ThaiPublica > คอลัมน์ > ภาษาก็มีชีวิต

ภาษาก็มีชีวิต

5 มิถุนายน 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ภาษาก็มีชีวิต-1

selfie ซึ่งหมายถึงการถ่ายภาพตัวเองโดยการใช้สมาร์ทโฟน เป็นคำประดิษฐ์ขึ้นใหม่ซึ่งได้กลายเป็นคำแห่งปี 2013 ของ The Oxford Dictionary คำนี้มีเพื่อนอีกมากมายที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและจากการคิดค้นขึ้นใหม่อย่างจงใจด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย

“framily” กำลังมาแรงเพราะกินความหมายกว้างและลึก โดยมาจาก family + friend คำนี้มาจากการประดิษฐ์คำโดยบริษัทเอกชนเพื่อสร้างความสนใจ ซึ่งตั้งใจให้ลามไปถึงบริษัทผู้คิดและสินค้าของเขา

selfie มีที่มาแตกต่างจากอีกหลายคำที่มีการตลาดแฝงอยู่ เมื่อค้นประวัติก็พบว่าคำนี้ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2002 โดยเริ่มใช้ในข้อความออนไลน์ของคนออสเตรเลียชิ้นหนึ่ง และต่อมาเป็นที่นิยมจนกระจายกันไปทั่ว selfie มีรากมาจาก self และบวกด้วย ie จนออกเสียงว่า “เซล-ฟี่” ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียนั้นมีหลายคำที่ชอบทำให้มันลงท้ายด้วย ie เช่น Aussie (คนออสเตรเลีย) footie (หมายถึงออสเตรเลียฟุตบอล) tinnie (เบียร์กระป๋อง) barbie (ไม่ใช่ตุ๊กตา หากหมายถึง barbecue) ฯลฯ

การตลาดในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน social media ต้องการคำสั้นๆ ที่สื่อความหมายแปลกใหม่ น่าสนใจ และ “กระแทกใจ” ทั้งนี้เนื่องจากความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของผู้คนมีจำกัด พื้นที่ใน social media มีจำกัด (140 อักษรสำหรับ twitter) ค่าโฆษณามีราคาสูง ฯลฯ

ประเด็นสำคัญ คือ “การกระแทกใจ” อะไรที่ไม่ “แรง” ไม่แปลก ไม่ใหม่ ไม่น่าสนใจ ฯลฯ คนจะมองข้ามทันที เมื่อเกิดสภาวการณ์เช่นนี้ขึ้นการสื่อสารในช่วงต่อไปเพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงเห็นคำใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจกันเกลื่อนตา

ภาษาอังกฤษไม่มีเจ้าของและไม่มีผู้ผูกขาดการใช้โดยคนเดียวเหมือนภาษาไทยเพราะมีหลายประเทศที่ใช้เป็นภาษาประจำชาติ เมื่อแต่ละประเทศอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลาย การเติบโตของภาษาจึงแตกต่างกันออกไป ดังเช่น Singlish ของคนสิงคโปร์แตกต่างไปจาก American English และ British English คำใหม่ในภาษาอังกฤษจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เราจึงมีเครื่องดื่ม 7up ที่บอกว่าตนเองเป็น “Uncola” “Krogering” (ช็อปปิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อ Kroger ในสหรัฐอเมริกา) “Runnovation” ของรองเท้ากีฬา New Balance “Turketarian” (เนื้อไก่งวงหรือ Turkey เป็นแหล่งโปรตีนที่บางกลุ่มนิยมจึงบวกกับช่วงท้ายของ vegetarian) “Meatarian” ของบริษัทขายเนื้อ

อย่างไรก็ดีคำที่มิได้เกิดขึ้นเชิงการตลาดก็มี เช่น texting (ส่งข้อความ) twibel (ข้อความในลักษณะที่อาจถูกฟ้องร้องได้ใน twitter) affluenza (โรคเมาวัตถุนิยมและบริโภคนิยมมาจาก affluence + influenza) carjacking (การจี้บังคับให้คนขับบังคับรถไปในทิศทางที่ต้องการมาจาก hijacking + car)ฯลฯ

คำใดที่ไม่มีคนใช้ในเวลาต่อไปก็จะล้มหายตายจากไปเพราะภาษามีชีวิตชีวาเหมือนต้นไม้ ตาหรือกิ่งใหม่จะออกมาตามความจำเป็นในการสื่อสารอย่างกะทัดรัดและได้ใจความ

ทางการไทยดูจะเข้มงวดกับคำในภาษาไทยที่ทยอยออกมาใหม่และต่อไปก็จะตายไปเป็นอันมาก ห้ามไม่ให้วลีหรือคำ เช่น “จุงเบย” “ครัช” “อ่ะ” ปรากฏในโทรทัศน์หรือภาพยนตร์เป็นอันขาด ทั้งๆ ที่ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ทั้งวันทั้งคืน เด็กรวมทั้งผู้ใหญ่ก็ใช้เพื่อสื่อสารกันไปทั่ว

ที่แปลกก็คือทางการปล่อยให้มีการทำนายโชคชะตา ผลฟุตบอล หรือแม้แต่การพูดเรื่องในมุ้งในโทรทัศน์บางช่องอย่างเสรี พูดง่ายๆ ก็คือเรายอมให้เกิดความงมงายในไสยศาสตร์และอาจถึงกามศาสตร์ได้ แต่ไม่ยอมรับความจริงในภาษาศาสตร์เป็นอันขาด

โลกมันเปลี่ยนไปทุกวัน เช่นเดียวกับทุกสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยเฉพาะเทคโนโลยีเป็นตัวการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและหักเห ตัวอย่างเช่นเรื่องการอ่าน คนไทยส่วนใหญ่ปักใจว่าเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยมาก โดยใช้คำจำกัดความของการอ่านว่าเป็นการอ่านจากหนังสือ แต่ความจริงก็คือเด็กไทยอ่านหนังสือกันมากกว่าสมัยก่อนมากๆ แต่รูปแบบการอ่านนั้นแตกต่างออกไป

เด็กไทยอ่านอักษรบน Facebook และ Line วันหนึ่งนับหลายชั่วโมง ปีหนึ่งถ้านับเป็นหน้าหนังสือก็อาจเป็นพันๆ หน้าได้ ถ้าใช้คำจำกัดความเก่าก็ถือว่าถูกต้องที่อ่านหนังสือน้อย แต่ถ้าใช้คำจำกัดความตามโลกแห่งความเป็นจริงของปัจจุบันแล้วก็เรียกว่าอ่านมาก ถ้าไม่เข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สถิติต่างๆ ก็สับสนจนอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและนโยบายที่ผิดพลาดได้

คำใหม่ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นในภาษาอังกฤษและไทยเพื่อวัตถุประสงค์ของการค้าหรือเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นผลพวงของการขยายตัวของโลกออนไลน์และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ถ้ารำคาญจนปิดตาและปิดหู ไม่ยอมรับ ก็อาจกลายเป็น “หมาหลงบนทางด่วน” หรืออาจเข้าใจโลกอย่างบิดเบี้ยวก็เป็นได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 มิ.ย. 2557