ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รองผู้ว่าฯ อยุธยา แจงมลภาวะ “ฝุ่นถ่านหิน-มันสำปะหลัง” ระบุแค่รำคาญ – ถ้าฟ้องต้องศาลทหารเท่านั้น

รองผู้ว่าฯ อยุธยา แจงมลภาวะ “ฝุ่นถ่านหิน-มันสำปะหลัง” ระบุแค่รำคาญ – ถ้าฟ้องต้องศาลทหารเท่านั้น

25 กรกฎาคม 2014


ท่ามกลางการพัฒนาประเทศที่เร่งรีบทำให้ละเลยการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชน ปัจจุบันสภาพและปัญหาที่ชาวอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสบ ทั้งมลภาวะทางอากาศ น้ำ เสียง ความปลอดภัยในชีวิตอื่นๆ จากการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ ต่อเนื่องมายังการขนส่งทางบกโดยรถบรรทุก ที่ร้องเรียนมาเป็นเวลา 10 ปีแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และการขาดความรับผิดชอบทั้งในส่วนภาคเอกชนในฐานะผู้ประกอบการและภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล

จากการลงพื้นที่และได้พูดคุยกับหน่วยงานที่กำกับดูแลซึ่งเป็นผู้คุมกฎต่างระบุว่าผลการตรวจสอบมลภาวะไม่ว่าจะเรื่องฝุ่น เรื่องน้ำ เรื่องเสียง ต่างไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ถ้าเจาะลึกไปกว่านั้นว่าตรวจปีละกี่ครั้ง คำตอบที่ได้คือปีละครั้ง บางหน่วยก็ระบุว่าแล้วแต่พื้นที่จะร้องขอมา

แต่จากการสำรวจด้วยตาเปล่า สภาพฝุ่นที่เป็นปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ที่เผชิญอยู่ นับเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ สร้างความเดือดร้อนอยู่เป็นประจำ ซึ่งไม่ต้องรอผลตรวจสอบของหน่วยงานภาครัฐก็รับรู้ถึงความจริงที่เกิดขึ้นได้ ก็สามารถบอกได้ว่ามลภาวะดังกล่าวนั้นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และเป็นภาวะที่ต้องประสบอยู่ทุกวันโดยเฉพาะฝุ่น ทั้งฝุ่นดำและฝุ่นขาว

ปัจจุบันธุรกิจการขนถ่ายสินค้าทางน้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งปริมาณสินค้าและรายชื่อผู้ประกอบกิจการ ทั้งนี้ อำเภอนครหลวงถือเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าทางน้ำขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย และเป็นแหล่งขนถ่ายถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่จะเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ

พ.อ.อ.ปัญญา สระทองอุ่น รองผู้ว่าราชการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.อ.อ. ปัญญา สระทองอุ่น รองผู้ว่าราชการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผลจากการร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่อำเภอนครหลวงต่อคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ “พ.อ.อ. ปัญญา สระทองอุ่น” รองผู้ว่าราชการมาดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้

พ.อ.อ. ปัญญาเปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการขนถ่ายสินค้าไม่ได้ทำตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ กล่าวคือเมื่อเรือมาจอดเทียบท่า สินค้าต้องลำเลียงทางสายพานเพื่อจะได้ไม่ร่วงหล่น แต่ปรากฏว่าใช้รถแม็คโครตักสินค้า ทำให้ตกหล่นลงไปแม่น้ำลำคลอง บางแห่งก็มีผู้รับซื้อที่ท่าเรือเลย และถ้าการขนขึ้นจากเรือมีระบบสเปรย์น้ำป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นก็สามารถลดผลกระทบได้เยอะมาก จากนั้นขนถ่ายจากท่าเรือมาใส่รถบรรทุกก็ปิดไม่มิดชิด มีฝุ่นฟุ้งกระจายระหว่างการขนส่ง รวมไปถึงการล้างล้อรถบรรทุกก่อนออกจากท่าเรือหรือโรงงานเพื่อล้างฝุ่นละออง ขณะที่บางแห่งเมื่อขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือแล้วจะนำสินค้าไปเทกองไว้บนพื้นดินหรือลานซีเมนต์

“การตรวจสอบก็ต้องคอยดูว่ารถบรรทุกปิดคลุมสนิทไหม สินค้าร่วงหล่นตามถนนหรือเปล่า แล้วบ้านที่อยู่ใกล้โรงงานมีฝุ่นละอองไหม ซึ่งจากการตรวจสอบฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย ผลออกมาว่า ค่าฝุ่นละอองไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่อาจจะเข้าข่ายว่าเป็นเหตุให้เดือดร้อนรำคาญ เพราะมีฝุ่นละอองตามบ้านเต็มไปหมด ทั้งเสื้อผ้าที่ตากไว้ ภาชนะ ใต้ถุนบ้าน ผิวถนน ดำไปหมด จะนอนพื้นกระดานก็ดำไปหมด ค่ามาตรฐานเท่าไหร่ผมจำไม่ได้ แต่ว่าตรวจสอบแล้วไม่เกิน วัดมากี่ครั้งก็ไม่เกินว่ามันจะก่อให้เกิดโรคหรือเป็นอันตรายต่างๆ” พ.อ.อ. ปัญญากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานแต่มีการสะสมในร่างกาย พ.อ.อ. ปัญญากล่าวว่า “ถ่านหินเป็นคาร์บอน ไม่เหมือนกับปูนซีเมนต์ที่เมื่อเข้าไปเจอความชื้นในปอดแล้วจะจับปอด เรียกว่าปอดแข็งก็คือมะเร็ง แต่อันนี้ถ่านหิน คือคาร์บอน เป็นถ่านทั่วไปถ่านไม้ มันไม่ได้ไปจับปอด ที่จริงจะไปฟอกปอดด้วยซ้ำ แต่จะระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เพราะฉะนั้นอาจแสบจมูกเป็นหวัด และอาจทำให้แม่น้ำตื้นเขิน ถ่านหินมันเป็นธรรมชาติ ถ้าคุณไปจับถ่านหิน มันก็ไม่ได้ซึมเข้าร่างกายเหมือนจับตะกั่วที่จะสะสมเข้าทางผิวหนังและกระแสเลือด ถ้าพูดตามหลักกฎหมายจะเข้าข่ายของเหตุเดือดร้อนรำคาญ ปรับ 300-500 บาท ก็ประมาณนี้ แต่ชาวบ้านเดือดร้อนจากชีวิตความเป็นอยู่ทั้งคุณภาพน้ำ อากาศ”

ความเดือดร้อนจากฝุ่นถ่านหิน และฝุ่นจากการขนส่งของรถบรรทุก
ความเดือดร้อนจากฝุ่นถ่านหิน และฝุ่นจากการขนส่งของรถบรรทุก

พ.อ.อ. ปัญญาตั้งข้อสังเกตว่า เรือขนส่งสินค้า ถ้าตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า ท่าเรือส่วนใหญ่ขออนุญาตไม่เกิน 500 ตันกรอส (ไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA) และท่าเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส การขนถ่ายสินค้าจะใช้รถบรรทุกประมาณ 65 คัน แต่ข้อเท็จจริงของเรือที่ขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือเป็นลำใหญ่ เรียกว่าเรือบาร์จ การขนถ่ายสินค้าจะใช้ประมาณ 100 คันรถบรรทุก ซึ่งศักยภาพของท่าเรือในแม่น้ำป่าสักไม่เหมาะที่จะรับเรือบรรทุกขนาดมากกว่า 500 ตันกรอส ถ้าหากเกินท่าเรือต้องทำ EIA เพื่อประเมินถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าเรือที่ขนถ่ายอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกิน 500 ตันกรอส พ.อ.อ. ปัญญากล่าวว่า “อันนี้ผมไม่ทราบ ปกติถ้าน้ำเยอะแล้วจอดเรือ 2 ลำในแม่น้ำก็ไม่เป็นไร แต่ในช่วงหน้าแล้ง การจอดซ้อนลำก็จะเกิดปัญหา เรือที่เล่นไปมาก็ลำบาก และปัญหาต่อมา คนเรือจะส่งเสียงดัง เครื่องจักรก็ดัง กลางคืนก็เสียงดัง แล้วพอไปจอดริมตลิ่ง ถ้าคลื่นแรงไปตลิ่งก็พัง และคนเรือมักเอาเรือไปผูกใต้ต้นไม้หรือเสา ก็ทำให้มันพัง เป็นเรื่องที่ต้องจัดระบบการจราจรทางน้ำให้ดี ปัญหาดังกล่าวก็เป็นผลกระทบที่ว่าผู้ประกอบการมักง่ายเกินไป เรื่องนี้ผมว่ากรมเจ้าท่ารู้ แต่มีพนักงานไม่กี่คน ผมก็กำชับว่าต้องไปดูให้มากกว่านี้ โดยตอนนี้ทางกรมเจ้าท่าจะมีการติดตั้งกล้อง CCTV ถ้าเห็นว่าทำผิดก็สั่งจับสั่งปรับได้เลย เอามาตรการเหมือนที่จับรถยนต์มาทำ และผมว่าต้องให้ความรู้ทางหน่วยงานในเรื่องของกฎหมายด้วย บางทีเขาอาจไม่เข้าใจว่ามีอำนาจตรงนี้”

พ.อ.อ. ปัญญากล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่อำเภอนครหลวงเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ 1) กฎหมายท่าเทียบเรือ การก่อสร้างท่าเทียบเรือ ตามกฎหมายกรมเจ้าท่าน่านน้ำไทย 2456 2) กฎหมายสาธารณสุข ให้อำนาจนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ในการออกใบอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคาร โดยใบอนุญาตสามารถกำหนดเงื่อนไขต่อท้ายซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ผู้ประกอบต้องปฏิบัติตาม ถ้าโรงงานฝ่าฝืน สามารถมีบทลงโทษหรือจะไม่ต่อใบอนุญาตหรือสั่งแก้ไขปรับปรุงก็ได้ เป็นอำนาจที่ อบต. และเทศบาลจะต้องออกเป็นข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติของเทศบาล

3) กฎหมายโรงงานปี 2535 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องในกรณีที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไปหรือมีคนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ก็ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมจากกรมโรงงานก่อน ซึ่งถ้าเครื่องจักรกำลังไม่เกิน 500 แรงม้า มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ถ้าเกิน 500 แรงม้าขึ้นไปต้องส่งกลับไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าเป็นประเภทที่กฎหมายห้ามโดยกรณีนี้จะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขหรือไม่อนุญาตก็ได้ แต่ประเภทที่ไม่ได้ห้ามก็สามารถกำหนดเงื่อนไขเรื่องต่างๆ ได้เช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วไป เช่น กฎหมายขนส่งทางบก ในกรณีที่รถบรรทุกวิ่งบนทางหลวงแล้วไม่มีการป้องกันปล่อยสินค้าร่วงหล่น กรมขนส่งทางบกหรือขนส่งจังหวัดก็สามารถเรียกจับและปรับได้ และกฎหมายส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมปี2535 ซึ่งเป็นกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ใครเป็นผู้สร้างปัญหาต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งปัญหาน้ำ ขยะ หรือมลภาวะอะไรตาม

“จากการประชุมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ทั้งหมด เป็นการให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายก่อนเพื่อที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้ว่ากฎหมายให้อำนาจท่านในฐานะพนักงานท้องถิ่น ไม่ใช่นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการเลย เป็นอำนาจของท่าน (อบต./เทศบาล) และจากการตรวจสอบใบอนุญาตผู้ประกอบการส่วนใหญ่อนุญาตถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จึงมอบหมายให้แต่ละ อบต. สำรวจว่ามีการกำหนดเงื่อนไขต่อท้ายไว้กี่ข้อ ปรากฏว่ามีตั้งแต่ 1 ข้อ 6 ข้อ มากสุด 8 ข้อ หากเป็นอย่างนี้ทางผู้ประกอบการจะมีปัญหา กลายเป็นมีหลายมาตรฐาน เพราะฉะนั้นการต่อใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 จะต้องมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ชัดเจนและเหมือนกันทุกตำบล”

นอกจากนี้ได้เชิญผู้ประกอบการขนถ่ายสินค้า 50-60 ราย อาทิ ชมรมผู้ประกอบการท่าเรือมีสมาชิกชมรม 26 ราย ที่เหลือไม่ได้เป็นสมาชิกชมรม โดยเชิญผู้ประกอบการทั้งหมดมาเพื่อให้ความรู้เรื่องกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่หลังวันที่ 1 มกราคม 2558 อย่างเคร่งครัด ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งคุณภาพน้ำ อากาศ ชีวิตสุขภาพอนามัยของประชาชน ถ้าผู้ประกอบการทำตามเงื่อนไขได้ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ปริมาณเรือขนสินค้า ท่าเรืออำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปริมาณเรือขนสินค้า ท่าเรืออำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ลานเทกองถ่านหิน ต.คลองสะแก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
ลานเทกองถ่านหิน ต.คลองสะแก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

“สำหรับเงื่อนไขหรือข้อปฏิบัติของผู้ประกอบการที่ต้องดำเนินการ เช่น จะต้องปลูกต้นไม้รอบบริเวณ มีแสลนเพื่อลดผลกระทบไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย พื้นต้องล้างเป็นประจำ และน้ำจากการล้างพื้นห้ามปล่อยลงแม่น้ำ ต้องมีการป้องกันฝุ่นเสียง เป็นต้น โดยมีกฎหมายรองรับ ระบุความผิด ถ้าฝ่าฝืนต้องทำอย่างไร ซึ่งก็ต้องให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ, อบต. และผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการไม่ได้สนใจเรื่องกฎหมาย สนใจเพียงแค่จะทำอย่างไรเพื่อลดต้นทุนการผลิต ถ้าไปลงพื้นที่อำเภอนครหลวง จะเห็นเลยว่าโรงงานบางแห่งทำรั้ว ทำแสลน มีสเปรย์ มีระบบป้องกันอะไรดีหมด แต่บางแห่งขนสินค้ามาแล้วเทกองไว้ข้างๆ ถนน กองสูงอย่างกับตึก 10 ชั้น แสลนก็ไม่มี กองอยู่กลางทุ่งเลย ถ้าลมมามันจะไปไหนล่ะ ถ้ากองอยู่ท้ายลมไม่มีบ้านคนก็แล้วไป แต่ข้างๆ มีหมู่บ้านอยู่จะเกิดอะไรขึ้น ก็อยู่ที่ความใส่ใจของผู้ประกอบการ ซึ่งการเทกองกลางแจ้ง ที่ผ่านมาทุกคนต่างก็โยนกันว่าเป็นหน้าที่ของใคร ทำไมผู้ว่าราชการไม่ดำเนินการ” พ.อ.อ. ปัญญากล่าว

โดยขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดซึ่งมีตนเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ทั้งนายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่ และประชาชน โดยจะมีการทำการตรวจสอบใบอนุญาตโรงงานร่วมกัน ถ้าไม่ทำไม่ถูกต้องก็ติดตามแก้ไข ประชาชนก็โอเค เพราะคณะกรรมการก็มีตัวแทนของประชาชน เมื่อแก้ไขแล้วก็ให้มีการประชาสัมพันธ์บอกชุมชน แล้วก็รายงานอำเภอ ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง

“นายก อบต. ถูกเลือกมาจากใคร ก็ประชาชนในหมู่บ้าน แล้วที่ร้องเรียนก็ประชาชนในหมู่บ้านไหม เมื่อรู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนทำไมไม่เร่งแก้ไข ทำไมเรื่องต้องมาถึงนายอำเภอ ถึงจังหวัด พอสิ้นปี นายก อบต. ก็ไม่ต้องต่อใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการก็จบ” พ.อ.อ. ปัญญากล่าว

นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการของกรมอนามัยที่จะเข้าไปตรวจสอบโรงงานและตรวจสอบหมู่บ้านทั้งหมดในอำเภอนครหลวง เพื่อสอบถามถึงผลกระทบต่างๆ แล้วจะนำผลการศึกษามาทำเป็นโมเดลว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากอะไร และนำออกมาเป็นมาตรการป้องกัน พอถึงตอนนั้นจะให้ อบต. แต่ละตำบลมานั่งพูดคุยกันว่าจากการเก็บข้อมูลตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข จะสามารถนำกฎหมายเกี่ยวข้องมาบังคับใช้ยังไงได้บ้าง แล้วจะเชิญหน่วยงานอื่นๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด เข้ามาร่วมฟังด้วยแล้วถือโอกาสทำเป็นสัญญาประชาคมว่า ต่อไปนี้จะต้องทำตามเงื่อนไขนี้

“10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีการแจ้งปัญหาไปยังคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติฯ แล้วก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจังหวัดขึ้นมา ชาวบ้านก็มาพูดกับผมว่า 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีใครให้ความรู้เรื่องกฎหมายแบบนี้เลย ผมเลยบอกให้ชาวบ้านใจเย็น ถ้าไปฟ้องศาลปกครองตอนนี้ก็ยังไม่รับ ต้องศาลทหารเท่านั้น แต่ต้องอย่าลืมว่าถ้าฟ้องร้องแล้วก็จะมีการปิดโรงงานแถวนั้น คนที่ทำงานแถวนั้นจะขาดรายได้ไหม แล้วต่อไปใครจะมาลงทุน ทางที่ดีมาคุยกันให้เข้าใจว่าอันไหนป้องกันได้ อันไหนลดผลกระทบได้ อันไหนไม่สร้างมลภาวะ ทั้งนี้วันที่ 1 มกราคม 2558 บริษัทที่ไม่ทำตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ต้องมีการปรับตามกฎหมาย อย่างเช่น กำหนดไว้ว่าหากโรงงานไม่ทำตาม จะต้องขนย้ายสินค้า และปรับ 5,000 บาท จนกว่าจะขนย้ายสินค้าออกหมด” พ.อ.อ. ปัญญากล่าว