เป็นไปตามสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อีกไม่เกิน 2 เดือน ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 มีคณะรัฐมนตรี คณะที่ 61 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน
หากเป็นไปตามเสียงพงศาวดารกระซิบ ที่เป็นข่าว สนทนาปากต่อปาก ในระดับแหล่งข่าวจากคณะผู้บริหารคสช. และคณะ 10 อรหันต์ ที่ปรึกษาคสช. ที่รวมรุ่นพี่-รุ่นน้อง ของพล.อ.ประยุทธ์ ไว้ครบทุกวง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ชื่อของนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ไม่อาจเป็นอื่น นอกจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ที่ยังเป็นที่คาดหมาย-คาใจคือ ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จะควบตำแหน่งแค่ “หัวหน้าคสช.” หรือ จะควบตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ด้วย
หากชื่อนายกรัฐมนตรี ไม่มีเป็นอื่น ย่อมหมายความได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องรับผิดชอบบริหารประเทศ ทั้งเรื่องบริหารงานบุคคล และกิจการในด้านความมั่นคง-ด้านเศรษฐกิจ เป็นหลักถึง 13 เรื่อง 13 คณะกรรมการระดับชาติ
เพราะทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีหน่วยงานความมั่นคงและการเงินการคลัง ที่ต้องบริหารระดับ “สายงานขึ้นตรง” กับ “หัวหน้าคสช.” ถึง 5 หน่วยงานหลัก คือ
1. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
3. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
4. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.)
5. สำนักงบประมาณ
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับชาติ ที่ตามนัย เป็นภารกิจของนายกรัฐมนนตรี ในการจัดการ
ด้านเศรษฐกิจประเทศเป็นหลัก อีก 8 คณะ ประกอบด้วย
1.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
2.คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
3.คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ
4.คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
5.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
6.คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
7.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
8.คณะกรรมการที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้านโครงสร้างคมนาคม
จนกว่าจะมีการประกาศ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในอีก 2 เดือนข้างหน้า อาจมีประกาศ จาก “หัวหน้าคสช” แต่งตั้งให้หัวหน้าคสช. เป็นประธานกรรมการ เพิ่มอีกก็เป็นได้
ไม่ว่าจะอย่างไร คณะรัฐมนตรี คณะที่ 61 จะมีสัดส่วนตำแหน่งที่มาจากกองทัพ และนายทหารนอกราชการ ประมาณ 1 ใน 3 ของคณะรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง
อย่างน้อยกระทรวงหลักๆ ในสายเศรษฐกิจ-ความมั่นคง เช่นตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงด้านความมั่นคง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ จะต้องอยู่ในมือทหารทั้งในและนอกราชการ
ชื่อที่มีการคาดหมายตามโผคณะรัฐมนตรี อาทิ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก , พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พลเอกธนศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด,พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และพลอากาศเอกอิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมในคณะรัฐมนตรี
การจัดคณะรัฐมนตรี ก็อาจจะใช้กรอบแนวคิดหลัก ในการจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคสช. ที่จัดลำดับความสำคัญ 5 ระดับ คือ ระดับสูงสุด คือด้านความมั่นคง ระดับที่ 2 คือการจัดการเศรษฐกิจ ระดับที่ 3 คือด้านสังคม ระดับที่ 4 คือการสังคายนากฏหมายและกระบวนการยุติธรรม ลำดับสุดท้ายเผื่อเหลือเผื่อขาด ให้ฝ่ายที่ครบเครื่องทั้งบู๊-บุ๋นจัดการคือ “ฝ่ายกิจการพิเศษ”
แหล่งข่าวที่เป็นข้าราชการระดับสูง ซึ่งเป็นองค์ประกอบในคณะกรรมการ “คสช. ชุดใหญ่” ที่ประชุมเพื่อขับเคลื่อนบริหารประเทศ เหมือนกับประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาและอนุมัติโครงการ งบประมาณ มาแล้ว 8 ครั้ง บันทึกไว้ว่า…
“ท่านหัวหน้า คสช. ใช้เวลาในการประชุมครั้งละไม่ต่ำกว่า 3-5 ชั่วโมง ฟังและอภิปรายประเด็นเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจชาวบ้าน ปัญหาสังคม ได้อย่างชัดเจน..นอกจากประชุมคสช.ชุดใหญ่แล้ว หัวหน้ายังใช้เวลาวันละ 3 ชั่วโมง ติดตามกิจการบ้านเมือง ทุกด้าน ทุกเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสื่อ และแน่นอนว่า รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเครือข่ายเพื่อไทยและชินวัตรด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
หากฟังตามเสียงที่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่งเป็นเพลงให้ประชาชนฟังทุกต้นชั่วโมง วันละ 24 ครั้งเป็นอย่างน้อย ในทุกสถานีวิทยุ ที่ “จะทำตามสัญญา” และ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็จะได้เห็นหน้าตาคณะรัฐมนตรี คณะที่ 61 ในอีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า
โปรดรออีกครั้งหนึ่ง…