การร้องเรียนของชาวบ้านต่อกรณีผู้ประกอบการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรืออำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้นำเสนอไปเมื่อตอนที่แล้วว่า ชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงปัญหาทั้งทางน้ำ ทางอากาศ ทางเสียง และอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากรายงานการประชุมของชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง ซึ่งมีการประชุมโครงการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อำเภอปลอดฝุ่น) ครั้งที่ 2/2552 วันที่ 25 ธันวาคม 2551 ประชาชนหมู่ที่ 1 ระบุว่า “มีปัญหาเรื่องฝุ่น แต่ตอนนี้ผลกระทบโดยตรงคือ มีบ้านอยู่ริมน้ำแล้วเรือสินค้าจอดบังหน้าท่าเสียงดังทั้งคืน ไม่มีความรับผิดชอบ และมีเรือใหญ่จอดอยู่หน้าบ้าน 1 ลำ ได้ยกให้โรงเรียนต่อเรือไปอนุรักษ์เป็นมรดกของจังหวัด แต่เรือสินค้าชื่อภุมรันต์นาวา 13 มาจอดเทียบข้างเรือและกระแทกเรือที่จอดอยู่พัง จึงได้ติดต่อทางผู้จัดการมาดู ทางผู้จัดการบอกว่า เรือจอดทำไมไม่ไล่ และไม่ปักป้ายว่าห้ามจอด โดยตอนนี้ยังมีหลักฐานอยู่”
นายสุชัย สถาพร อดีตประธานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง กล่าวว่า ปัญหามี 3 ส่วน คือ 1) ทางบก ปัญหาเรื่องรถบรรทุก สถานที่กับปริมาณมีความไม่พอดี มีแนวทางจะทำลานจอดรถเพื่อเน้นในเรื่องความปลอดภัย 2) ทางน้ำ ขณะนี้ลำน้ำไม่สามารถหาหลักในการผูกเรือ เนื่องจากมีเรือในท้องน้ำจำนวนมากและเรือมีขนาดใหญ่ โดยเรือส่วนใหญ่เป็นเรือที่จ้างมา และปัญหาเรือจอดซ้อนลำ ซึ่งทางชมรมฯ จะไปขอความร่วมมือให้จอดเรืออย่างเป็นระเบียบ 3) ทางโรงงาน ปัญหามลภาวะทางเสียง ทางฝุ่น ซึ่งในเขตคลองสะแกมีธุรกิจหลักประมาณ 3 ประเภท คือ กลุ่มมันสำปะหลัง, ถ่านหินและปุ๋ย โดยแต่ละประเภทมีปัญหาต่างกัน วันนี้ฝุ่นที่ออกมาจากโรงงานทุกประเภท ทางชมรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนตระหนักดี และพยายามแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลรายงานการประชุมชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง พบว่า ในปี 2552 มีการร้องเรียนที่แจ้งผ่านชมรมฯ จำนวน 17 ครั้ง ได้แก่ ด้านฝุ่นละออง 13 ครั้ง ด้านเสียง 1 ครั้ง ด้านจราจร (ทางบกและทางน้ำ) 1 ครั้ง และด้านอื่นๆ 2 ครั้ง นอกจากนี้ทางชมรมได้รับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยงานราชการ ดังนี้ 1) เรื่องขอความอนุเคราะห์ติดตามแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ตำบลปากจั่น 2) เรื่องตลิ่งทรุด ตำบลบ่อโพง 3) เรื่องได้รับความเดือดร้อนจากสถานประกอบการท่าเรือ ตำบลปากจั่น
ทั้งนี้ จากรายงานการประชุมโครงการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อำเภอปลอดฝุ่น) ครั้งที่ 3/2552 วันที่ 27 มกราคม 2552 นายประทีป บุญแจ้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากจั่น กล่าวว่า “ผมในฐานะที่เป็นตัวแทนขอสรุปว่า ปัญหาที่หมู่ 5 มีเรื่องเรือบรรทุกสินค้าจอดขวางท่า ก็จะจดชื่อเรือ หมายเลขเรือ แล้วบริษัทจะโทรมาให้เรือขยับ ซึ่งแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ทันเวลาไม่ทันการ แก้ไม่ครบถ้วน ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้จะติดต่อกับใคร และเรื่องการผูกเรือที่ต้นไม้ทั้ง 3 ท่า ได้แก่ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์มารีน จำกัด (ท่าเรือสินวัฒนา), บริษัท ธนวัชรัตนมงคลขนส่ง จำกัด และท่าเรือปั้นเมฆ (รุ่งทวีทรัพย์เดิม) ได้รับการร้องเรียนเรื่องเสียงดังและลงเกินเวลารถวิ่งกันเยอะ ไม่เฉพาะแค่ 3 ท่านี้ ขอความกรุณาเพราะเป็นปัญหาให้กับชุมชน”
ขณะที่รายงานการประชุมโครงการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อำเภอปลอดฝุ่น) ครั้งที่ 4/2552 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ประชาชนหมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาและตำบลบางพระครู กล่าวว่า “อยากให้ บริษัท นครหลวงรุ่งเรือง จำกัด และ บริษัท ภัทร-นครหลวง จำกัด มีสัญญาณเตือนหรือมียามคอยโบกเวลารถเข้า-ออก และถนนสายในที่เป็นที่สาธารณะ ทางท่าเรือมีการล้อมรั้วไว้ ซึ่งถนนสายนี้ไม่ใช่ทางหลวงแต่เป็นทางสมยอมกันตลอดทั้งสาย ทั้งปัญหาฝุ่นละอองและคนงานเสียงดังในช่วงเวลากลางคืนจากโรงปุ๋ย และขยะในแม่น้ำที่มีมากขึ้น อยากให้หน่วยงานราชการสืบหาว่า ถุงขยะเกิดจากการทิ้งของชาวบ้านหรือจากเรือที่มีมากขึ้น”
ด้านกำนัน ตำบลแม่ลา กล่าวถึงระบบระบายน้ำของโรงปุ๋ยว่า “ในหน้าฝนน้ำจะเซาะฝุ่นละอองปุ๋ยไหลลงมาในเหมืองซึ่งเป็นที่กักเก็บน้ำ และไหลลงในรางของเกษตรกร ทำให้ต้นข้าวเสียหาย เมื่อถึงหน้าฝนจะมีการร้องเรียนทุกปี อยากให้โรงปุ๋ยทำท่อระบายน้ำ อย่าเอาท่อมาลงในเหมือง”
นายดิเรก สำรวญ นายก อบต.แม่ลา กล่าวว่า “กรณีโรงปุ๋ยม้าบิน โดยปกติจะต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสียแต่โรงปุ๋ยไม่ทำแต่ปล่อยลงเลย ผมได้แจ้งทางโรงปุ๋ยแล้ว ถ้าฝนตกลงมาผมปิดจะเสียหายอย่างไร คุณต้องทำท่อลงแม่น้ำเลย ผมปิดแน่ ปล่อยสิ่งต่างๆ ลงมาในท่อ ขอให้กลับไปแก้ไข อย่าสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน”
ส่วนกรณีท่าเรือนครหลวงฯ กับท่าภัทร-นครหลวง บริเวณนั้นมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ขอให้มียามคอยโบกรถ ติดไฟให้แสงสว่างระยะท่าต่อท่า มีไฟเตือนและเขียนป้ายเตือนด้วย ทั้งนี้ เรื่องทางสาธารณะที่เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่าง อบต.แม่ลา กับเทศบาลตำบลนครหลวง ซึ่งแต่เดิมเป็นทางสาธารณะ แต่ตอนนี้ท่าเรือทำรั้วกั้น ขอให้ถามผู้ประกอบการว่ารั้วรื้อได้หรือไม่
ตามที่ประชาชนตำบลปากจั่น ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากฝุ่นละอองและเสียง ซึ่งได้รับผลกระทบจากท่าเรือ ได้แก่ 1. ท่าเรือปั้นเมฆ (นายบุญเลิศ ไวยวุฒิ ผู้จัดการ) 2. ท่าเรือสินวัฒนา (นายวัชรวิทย์ อิศรา ผู้จัดการ) 3. ท่าเรือธนวัชฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 ผู้ประกอบการทั้ง 3 โรงงาน และแกนนำกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนได้ทำบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากฝุ่นละอองของโรงงานครหลวง โดยท่าเรือทั้ง 3 ตกลงจะดำเนินการแก้ไขทันที
ส่วนรายงานการประชุมของชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง วันที่ 21 เมษายน 2553 นายเรวัต อัมพวานนท์ นายอำเภอนครหลวง กล่าวถึงมาตรการ 18 ข้อ ของโครงการอำเภอปลอดฝุ่น ซึ่งทางอำเภอ อบต. และเทศบาลไม่สามารถดูแลได้ทุกที่และทุกเวลา บางแห่งขนถ่ายสินค้า 22.00-00.00 น. หรือเกินเที่ยงคืนก็มี จึงได้มีการคัดคนขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลท่าเรือทั้ง 24 แห่งที่เป็นสมาชิกชมรม การเข้าไปตรวจอาจเป็นช่วงใดช่วงหนึ่ง บางท่าเรืออาจเข้าไปดูเวลา 07.00 น. หรือ 18.00 น. และให้รายงานให้อำเภอทราบว่า เมื่อไปดูแต่ละแห่งต้องการให้ท่าเรือดำเนินการอะไรเพิ่มเติม การให้สายตรวจไปดูเริ่มดำเนินการเป็นเดือนที่ 2 มีรายละเอียดดังนี้
ตัวแทนสายตรวจสิ่งแวดล้อม เขตคลองสะแก กล่าวว่า ตามโรงงานทุกโรงงานฝุ่นลดลง แต่อยากให้เน้นเรื่องรถที่มาส่งสินค้าเวลาออกจากโรงงานมีฝุ่นฟุ้งบนถนน โดยรายชื่อโรงงาน ได้แก่ บริษัทไทยเซ็นทรัล มีกลิ่นบ้างเล็กน้อยในบางครั้ง, บริษัท ที.เอช. นครหลวง ฝุ่นลดลงมาก รถที่ออกจากโรงงานยังมีฝุ่น, บริษัทคลังสินค้า ฝุ่นลดลง รถที่ออกจากโรงงานยังมีฝุ่นบ้าง ฝั่งตรงข้ามหมู่ 4 และหมู่ 2 มีฝุ่นลิกไนต์ดำๆ, บริษัทเปรมไทย เอ็นเนอร์ยี่ มีฝุ่นมาก แต่ลดลงแล้ว บางครั้งตอนเช้าๆ ยังมีฝุ่นบ้าง และบริษัท พี.อาร์. อินเตอร์เทรด มีฝุ่นทางด้านบางเดื่อ
ขณะที่ตัวแทนสายตรวจสิ่งแวดล้อม เขตปากจั่น กล่าวว่า ในเขตปากจั่นมีโรงงาน ได้แก่ บริษัททรัพย์สถาพรคลังสินค้า, บริษัทเจียไต๋, บริษัทธนวัชฯ และ บริษัท เอส.พี. อินเตอร์มารีน (ท่าเรือสินวัฒนา) โดยปกติจะมีการตรวจสถานประกอบการอยู่แล้วเวลามีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วทางเขตปากจั่นมีการร้องเรียนเรื่องฝุ่นละออง แจ้งว่าเป็นของ บริษัท เอส.พี.ฯ เมื่อไปตรวจสอบพบว่า เป็นรถของบริษัท พี.อาร์. อินเตอร์เทรด ที่ลานจอดรถไม่ได้ล้างล้อและล้างฝุ่น ลงสินค้าเสร็จก็ออกจากโรงงาน ฝุ่นฟุ้งตั้งแต่คลองสะแกจนถึงปากจั่น ระยะหลังก็ได้รับการแก้ไข และจากการตรวจสอบมีปัญหาบ้างเล็กน้อย เช่น บริษัท เอส.พี.ฯ เวลาลงสินค้าแป้ง ผ้าใบมีขาดรั่วทำให้มีฝุ่นออกแต่ได้รับการแก้ไข และให้ความร่วมมือดี
ตัวแทนสายตรวจสิ่งแวดล้อม เขตแม่ลา กล่าวว่า ก่อนที่จะมีสายตรวจฝุ่นละอองมีมาก ท่าเรือมีมลภาวะมาก แต่พอมีสายตรวจรู้สึกว่า ท่าเรือและผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ เช่น บริษัทจัมโบ้เจตตี้ ฝุ่นละอองที่เกิดน้อยลงกว่าก่อน ตอนนี้ที่มีปัญหา คือ ท่าภัทร-นครหลวง ที่ล้างล้อติดถนนมากเกินไป ซึ่งตอนนี้เป็นหน้าแล้ง ต่อไปถ้าเป็นหน้าฝนจะติดล้อออกมามาก ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้ประชาคม ท่าภัทร-นครหลวง ฝั่งตรงข้ามมีการกองถ่านหิน มีฝุ่นละอองและเกิดอุบัติเหตุบ่อย เมื่อทำประชาคมว่าให้มีการทำสแลนกัน ทางโรงงานก็ทำล้อมเสร็จแล้ว และปลูกต้นไม้กันฝุ่นละออง
ตัวแทนสายตรวจสิ่งแวดล้อม เขตเทศบาลนครหลวง กล่าวว่า ได้ออกตรวจโรงสีไฟนครหลวง มีฝุ่นละอองน้อยลง เมื่อก่อนมีฝุ่นขี้เถ้า ตอนที่สายตรวจมาตรวจจะบริหารงานได้ดีมาก เพราะว่าจะนำขี้เถ้าไปใส่รถ จะสเปรย์น้ำที่ถนน ฝุ่นละอองมีก็มีน้อยมาก และท่าแพนด์สนครหลวง ด้านเหนือจะมีฝุ่นละอองทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน(คลิ๊กภาพเพื่อขยาย)
นายวิเชียร วานิช บริษัท แพนด์สนครหลวง จำกัด กล่าวว่า “ในส่วนของถ่านหิน เรายังไม่ได้รับใบอนุญาต คือ อุตสาหกรรมจังหวัดให้เราทำตามมาตรการ 18 ข้อให้ครบก่อนแล้วจะมาตรวจอีกครั้ง โดยจะดูความพร้อมว่าเราพร้อมแค่ไหน ตอนนี้เราเริ่มขุดลอกร่องน้ำ ทำสแลน ปลูกต้นไม้ ซึ่งตอนนี้มีการเทกองถ่านหินอยู่ เพราะว่าได้สั่งไว้ล่วงหน้าแล้ว”
นายเรวัต อัมพวานนท์ นายอำเภอนครหลวง กล่าวว่า ถ้าบริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วทำไมจึงนำถ่านหินไปกองเพิ่มขึ้น โดย บริษัทแพนด์สฯ มีกลุ่มประชาชนที่คัดค้านอย่างเป็นทางการประมาณ 200 กว่าคน และลงชื่อจริงทั้งหมด ดังนั้นมาตรการ 18 ข้อ จะต้องเปิดเผยต่อชาวบ้านว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเท่าที่ผมไปดูที่ บริษัทแพนด์สฯ เป็นป้ายเล็กนิดเดียว อยากให้เป็นป้ายขนาดใหญ่เหมือนกับป้ายโฆษณา และเรื่องการเทพื้นที่ยังไม่ได้ทำ เวลารถบรรทุกหนักเข้าไปแล้วเอาน้ำฉีดจะทำให้เละ เวลาวิ่งออกมาก็เลอะถนน
“เรื่องการกองแร่ วันนั้นรับปากว่า ผ้าใบที่คลุมต้องคลุมตั้งแต่ส่วนบนจนถึงส่วนฐาน แต่ผมรู้ว่าผ้าใบปิดส่วนยอดเท่านั้น ส่วนกลางและส่วนฐานไม่ได้ปิด เวลาลมแรงๆ ทำให้มีฝุ่นฟุ้งกระจาย ดังนั้น ขอฝากผู้ช่วยฯ ในเมื่อคณะกรรมการบอกให้ทำต้องทำให้เสร็จให้เร็ว อย่าปล่อยเวลา 3 เดือน 4 เดือน 5 เดือน แล้วค่อยทำ ผมเกรงว่าชาวบ้านจะรับไม่ไหว”
นายเรวัตกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดที่มาบตาพุด ได้มีการฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้หยุดกิจการ ทำให้เกิดความเสียหายมากมาย ตนเกรงว่าท่าเรือคลังสินค้าทั้ง 29 แห่ง ถ้ามีแห่งใดแห่งหนึ่งร้องศาลปกครองขึ้นมา ถ้าศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับกิจการขึ้นมา จะเดือดร้อนทุกแห่งไม่ใช่เดือดร้อนเฉพาะท่าเรือใดท่าเรือหนึ่ง เวลาแก้ปัญหาต้องแก้เป็นโมเดลเดียวกันทั้งหมด อยากได้โรงงานต้นแบบ ท่าเรือคลังสินค้าจะเน้นเรื่องถ่านหินเป็นต้นแบบ ซึ่งทางบริษัทจัมโบ้ฯ ทำได้สมบูรณ์แบบที่สุด ชาวบ้านได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โอกาสที่จะเกิดขึ้นอยู่ที่การลงทุนของผู้ประกอบการว่าเขาเต็มใจลงทุนขนาดไหน ทางตนเองนั้นเกินศักยภาพที่จะบังคับว่าคุณต้องทำอย่างนี้นะ อยู่ที่ความใส่ใจมากกว่า
นอกจากนี้ ผลการรายงานวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2553 ได้ทำการตรวจวัดผู้ประกอบการ 27 ท่าเรือทั้งที่เป็นสมาชิกชมรมฯ และไม่ได้เป็นสมาชิกชมรมฯ โดยการตรวจวัดค่าทึบแสง มีค่ามาตรฐานร้อยละ 5 ได้ทำการตรวจวัด 5 จุด ได้แก่ ปากโกรก, สายพาน, จุดตัก, จุดเท และปลายท่อลำเลียง พบว่า ในส่วนที่เกินค่ามาตรฐานในเขตคลองสะแก คือ บริษัท พี.อาร์. อินเตอร์เทรด ค่า 6.03 เกินร้อยละ 5 เท่ากับ 1.03 และในส่วนที่เกินค่ามาตรฐานในเขตปากจั่น คือ บริษัท เอส.พี. อินเตอร์มารีน ค่า 5.4 เกินร้อยละ 5 เท่ากับ 0.4
ในรายงานการประชุมชมรมท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 นายณัฐพล ประชาชนหมู่ 2 ตำบลปากจั่น กล่าวถึงบริษัท ที.เอช. นครหลวง ว่า “ประกอบสินค้าแป้งมันสำปะหลัง ผมขับรถผ่านโรงแป้งทุกวัน ฝุ่นแป้งอย่างกับหมอก ผมเลยหันมาใส่หน้ากาก เพราะไม่อยากสูดฝุ่นเข้าไป ผมดีใจนะที่โรงงานยังอุตส่าห์ทำบ่อไว้ล้างล้อรถ แต่ผมพูดความจริงนะครับ ท่านทราบหรือไม่ว่าในบ่อนั้นไม่มีน้ำที่ล้างล้อ บนถนนมีเศษแป้ง เศษดิน พอฝนตกมันลื่น ไม่ต้องตกฝนตกแค่รถบรรทุกล้างล้อออกมาถนนก็ลื่นมากแล้ว และการนำสปริงเกอร์มาฉีดเพื่อลดปริมาณฝุ่น ผมว่าปัญหามันเหมือนเดิม ท่านเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า และสินค้าถ่านหินได้สร้างบาดแผลให้ผม รถบรรทุกที่บรรทุกถ่านหินทำถ่านหินหล่นเป็นเม็ดเท่าก้อนหิน โดนศรีษะผมแตก ใครรับผิดชอบ พ่อแม่ผมต้องรับผิดชอบ และพ่อแม่ผมเป็นโรคภูมิแพ้ที่มาวันนี้เพราะผมรักพ่อแม่ผมครับ ธุรกิจของท่านก็คือธุรกิจของท่าน แต่ธุรกิจของท่านควรตั้งอยู่บนคำว่าคุณธรรมที่ท่านควรจะมอบให้ชาวบ้านเพราะชาวบ้านอยู่กับท่าน จากการลงพื้นที่สำรวจ ชาวบ้านทุกคนที่เดือดร้อนเขาปลงและท้อจนคิดว่าเป็นเวรกรรมของเขาที่ต้องมาเจออย่างนี้ แล้วผมไม่อยากได้ยินคนเรียกเมืองนครหลวงว่า “เมืองปอดฝุ่น” เพราะ ทุกวันนี้ปอดมีแต่ฝุ่นหมดแล้ว”
ทั้งนี้ จากรายงานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง วันที่ 11 สิงหาคม 2554 นายสายันต์ สุพิมล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาของท่าเรือที่มีผลกระทบ คือ ท่าเรือภัทร-นครหลวง ซึ่งทางกองสาธารณสุขได้ทำหนังสือให้คำแนะนำและออกตรวจเดือนละ 2 ครั้ง แต่ทางผู้ประกอบการไม่รายงานผลกลับมา ครั้งต่อไปถ้าออกไปตรวจก็ต้องขออนุญาตท่านผู้กำกับขอกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมด้วย
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 ประชาชนตำบลบางระกำ ได้รับความเดือดร้อนเรื่องฝุ่นละอองจากรถบรรทุกที่วิ่งบนท้องถนนด้านฝั่งตะวันตก ได้รวมตัวกันปิดถนนสายดังกล่าวในตอนกลางคึน ซึ่งหน่วยงานราชการ ทั้งอำเภอ ท้องถิ่น ท้องที่ ได้พยายามเข้าไปพูดคุยเพื่อระงับปัญหา โดยมีข้อตกลงคือ ให้ผู้ประกอบการที่ใช้รถบรรทุกหลีกเลี่ยงการจราจรเส้นนี้ และให้วิ่งเส้นทางอื่นแทน นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน 2555 กำนันสอด ตำบลคลองสะแก แจ้งให้ชมรมฯ ทราบว่า ชาวบ้านหมู่ 4 กำลังจะรวมตัวกันเรียกร้อง บริษัท พี.อาร์. อินเตอร์เทรด ที่ดำเนินธุรกิจและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน ทั้งเรื่องความสะอาดของถนนและฝุ่น โดยชาวบ้านไม่พอใจที่ผู้ประกอบการไม่สนใจปัญหาและความเดือดร้อนของชาวบ้านเท่าที่ควร
รายงานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง วันที่ 23 สิงหาคม 2555 นายดิเรก สำรวญ นายก อบต.แม่ลา กล่าวว่า “ถึงจะไม่มีโรงแร่ก็มีฝุ่นละออง แต่เมื่อมีโรงแร่ การขนถ่ายแร่ยิ่งทำให้มีฝุ่นละอองมากขึ้น จากการคุยตกลงกันไว้กับผู้ประกอบการว่าจะคลุมผ้าใบทั้งหมด ไม่ทำตามที่คุยนะครับ ถ้าช่วงที่ตักสินค้าเปิดผ้าใบได้ แต่ถ้าขนถ่ายเสร็จแล้วต้องปิดเพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นละอองเวลาลมพัด ซึ่ง บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) และบริษัทภัทร-นครหลวง วันที่มีการขนถ่ายแล้วมีลมพัด ถนนมองไม่เห็น รถต้องหยุด และรถที่ล้างมาใหม่ๆ เลอะเทอะหมดเลย ส่วนการฉีดน้ำ เหมือนราดน้ำมากกว่า ฝุ่นมันไม่ไป ตอนนี้บริเวณบริษัทเอเชียกรีนฯ น้ำขังเพราะพื้นตันหมดแล้ว”
ในรายงานชมรมผู้ประกอบการท่าเรือและคลังสินค้า อำเภอนครหลวง วันที่ 25 กรกฎาคม 2556 นายชุลี ส่งกลิ่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลปากจั่น กล่าวว่า “ตามที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ณ ปัจจุบัน คือ บริษัท พี.อาร์. อินเตอร์เทรด ซึ่งอยู่ในตำบลคลองสะแก แต่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่ปลิวมาจากแป้งมันสำปะหลัง และปัญหาถ่านหินที่ไม่ทราบชื่อบริษัท” ทั้งนี้ นายประทีป จันทร์กลิ่นหอม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลปากจั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับผลกระทบฝุ่นจากปุ๋ยมหาวงศ์การเกษตร ซึ่งอยู่ในตำบลแม่ลา
นายณรงค์ เงินสุวรรณ์ นายก อบต.ปากจั่น กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลปากจั่น มีโรงงานทั้งหมด 5 โรงงาน ได้แก่ 1) บริษัท เอส.พี. อินเตอร์มารีน จำกัด 2) บริษัท ธนวัชรัตนมงคลขนส่ง จำกัด 3) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) 4) บริษัท ทรัพย์สถาพรคลังสินค้า จำกัด 5) บริษัท เจียไต๋ จำกัด ซึ่งผลกระทบที่ได้รับจาก 5 โรงงานมีหมด แต่ทางโรงงานเริ่มมีกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน โดยปัญหาเกิดจากถ่านหินและแป้งมันสำปะหลัง ทั้งนี้ จากการเข้าไปตรวจ บจก. พี.อาร์. อินเตอร์เทรด พบว่า บรรทุกสินค้าสูงเกิน พอรถเข้าโกรกก็ดัมป์สินค้าเลย ซึ่งทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และไม่มีการกำหนดไว้ว่าหากลมพัดแรงจะทำอย่างไร ส่วนการขนถ่ายสินค้าทางเรือ ผู้รับเหมาอาจขาดประสบการณ์หรือการเอาใจใส่ เพราะมีผ้าใบคลุมในท้องเรือ
ด้านนายอำนาจ อ่วมภักดี ประชาชนตำบลคลองสะแก กล่าวถึง 7 โรงงานที่สร้างความเดือดร้อนเรื่องฝุ่นละอองทั้งจากรถบรรทุกและสถานประกอบให้กับประชาชน ได้แก่ 1) บริษัท ไทยยุโรปฟีด จำกัด 2) บริษัท มดทองคำ จำกัด 3) บริษัท พี.อาร์. อินเตอร์เทรด จำกัด 4) บริษัท ยูนิคไมนิ่งเซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) 5) บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท เปรมไทยเอ็นเนอจี จำกัด 7) บริษัท ลักกี้รีซอสเซส แอนด์โลจิสติกส์ จำกัด
นายธวัช ศรีปราชญ์ ประชาชนตำบลเทศบาลนครหลวง กล่าวว่า “จากการที่ได้พูดคุยถึงการแก้ไขปัญหาหรือการสรุปปัญหา ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและทันเวลา มีวิธีที่จะแก้ไขปัญหาได้ ต้องขอบคุณ บริษัท แพนด์ส นครหลวง จำกัด ที่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ได้ร้องขอ โดยที่ประชาชนไปที่ศาลากลางจังหวัดและได้มีการเจรจาประนีประนอม 5 ข้อ ทางบริษัท แพนด์สฯ ปฎิบัติตามข้อตกลงประมาณ 2 ปี ปัญหาความเดือดร้อนลดลงประมาณ 70-80% ซึ่งแก้ไขปัญหาด้วยการยกเลิกการขนส่งถ่านหิน และประกอบกิจการสินค้าตัวอื่นแทน ถึงจะยังมีปัญหาฝุ่นละอองอยู่ แต่ประชาชนพึงพอใจ”