ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2557) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีท่าเรือทั้งหมด 39 ท่า และในจำนวน 39 ท่าเรือ มีบริษัทถ่านหิน 16 บริษัท ขนส่งถ่านหินปีละ 9 ล้านตัน กล่าวได้ว่าอำเภอนครหลวงเป็นท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้ร้องเรียนถึงปัญหาฝุ่นดำจากถ่านหิน รวมทั้งฝุ่นจากแป้งมันสำปะหลัง
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีท่าเรือขนถ่านหินที่อำเภอนครหลวง ได้เปิดให้เข้าชมท่าเรือขนถ่ายถ่านหินแห่งใหม่ในโครงการวัดบันได ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาฯ หลังเปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี
นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือเอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เปิดเผยว่าเอสซีจีใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนและกระดาษประมาณปีละ 2-3 ล้านตัน โดยมีท่าเรือขนถ่านหินในอำเภอนครหลวง 2 แห่ง คือ โครงการบ่อโพง ซึ่งแต่เดิมทีมีการเทกองกลางแจ้ง แต่ปัจจุบันปรับปรุงให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงคือเทกองและขนถ่ายภายในโกดังปิดและมีม่านน้ำที่ประตูทางเข้า-ออก จึงทำให้ไม่มีการฟุ้งกระจายของถ่านหิน และโครงการวัดบันได ซึ่งเป็นระบบปิดตลอดการลำเลียงตั้งแต่การตักถ่านหินจากท่าเรือสู่ระบบสายพานลำเลียงไปยังโกดังเก็บถ่านหินและจ่ายถ่านหินลงรถบรรทุก
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า โครงการทั้ง 2 แห่งมีขอบข่ายการทำงานที่ต่างกัน คือ ที่วัดบันไดจะขนถ่านหินจากท่าเรือเพื่อมากองเก็บถ่านหินหรือจ่ายไปยังโรงงานปูนและกระดาษของเอสซีจีโดยตรงที่สระบุรีด้วยรถบรรทุก ส่วนโครงการบ่อโพง นอกจากจะขนถ่านหินจากท่าเรือมากองเก็บแล้ว ยังมีโรงคัดขนาดถ่านหินและบรรจุถ่านหินใส่ถุงขนาดใหญ่ (big bag) แล้วจ่ายถ่านหินใส่รถบรรทุก แต่ในอนาคตจะขนถ่ายถ่านหินเพียงท่าเดียวที่โครงการวัดบันไดหลังจากติดตั้ง screw unloader ซึ่งเป็นเครื่องดูดถ่านหินจากเรือเข้าสู่ระบบสายพานโดยตรงจึงทำให้ไม่เกิดการฟุ้งกระจาย และทำให้โครงการวัดบันไดเป็นระบบปิด 100% ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งเสร็จในอีก 1 ปีข้างหน้าโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งซื้อจากต่างประเทศ
“เอสซีจีลงทุนกว่า 400 ล้านบาท เพื่อสร้างการขนถ่ายระบบปิดที่โครงการวัดบันได ซึ่งไม่มีความคุ้มทุนในทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อยกมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและดำเนินการบริการจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืนและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้” นายบรรณกล่าว
สำหรับโครงการวัดบันไดได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของกฎหมายอยู่แล้ว และมีการยกระดับมาตรฐานการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเองด้วย โดยเริ่มจากหน้าท่าเรือจะมีคลุมผ้าใบระหว่างกราบเรือ และใช้แมคโครตักถ่านหินใส่ hopper เข้าสู่สายพายโดยระวังไม่ให้ล้นบุ้งกี๋ ทั้งนี้ทั้งหน้าท่าเรือและที่ hopper จะฉีดสเปรย์น้ำเพื่อดักฝุ่นไม่ให้ฟุ้งกระจาย รวมถึงติดตั้งเครื่องดักฝุ่นและถุงกรองฝุ่นตลอดแนวลำเลียงสายพาน
ทั้งนี้ ถ่านหินที่ลำเลียงสายพานมาจากหน้าท่าจะแบ่งเป็น 2 ทาง คือ ลำเลียงตรงไปยังรถบรรทุกที่มารอรับถ่านหินและลำเลียงเข้าโกดังเก็บซึ่งโกดังนี้จะฉีดสเปรย์น้ำผสมสารเคมีที่ลดการคุของถ่านหินก่อนจัดเก็บ โดยแต่ละครั้งจะเก็บไว้ไม่เกิน 15 วัน เมื่อมีการสั่งถ่านหินจะมีเครื่องจักร stacker และ reclaimer เกลี่ยถ่านหินลงสายพานลำเลียงมายังรถบรรทุก หลังจากนั้นปิดคลุมด้วยผ้าใบ และมีระบบล้างล้อรถและล้างรถบรรทุกก่อนออกนอกโครงการ
นายบรรณกล่าวเสริมว่า นอกจากระบบมาตรฐานข้างต้นแล้ว เอสซีจีได้เพิ่มระบบความปลอดภัยอีก 3 ส่วน คือ 1. ระบบสายแบบปิดเพื่อลดความเสี่ยงถ่านสะสม 2. ระบบ Automatic Heat Detector และสเปรย์น้ำตลอดแนวสายพานลำเลียง ซึ่งจะทำงานทันทีในจุดนั้นๆ เมื่อตรวจพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่า 90 องศาเซสเซียส และ 3. ระบบกล้องวงจรปิดเพื่อควบคุมการทำงานทั้งโครงการ
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ข้างต้นคือโครงการเฟสแรก แต่ตอนนี้กำลังทำเฟสที่ 2 คือ ปรับปรุงหน้าท่าเรือเพื่อติดตั้ง screw unloader เป็นเครื่องจักรที่ดูดถ่านหินขึ้นจากเรือ นอกจากจะลดการฟุ้งกระจายแล้วยังยกระดับคุณภาพของถ่านหินจากการแตกหักด้วย รวมถึงขนถ่านหินได้เร็วขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณปีละ 1.7 ล้านตัน จะเพิ่มเป็นกว่า 2 ล้านตัน หากติดตั้งเครื่องจักรเสร็จ
“โครงการเฟส 2 ต้องติดตั้งเครื่องจักร จึงมีการเปลี่ยนแปลงท่าเรือ ซึ่งจากการพิจารณาทางกฎหมายแล้วเอสซีจีเห็นว่าต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โดยปัจจุบันได้ศึกษาและจัดประชุม public listening ไป 2-3 ครั้งแล้ว ก็พบว่าชาวบ้านไม่ได้คัดค้านอะไร ส่วนเรื่องการทำอีไอเอที่ผ่านมา ท่าเรือของเอสซีจีทั้งสองแห่งรับช่วงต่อมาจากท่าเรือเดิมของผู้ประกอบการอื่นที่เป็นหุ้นส่วน (partner) ซึ่งขนาดท่าเรือและปริมาณนำเข้าถ่านหินไม่เข้าข่ายของกฎหมายที่ต้องทำอีไอเอ” นายบรรณกล่าว
ด้านนายวีระวงค์ วงศ์วัฒนะเดช ประธานกลุ่ม “รักษ์ชุมชน” กล่าวว่า กลุ่มรักษ์ชุมชนจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานและเป็นแบบอย่างของผู้ประกอบการที่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคม โดยความร่วมมือของผู้ประกอบการ 9 องค์กร ได้แก่ 1. เอสซีจี 2. สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) 3. บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท ล้านนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) 8. บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) และ 9. บริษัท เปรมไทย เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
สำหรับกลุ่มรักษ์ชุมชนนี้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 โดยกิจกรรมหลักคือการตรวจประเมินเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการทำงานของสมาชิก และกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ด้านการตรวจประเมินและติดตามท่าเรือสมาชิกมีทั้งหมด 19 มาตรฐาน คือ 1. การคลุมผ้าใบระหว่างกราบเรือกับหน้าท่า 2. ควบคุมการตักสินค้าไม่ให้ล้นบุ้งกี๋ 3. กวาดฝุ่นบริเวณพื้นท่าเรือ 4. คลุมผ้าใบกองถ่านหิน 5. การตักกองขึ้นไม่ให้ล้นบุงกี๋ 6. งดเทกองถ่านหินหน้าท่า 7. กำหนดช่วงเวลาการดำเนินการหน้าท่าเรือ 8. รดน้ำบริเวณถนนในท่าเรือ 9. มีระบบบำบัดน้ำ 10. รถบรรทุกถ่านหินไม่เกินขอบกระบะ 11. ควบคุมน้ำหนักตามกฎหมายกำหนด 12. รถขนส่งสะอาด 13. โกรกผ้าใบที่คลุมให้ครอบ 14. ตรวจระบบถุงกรองดักฝุ่น (Bag Filter) 15. เทพื้นคอนกรีตท่าเรือ 16. มีบ่อล้างล้อ 17. มีบ่อบำบัดน้ำเสีย 18. มี Green Belt เช่น มีกำแพงต้นไม้หรือขึงสแลนท์ล้อมรอบ และ 19. มีเครื่องกรองฝุ่น
“ผู้ประกอบการทั้ง 9 บริษัทมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมผ่านเกณฑ์ตามกฎหมายทั้งหมด แต่เมื่อมารวมเป็นกลุ่มรักษ์ชุมชน ก็มีมาตรฐานมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง ภายในกลุ่มเองก็เป็นกลุ่มที่แย่ ปานกลาง และดี และติดตามตรวจสอบเพื่อให้ทุกบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งกลุ่ม โดยปัจจุบันก็มีหลายแห่งที่ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่บริเวณท่าเรือให้ได้ตามมาตรฐานทั้ง 19 ข้อของกลุ่ม ซึ่งปลายปี 2558 นี้จะมีการประเมินผลและหามาตรการต่อไปที่จะทำให้สมาชิกสามารถปฏิบัติผ่านเกณฑ์มาตรฐานกลุ่ม” นายวีระวงค์กล่าว
นายวีระวงค์กล่าวต่อว่า สำหรับท่าเรือที่ต้องปรับปรุงเช่น ท่าเรือธนวัช ต้องติดตั้ง Bag Filter เพิ่มเติม, ท่าเรือภัทร ต้องเพิ่มมาตรการการคลุมผ้าใบกองถ่านหิน ติดตั้งม่านผ้าใบโกรกและทำโกรกใหม่ ทำบ่อบำบัดน้ำเสีย เทพื้นท่าเรือเป็นคอนกรีต, ท่าเรือบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) ต้องปรับพื้นลาดเอียงใหม่ และมีการปิดคลุมผ้าใบกองถ่านหิน หรือบริษัทเปรมไทย ต้องเพิ่มการคลุมผ้าใบถ่านหินและสร้างบ่อบำบัดน้ำ ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติมซีรีย์ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ