ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดรายงานชมรมท่าเรือฯ มลภาวะที่คุกคามชาวบ้าน-ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป

เปิดรายงานชมรมท่าเรือฯ มลภาวะที่คุกคามชาวบ้าน-ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป

27 มิถุนายน 2014


เรือขนสินค้าที่จอดในแม่น้ำป่าสัก
เรือขนสินค้าที่จอดในแม่น้ำป่าสัก

จากการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางน้ำในอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหามลภาวะทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่เดิมอำเภอนครหลวงเป็นพื้นที่ทำการเกษตร โดยทำนาเป็นหลัก และแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำหลักที่ไหลผ่านชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ทั้งใช้สัญจรไปมาและอุปโภคบริโภค

เมื่อยุทธศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ เนื่องจากเป็นทำเลที่มีแม่น้ำไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี จึงทำให้อำเภอนครหลวงถูกจับจองพื้นที่ในการทำธุรกิจท่าเทียบเรือ โดยในปี 2549 มีท่าเรือจำนวน 33 แห่ง ต่อมาปี 2554 มีท่าเรือจำนวน 52 แห่ง และในปี 2557 มีท่าเรือตามใบอนุญาตท่าเทียบเรือ 35 แห่ง ซึ่งประเภทสินค้าที่นิยมมากที่สุด คือ ถ่านหิน

ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้อำเภอนครหลวงเปลี่ยนไป ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากรายงานการประชุมของชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง โดยจากรายงานการประชุมโครงการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อำเภอปลอดฝุ่น) ครั้งที่ 6/2552 วันที่ 10 เมษายน 2552 นายไพโรจน์ คล่องคำนวณการ ชาวบ้านตำบลบ่อโพง กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากเรือบรรทุกสินค้าว่า ในช่วงหน้าแล้ง เรือบรรทุกสินค้าประเภทน้ำมันซึ่งมีน้ำหนักมาก ทำให้เรือครูดกับพื้นดินใต้ท้องน้ำ ส่งผลให้แม่น้ำเกิดการสึกกร่อนและตลิ่งพัง ทั้งปัญหาการผูกเรือกับต้นไม้ทำให้ต้นไม้โค่นล้ม และในช่วงเวลากลางคืนมีการนำเรือมาจอดเทียบท่าหน้าบ้านโดยไม่มีการขออนุญาตและส่งเสียงดัง โดยบางบ้านมีการอนุญาตให้จอดโดยเสียค่าจอด แต่บ้านผมให้จอดฟรีมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ไม่เคยพูดถึงผลประโยชน์ แต่กลับไม่เคยขออนุญาต ไม่รับฟังปัญหาแถมพูดจาข่มขู่ ซึ่งบ้านละแวกนั้นส่วนมากมีผู้หญิง คนแก่ ผมจึงไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย ถ้าไม่มีการแก้ไขคงต้องไปพึ่งตำรวจหรือนายอำเภอ เพราะส่วนมากเรือจะมาจอดไม่เกิน 2 วัน ถ้าไปตามกรมเจ้าท่าที่เป็นผู้ดูแล กว่าจะมาเรือก็ไปแล้ว

ขณะที่รายงานการประชุมของชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ข้อมูลจากสาธารณสุขอำเภอ ระบุว่า ปัญหาโรคที่เกิดจากฝุ่นละออง สำหรับโรคผื่นคันจากฝุ่นละออง โรคภูมิแพ้/โรคระบบทางเดินหายใจ ปี 2550 จำนวน 636 คน, ปี 2551 จำนวน 471 คน และปี 2552 จำนวน 305 คน โดยสถิติการเจ็บป่วยโรคที่เกิดจากฝุ่นละออง พื้นที่ที่มีตัวเลขสูงคือตำบลนครหลวงและตำบลท่าช้าง ซึ่งตำบลท่าช้างไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม แต่กลับมีสถิติการป่วยสูง และก่อนหน้านี้รายงานการประชุมของชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง วันที่ 27 สิงหาคม 2552 นายสุชัย สถาพร อดีตประธานชมรมฯ ได้เคยกล่าวว่า โรคภูมิแพ้ยังเป็นปัญหาหลักของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงสถานประกอบการในอำเภอนครหลวง

ส่วนรายงานการประชุมของชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 เป็นการประชุมโครงการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อำเภอปลอดฝุ่น) โดยทางชมรมฯ ได้มีการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนดังนี้

ผู้เดือดร้อนหญิงคนที่ 1 แจ้งว่า บ้านอยู่บริเวณตรงข้ามกับท่าเรือจัมโบ้ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลนครหลวง มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองจากการขนถ่ายสินค้าประเภทแร่ อยากให้มีการทำที่กั้นตอนขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือสู่รถบรรทุก เพราะเวลาใช้รถแบคโฮตักฝุ่นจะฟุ้งมาก และอยากให้มีการคลุมผ้าให้มิดชิดทั้งเวลาขนส่งและแร่ที่กองไว้ จากที่เห็นไม่ได้มีการคลุม ทำให้เวลาลมแรงหรือฝนมาฝุ่นละอองจะฟุ้งและพัดข้ามฝั่ง ขนาดถ้วยชามเอาผ้าปิดยังดำเลย

“ทุกวันนี้เป็นโรคไอ ไปหาหมอ หมอก็วินิจฉัยไม่ได้ ตรวจก็ไม่เจอโรค หมอถามว่าแถวบ้านมีฝุ่นละอองหรือไม่ เลยบอกหมอว่าเป็นแร่ หมอบอกว่าสาเหตุเกิดจากภูมิแพ้ ทุกวันนี้ไอโดยที่ไม่มีสาเหตุ ปอดเป็นฝุ่นแล้ว”

ถ่านหินที่นำมาเทกองไว้บนลานโล่งๆโดยไม่มีผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย
ถ่านหินที่นำมาเทกองไว้บนลานโล่งๆโดยไม่มีผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย
ฝุ่นจากรถบรรทุกที่ขนถ่ายสินค้า
ฝุ่นจากรถบรรทุกที่ขนถ่ายสินค้า
ฝุ่นที่เกิดจากธุรกรรมขนถ่ายสินค้า
ฝุ่นที่เกิดจากธุรกรรมขนถ่ายสินค้า

ผู้เดือดร้อนหญิงคนที่ 1 นี้ยังกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเสียงดังจากเรือ ในช่วงเวลาตี 1-2 เรือจะมีการเร่งเครื่องยนต์เสียงดัง เนื่องจากเรือติดแห้ง เมื่อฉายไฟเตือนให้หยุดก็ยิ่งเร่งเครื่องหนักกว่าเดิม และเรือมีควันดำ ซึ่งตนได้มีการอัดเสียงและถ่ายรูปเก็บไว้ด้วย ปัญหาเกิดมาหลายปีแล้วแต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ทางผู้เดือดร้อนชายคนที่ 1 กล่าวว่า บ้านอยู่ใกล้คลองฝั่งวัดบางระกำ เขตหมู่ 3 ได้รับความเดือดร้อนจากพิษควันแร่ถ่านหินลิกไนต์ที่ลุกไหม้ ในช่วงเวลากลางคืนควันจะเข้ามาในบ้าน ซึ่งอันตรายร้ายแรงมาก สร้างความเดือดร้อนทั้งบ้าน โดยในบ้านมีคนเป็นโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจทั้ง 2 โรค และยังมีปัญหาฝุ่นละอองจากการตักขึ้นรถทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีปัญหาดินสไลด์ที่อาจทำให้ตลิ่งพังด้วย

“ปัจจุบันผมเป็นโรคที่เกิดจากควันและโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผมจึงกล้าออกมาพูด คุณจะเอาคนมายิงผมก็จะตายอยู่แล้ว ผมฟังข่าวอยู่ตลอด คนที่ออกมาเรียกร้องอย่างผมถูกยิงมาเยอะ ผมจำเป็นจริงๆ ถ้าผมไม่เดือดร้อนผมไม่ออกมาหรอก ผมก็กลัวตายเหมือนกัน หวังว่าจะเจรจากันแบบสันติวิธี และเห็นใจชาวบ้าน”

ประชาชนสูญเสียโอกาสและวิถีชีวิตไปมโหฬารกับธุรกิจการเดินเรือ ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ใครก็มองไม่เห็นและไม่เคยรู้เลยว่าระบบนิเวศเสียหายไปมากขนาดไหน การปลูกแพผักบุ้งที่หน้าท่า เมื่อก่อนแพผักบุ้งมีมาก โดยรูของแพผักบุ้งเป็นต้นกำเนิดของไรแดง ซึ่งไรแดงเป็นต้นกำเนิดของแมลงปอ และแมลงปอทำหน้าที่คุมแมลงที่ทำลายพืชทุกชนิด ตอนนี้ไม่มีแมลงปอแล้วมีแต่เพลี้ยเต็มไปหมด ชาวนาจะตายอยู่แล้วเพราะแมลงปอสูญพันธุ์ และไรแดงยังเป็นอาหารเบื้องต้นของปลาทุกชนิดในลำคลอง ถ้าไม่มีไรแดงปลาก็ไม่มีโอกาสเกิดเพราะไม่มีอะไรกิน

ผู้เดือดร้อนชายคนที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้ชาวบ้านไม่สามารถปลููกแพผักบุ้งได้เหมือนเดิม ซึ่งเมื่อก่อนถ้าไม่มีกับข้าวก็ลงไปที่แพเก็บผักบุ้งมาทาน แล้วยังได้ปลาได้กุ้ง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ข้าวแกงหม้อนึง 300-400 บาท เดี๋ยวนี้เราต้องซื้อหมดแล้ว เมื่อก่อนฝนตกลงมายังสามารถรองน้ำไว้กินได้ แต่ตอนนี้รองน้ำไม่ได้แล้ว น้ำเป็นกรดและดำ เลยต้องซื้อน้ำกินขวดละ 10 บาท ซึ่งพื้นที่หลังอำเภอและหลังตำบลบางระกำเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการทำเกษตร แต่กลายเป็นท่าแร่หมดแล้ว เจ็บปวดไหมครับ นี่คือสิ่งที่เราสูญเสีย”

ผู้เดือดร้อนหญิงคนที่ 2 กล่าวเสริมว่า “ขณะนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน รอเวลาที่ร่างกายจะต่อต้านโรคเกี่ยวกับฝุ่นละอองไม่ไหว เหมือนกับหลักการพัฒนาโรงงานต่างๆ ถ้าไม่มีกำหนดเวลาให้กับพวกเรา พวกเราคงตายผ่อนส่งทุกวัน ขณะนี้พวกเราตายผ่อนส่งรอเวลาที่ทางโรงงานจะจัดการทำการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งอายุพวกเราไม่ยั่งยืนขนาดที่จะรอได้ ขอให้รีบช่วยเหลือให้พวกเรามีอากาศบริสุทธิ์และใช้ชีวิตตามปกติสุขเหมือนที่เคยมีมา แล้วจึงค่อยพัฒนาโรงงานให้ยั่งยืน อย่าให้โรงงานร่ำรวยแต่ประชาชนร่อแร่ ป้ายังต้องมีชีวิตอยู่นานๆ เพื่อดูว่าจะแก้ไขได้หรือไม่ ป้าพูดแทนเด็กสาว ทางชมรมฯ จะสามารถทำให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ ใช่ไหม”

ด้านนายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม ประธานชมรมท่าเรือฯ กล่าวยอมรับถึงปัญหาทั้งหมด และจะนำไปพูดคุยกับผู้ประกอบการให้รับทราบ ตอนนี้มีผู้ประกอบการท่าเรือทั้งหมด 26 ท่าเรือ แต่ละท่าเรือจะมีเรือเข้าไปทำกิจกรรมจึงอาจมีเสียงดัง โดยเขตคลองสะแก มีโรงงานถ่านหินประมาณ 8 โรงงาน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงมากทำให้ความเดือดร้อนสูงตาม แต่ทางชมรมฯ ก็ไม่ได้ละทิ้ง มีการเข้าไปแก้ไขในส่วนข้างเคียง และได้มีการแบ่งกลุ่ม ประเภทถ่านหินก็แก้ไขปัญหาเรื่องถ่านหิน ประเภทปุ๋ยก็แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นและเสียง ประเภทมันสำปะหลังก็แก้ไขเรื่องฝุ่นละออง ส่วนปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งบนท้องถนน วันนี้ปัญหาก็เริ่มลดน้อยลง ปัญหาจะไม่สะสมถ้าต่างคนต่างแก้

“ผมอยู่พื้นที่คลองสะแกมา 20 ปี ทำให้รู้ว่ากระแสลมหน้าหนาวเป็นอย่างไร หน้าร้อนเป็นอย่าไร บางครั้งปัญหาเกิดจากคนงานไม่ดูแล อย่างผ้าคลุมกองสินค้าผมขอยืนยันว่าเขาทำแต่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบเวลามีกระแสลม ผู้ประกอบการติดสแลนกั้น แต่กระแสลมทำให้หักหมดเลย เพราะไปขวางทางลมหรือยึดไม่แน่น ผมยืนยันได้ว่าปัญหาต่างๆ จากมากจะเหลือน้อย จากเหลือน้อยจะไม่มี โรงงานกับชุมชนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้ามีปัญหาอะไรสามารถบอกกล่าวกันได้”

รถแบคโฮที่ตักขนสินค้าบริเวณท่าเรือ
รถแบคโฮที่ตักขนสินค้าบริเวณท่าเรือ
ชาวบ้านที่เดือดร้อน
ชาวบ้านที่เดือดร้อน

รายงานการประชุมของชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 นายเอนก เฉลียงคต เจ้าของกระยาสารทมรดกไทย กล่าวว่า “ปัญหาฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายถึงแม้จะมีสแลนและสปริงเกอร์ป้องกัน แต่ฝุ่นละอองค่อนข้างเป็นฝุ่นละเอียด ทำให้เกิดการสะสม โดยเฉพาะหน้าแล้ง หลังคาบ้านจะเป็นฝุ่นสีดำ พร้อมทั้งเสนอให้ทุกโรงงานบรรจุสินค้าใส่ถุงมาแทนวิธีการตักสินค้าด้วยรถแบคโฮ และปัญหาแม่น้ำสกปรก ทางโรงงานว่าชาวบ้านทิ้งสิ่งสกปรกลงไปก็มีส่วน แต่อำเภอนครหลวงมีโรงงานรวมแล้วกี่แห่ง พวกเราอยากให้แม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำที่สะอาด แต่พวกคุณทำให้แม่น้ำพวกเราสกปรก ผมอยู่มาตั้งแต่ปู่ย่าตายายไม่เคยร้องไห้เลย ผมเป็นชาวอยุธยาแท้ๆ แต่พวกท่านมาจากไหนไม่รู้ มาทำอยุธยาของผมสกปรก เห็นใจชาวบ้านบ้าง”

ทางประชาชนคลองสะแก หมู่1 กล่าวเสริมในเรื่องการจัดตั้งโรงงานว่า โรงงานที่จะเกิดขึ้นต้องมีมาตรฐานหรือมีโมเดลเป็นต้นแบบ การจะก่อตั้งโรงงานครั้งต่อไปขอให้มีมาตรฐานก่อน ไม่ใช่ทำแล้วค่อยมาแก้ปัญหา และอยากจะทราบว่า จะดำเนินการแก้ปัญหาเมื่อไหร่และสามารถติดต่อใครได้บ้าง แล้วผู้ประกอบการที่อยู่นอกชมรมฯ จะดำเนินการดูแลแก้ไขยังไง ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องฝุ่น กลิ่น และเสียง ถ้าสามารถแก้ได้โรงงานอยู่ได้มีความสุข ชาวบ้านก็อยู่ได้และมีความสุข

นอกจากนี้ในรายงานการประชุมของชมรมท่าเรือและคลังสิงค้า อำเภอนครหลวง วันที่ 23 สิงหาคม 2555 นายสมชาย จำปาเงิน สาธารณสุขอำเภอนครหลวง กล่าวถึงการเกิดผื่นพุพองจากฝุ่นละอองว่า “จากเหตุการณ์เด็กที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่มาเยี่ยมครอบครัวแล้วเกิดผื่นคันมีการนำเสนอข่าวผ่านโทรทัศน์นั้น จากที่ผมเข้าไปตรวจสอบโรงงานพบว่า ตอนกลางวันฝุ่นจะน้อย ส่วนช่วงหัวค่ำฝุ่นจะฟุ้งมากๆ แค่ละอองข้าวผมโดนยังคันเลย พร้อมแนะนำให้บรรจุสินค้าใส่ถุงแทน เพราะฝุ่นที่ฟุ้งกระจายเป็นกำไรของผู้ประกอบการ”

นายสมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาการเทกองถ่านหิน โรงงานที่ขนถ่ายถ่านหินคงทราบดีอยู่แล้วว่า ถ่านหินมีสารกำมะถันที่สามารถติดไฟได้เอง ซึ่งถ้าร่วงหล่นลงแม่น้ำจะส่งผลต่อคนที่ใช้น้ำ ข้าวที่ปลูกก็ตายหรือรวงไม่มีเม็ด ทั้งนี้วิธีป้องกันที่ดีคือใช้ผ้าใบคลุม ถ้าฝนตกก็เกิดการร่วงหล่นน้อยมากแต่ถ้ากองไว้โดยไม่มีการคลุม น้ำฝนจะชะกองถ่านหินไหลลงแม่น้ำ ซึ่งน้ำประปาบางแห่งเป็นน้ำประปาผิวดินที่สูบน้ำจากแม่น้ำ เรื่องนี้จึงน่าเป็นห่วงมาก

นายไพฑูรย์ นูนศิริ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อำเภอนครหลวง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นความเดือดร้อนที่หนักมาก เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านอยู่กันอย่างมีความสุข แต่ทุกวันนี้ต้องมาต่อสู้กับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทางโรงงานควรมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทุกโรงงาน และควรแต่งตั้งพนักงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อไปสอบถามความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วย ไม่ใช่คอยดูอย่างเดียวและเอาสิ่งของไปปลอบขวัญชาวบ้าน ทางที่ถูกควรจะแก้ที่ต้นเหตุ คือ มีปัญหาในเรื่องใดนำมาพิจารณาด้วยกัน สมมติกองแร่มีอยู่เท่าไหร่ จะเทกองตรงไหน นำมาทำประชาพิจารณ์หรือหานักวิชาการมาได้ไหม ว่าถ้ากองแร่ตรงนี้เวลาลมแต่ละฤดูมาจะเป็นอย่างไร หรือป้องกันด้วยการปลูกต้นไม้และมีสแลนกั้น ซึ่งถ้าปัญหานี้ยังไม่เร่งแก้ไขและปล่อยไว้เหมือนเดิม ต่อไปลูกหลานจะอยู่ยังไง

“ผมเคยไปทานอาหารร้านริมถนนแถวตำบลคลองสะแกและตำบลบ่อโพง นั่งแปบเดียวฝุ่นเต็มไปหมด เจ้าของร้านต้องมาคอยเช็ดให้ทุก 5 นาที และเวลาผมไปประชุมที่ไหนจะโดนเข้ามาถามตลอดว่า ทำไมนครหลวงปล่อยให้มีถ่านหินเยอะขนาดนี้ ไม่มีประสิทธิภาพหรือทำอะไรไม่เป็นกันหรือไง”

โรงงานมีการลงทุนสูงแต่ทำไมถึงไม่ลงทุนในเรื่องการแก้ไขปัญหาด้วย โดยขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าจะใช้รถแบคโฮ 3-4 คันตัก ซึ่งถ้าลมแรงฝุ่นก็จะฟุ้งมาก หรือการฉีดน้ำบนถนน ถ้าจะฉีดก็ควรมีคนกวาดด้วยไม่ใช่แค่ฉีดแล้วปล่อยให้ฝุ่นจับอยู่บนถนน และปัญหาถนนชำรุดทรุดโทรม เมื่อพังรัฐก็มาซ่อมแซมให้ ทั้งปัญหาการจอดเรือซ้อนลำหรือการขวางทางน้ำ และคนเรือทิ้งสิ่งสกปรกลงไปในน้ำ ซึ่งทำให้น้ำเน่าเสียส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ แม่น้ำป่าสักระบายน้ำไม่ทันแล้วเลยเกิดน้ำท่วม ถ้าหากยังไม่ดูแลปัญหาก็จะหมักหมมขึ้นเรื่อยๆ