ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชาวท่าเรือนครหลวงเดือดร้อนซ้ำซาก จากการขนถ่ายถ่านหิน- ทนมา 30 ปีแก้ปัญหาไม่คืบ

ชาวท่าเรือนครหลวงเดือดร้อนซ้ำซาก จากการขนถ่ายถ่านหิน- ทนมา 30 ปีแก้ปัญหาไม่คืบ

8 พฤษภาคม 2017


ถ่านหินที่นำมาเทกองแบบเปิด หลังขนถ่ายขึ้นจากเรือเพื่อขนถ่ายไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศ โดยกองถ่านหินสูงเกินกว่าสแลนที่กั้นกันฝุ่นฟุ้งกระจาย และสภาพถนนรวมทั้งรถบรรทุกที่วิ่งขนส่ง

ท่าเรือนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์ขนถ่ายถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อกระจายสินค้าส่งไปให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังมีมันสำปะหลัง ปุ๋ยเคมี และสินค้าเกษตรอื่นๆ ซึ่งฝุ่นถ่านหินและฝุ่นแป้งมันสำปะหลังจากกิจการท่าเรือกว่า 26 แห่งและคลังสินค้าของบริษัทกว่า 51 แห่ง ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมากว่า 30 ปีแล้ว แต่การร้องเรียนที่ผ่านมาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนใดๆ กระทั่งล่าสุด ประชาชนอำเภอนครหลวง 80 คนและสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 โดยสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนอยู่ระหว่างทำคำคัดค้านให้การต่อศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีจะอยู่ในศาลปกครอง แต่ความเดือดร้อนต่างๆ ที่ชาวบ้านได้รับยังไม่ได้รับการแก้ไข นายอำนาจ อ่วมภักดี ชาวบ้านตำบลคลองสะแก อำเภอนครหลวง กล่าวว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นละอองถ่านหิน ฝุ่นแป้งมันสำปะหลัง และความเดือดร้อนอื่นๆ ที่อำเภอนครหลวงยังคงเหมือนเดิม ไม่มีวันไหนเลยที่บ้านจะปลอดฝุ่น

“3 ปีที่ต่อสู้มาอย่างเข้มข้น จนกระทั่งฟ้องศาลปกครองไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะชาวบ้านยังได้รับความเดือนร้อนเหมือนเดิมอยู่ ในทางวิชาการนั้นดูเหมือนว่ามีมาตรการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติชาวบ้านเดือดร้อนเหมือนเดิม มีฝุ่นเหมือนเดิม อีกทั้งยังมีโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งด้วย และก่อนจะมีโรงงานแห่งใหม่ เคยคัดค้านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วว่า ให้โรงงานที่มีอยู่เดิมมีมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้ได้ก่อน เพื่อให้เป็นมาตรฐานกับโรงงานแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพราะชุมชนต้องการอยู่ร่วมกับโรงงานอย่างมีความสุขและยั่งยืน แต่ปัจจุบันคือโรงงานเดิมก็ไม่ปรับปรุง แล้วโรงงานใหม่ที่มาก่อตั้งก็สร้างความเดือดร้อนเหมือนโรงงานที่ตั้งอยู่ก่อนหน้า”นายอำนาจกล่าว

พร้อมเล่าต่อว่าทุกวันนี้บทบาทในการเรียกร้องต่างๆ ลดน้อยลง เพราะหมดหนทางที่จะต่อสู้แล้ว ชุมชนส่วนใหญ่ก็เพิกเฉย เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไร ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะถูกมองว่าคัดค้านความเจริญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนมองว่าฝุ่นเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยังคงอยู่

สภาพความแออัดของแม่น้ำและการขนถ่ายที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย
ฝุ่นถ่านหินที่พื้นบ้านของชาวบ้านอำเภอนครหลวง
ฝุ่นถ่านหินติดแน่นอยู่ที่หลังคาเนื่องจากมีความเหนียวจากฝุ่นแป้งมันสำปะหลังรวมอยู่

แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางรายมีความพยายามรวมกลุ่มเพื่อลดผลกระทบในเรื่องฝุ่น แต่ยังขาดประสิทธิภาพเพราะไม่มีใครมาเข้มงวดตรวจสอบการทำงาน ตัวอย่างเช่น บ่อล้างล้อรถก่อนออกจากพื้นที่โรงงานยังมีไม่ครบทุกแห่งเลย อีกทั้งการตรวจวัดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมก็ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ตรวจวัดฝุ่นละอองในวันหยุดงาน หรือมีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะตรวจวัดฝุ่นเพื่อให้โรงงานหยุดงาน ด้านเจ้าหน้าที่รัฐก็ประวิงเวลาในการแก้ปัญหาออกไปเรื่อยๆ จนหมดวาระดำรงตำแหน่งของตนเอง แล้วรอให้คนใหม่มาแก้ปัญหาต่อ ซึ่งพอคนใหม่มาชาวบ้านก็ต้องเริ่มต้นร้องเรียนใหม่อีกครั้ง เป็นเช่นนี้เรื่อยมา

นายอำนาจกล่าวต่อว่า กรณีที่ชาวบ้านรวมตัวกันไปฟ้องศาลปกครอง ต่อมาไม่นานโรงงานหลายแห่งมีการใช้อิทธิพลในท้องถิ่นให้ประชาชนถอนฟ้องผ่านผู้นำชุมชนโดยมีผลตอบแทนให้ ซึ่งเท่าที่ทราบดำเนินการได้แล้วประมาณครึ่งหนึ่ง นั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วภาครัฐก็บอกว่าไม่รู้ ทั้งๆ ที่รัฐต้องรู้ว่าความยุติธรรมหมดไปแล้วด้วยเงิน ชุมชนจึงหมดศรัทธาในความยุติธรรม หรือโรงงานบางแห่งมีการจ่ายเงินเดือนเป็นค่าปิดปากให้บ้านที่อยู่ใกล้โรงงานตนเอง แต่ก็จ่ายไม่ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน

น้ำชะล้างจากลานกองแป้งมันสำปะหลังไหลลงสู่ลำรางสาธารณะโดยตรง

“แต่ผมยังไม่หมดหวัง และยังเชื่อในระบบยุติธรรมและหวังว่าถ้าคดีถึงที่สุดจะสามารถบังคับให้พื้นที่อำเภอนครหลวงมีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนในท่าเรือนครหลวงจะดีขึ้นได้ ร่วมกับการทำงานแบบเบญจภาคี คือ ศาล สื่อมวลชน ประชาชน ภาครัฐ และผู้ประกอบการ เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานแบบไตรภาคีคือ ประชาชน ภาครัฐ และผู้ประกอบการนั้นไม่ได้ผล เพราะภาครัฐกับผู้ประกอบการนั้นอยู่ข้างเดียวกัน และไม่กลัวว่าศาลจะยกฟ้องด้วย เพราะชาวบ้านเดือดร้อนจริง และเราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เราเรียกร้องมา 15 ปี ถ้าศาลจะบอกว่าโรงงานกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ผิด เราผิดเองที่มาอาศัยอยู่ตรงนี้ ผมก็ยอมรับและจบตรงนั้น” นายอำนาจกล่าว