ประเด็นข่าวในรอบสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2557
– Facebook แอบวิจัยความรู้สึกผู้ใช้อย่างลับๆ
– บัวแก้วถอนพาสปอร์ตบุคคลอีก 8 ราย
– บ.ก.ลายจุดได้ประกันตัวพร้อมประกาศยุติการเคลื่อนไหว
– WHO ชี้อาจคุมอีโบล่าได้ หลังพบผู้ติดเชื้อ 759 ราย เสียชีวิต 467 ราย
– ประชาชนฮ่องกงประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยถูกจับกว่า 500 ราย
Facebook แอบวิจัยความรู้สึกผู้ใช้อย่างลับๆ
เมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์เดอะการ์เดียน รายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนหนึ่งแสดงความไม่พอใจเมื่อทราบข่าวการทำวิจัยของเฟซบุ๊ก โดยการเล่นกับความรู้สึกของผู้ใช้งานอย่างลับๆ ทำให้พวกเขากลายเป็นเหมือน ‘หนูทดลอง’ แบบไม่ทันตั้งตัว ขณะที่ทางบริษัทก็ได้ออกมาตอบโต้ว่า ผู้ใช้งานทุกคนได้ยินยอมให้เฟซบุ๊กดึงข้อมูลมาใช้ตั้งแต่ตอนสร้างแอคเคาท์แล้ว
สื่อออนไลน์อย่างสเลต (Slate) และ ดิแอตแลนติก (The Atlantic) ตีแผ่การทำวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนล ร่วมกับเฟซบุ๊กในหัวข้อเกี่ยวกับ “การติดต่อทางอารมณ์ของผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ซึ่งได้ผลวิจัยมาด้วยการเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้ โดยที่บุคคลเหล่านั้นไม่รู้ตัวมาก่อน และไม่เคยให้ความยินยอมด้วย
ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้ที่ถูกเฟซบุ๊กทำวิจัยอย่างลับๆ นั้นมีถึง 7 แสนคน โดยเมื่อปี 2555 เฟซบุ๊กได้จงใจใส่โพสต์โน้มน้าวอารมณ์ลงไปในฟีดส์ของบุคคลเหล่านี้ เพื่อดูว่าข้อความเชิงบวกและเชิงลบที่ผ่านตาผู้ใช้ จะส่งผลต่อการอัพสเตตัสของพวกเขาหรือไม่
การวิจัยดังกล่าวเป็นความลับอยู่จนกระทั่งมีการตีพิมพ์ผลวิจัยใน วารสารวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา และถูกสื่อนำไปพูดถึงจนเป็นข่าวในที่สุด ซึ่งก็ได้ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจกับบริษัทเฟซบุ๊กในวงกว้าง
แม้ว่าเฟซบุ๊กจะออกมาเปิดเผยว่า ข้อมูลที่ถูกนำไปประมวลผลในการวิจัยนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับผู้ใช้คนใดคนหนึ่งอย่างเจาะจง นอกจากนี้ การวิจัยก็เป็นไปเพื่อสามารถปรับปรุงการให้บริการได้อย่างเหมาะสม และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ในบทวิจัยยังได้ระบุว่า การทำวิจัยครั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไข Data Use Policy หรือนโยบายการดึงข้อมูลไปใช้ ที่ผู้ใช้ทุกคนได้ตอบยินยอมเมื่อเปิดใช้บริการอยู่แล้ว จึงไม่ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างที่หลายคนพยายามกล่าวอ้าง และทำเป็นประเด็น
นักวิชาการกฎหมายและนักวิจัยสังคมศาสตร์รายอื่น ตั้งคำถามถึงจริยธรรมการวิจัยและการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เนื่องจากกรณีนี้ผู้ใช้ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยไม่น่าจะรับทราบมาก่อนว่าข้อมูลของตนจะถูกนำไปใช้
ขณะเดียวกัน โฆษกของมหาวิทยาลัยคอร์เนล ซึ่งมีนักวิจัยสองคนจากมหาวิทยาลัยร่วมอยู่ในโครงการวิจัย ปกป้องการทดลองดังกล่าวว่า นักวิจัยคอร์เนลเข้าถึงได้เพียงผลลัพธ์ที่ได้รับจากเฟซบุ๊กเท่านั้น และไม่เคยได้เข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้เลย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัย
บัวแก้วถอนพาสปอร์ตบุคคลอีก 8 ราย
เมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือเดินทางของบุคคลที่ถูกออกหมายจับ จำนวน 6 ราย ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายจักรภพ เพ็ญแข นางสาวฉัตรวดี อมรพัฒน์ นายสุนัย จุลพงศธร นายเอกภพ เหลือรา และนายอรรถชัย อนันตเมฆ
นอกจากนี้ วันที่ 4 ก.ค. เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า มีการเพิกถอนพาสปอร์ตของบุคคลที่ถูกออกหมายจับเพิ่มอีก 2 ราย เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา คือ 1. นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 2. นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงปทุมธานี
เนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นผู้ต้องหาที่ศาลอาญาออกหมายจับในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ข้อ 23 (2) ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกหรือเรียกหนังสือเดินทางได้ เมื่อปรากฏภายหลังว่าผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางได้ เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว
บ.ก.ลายจุดได้ประกันตัวพร้อมประกาศยุติการเคลื่อนไหว
เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานความคืบหน้ากรณีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ได้รับการประกันตัวที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่มีผู้แจ้งความไว้ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นกรณีต่อเนื่องถูกอายัดตัวจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. หลัง ศาลทหารมีคำสั่งให้ประกันตัว และได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนั้น
วันที่ 2 ก.ค. นายอานนท์ นำภา ทนายความของ บ.ก.ลายจุด กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้ นายสมบัติต้องไปขึ้นศาลทหารตามวันที่กำหนด เช่นเดียวกับกรณีของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยระหว่างนี้นายสมบัติจะงดการแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก และหลังจากที่ได้รับการประกันตัวนายสมบัติก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ
นอกจากนี้เมื่อ 4 ก.ค. เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า บ.ก.ลายจุดได้เดินทางมายังศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ สนามหลวง โดยเลี่ยงเข้าทางประตูหลัง ตามนัดหมายของพนักงานสอบสวนเพื่อขออำนาจศาลฝากขังผลัดที่สาม 12 วัน จากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 3 องค์คณะตุลาการศาลทหารนั่งบัลลังก์พิจารณาคำขอฝากขังของพนักงานสอบสวนที่ให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นต้องสอบพยานและหาหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนนายสมบัติไม่ขอคัดค้านคำขอดังกล่าวแต่อย่างใด จากนั้นศาลพิจารณาแล้วอนุญาตตามคำขอฝากขังผู้ต้องหาผัดที่สาม 12 วัน ระหว่างวันที่ 6 – 17 ก.ค. แต่เนื่องด้วยนายสมบัติได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. จึงไม่ต้องถูกคุมขัง ให้เป็นไปตามสัญญาและเงื่อนไขการประกันตัว ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
หลังจากนั้น บ.ก.ลายจุดให้สัมภาษณ์ว่า ขอยุติกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหาร อยากมองไปสู่อนาคต เรื่องการฟื้นฟูประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย กระบวนการสมานฉันท์ โดยเฉพาะสิทธิการประกันตัวและไม่ขอวิจารณ์บุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ในขณะนี้
WHO ชี้อาจคุมอีโบล่าได้หลังพบผู้ติดเชื้อ 759 ราย เสียชีวิต 467 ราย
เมื่อ 4 ก.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสอีโบล่าแล้ว 467 ราย จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 759 ราย ทั้งนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดในประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านนายเคอิจิ ฟุกุดะ รองผู้อำนวยการความปลอดภัยด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ระบุการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาสามารถควบคุมได้เนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์รุนแรงเฉพาะ และเคยรับมือเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง โดยมั่นใจจะจัดการได้ แต่ก็ยอมรับเช่นกันว่า การแพร่ระบาดค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากที่ผ่านมาพบอัตราการระบาดอย่างรวดเร็วทั้งพื้นที่เขตเมืองและเขตชนบท
โดยก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 คนเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อจัดการกับวิกฤติดังกล่าวหลังเชื้อมีการระบาดเริ่มแรกที่ประเทศกินีเมื่อเดือนมกราคม
ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก และองค์กรด้านอนามัยระหว่างประเทศได้ทำการประชุมที่กรุงอักกรา ประเทศกานา เพื่อสร้างระบบสอดส่องติดตามที่ดีขึ้นเพื่อตรวจจับการระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างพรมแดน และส่งเสริมความร่วมมือในระดับชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานอื่นๆ ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้จัดตั้งศูนย์ควบคุมระดับภูมิภาคย่อยในประเทศกินีเพื่อประสานการทำงาน และสนับสนุนด้านเทคนิค
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณะสุขระหว่างประเทศ ระบุ สถานการณ์ระบาดขณะนี้เป็นเรื่องยากจะควบคุมเนื่องจากเกี่ยวข้องกับรัฐบาล 3 ประเทศ ซึ่งส่งผลให้การทำข้อตกลงติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่มีการค้นพบเชื้ออีโบลาในแอฟริกากลาง เมื่อปี 1976 โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มีวิธีรักษา มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 90% ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏในแอฟริกาตะวันตกและเพิ่งพบการระบาดเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
‘อีโบลา’ คือ โรคไวรัสอีโบลา หรือไข้เลือดออกอีโบลา เป็นโรคของมนุษย์ที่เกิดจากไวรัสอีโบลา เริ่มมีอาการสองวันถึงสามสัปดาห์หลังสัมผัสกับไวรัส โดยมีไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ จากนั้นมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง ร่วมกับการทำหน้าที่ของตับและไตลดลง เมื่อถึงจุดนี้ บางคนเริ่มมีปัญหาเลือดออก
ประชาชนรับโรคนี้ครั้งแรกเมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวร่างกายจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิงหรือค้างคาวผลไม้ เชื่อว่าค้างคาวผลไม้เป็นตัวพาและแพร่โรคโดยไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัส เมื่อติดเชื้อแล้ว โรคอาจแพร่จากคนสู่คนได้ ผู้ที่รอดชีวิตอาจสามารถส่งผ่านโรคได้ทางเพศสัมพันธ์เป็นวลาเกือบสองเดือน ในการวินิจฉัย ต้องแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันออก เช่น มาลาเรีย อหิวาตกโรคและไข้เลือดออกจากไวรัสอื่นๆ จากนั้น อาจทดสอบเลือดหาแอนติบอดีต่อไวรัส ดีเอ็นเอของไวรัส หรือตัวไวรัสเองเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
สำหรับเชื้อไวรัสอีโบลามีอัตราการคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 90 โดยผู้ติดเชื้อจะมีอาการเป็นไข้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วง และในบางกรณีอาจทำให้อวัยวะล้มเหลว และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วันหลังติดเชื้อ
ประชาชนฮ่องกงประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยถูกจับกว่า 500 ราย
เมื่อ 3 ก.ค. เว็บไซต์เซาธ์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ และ เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานชาวฮ่องกงกว่า 510,000 คน ได้นัดรวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย และการปฏิรูประบบการเมืองในฮ่องกง ให้มีเสรีภาพมากขึ้น โดยเฉพาะควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกง ไม่ใช่เป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหมือนเช่นทุกวันนี้ ในโอกาสครบรอบ 17 ปีที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีนแผ่นดินแม่
โดยตำรวจฮ่องกงได้บุกเข้าจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงอย่างน้อย 196 คน ขณะปักหลักนั่งประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ที่บริเวณ ย่านธุรกิจ เมื่อช่วงเวลาเช้ามืดวันที่ 2 ก.ค. โดยชี้ว่า การนั่งชุมนุมประท้วง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม ยังพยายามขัดขวางปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะเข้าไปสลายการชุมนุม
เมื่อวันพุธที่ผ่านมาสำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิงโพสต์เจ้าหน้าที่ตำรวจในฮ่องกงได้ใช้ ‘ยุทธวิธีสกัดจุดสำคัญของร่างกาย’ เพื่อจัดกุมตัวผู้ประท้วงที่นั่งปักหลักชุมนุมที่ถนนชาเตอร์ นอกจากนี้ยังใช้วิธีการแบ่งแยกผู้ชุมนุมออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อง่ายต่อการควบคุม
มีการเปิดเผยวิธีการนี้หลังจากที่ตำรวจฮ่องกงถูกวิจารณ์เรื่องที่จับกุมผู้ประท้วงมากกว่า 500 คน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเหตุรุนแรงหรือการต่อสู้ชุลมุนเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้พยายามเข้าจับกุมผู้ชุมนุมอีกทั้งยังได้ใช้สเปรย์พริกไทย กระสุนน้ำ และแก็สน้ำตายิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมแต่ต่อมาถึงเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการแยกผู้ชุมนุมออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อควบคุมโดยแหล่งข่าวตำรวจฮ่องกงอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและตัวเจ้าหน้าที่เอง