ThaiPublica > เกาะกระแส > 1984 อิทธิพลสื่อสะท้อนสังคม

1984 อิทธิพลสื่อสะท้อนสังคม

9 กรกฎาคม 2014


ในวันหนึ่งๆ ชีวิตของเรารับและปะทะกับ “สื่อ” ต่างๆ มากมาย จนเราคุ้นชินไม่รู้สึกถึงแรงกระเพื่อมหรืออำนาจของมัน แต่หากพูดถึง “สื่อ” และ “อิทธิพล” ของสื่ออย่างจริงๆ จังๆ แล้วอำนาจของมันได้ฉายชัดให้ได้เห็นตั้งแต่สมัยสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง จนกระทั่งสงครามเย็น

อำนาจที่แบ่งแยกผู้คน และเป็นอำนาจที่ฆ่าคนนับล้านให้ตายได้โดยอ้างเหตุผลของการกระทำว่าเป็นไปโดยชอบธรรม และอำนาจเดียวกันนี้เองที่ช่วยจัดระเบียบสังคม เป็นตัวแทนสู่การเปิดกว้างของโลก “ประชาธิปไตย” เรียกได้ว่าสื่อมีทั้งอำนาจบวกและลบในตัวมันเอง

เพราะสื่อเป็นอีกหนึ่งตัวแปรของปัญหาต่างๆ และเพราะสื่อมีผลต่อการตัดสินใจของคน ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญกับเรื่องของ”สื่อ” สังเกตได้จากในระยะเวลา 1 เดือนที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศได้ออกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับ “สื่อ” เป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 10 ฉบับ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อมูล ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และส่งผลต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของ คสช.

ในประเทศไทยเอง สื่อที่หลายคนกำลังให้ความสนใจคือภาพยนตร์/หนังสือ เรื่อง 1984 โดยมีทั้งผู้ที่ออกมาอ่านหนังสื่อเล่มนี้จนเป็นกระแส ส่วนกรณีกิจกรรมสาธารณะการจัดฉายหนัง 1984 ก็ต้องถูกยกเลิกไป

“War is peace. Freedom is slavery. Ignorance is strength.”
“สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือพลัง”

นี่คือบทเปิดเรื่องของภาพยนตร์ 1984

1403509042-1984coverb--1

1984 (Nineteen Eighty Four) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี 1949 โดยการประพันธ์ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงาน Animal Farm ที่พูดถึงสัจธรรมของอำนาจได้อย่างตรงไปตรงมา และได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปีเดียวกับชื่อเรื่อง..”1984″

“1984” เป็นภาพยนตร์/หนังสือแนวดิสโปเปีย (Dystpia) กล่าวถึงตัวละคร วินสตัน สมิธ ที่เป็นพลเมืองของประเทศโอเชียเนีย (Oceania) อันเป็นประเทศที่มีการปกครองโดยพรรคการเมืองเดียวเบ็ดเสร็จ ชื่อว่า อิงซ็อก (Ingsoc) มีผู้นำสูงสุดคือ Big Brother ผู้ที่มีใบหน้าปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมเมือง

และแม้ประเทศจะอยู่ในภาวะสงคราม? อิงซ็อกก็สามารถดูแลปกครองให้คนในประเทศกินอยู่ไม่ขาดแคลน? ทุกคนต่างรู้จักหน้าที่ และช่วยกันสอดส่องผู้ที่เป็น “กบฏทางความคิด” มีความคิดที่ส่อเค้าว่าจะต่อต้านหรือเห็นตรงข้ามกับพรรค ผู้คนต่างเชื่อและศรัทธาในพรรค

อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อเรื่องของ 1984 จะบอกเล่าถึงประเทศที่รัฐบาลประสบความสำเร็จในการปกครองเป็นอย่างดีในแง่ที่สามารถครองใจประชาชน และสามารถจัดระเบียบประเทศได้ ในโลกที่ถูกจัดระเบียบผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ผู้คนมีชุดความคิดเหมือนๆ กัน แต่ท้ายสุดความคิดที่แตกต่างย่อมเกิดขึ้น โดยสะท้อนผ่านตัวเอกทั้งสอง คือ วินสตัน และจูเลีย และจบโดยที่ทำให้เห็นว่าในโลกที่ถูกตีกรอบเหมือนกันยังคงมีความแตกต่าง และยังมีคนคอยตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็น

1984 เป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมจากผู้เสพสื่อในหลายประเทศมาโดยตลอด และได้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี 2520 กระแสความนิยมมีให้เห็นเป็นพักๆ โดยเฉพาะในระยะนี้ที่ตัวเลขทั้งสี่เป็นที่รู้จักมากขึ้น

นักวิชาการและนักวิจารณ์หนังหลายท่านได้ให้ความเห็นว่า เนื้อหาของ 1984 สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมออกมาได้ดี เพราะตัวละครต่างๆ นั้นสื่อถึงคนแต่ละแบบที่มีอยู่ในสังคมจริง การสร้างกฎเกณฑ์ของโอเชียเนียให้ความรู้สึกอึดอัดสำหรับคนที่อยู่ในโลกเสรีอย่างเรา และชวนให้ย้อนมองสังคมที่เราอยู่เปรียบเทียบกับโอเชียเนีย แม้จะไม่ชัดเจนเท่าใน 1984 แต่ปฏิเสธได้ยากว่าแต่ละสังคมก็มีกรอบบางอย่างคล้ายใน 1984 และนี่เองที่อาจทำให้ 1984 เป็นเรื่องราวที่ได้รับการกล่าวถึงมาโดยตลอด

โดยรวมแล้ว สื่อแนวดิสโทเปียมักเป็นสื่อที่นำไปสู่การตั้งคำถามของสังคม เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่เล่นกับจิตสำนึกของคน นำภาพสวยงามของสังคมอุดมคติมาหักมุมด้วยความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ว่าไม่มีสังคมใดที่ดีพร้อม หักมุมว่าหากเราต้องการสังคมที่สมบูรณ์แบบเราก็ต้องแลกกับบางอย่าง หรือหลายๆ อย่างในชีวิตของเรา