ThaiPublica > คนในข่าว > ตอนที่ 5: บทเรียนของธุรกิจการเงินจากวิกฤติ 2540

ตอนที่ 5: บทเรียนของธุรกิจการเงินจากวิกฤติ 2540

23 กันยายน 2012


นายบัณฑูร ล่่ำซำ
นายบัณฑูร ล่่ำซำ

บัณฑูร ถอดบทเรียน 15 ปี วิกฤติ 2540 ด้านธุรกิจการเงิน สอนให้รู้ว่า “ตัวระบบ” มีความสำคัญ ฝืนหรือต้านกระแสยาก อีกบทเรียนคือ “การเสี่ยง” แบบไม่มีหลักเกณฑ์เป็นอันตราย

ปกป้อง: ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีอะไรไหมครับที่ธนาคารกสิกรไทยเรียนรู้ว่าวันนั้นไม่น่าทำอย่างนั้น ถ้าย้อนกลับไปได้จะไม่ทำ

ไอ้ไม่ทำคงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของระบบ จะไปฝืนอยู่คนเดียวมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เรื่องของธุรกิจการเงิน ตัว “ระบบ” และ “มาตรฐานของระบบ” เป็นตัวสำคัญที่สุด จะไปทำแตกต่างอยู่คนเดียวสู้ไม่ได้ เช่น บอกว่าจะเข้มในเรื่องการอนุมัติสินเชื่อ เข้มถึงจุดหนึ่งก็พอดีไม่ต้องปล่อยสินเชื่อ ถ้าคนอื่นเขาปล่อยกันแล้วไอ้นี่เข้มอยู่คนเดียวก็ไม่ต้องทำธุรกิจ

เพราะฉะนั้น ระบบมันจะลากทุกคนไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจจะไปใน “ดีกรี” ที่ไม่ถึงกับเท่ากัน อย่างเมื่อ 2540 คนที่ “ผาดโผน” มากๆ มันก็ต้องตาย เพราะมันไม่มีโอกาสที่จะแก้ตัว ความเสียหายมันมากเกินไป คนที่ “ดึงเบรก” ไว้ขั้นหนึ่งอย่างเช่นเรา เป็นต้น ที่ดึงเบรกไว้ขั้นหนึ่งก็แค่บาดเจ็บสาหัส แต่ถ้าไม่เบรกเลยก็อาจเป็นไปได้ว่า “หัวทิ่ม” ตกเหวไปเลย

ปกป้อง: นึกย้อนอดีตไปตอนนั้น คิดว่ามีกรณีไหนที่เราคิดว่า เราโชคดีที่เราทำแบบนี้ไว้ก่อน เราไม่เจ็บหนัก หรือว่ามีกรณีไหนที่เราคิดว่า โอ้โฮ! เราไม่น่าทำแบบนี้เลย ไม่อย่างนั้นจะเบากว่านี้เยอะ โชคดีที่เบรกสินเชื่อ อันนั้นก็เป็นอันที่ตัดสินใจถูก แล้วก็อย่างอื่นเป็นเรื่องของครรลองของเหตุการณ์

ถ้าถามว่าอันไหนที่ขอบคุณ “สวรรค์” ก็คือว่า หน้าต่างมันเปิดต้นปี 2547 แล้วทำให้เราไปเพิ่มทุนได้ ถ้าไม่มีวันนั้น ทุกอย่างจบ

ปกป้อง: ขอบคุณสวรรค์แล้วมีใครไหม ที่คุณปั้นรู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษในช่วงวิกฤตินั้น

โห! เยอะแยะมากมายเลย ผู้คนทั้งหลายที่ช่วยกันหามรุ่งหามค่ำที่เครือธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทยตอนนั้นยังไม่เป็นเครือ แก้ปัญหากันแบบไม่คิดชีวิต เอ่ยชื่อไม่ครบ

ปกป้อง: คนนอกกสิกร

คนนอกกสิกรไทย ก็ธนาคารแห่งประเทศไทยที่หลังจากนั้นก็มีการปรับตัว แล้วภาครัฐก็มีการคิดโจทย์ว่าโดยรวมระบบจะฟื้นอย่างไร เขาก็ทำกันเป็นครั้งแรกในชีวิตเหมือนกัน ในที่สุดก็ต้องถือว่า “โชคดี” ที่โดยรวมการตัดสินใจไปในทิศทางที่ถูกต้อง แล้วก็ได้รับการอนุมัติให้ทำอะไรที่ปกติเดิมจะไม่คิดให้ทำ เช่น ออกอนุพันธ์เงินทุน เช่น สลิปส์ อย่างนี้ ถือว่าเป็นนวัตกรรม ซึ่งตอนนั้นทั้งเราและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันแปลว่าอะไร แต่ก็ลองดู แล้วมันก็เป็นตัวที่มาช่วยในแถวสองที่ทำให้มันดันมาถึงวันนี้ได้

ปกป้อง: 15 ปีที่ผ่านไป ระบบสถาบันการเงินไทยหรือระบบการเงินไทยเรียนรู้บทเรียนอะไรจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจบ้าง

ก็เรียนรู้ว่า “การเสี่ยง” แบบไม่มีเกณฑ์ควบคุมเป็นสิ่งที่อันตราย แต่เสร็จแล้วมนุษย์ก็มักจะลืมอดีต เวลาผ่านไปสักพัก ตัวคนเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป ก็อาจจะคิดว่าตัวเองบริหารความเสี่ยงได้ดีแล้ว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอาจจะมีวิกฤติอีกรอบหนึ่งรออยู่ข้างหน้าในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

ดังนั้นไม่มีใครพูดได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าครั้งนี้ไม่เป็นไรหรอก เรารู้ดีแล้วว่าเราทำอะไร เพียงแต่ว่าทุกครั้งก็ต้องมีความ “สำเหนียก” และความ “สังวร” ว่า เฮ้ย! เราดูดีทุกเรื่องแล้วหรือ หรือมีอะไรที่เราปล่อยปะละเลยจนเกินไป

ปกป้อง: อะไรเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ของระบบการเงินไทย ระบบสถาบันการเงินไทย
ก็มีการ “คาน” กันมากขึ้น แต่ก่อนผู้จัดการสาขาก็ตัดสินใจปล่อยสินเชื่อคนเดียวเลย เดี๋ยวนี้ก็มีระบบคาน ทำแบบนั้นไม่ได้ง่ายๆ

ปกป้อง: เรื่องการบริหารความเสี่ยง

อันนั้นแน่นอน เป็น “ศาสตร์” และเป็น “ศัพท์” อันใหม่ของระบบการเงินเลย แต่ว่ามันก็พิสูจน์แล้วว่าต่อให้พูดว่ามีระบบความเสี่ยงที่ดี แล้วฝรั่งก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว เป็นเจ้าแห่งศาสตร์ความเสี่ยงแต่ตัวเองก็พังแล้ว แสดงว่าการที่บอกว่ามี “ระบบบริหารความเสี่ยงดี” ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกันเลยว่าจริงๆ แล้วมันดีจริง เพราะว่าเหตุการณ์มันอาจกระทบในลักษณะที่นึกไม่ถึง ตอนทำทุกคนก็บอกว่าตัวเองทำดีทั้งนั้น ดูดีแล้ว คำนวณดีแล้ว คนเก่งทั้งนั้น อ้าว ที่ผ่านมาทำไมมันพังแล้วพังอีก

ปกป้อง: บอกได้ไหมว่าฝรั่งไม่มาเรียนรู้จากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2540

เขาไม่ได้เรียนรู้ เขาสอนเราสมัยนั้นว่า ไม่ควรทำอย่างนี้นะ เสร็จแล้วเขาก็ไปทำของเขาในลักษณะที่ “พิสดาร” ยิ่งกว่าที่เราทำอีก แล้ว “ล้มดัง” กว่าเราอีก เพราะว่าขนาดใหญ่กว่า

เพราะฉะนั้น ในที่สุดแล้วความอยากได้กำไรมันทำลายระบบได้ง่ายมาก พอคนมันอยากได้กำไร มันก็เสี่ยงในลักษณะที่ผาดโผนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วตอนจบมันก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้

อ่านต่อ ตอนที่ 6: แบงก์ไทยปรับตัวหลังวิกฤติ 2540