ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “วิษณุ” แจงขั้นตอนสู่การเลือกตั้ง ส.ส. ปลายปี 2560 – ยัน คสช. ยังใช้มาตรา 44 ได้จนมีรัฐบาลชุดใหม่

“วิษณุ” แจงขั้นตอนสู่การเลือกตั้ง ส.ส. ปลายปี 2560 – ยัน คสช. ยังใช้มาตรา 44 ได้จนมีรัฐบาลชุดใหม่

12 สิงหาคม 2016


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/index.php?

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้กล่าวถึงโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งภายหลังผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. และคำถามพ่วง ผ่านรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ว่า หลังจากนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีหนังสือรายงานผลการลงประชามติถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 กำหนดไว้ หลังจากนายกฯ ได้รับทราบก็มีหนังสืออีกฉบับส่งถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อให้รับทราบ ดังนั้น ที่บอกว่าจะต้องทำอะไรภายในกี่วัน จึงเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

โดยสรุปผลการลงประชาติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ชัดเจนว่า จากผู้มีสิทธิทั้งหมดกว่า 50 ล้านคน มาใช้สิทธิเกือบ 30 ล้านคน คิดเป็น 59.40% ถือว่ามากกว่าคนที่มาลงประชามติเมื่อ 9-10 ปีก่อน สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฯ มีเสียงเห็นชอบถึง 16 ล้านเสียง ทิ้งห่างเสียงไม่เห็นชอบที่ได้เพียง 10 ล้านเสียง ถึงกว่า 6 ล้านเสียง ส่วนคำถามพ่วง ปรากฏว่ามีเสียงเห็นชอบ 15 ล้านเสียง ทิ้งห่างเสียงไม่เห็นชอบที่ได้ 11 ล้านเสียง ถึงกว่า 4 ล้านเสียง

“ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่ามติของมหาชนเพื่อวัดอะไรบางอย่างมันปรากฏผลออกมาอย่างนี้ มันเป็นผลหรือเสียงส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างมหาศาลเมื่อเทียบกันในแง่สถิติ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับการลงประชามติเมื่อปี 2550 ส่วนจะตีความผลอย่างไร ก็แล้วแต่นักวิชาการจะไปว่ากัน”

ส่วนที่ถามว่าแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป มีเสียงที่ชวนให้น่าหงุดหงิดใจอยู่นิดหน่อย โดยเฉพาะเสียงที่ค่อนขอดว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จัดทำขึ้นโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็น เหมือนกับมาจากใบสั่ง ซึ่งจะว่าสั่งก็คงไม่มี เรื่องอย่างนี้ กรธ. ทั้ง 21 คนยืนยันได้ ที่สำคัญ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จัดทำขึ้นแล้วเสร็จ ก็มีการส่งไปขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ โดยรัฐบาลและ คสช. ก็ได้ดู และทำหนังสือกลับไปเกือบ 10 หน้ากระดาษเอสี่ ขอแก้ไขเพิ่มเติมไปนับสิบประเด็น แต่ปรากฏว่า กรธ. แก้ไขเพิ่มเติมให้เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นใบสั่งจริง เขาคงจะแก้ไขอุตลุดทุกประเด็นให้แล้ว แต่เรื่องอย่างนี้จะไปมองเป็นจุดเดียวไม่ได้ จะต้องมองภาพรวม ซึ่งตนเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติ โดยมองถึงภาพรวม

“การที่จะบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ เหมือนกับมโนจัดทำขึ้นมา อันที่จริงขั้นตอนของมันมีอยู่แล้ว เริ่มต้นก็ได้ไปพบปะและเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ เกือบทุกพรรคในเมืองไทย รวมทั้งมีประชาชน องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ และหน่วยงานราชการต่างๆ ส่งความเข้าไปให้กับ กรธ. เป็นจำนวนมาก และเขาก็ปรับแก้ให้ ดังนั้น จะบอกว่าไม่ได้ฟังใคร ก็คงจะพูดยาก”

นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อการลงประชามติปรากฏผลมาอย่างนี้ สิ่งที่จะต้องทำจะมีดังต่อไปนี้

  • เนื่องจากมีคำถามพ่วงอยู่ด้วย ร่างรัฐธรรมนูญฯ ร่างเสร็จแล้ว 279 มาตรา ซึ่ง กรธ. จะมีเวลานับจากวันนี้เป็นต้นไป 30 วัน หรือไม่เกินวันที่ 10 กันยายน 2559 ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฯ บางมาตราให้เข้ากับคำถามพ่วง
  • เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบว่า กรธ. แก้ไขตรงกับคำถามพ่วงหรือไม่ โดยการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบว่าตรงหรือไม่ ภายใน 30 วัน หรือไม่เกินวันที่ 10 ตุลาคม 2559
  • ต่อจากนั้นก็จะส่งมาที่นายกฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งหลายคนคิดว่าน่าจะทำได้เลย แต่ปรากฏว่า การเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงหลักนิติศาสตร์และโบราณราชประเพณี เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน จะต้องนำไปเขียนลงสมุดไทย 3 ฉบับ ด้วยลายมือของอาลักษณ์ เสร็จแล้วปิดทอง ติดครุฑทองคำ แล้วค่อยนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยก่อนที่ท่านจะถวายกลับคืน ในบางสมัยมีการประกอบเป็นรัฐพิธีด้วยซ้ำไป ในการถวายคืนกลับมา ฉะนั้น จึงมีส่วนที่เป็นพิธีการ หรือ ceremony ซึ่งมีความจำเป็น ขั้นตอนนี้จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาอีก 30 วัน เมื่อถวายแล้วจะโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อใด เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ถ้าจะคาดคะแนให้เร็วในทางดีเข้าไว้ การประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ น่าจะอยู่ราวเดือนพฤศจิกายน 2559

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้ประกาศนำลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลในวันนี้วันนั้น จะกระทบทั้งต่อประชาชนและองค์กรแม่น้ำ 5 สาย

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จะสิ้นสุดลง และเกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ 20
  2. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน จะยังมีอำนาจเต็มไปจนถึงวันเลือกตั้ง เลยไปถึงวันที่มีนายกรัฐมนตรีและ ครม. ชุดใหม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ ครม. ชุดปัจจุบันถึงจะสิ้นสุดลง
  3. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอยู่ต่อไปจนกระทั่ง ครม. ชุดปัจจุบันสิ้นสุดลง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2561
  4. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะต้องทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับจากวันที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ หรือภายในเดือนเมษายน 2560 แล้ว สปท. จะสิ้นสุดลง องค์กรนี้จึงจะไปก่อนเพื่อน
  5. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องอยู่ทำหน้าที่ออกกฎหมายต่อไป แต่เนื่องจากต่อไปจะมี ส.ว. ขึ้นมารับมอบงานต่อไป ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ที่น่าจะอยู่ราวเดือนพฤศจิกายน 2560
  6. กรธ. ต้องทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรวม 10 ฉบับ ให้เสร็จในเวลา 8 เดือน แต่ในส่วนของกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวม 4 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส., พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรจะต้องเสร็จก่อนแล้วนำเข้าพิจารณาใน สนช. คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำและเข้าพิจารณาใน สนช. รวม 6 เดือน
  7. เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวม 4 ฉบับ ฉบับสุดท้ายเสร็จเมื่อใด ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าพูดลงไปในรายละเอียด ครม. คสช. จะต้องทำอะไรระหว่างนี้ ในส่วนของรัฐบาล นายกฯ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ร่วมกันอ่านร่างรัฐธรรมนูญ แล้วดูว่ามีอะไรที่ต้องทำภายใน 30 วัน 120 วัน 240 วัน ยกตัวอย่าง คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาจะต้องตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ฯลฯ เหล่านี้มีกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะไม่ทำตามไม่ได้ ขณะที่ คสช. ยังอยู่และมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 โดยปลายปี 2560 ที่ใกล้การเลือกตั้ง ส.ส. คสช. ก็จะมีหน้าที่ในการสรรหา ส.ว. 250 คน ด้วยการตั้งคณะกรรมการสรรหาที่เป็นกลาง 9-12 คน เสนอรายชื่อมาให้ คสช. เลือก แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่งตั้งให้เป็น ส.ว.

ส่วนคำถามที่ว่าเลือกตั้งเมื่อใด นายกฯ ได้ประกาศตั้งแต่ช่วงตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เพิ่งจะมาประกาศตีกินเอาในเวลานี้ ว่าโรดแมปของท่านมี 3 ขั้น ขั้นที่ 1 คสช. เข้ามา 2-3 เดือน ขั้นที่ 2 คือตั้งรัฐบาล และขั้นที่ 3 คือเลือกตั้งแล้วให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งขั้นที่ 3 จะเกิดขึ้นในปี 2560 แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะเกิดทันที เพราะการเลือกตั้งต้องมีการหย่อนบัตรลงหีบ มีการแจกใบเหลือง-ใบแดง ซึ่งอาจจะล้ำไปในปี 2561 ก็ไม่ว่ากัน

พอเรารู้ว่า วันเลือกตั้งจะเกิดในปลายปี 2560 ราวเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม ก็มีคนถามว่าจะบีบให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง 1. การจัดทำกฎหมายลูกอยู่ในมือของหลายๆ คนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรธ. สนช. และศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการเหล่านี้รัฐบาลไม่สามารถไปเจ้ากี้เจ้าการได้ทั้งหมด แต่ก็จะพยายามประสานให้เรียบร้อย 2. จะเลือกตั้งช้าหรือเร็วอยู่ที่พรรคการเมืองด้วย เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศวันนี้ จะจัดเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 5-10 วันก็ได้ แต่คิดว่าพรรคการเมืองเขาจะยอมหรือ เพราะเขายังไม่ทันได้หาเสียง เลือกเร็วหรือเลือกช้าก็จะมีพรรคที่ได้เปรียบ-เสียเปรียบ จึงต้องมีการพูดคุยกำหนดวันซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ไม่ใช่รัฐบาล และ 3. ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ไม่ได้ลุกเป็นไฟ ไม่ได้ร้อนระอุ ก็สามารถจัดเลือกตั้ง ส.ส. ได้เร็ว แต่ถ้ามองแล้วจะมีปัญหาก็อาจจะรอไว้ก่อน แต่อย่างไรก็จะอยู่ในกรอบเวลา 150 วัน

“3 ข้อนี้คือปัจจัยชี้เป็น-ชี้ตาย สำหรับการเลือกตั้ง แต่โรดแมปก็คือจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในช่วงปลายปี 2560 อย่างแน่นอน” นายวิษณุกล่าว