ThaiPublica > คอลัมน์ > รีเซตประเทศไทย

รีเซตประเทศไทย

13 มิถุนายน 2014


ดร.วิรไท สันติประภพ
 
ปัญหาที่สะสมในประเทศไทยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาใหญ่หลวงนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกแยกของคนในสังคม การคอรัปชั่น ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ความตกต่ำของระบบการศึกษา ความอ่อนแอของระบบราชการ ตลอดไปจนถึงการขาดคุณธรรมและจริยธรรมของคนในสังคม ปัญหาเหล่านี้ได้ฉุดให้ประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด จนเกิดการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ ที่ผ่านมาเราไม่รู้ว่าจะเริ่มปฏิรูปประเทศได้อย่างไร ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่นักการเมืองและผู้มีอำนาจรัฐเป็นต้นเหตุของหลายปัญหา เพราะคิดแต่ผลประโยชน์ของพวกพ้อง และสมประโยชน์กับทุนสามานย์

สำหรับหลายคนแล้วการรัฐประหารเป็นทางออกที่เรียกร้องในใจมานาน เพราะไม่เห็นทางอื่นที่จะนำไปสู่การ reset ประเทศได้อย่างจริงจัง คนอีกหลายกลุ่มไม่ชอบการรัฐประหารเพราะเชื่อว่าจะทำให้ระบบการเมืองไทยถอยหลังไปหลายปี และอาจนำไปสู่การใช้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ ประสบการณ์รัฐประหารเมื่อแปดปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้อย่างแท้จริง ผู้นำขาดความรู้ความเข้าใจในสังคมและเศรษฐกิจไทยที่ซับซ้อนมากขึ้น และมักจะติดกับดักหลายด้านในการบริหารประเทศ

ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม การรัฐประหารครั้งใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือต้องช่วยกันทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ไม่เสียของ ต้องนำไปสู่การ reset ประเทศอย่างแท้จริง เพราะนอกจากการรัฐประหารจะมีต้นทุนสูงมากสำหรับประเทศแล้ว เราอาจจะไม่มีโอกาสที่จะ reset ประเทศได้เช่นนี้อีกในอนาคตอันใกล้ ผมไม่เคยเห็นคนไทยตื่นตัวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศมากเท่ากับในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) มีเวลาทำงานจำกัด และอาจจะมี honeymoon period สั้นกว่าที่หลายคนคิด เพราะประชาชนคาดหวังสูง ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งต้องการเห็นประเทศไทยหลุดจากวงจรอุบาทว์ไม่กลับไปอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์พวกพ้องเช่นเดิม นอกจากนี้ คสช. จะต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลง และแรงกดดันจากต่างประเทศที่ต้องการเห็นประเทศไทยกลับไปสู่ระบบประชาธิปไตยโดยเร็ว

ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ คสช. จะต้องจัดลำดับความสำคัญของการทำงานและบริหารความคาดหวังของประชาชน เพื่อให้การรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่การ reset ประเทศอย่างจริงจัง ผมขอเสนอ 3 เรื่องสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ

เรื่องแรก คสช. ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎหมายที่จะนำไปสู่การวางรากฐานใหม่ (platform change) ให้แก่ประเทศ การใช้อำนาจนิติบัญญัติของ คสช. อาจจะสำคัญกว่าการใช้อำนาจบริหาร เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศในระยะยาวได้ภายในเวลาจำกัด กฎหมายที่แก้ไขไปแล้วจะไม่ถูกปรับเปลี่ยนได้ง่ายเมื่อ คสช. หมดอำนาจลง ต่างจากการใช้อำนาจบริหารที่รัฐบาลใหม่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโครงการต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ผมเกรงว่าถ้าผู้ใหญ่ใน คสช. มัวแต่ริเริ่มโครงการหรือบริหารโครงการแล้วจะต้องเสียเวลาลงรายละเอียดต่างๆ มากมาย และอาจจะเสียสมาธิด้วยผลประโยชน์ที่มากับโครงการเหล่านี้ได้

หลายคนคงไม่ทราบว่าพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปัจจุบัน ที่ให้ความเป็นอิสระแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย และสร้างเกราะคุ้มกันไม่ให้รัฐบาล(ที่แล้ว)ปลดผู้ว่าการได้ตามอำเภอใจ ออกโดยสภานิติบัญญัติสมัยรัฐประหารรอบที่แล้ว

ในช่วงเวลาปกติ กระบวนการแก้ไขกฎหมายมีปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ข้าราชการที่ติดกับการทำงานภายใต้กรอบกฎหมายเดิม ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และมองปัญหาต่างๆ แยกเป็นส่วนๆ สนใจเฉพาะเรื่องที่อยู่ใต้อำนาจหน่วยงานของตน ทั้งที่หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน การแก้ไขกฎหมายที่ผ่านมาจึงมักทำสำเร็จในประเด็นเล็กๆ ไม่สามารถแก้ไขกรอบใหญ่ที่ล้าสมัยหรือเป็นปัญหาได้ ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายก็ใช้เวลานานมาก มีร่างกฎหมายหลายฉบับที่รัฐบาลหลายสมัยอนุมัติหลักการไปหลายปีมากแล้วแต่ยังไม่สามารถตราเป็นกฎหมายได้ ส่งร่างกลับไปมาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับหน่วยงานต้นเรื่อง และเมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล หรือเปลี่ยนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง (ซึ่งเปลี่ยนเป็นประจำ) จะขอทบทวนร่างกฎหมายเหล่านี้ใหม่ ทำให้กฎหมายสำคัญๆ แก้ไขไม่ได้เสียที

ปัญหาสำคัญที่สุดของกระบวนการแก้ไขกฎหมายคือนักการเมือง ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเชิงลึกและอาจจะต้องการรักษาผลประโยชน์บางอย่างของตัวเองหรือพวกพ้อง กฎหมายหลายฉบับถูกนักการเมืองปรับแก้ข้อความด้วยความไม่รู้เรื่อง หรือมีเจตนาจะบิดเบือน ทำให้เมื่อตราเป็นกฎหมายแล้วไม่เกิดผลตรงตามเจตนารมณ์ นอกจากนี้ กฎหมายที่นักการเมืองเห็นว่ามีบทลงโทษคนทำผิด(ที่มีแนวโน้มจะเป็นพรรคพวกตนเอง)รุนแรงมักจะแท้งกลางสภา

สำหรับผมแล้ว สภานิติบัญญัติที่ คสช. จะตั้งขึ้นอาจจะสำคัญกว่าคณะรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป เราจะ reset ประเทศไทยได้ก็ต่อเมื่อ คสช. ตั้งคนที่มีความรู้จริงจากสาขาต่างๆ และเป็นคนที่ต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สภานิติบัญญัติต้องเร่งแก้ไขกฎหมายสำคัญที่จะวางรากฐานใหม่ให้แก่ประเทศกฎหมายเหล่านี้จะช่วยสร้างพลวัตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่ คสช. หมดอำนาจลง

กฎหมายที่จะ reset ประเทศไทยได้มีหลายเรื่อง และหลายเรื่องมีข้อเสนอที่ชัดเจน ตกผลึก จากผู้รู้ที่ได้ศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น ต้องทำให้คดีคอรัปชั่นไม่มีอายุความ ต้องปรับปรุงให้การทำงานของ ปปช. มีประสิทธิภาพรวดเร็ว รวมทั้งจะต้องทำให้ ปปช. มีความมั่นคงด้านงบประมาณ ไม่ถูกรัฐบาลและนักการเมืองที่ขัดแย้งกับ ปปช. คอยตัดงบในแต่ละปี นอกจากนี้ ต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างความโปร่งใสให้แก่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ การทำงานของหน่วยงานราชการจะมีความรับผิดและรับชอบ (accountability) ถ้าประชาชนตรวจสอบได้ วันนี้เรามีกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนยังไม่สามารถขอข้อมูลข่าวสารได้จริง เราอาจจะต้องก้าวไปสู่ open government บังคับให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนร้องขอ โดยเฉพาะรายละเอียดของสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและสัญญาสัมปทานทุกสัญญา ผมเชื่อว่าการวางรากฐานใหม่เช่นนี้จะเกิดผลระยะยาว ประชาชนจะไม่ยอมให้เปลี่ยนกฎหมายกลับไปเหมือนเดิมแม้ว่านักการเมืองแบบเดิมๆ จะชนะการเลือกตั้งกลับมาบริหารประเทศ

ด้านเศรษฐกิจ มีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องแก้ไขเพื่อวางรากฐานสำหรับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตั้งแต่เรื่องบริษัทมหาชน การแข่งขันทางการค้า การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว วินัยการคลัง ตลาดทุน การคุ้มครองผู้บริโภค หลักประกัน ตลอดจนประมวลรัษฎากร

ที่สำคัญ สภานิติบัญญัติต้องเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจของนักการเมือง ให้มีบทลงโทษรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง ให้สส. ที่โดนใบแดงมีโทษจำคุก รวมทั้งต้องสามารถลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ช่วยผู้สมัครรายใดรายหนึ่งอย่างไม่เป็นกลางทางการเมืองได้ด้วย

ผมดีใจที่เห็นข่าว คสช. สั่งให้ที่ปรึกษาและหน่วยงานราชการเร่งนำเสนอแนวทางจัดการร่างกฎหมายที่ตกค้างอยู่ในสภากว่า 200 ฉบับ แต่การจัดการเฉพาะร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ไม่เพียงพอ ถ้าจะ reset ประเทศไทยแล้วจะต้องแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ ของประเทศอีกหลายฉบับ และจะต้องแก้ไขโดยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มองกว้างและมองไกล อยากเห็น คสช. สั่งให้ทุกกระทรวง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รีบเสนอรายชื่อกฎหมายสำคัญๆ ที่ต้องการแก้ไข และรีบตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางแก้ไขกฎหมายเหล่านี้โดยเร็ว

เรื่องที่สอง คสช. ควรให้ความสำคัญกับการนำมาตรฐานสากลมาใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อต้นทุนการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตในประเทศไทย ในปัจจุบันการขออนุญาตและการติดต่อกับหน่วยงานราชการส่วนใหญ่ยังมีขั้นตอนวุ่นวาย ซ้ำซ้อน และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความ รวมทั้งยังอิงกระดาษ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพัฒนาการทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มที่ หลายเรื่องที่ผ่องถ่ายให้เอกชนเป็นผู้ให้บริการแทนได้ก็ควรรีบทำ

ผมเชื่อว่าประเทศที่ก้าวหน้ากว่าเราได้คิดและวางระบบไว้ดีแล้วในแทบทุกมิติการทำงานของหน่วยงานราชการ หลายเรื่องมีมาตรฐานได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล ที่ผ่านมาข้าราชการ(และนักการเมืองผู้มีอิทธิพลในกระทรวง) ไปดูงานเรื่องเหล่านี้มามาก แต่มักจะมีข้ออ้างไม่นำมาปฏิบัติ ผมเชื่อว่าถ้าเรานำมาตรฐานเหล่านี้มาใช้จริง จะเกิดการยกเครื่องหน่วยงานราชการและมาตรฐานประเทศขนานใหญ่ และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว แม้ว่าอาจขลุกขลักบ้างในช่วงแรก

นอกจากในระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการแล้ว ยังมีข้อตกลงระหว่างประเทศของสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศบางเรื่องที่รัฐบาลไทย หรือรัฐสภาไทยยังไม่ได้รับรอง คสช. ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาท่าทีของประเทศไทยต่อข้อตกลงเหล่านี้อย่างจริงจัง (โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชญากรรมระหว่างประเทศ สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน) ข้อตกลงเหล่านี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานของประเทศไทย และจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นจากนานาประเทศในสภาวะที่การเมืองไม่ปกติด้วย

เรื่องที่สาม คสช. ควรให้ความสำคัญกับการวางรากฐานเพื่อการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง การปฏิรูปประเทศส่วนที่เกินจากการตรากฎหมายต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้เสร็จภายในหนึ่งถึงสองปี คสช. ต้องเร่งสร้างแผนแม่บทการปฏิรูปประเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นความจำเป็นของการปฏิรูปและมีเป้าหมายร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องใหญ่ๆ เช่น การกระจายอำนาจ การปฏิรูปการศึกษา การเก็บภาษีทรัพย์สิน และการปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งควรเร่งจัดตั้งองค์กรที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามการปฏิรูปประเทศอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในวันนี้ และในวันที่ คสช. หมดอำนาจลง

ถ้า คสช. สามารถทำให้คนไทยส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ทำให้คนไทยมองผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ช่วงสั้นๆ และทำให้เห็นตรงกันเกี่ยวกับทิศทางการปฏิรูปประเทศในเรื่องสำคัญได้แล้ว ผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมืองทุกพรรคต้องนำเสนอนโยบายที่จะสานต่อเรื่องเหล่านี้ และประชาชนจะติดตามให้รัฐบาลใหม่ต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง

การเร่งดำเนินการในสามเรื่องข้างต้นอาจจะช่วย reset ประเทศไทยได้ และอาจจะช่วยให้เราหลุดออกจากกับดักและปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ถ้าทำได้สำเร็จ คสช. จะคืนความสุขสู่ประชาชนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นความสุขเพียงชั่วคราว