบประมาณ เพื่อซื้ออาวุธ เป็นงบผูกพัน รวม 2,588 ล้านบาท (ผูกพัน 4 ปี)

2 เดือนคสช.อนุมัติงบกลาง

17. อนุมัติงบประมาณ เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำ ให้ทันสิ้นปีงบประมาณ 2557 และกันไว้ใช้ในปี 2558 วงเงิน 17,000 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกคูคลอง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

18. อนุมัติงบประมาณให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) สร้างระบบระบายน้ำ วงเงิน 20,000 ล้านบาท จำนวน 16 โครงการ เช่น โครงการที่เป็นการบูรณาการเพื่อแก้ปัญหากับพื้นที่รอยต่อในจังหวัดใกล้เคียงเป็นหลัก โดยในส่วนของการก่อสร้างโครงการใหญ่ คือ อุโมงค์ระบายน้ำ และโครงการเร่งด่วนที่สามารถบูรณาการการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงทั้งจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี

19. อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปรับปรุงถนน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ วงเงิน 835.9 ล้านบาท โดยเป็นงานก่อสร้างถนนซึ่งใช้ยางธรรมชาติผสมยางมะตอยในการปูผิวถนน รวมทั้งสิ้น 37 สายทาง ระยะทาง 164.97กิโลเมตร ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 360 วัน

20. อนุมัติงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือชาวประมง และปศุสัตว์ ปี 2557 ในพื้นที่ 68 จังหวัด วงเงิน 5,498 ล้านบาท

21. อนุมัติงบประมาณ รายการงบกลางปี 2557 เพื่อซ่อมแซมท่าเรือหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 115 ล้านบาท

22. อนุมัติงบประมาณผูกพันข้ามปี (2558-2561) เพื่อสร้างศูนย์รังสีบำบัด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ วงเงิน 1,200 ล้านบาท

23. อนุมัติแผนงานและกรอบงบประมาณปี 2557-2558 แก้ปัญหามาบตาพุด 8 แผนงาน เพื่อดูแลโรงงาน จัดการขยะ ปรับปรุงผังเมือง จัดระเบียบจราจร ปรับปรุงด้านสาธารณูปโภค วงเงิน 677 ล้านบาท

24. อนุมัติงบประมาณเพื่อปรับปรุงเรือนจำภูเก็ต 1,104.6 ล้านบาท

25. อนุมัติให้กองทัพบกก่อหนี้ผูกพันข้ามปี (2557-2561) สำหรับก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ 2,599 ล้านบาท

26. อนุมัติงบประมาณ ตามที่กรมการทหารช่างขอให้อนุมัติหนี้ผูกพันข้ามปี (2557-2559) ในโครงการจัดสร้างโครงการตรวจวินิจฉัยผ่าตัด และรักษาพยาบาล อาคารภูมิศิริมังคลานุสรณ์ 1,738 ล้านบาท

27. อนุมัติงบประมาณ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน วงเงินไม่เกิน 1,600 ล้านบาท จะให้เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และปีต่อ ๆ ไป

28. อนุมัติจัดสรรเงินงบประมาณปี 2558 จำนวน 82,403 ล้านบาท ให้ ธ.ก.ส. เพื่อชำระคืนดอกเบี้ย และเงินต้นจากแหล่งเงินกู้ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กู้มาให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการใช้ดอกเบี้ยในส่วนเงินที่กู้ยืม ธ.ก.ส. มาใช้ในโครงการรับจำนำ 92,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยอีกกว่า 2,200 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวในปี 2557

29. อนุมัติงบประมาณ เพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 26,000 ล้านบาท (มีเงินทุนสะสม 34,000 ล้านบาท)

30. อนุมัติปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ โดยสั่งยุติกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านแล้วโยกงบประมาณ 5,700 ล้านบาท ไปรวมกับการสั่งยุติกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในชุมชน ซึ่งมีงบประมาณ 1,225 ล้านบาท รวมเป็น 6,925 ล้านบาทไปใช้ในโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทน

31. อนุมัติปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ โดยชะลอการใช้เงินกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วงเงิน 596 ล้านบาท และโอนงบประมาณไปยังโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือ กองทุน สสว. แทน

อนึ่งการรวบข้อมูลครั้งนี้ เป็นการรวบรวมจากผลการประชุม ที่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเท่านั้น