บ่อยครั้งที่สื่อถูกตั้งคำถามถึงบทบาทและหน้าที่”สื่อ” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมไปถึงสื่อละคร ภาพยนตร์ ยิ่งยุคสมัยและเทคโนโลยี่เปลี่ยนแปลง การนำเสนอของสื่อในหลายๆประเภทนำไปสู่การตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม และฉุดกระชากความคิดของเราให้มองสิ่งต่างๆ ในอีกมุมหนึ่ง
สำหรับสังคมที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ท่ามกลางกลไกของแนวคิด หรือสิ่งที่มีอิทธิพลสูงสุดในขณะนั้นจนสามารถกลายเป็น “กระแสหลัก” ที่อยู่ในค่านิยมและบรรทัดฐานของคนในสังคมหนึ่งๆ กลายเป็นสิ่งที่สังคมตีกรอบโดยคำว่า “ดี-ถูกต้อง” เอาไว้ สำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตาม มีความคิด หรือการกระทำเป็นอื่น ก็ถูกมองว่าได้กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม สังคมจะมอบบทลงโทษให้กับเขา
ขณะที่ย้อนกลับไปเปิดอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องเก่าๆ ทำให้เห็นรูปแบบของสื่อที่ตั้งคำถามกับความดีงามของสังคม และชวนนึกไปถึงภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่มีชุดความคิดใกล้เคียงกัน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างภาพยนตร์ 4 เรื่อง 3 ใน 4 ดัดแปลงมาจากงานเขียน ทั้ง 4 เรื่องมาจากต่างวาระ แต่มีมุมมองที่สอดคล้องกันในเรื่องของการตั้งคำถามถึง “สังคมอุดมคติ” (Utopia) ถึงสิ่งที่ถูกกำหนดว่าดี ด้วยการผูกเรื่องที่สร้างความขัดแย้งของประเด็นทางศีลธรรมในใจเรา
งานทั้ง 4 เรื่องได้แก่ Brave New World ผลงานจากปลายปากกาของ อัลดัส ฮักซเลย์ (Aldous Huxley) ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง, เรื่อง Death Note ที่ต้นฉบับเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น เนื้อเรื่องโดยสึงุมิ โอบะ วาดภาพโดยทาเคชิ โอบาตะ ซึ่งเมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ตอนด้วยกัน, เรื่อง IKIGAMI ต้นฉบับมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเช่นกัน เป็นผลงานของ โมโตโร่ มาเสะ และเรื่องสุดท้ายคือ The Purge ที่เพิ่งเข้าฉายในประเทศไทยไปเมื่อปลายปี 2556 เขียนบท และกำกับโดย เจมส์ เดอโมนาโก (James DeMonaco)
สำหรับเรื่องแรก Brave New World เป็นเรื่องราวที่พูดถึงสังคมยุคใหม่ที่ปราศจากสงคราม อยู่ภายใต้การปกครองของ “รัฐโลก” (World State) ที่ไม่มีการแบ่งแยกประเทศอีกต่อไป สังคมที่สงบสุข ผู้คนต่างรู้จักหน้าที่ของตน ผู้คนถูกแบ่งลำดับชั้นอย่างเชื่อฟัง รัฐใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามาควบคุมการใช้ชีวิตของคนในสังคมตั้งแต่แรกเกิด โดยการกำหนดวรรณะ ลักษณะทางกายภาพ และทัศนคติ ให้ดำเนินไปในแนวทางที่รัฐเห็นว่า “ควรจะเป็น” โดยไม่คิดต่อต้าน โลกที่หนังสือ ครอบครัว ความรัก กลายเป็นเรื่องที่สังคมไม่ให้การยอมรับ เพื่อป้องกันความตระหนักรู้ และความทะยานอยาก อันเป็นเหตุให้สังคมเกิดความวุ่นวาย
เรื่อง Death Note เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงสมุดบันทึกเล่มหนึ่งทีเราสามารถเขียนชื่อใครลงไปก็ได้ สามารถกำหนดเวลา และลักษณะการตายของเป้าหมายได้ สมุดบันทึกของยมทูตที่ตกมาอยู่ในมือมนุษย์อย่างจงใจ ผู้คนส่วนใหญ่ที่เก็บสมุดได้จะนำมันไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง กระทั่งวันหนึ่งผู้ที่เก็บ Death Note ได้คือเด็กหนุ่มหัวกะทิที่กำลังเบื่อหน่ายสังคมที่เน่าเฟะ เขาต้องการชำระล้างโลกให้สะอาด โดยใช้ Death Note สมุดบันทึกของยมทูต กำจัดคนที่ตนว่าเป็นคนเลวร้ายไม่สมควรมีชีวิตอยู่
เรื่อง IKIGAMI เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของประเทศญี่ปุ่นที่สังคมมีความอยู่ดีกินดี เนื่องจากรัฐบาลออกกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายเพื่อผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ” กฎที่รัฐนั้นปลูกฝังความเชื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม โดยมีการฉีดวัคซีนที่เรียกว่า “วัคซีนเพื่อความรุ่งเรืองแห่งชาติ” ให้กับประชาชนทุกคนตั้งแต่เด็ก จะมีบุคคล 1 ใน 1,000 คนที่ได้รับวัคซีนแต่ละครั้ง ได้รับแจ๊กพอตโดนวัคซีนที่เข้าไปฝังตัวกำหนดอายุขัยของเขาในร่างกาย ก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต จะมีใบแจ้งตายที่เรียกว่า “อิคิงามิ” ส่งถึงให้ผู้ที่สังคมขนานนามว่า “ผู้เสียลสะ” (โดยเจ้าตัวจะยินยอมเสียสละหรือไม่ก็ตาม) ก่อนถึงจุดจบของชีวิตใน 24 ชั่วโมง เวลาเพียงเท่านี้สามารถจะทำอะไรได้บ้าง
เมื่อ “ผู้เสียสละ” เสียชีวิต ครอบครัวจะได้รับเงินชดเชย และการดูและจากรัฐ แต่หากก่อนเสียชีวิตผู้ที่ได้รับอิคิงามิทำเรื่องผิดกฎหมายครอบครัวจะไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ เลย กฎหมายนี้มีเพื่อให้ประชาชนนั้นตั้งใจใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและตระหนักต่อ “คุณค่าของชีวิต” มากขึ้น ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่มีประโยชน์ให้แก่รัฐ
เรื่องสุดท้ายคือ The Purge เป็นเรื่องราวที่เล่าถึงอเมริกาที่เสื่อมโทรมเต็มไปด้วยอาชญากรรม คุกแน่นไปด้วยนักโทษ ซึ่งหลังจากเกิดความไม่สงบในสังคมหลายปี แต่ตอนนี้ อัตราการว่างงานอยู่ที่หนึ่งเปอร์เซ็นต์และอัตราความยากจนลดลงอย่างต่อเนื่อง
ผู้ปกครองใหม่ที่ถูกขนานนามว่า นิว ฟาวเดอร์ ออฟ อเมริกา (เอ็นเอฟเอ) อยู่ในฐานะรัฐบาลได้การประกาศให้ช่วงเวลา 12 ชั่วโมงในวันหนึ่งของแต่ละปี เป็นเวลาที่อาชญากรรมทุกประเภท รวมถึงฆาตกรรม กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ค่ำคืนที่พลเมืองสามารถปลดปล่อยตัวตนโดยไม่คำนึงถึงบทลงโทษ เป็นมาตรการที่รัฐใช้รับมือกับปัญหาความรุนแรงและใช้ลดจำนวนประชากรยากไร้ในทางอ้อม เนื่องจากผู้รอดชีวิตคือผู้ที่สามารถหาที่หลบภัย หรือป้องกันตัวเองได้ซึ่งส่วนใหญ่คนเหล่านี้เป็นผู้มีฐานะระดับหนึ่งผู้รอดชีวิต
เรื่องราวเหล่านี้เล่นกับสิ่งที่สังคมต่างคาดหวัง อาทิ ความอยู่ดีกินดี ความสงบสุข ปราศจากอาชญากรรม อันเป็นสังคมอุดมคติที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐ ผู้เป็นพลเมืองต้องปฏิบัติตามโดยปราศจากข้อโต้แย้ง แต่สุดท้ายเรื่องราวเหล่านี้ก็นำไปสู่การตั้งคำถามถึงสิ่งที่สังคมมองว่าควรจะเป็น หรือสิ่งที่รัฐบัญญัติว่าดีแล้วนั้น มันชอบธรรมสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากแค่ไหน เราเห็นแรงกระเพื่อมจากสื่อเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีในโลกออนไลน์
Death Note เป็นอีกหนึ่งการให้เหตุผลที่ดีที่แม้ว่าอาชญากรเองจะเป็นคนที่สมควรถูกลงโทษ แต่การลงโทษนอกกระบวนการก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เช่นกันกับ IKIGAMI กระบวนการที่กำหนดการตายโดยกฎหมาย หรือใน The Purge ที่รัฐปล่อยให้คนใช้สัญชาตญาณดิบพรากชีวิตคนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องรับโทษ สำหรับผู้บริสุทธิ์แล้วสิ่งเหล่านี้สมควรถูกตั้งคำถาม การมอบความสุขให้กับคนคนหนึ่งโดยเข้าแทรกแซงความคิด และจิตวิญญาณของเขา อย่างใน Brave New World ก็เช่นกัน
แน่นอนว่าเพื่อสังคมที่สงบสุข เราอาจต้องแลก และสละสิทธิ เสรีภาพบางประการของเราไป ทำให้เกิดเป็นกรอบของกฎหมายในการให้ความคุ้มครองเราอีกขั้นหนึ่ง แต่แค่ไหนล่ะที่เรียกว่า “พอดี” รัฐควรมีอำนาจมากแค่ไหนในการควบคุมชีวิตเรา สิ่งที่ทุกคนคิดว่า “ดี” มันดีแล้วจริงๆ หรือ หากเป็นเช่นนั้นแล้วเรามีชีวิตเพื่ออะไร คำถามเหล่านี้เชื่อว่าทุกคนต่างมีคำตอบอยู่ในตัวเอง
เรื่องราวเหล่านี้อาจเป็นเพียงเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น การแก้ปัญหาอาจดูสุดโต่ง แต่ส่วนหนึ่งก็หยิบมาจากประเด็นในโลกความจริง ให้เราได้ฉุกคิด และย้อนมองดูสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยมุมมองที่กว้างขึ้น แล้วคุณล่ะ ถ้าอยู่ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไร