ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐกิจ จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน

เศรษฐกิจ จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน

10 มิถุนายน 2015


ดร. วิรไท สันติประภพ

เมื่อวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ผมเข้าไปกราบพระที่วัดอุโมงค์ และสะดุดใจกับป้ายธรรมอันหนึ่งที่เขียนไว้ว่า “เศรษฐกิจ จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน” ไม่ทราบว่าเป็นเทศน์ของครูบาอาจารย์องค์ใด ผมเดาว่าคงเป็นของท่านอาจารย์พุทธทาส เพราะท่านอาจารย์เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาวัดอุโมงค์ให้ร่มรื่นย์ด้วยต้นไม้ ประวัติศาสตร์ และหลักธรรม

คนทั่วไปคงไม่คิดว่าเศรษฐกิจกับจิตใจเกี่ยวข้องกัน ที่จริงแล้วสองเรื่องนี้แยกจากกันไม่ออก และผูกพันกันในหลายมิติ เพราะเรื่องเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน และพฤติกรรมของคนถูกกำหนดด้วยจิตใจ ปัญหาเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศเผชิญก็สะท้อนถึงสภาวะจิตใจและพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ หนี้ครัวเรือน การขาดวินัยการคลัง การว่างงาน ตลอดจนการคอรัปชัน ในทางตรงกันข้ามทุกครั้งที่สำรวจสภาพจิตใจของคนในสังคมว่าสุขหรือทุกข์เพียงใด สภาวะเศรษฐกิจจะโผล่ขึ้นมาเป็นปัจจัยขาประจำ

ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เรามักได้ยินรัฐบาลพูดถึงความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่เสมอ ประเทศไทยมีดัชนีวัดระดับความเชื่อมั่นของคนหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และนักลงทุน เมื่อใดก็ตามที่ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนตกต่ำ รัฐบาลจะขาดความมั่นใจ และต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ ทั้งมาตรการที่อัดฉีดเม็ดเงินจริงลงไปในระบบเศรษฐกิจ และมาตรการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาจิตตกของประชาชน ในบางประเทศรัฐบาลถึงกับแอบแก้ตัวเลขเศรษฐกิจหรือไม่พูดข้อมูลที่แท้จริง เพราะกลัวว่าจิตใจที่วิตกกังวลของประชาชนจะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยากขึ้นไปอีก

สำหรับภาคธุรกิจแล้ว จิตใจของเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงสำคัญมากต่อความสำเร็จในระยะยาวทั้งของตัวธุรกิจเองและสังคมที่ธุรกิจนั้นเกี่ยวข้อง ถ้านักธุรกิจมีจิตใจดี ยึดมั่นในหลักบรรษัทภิบาล บริหารธุรกิจด้วยความเป็นธรรมต่อคู่ค้า คู่แข่ง พนักงาน และสังคมรอบข้าง ธุรกิจนั้นมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม เราเห็นธุรกิจขนาดยักษ์ใหญ่หลายแห่งต้องสะดุดขาตัวเองล้มลง เพราะมุ่งหวังแต่ผลกำไรระยะสั้น เร่งขยายธุรกิจจนเกินภูมิคุ้มกันที่ตนมี บริหารธุรกิจแบบเอาเปรียบสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชัน

มีหลายตัวอย่างที่จิตใจของนักธุรกิจมีผลต่อระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างหนึ่ง คือการพัฒนาคลัสเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐบาลหลายประเทศพยายามส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้นแต่ไม่สำเร็จ เพราะนักธุรกิจส่วนหนึ่งไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกที่จะต้องร่วมมือกับคู่แข่ง(โดยเฉพาะคู่แข่งที่เล็กกว่า)ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ มองว่าการแข่งขันกับความร่วมมือขัดแย้งกัน หรือต้องการหาประโยชน์เข้าตัวเองให้มากที่สุด ทั้งๆ ที่คลัสเตอร์จะช่วยให้ขนาดของทั้งอุตสาหกรรมใหญ่ขึ้น ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง สร้างฐานสำหรับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และสามารถที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมให้มีทักษะและประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ ถ้านักธุรกิจไม่เปิดใจที่จะร่วมมือกับคู่แข่งเพื่อชนะด้วยกันแล้ว จิตใจของนักธุรกิจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตัวเองและของประเทศในระยะยาว

เศรษฐกิจ จิตใจแก้ไขพร้อมกัน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและคุณภาพของสังคมไทยที่ไหลลงเรื่อยๆ จะไม่มีทางแก้ไขได้ ถ้าภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่คิดว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และไม่คิดว่าตนเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เราต้องไม่ลืมว่าทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจมีผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบทั้งทางตรงและผ่านห่วงโซ่อุปทานที่อาจจะเอาเปรียบคนตัวเล็กๆ ในสังคม การละเลยเรื่องสวัสดิการแรงงาน การผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กลยุทธ์การตลาดที่ทำลายคู่แข่งขนาดกลางขนาดเล็ก การจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ชนะการประมูล การโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้บริโภคมีค่านิยมที่ไม่เหมาะสมหรือบริโภคเกินควร ไปจนถึงการไม่จัดการขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่ตนผลิต ถ้าธุรกิจเปิดใจทบทวนวิธีการทำธุรกิจของตนทุกขั้นตอนให้เป็นธรรมต่อคู่ค้า สร้างผลบวก ลดผลลบที่มีต่อสังคม และปรับปรุงวิธีการทำธุรกิจให้ดีขึ้นแล้ว เชื่อได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและคุณภาพของสังคมไทยจะดีขึ้นมาก

เศรษฐกิจและสังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และสมดุลก็ต่อเมื่อนักธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่) มีจิตใจที่ต้องการเป็นพลเมืองดีของประเทศ คือต้องการเห็นเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมดีขึ้น และไม่รีรอที่จะลุกขึ้นทำสิ่งที่ตนทำได้ ในเรื่องนี้ผมขอชื่นชมคุณบัณฑูร ล่ำซำ ที่ออกมาเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่นิ่งเฉยต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมไม่ได้ชื่นชมคุณบัณฑูรตรงที่ช่วยให้กลไกการทำงานของนโยบายการเงินมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น แต่ชื่นชมที่คุณบัณฑูรช่วยกระตุกกรอบความคิดและจิตใจของนายธนาคารไม่ให้ทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสภาวะเศรษฐกิจและความตึงเครียดในสังคม

นอกจากเรื่องจิตใจจะสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับประเทศแล้ว เรื่องจิตใจยังสำคัญมากต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชนบทที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่การแย่งทรัพยากรน้ำ การจัดการสารเคมีตกค้างจากการทำการเกษตร การจัดสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ (ที่ต้องรับภาระเลี้ยงหลานที่พ่อแม่ทิ้งไว้) การจัดตั้งสหกรณ์ชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระดับชุมชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนในชุมชนมีจิตใจต้องการชนะด้วยกัน เคารพในสิทธิ์ หน้าที่ และกติกาของชุมชน รวมทั้งมีจิตอาสาที่จะร่วมมือร่วมใจกันทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนโดยรวมดีขึ้น ชุมชนใดที่ขาดผู้นำและผู้ตามที่มีจิตอาสา และจิตที่ยึดมั่นในความถูกต้องตรงธรรมแล้ว ยากที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนได้ในระยะยาว

ในระดับครัวเรือนและปัจเจกบุคคลแล้ว เรื่องเศรษฐกิจเริ่มที่จิตใจ เพราะจิตใจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและวิถีชีวิตของแต่ละคน ปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายและปัญหาหนี้ครัวเรือนก็มีมิติด้านจิตใจเป็นปัจจัยสำคัญ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสามารถเชื่อมโยงเรื่องเศรษฐกิจกับจิตใจได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจนมาก การใช้ชีวิตของเราทุกคนต้องมีหลักความพอเพียงในจิตใจ เพื่อควบคุมการกินอยู่ จับจ่ายใช้สอยให้พอประมาณ สมเหตุสมผลกับฐานะและความจำเป็นของตน ไม่ลงทุนจนเกินตัว รวมทั้งต้องรู้จริงในเรื่องที่ตนทำ สามารถวางแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่นับวันดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ จิตใจที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ ความอดทน ความเพียร และการพึ่งตนเอง จะเป็นพลังสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต และฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน

เรื่องจิตใจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนทุกระดับมักมองไม่เห็น เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องภายนอกมากกว่าเรื่องภายในตัวเอง (และบ่อยครั้งเราวิตกกับเรื่องในอนาคตหรือในอดีต มากกว่าที่จะหยุดดูสภาวะจิตในปัจจุบัน) ยิ่งเวลาที่คิดถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยแล้ว คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล ธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการเงิน หรือนักลงทุน มากกว่าที่จะมองว่าเป็นเรื่อง(ภายในใจ)ของตน หรือคิดว่าตนจะมีบทบาทช่วยแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร

สำหรับผมแล้ว การปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะเกิดผลยั่งยืน ต้องเริ่มที่การปฏิรูปในใจของคนในสังคม โดยเฉพาะคนกลุ่มบนที่ได้รับประโยชน์สูงมากจากพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การปฏิรูปเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่สามารถเปิดใจรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นของคนที่คิดต่าง(ด้วยความบริสุทธิ์ใจ)ได้อย่างไม่มีอคติ สามารถเสียสละผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมในระยะยาว กล้าที่จะแสดงจุดยืนสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้องและต่อต้านวิถีเดิมๆ ที่ทำผิดต่อเนื่องกันมา แม้ว่าอาจจะทำให้คนบางกลุ่มไม่พอใจ และทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี คือไม่รีรอที่จะลุกขึ้นทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคม

เศรษฐกิจไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน มั่นคง และสมดุลได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศเตือนตัวเองเรื่อยๆ ว่า “เศรษฐกิจ จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน”

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2558