ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “GC Circular Living Symposium 2020” ชวน 4 เอกชนยักษ์ใหญ่ กำหนดทิศขับเคลื่อนสังคม

“GC Circular Living Symposium 2020” ชวน 4 เอกชนยักษ์ใหญ่ กำหนดทิศขับเคลื่อนสังคม

15 พฤศจิกายน 2020


(จากซ้ายไปขวา) คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและกรรมการอำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย, นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีพีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

“GC Circular Living Symposium 2020” งานประชุมระดับโลก เปิดเวทีชวนผู้บริหารระดับสูงจาก 4 อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ แชร์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ภาคปฏิบัติพลิกวิกฤติทรัพยากรโลกอย่างยั่งยืน

ภายหลังปี 2015 องค์การสหประชาชาติประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) เพื่อให้ประเทศต่างๆ นําหลักการทั้ง 17 ข้อไปปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ในช่วงระยะเวลา 15 ปี จนถึงเดือนสิงหาคม 2030

ต่อมาแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (sustainability) และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) กลายเป็นหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลการทำงานของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องปฏิบัติเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม ของเสียจากกระบวนการผลิต โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน กระทั่งการให้สวัสดิการแรงงานและสิทธิมนุษยชน

ในงานประจำปี “GC Circular Living Symposium 2020” ซึ่งจัดโดยบริษัท พีพีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTT GC ได้เชิญ 4 ผู้บริหารระดับสูงมาร่วมพูดคุยภายใต้หัวข้อ “Leaders on Sustainability in Action” เพื่อแสดงจุดยืนของบริษัทและกำหนดทิศทางการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ

KBank ระงับสินเชื่อไม่ผ่านเกณฑ์สิ่งแวดล้อม

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า Circular Living และ Sustainability เป็นสองสิ่งที่ควบคู่กัน และสอดคล้องกับพันธกิจของธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการให้ความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในทุกหน่วยในธุรกิจ

“ธนาคารเองเราต้องมี banking license ขณะเดียวกันเราก็ต้องมี social license ก็คือใบอนุญาตที่จะทำให้ธนาคารของเราสามารถขับเคลื่อนและทำงานได้ภายในสังคม และต้องได้รับการ ‘ยอมรับ’ เพื่อที่จะทำธุรกิจในสังคมนี้ได้”

ดัชนีชี้วัดที่สะท้อนว่ากสิกรไทยได้ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) คือรางวัลที่องค์กรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการที่เป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่อยู่ในดัชนี Gender Equality ภายใต้ Boomberg Index, เป็นธนาคารแรกที่ได้คะแนน A- เรื่องการบริหารจัดการ Climate Change รวมถึงเป็นธนาคารแรกของประเทศไทยที่ได้อยู่ในดัชนี DJSI เป็นเวลาต่อเนื่อง 4 ปี เป็นต้น

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBank บอกว่าในมุมหนึ่งรางวัลเหล่านี้เป็นโจทย์เชิงธุรกิจ แต่สิ่งที่ได้รับคือผลพลอยได้จากการดำเนินตามหลักความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นผลตอบแทนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ลงทุนหรือกองทุนต่างๆ

“มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่จะสนใจลงทุนเฉพาะบริษัทคำนึงถึง ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เราเคยได้รับจดหมายจากนักลงทุนและกองทุนจากต่างประเทศถามว่ากสิกรไทยมีนโยบายเรื่องความยั่งยืนอย่างไร ถ้าเราไม่มี เขาจะไม่ลงทุน เพราะฉะนั้นโจทย์ของเราคือต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้ชัดเจนและต่อเนื่อง…เมื่อเราสื่อสารชัดเจน ธุรกิจก็ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”

หลักเกณฑ์ของมิติสิ่งแวดล้อมสำหรับบริษัทนามสกุลมหาชน สิ่งเหล่านี้นับเป็นเรื่องพื้นฐานที่บริษัทต้องทำตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ทั้งการคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน ธรรมชาติ และต้องระมัดระวังไม่ให้ ‘ธนาคาร’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ขัดกับหลักเกณฑ์เสียเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธนาคารกสิกรไทยคือ “เป็นต้นทางที่จะหยุดยั้งและไม่สนับสนุนธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ผ่านรูปแบบของสินเชื่อ

นางสาวขัตติยา เล่าตัวอย่าง สินเชื่อธุรกิจที่จะมีเงื่อนไขที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยทุกบริษัทจะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาเหล่านี้ ส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรงจะมีเกณฑ์มาตรฐานที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเน้นไปที่อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ อาคารและสิ่งก่อสร้าง

อีกความท้าทายของประธานเจ้าหน้าที่บริหารคือสื่อสารเรื่อง circular living และ sustainability ให้ถึงพนักงานทุกระดับ เพื่อให้ทุกคนไปขับเคลื่อนร่วมกัน

“การผลักดันเรื่องนี้เป็น journey ไม่สามารถสื่อสารครั้งเดียว ทำครั้งเดียวและหวังว่ามันจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง สิ่งที่ต้องทำคือตอกย้ำและปฏิบัติต่อเนื่อง ติดตามและวัดผล และเราต้องเข้าใจว่าการผลักดันให้เกิด sustainability มันจะเป็น short term pain คือผลตอบแทนไม่ได้มาเร็ว แต่มันจะยั่งยืน เรากำลังอยู่บนทางของ short term pain (การเสียประโยชน์ในระยะสั้น) กับ long term gain (การได้ประโยชน์ในระยะยาว)”

“ถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือนักลงทุนเข้าใจเรื่องนี้ คนจะมาร่วมทางกับเรามากขึ้น พอเข้าใจมันจะลดแรงกดดันในเชิง short term pain แต่ทุกคนจะมองทิศทาง long germ gain บทบาทนี้สำคัญมากเพราะจะมีผลกระทบต่อประเทศและสังคม”

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป พลิกซัพพลายเชนอุตสาหกรรมประมง

“ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป” ดำเนินธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งเป็นอีกธุรกิจที่ถูกตั้งคำถามกับเรื่องความยั่งยืน เนื่องจากประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและการใช้แรงงานประมง จนกระทั่ง circular living และ sustainability เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ นี่จึงเป็นความท้าทายของบริษัทอาหารทะเล

“ในอดีตเราเคยได้ยินว่าเรือประมงต่างๆ ใช้อุปกรณ์ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมาย เรือหลายๆ ลำไม่มีใบอนุญาต การปฏิบัติงานไม่มีความปลอดภัย ลูกเรือที่ออกไปกลางทะเลก็ไม่สามารถติดต่อเข้ามาชายฝั่งได้ ความปลอดภัยในชีวิตก็ไม่มี เคยได้ยินว่าถ้าไม่พอใจก็ฆ่าลูกเรือแล้วเตะตกเรือ ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในอดีต”

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงปัญหาในอดีตของธุรกิจประมง และยอมรับว่า คนทั่วไปมักจะคิดว่าธุรกิจทูน่าไม่ยั่งยืน เพราะการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ และใช้แรงงานทั้งไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปปรับวิสัยทัศน์ใหม่ราว 6 ปีก่อน และตั้งเป้าเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดในอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก ภายใต้โจทย์ว่า…“ทำอย่างไรให้เกิดความมั่นใจว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้จะเกิดความยั่งยืนและมีความอุดมสมบูรณ์ต่อไปให้กับลูกหลานในอนาคต”

นายธีรพงศ์ บอกว่า…

“เรื่อง circular living และ sustainability เป็นเหมือนใบอนุญาตกิจการที่จะทำให้เราอยู่รอด อย่างที่เคยได้ยินว่าประเทศไทยได้รับการโจมตีจากต่างประเทศเรื่องการใช้แรงงานและประมงไม่ถูกกฎหมาย ในช่วงเวลา 5 ถึง 6 ปีที่ผ่านมา ผมใช้เวลาเรียนรู้เรื่องนี้ และทำงานกับเอ็นจีโอระดับโลกเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและการปฏิบัติ”

ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปจึงเข้าไปแก้ปัญหาสวัสดิภาพของแรงงาน ด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีบนเรือประมง โดยตรวจสอบการทำงานผ่านกล้องวงจรปิด ติดสัญญาณจีพีเอสเพื่อดูว่าเรือได้ทำประมงในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ชาวประมงสามารถติดต่อสื่อสารกลับมาถึงคนบนฝั่งได้

ประเด็นถัดมาคือการโน้มน้าวซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้มีความเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายธีรพงศ์กล่าวต่อว่า การดำเนินตามเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนจะต้องมีความมุ่งมั่น มีจุดยืน และแสดงความเข้มแข็งในระยะแรก ให้ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นบริษัทที่ลงมือทำจริง ถึงขนาดที่บริษัทเผยแพร่ code of conduct (จรรยาบรรณ) ให้กับคู่ค้า ให้การอบรม และตรวจสอบทุกกระบวนการทำงาน

ส่วนในแง่ของผลิตภัณฑ์ นายธีรพงศ์ให้ข้อมูลว่าบริษัทคำนึงถึงเรื่อง ‘การบรรจุภัณฑ์’ และต้องการลดขยะจากกระบวนการผลิต จึงไปร่วมมือกับ GC ร่วมกันพัฒนาวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากเดิมคือ ‘กระป๋อง’ เป็น ‘พลาสติกที่ย่อยสลายได้’

ปัญหาลูกโซ่จากธุรกิจประมง-อาหารทะเล เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตามองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ในฐานะบริษัทที่ DJSI (ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์) จัดให้เป็นอุตสาหกรรมอาหารทะเลอันดับ 1 ของโลก ยิ่งต้องปรับตัวให้ซัพพลายเชนเห็นเป็นตัวอย่าง 

“ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับ Climate Change และ ocean plastic (ขยะพลาสติกในทะเล) ในต่างประเทศไม่ใช่เพียงได้รับการกดดันจากคู่ค้า แต่ยังเป็นความกดดันจากผู้บริโภคโดยเฉพาะประเทศตะวันตก ให้ความสำคัญเรื่องของกรีน สิ่งแวดล้อมต่างๆ ค่อนข้างรุนแรง จากที่เราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เลยมีกองทุนต่างๆ ตรวจสอบตลอดเวลาหากไม่เข้าเกณฑ์จะไม่ได้รับการลงทุน ดังนั้น circular living และ sustainability สำหรับเราเป็นเรื่องจำเป็นต่อการอยู่รอดด้วย”

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ไทยเบฟฯ สร้างส่วนร่วมในการรักษาต้นน้ำ-ปลายน้ำ

“พูดถึงไทยเบฟ เราวางตัวเองเป็น total beverage company (บริษัทเครื่องดื่มเบ็ดเสร็จ) เรามีสินค้าตั้งแต่น้ำนมถั่วเหลืองจนถึงสกอตวิสกี้ พันธกิจขององค์กรเราเป็น stable and sustainability Asian leader” (ผู้นำความมั่นคงและยั่งยืนแห่งเอเชีย)

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นประเด็นจากทิศทางและเป้าหมายบริษัทว่าไทยเบฟฯ ต้องเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอันดับ 1 ในอาเซียน

“ถ้าพูดเรื่องบรรจุภัณฑ์ การเพิ่มน้ำหนักในการขนส่งลำเลียงสินค้าจากจุดเอไปจุดบี เป็นภาระที่ทำให้เราเพิ่มคาร์บอนฯ มากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือความเอาใจใส่ หรือการทิ้งพลาสติกต่างๆ แม้กระทั่งขยะมูลฝอย เราดูทั้งกระบวนการว่าเป็นอย่างไร บางครั้งเวลาพูดถึงขวดพลาสติก เราก็มองเรื่องของการเก็บกลับมารีไซเคิล”

นายฐาปนยกตัวอย่างสิ่งที่ไทยเบฟฯ ได้ทำเพื่อความยั่งยืนคือ “โครงการรวมใจต้านภัยหนาว” ซึ่งเป็น CSR แจกผ้าห่มของไทยเบฟฯ ที่ทำต่อเนื่องทุกปี แต่ต่อมาได้เปลี่ยนกระบวนการใหม่ทั้งหมด โดยนำวัสดุประเภท PET กลับมารีไซเคิล (กระบวนการ recycled PET: rPET)

“เราร่วมกับ GC สปอนเซอร์งานวิ่งมาราธอน และเก็บขวดน้ำกลับมา ล่าสุดงานบุรีรัมย์มาราธอน เราเก็บกลับมาและเอามาเป็นชิปพลาสติกย่อยสลาย แล้วไปรีไซเคิล ขวดพลาสติก 7 ล้านขวด ได้ผ้าห่มมากกว่า 2 แสนผืน”

นอกจากนี้ยังมีโครงการเศรษฐกิจฐานรากฯ (ประชารัฐ) ที่ไทยเบฟฯ ลงพื้นที่ชุมชนและเพิ่มมูลค่าผ้าขาวม้า เพื่อใช้ทดแทนถุงผ้า

นายฐาปนมองว่า หัวใจสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนต้องเริ่มจาก ‘ตัวเอง’ ให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม-สามัญสำนึก เชื่อมโยงทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกันทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภค

“เรามองรูปแบบการมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการพันธมิตรของเราเป็น inclusive mindset (ทัศนคติร่วม) เราจะเรียนรู้จากพันธมิตรคู่ค้า และเขาเรียนรู้จากเรา ไม่ใช่เราเดินไปข้างหน้าของเราอย่างเดียว เรามองเรื่องการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต”

“ผมอยู่ในธุรกิจเครื่องดื่ม โจทย์คือทำอย่างไรให้แหล่งต้นน้ำธรรมชาติไม่เหือดแห้งหายไป เราก็มีโครงการต่างๆ ไม่ว่าสนับสนุนโครงการปลูกป่า ใช้น้ำอย่างประหยัด มีการนำกลับมารีไซเคิล มีเรื่องราวมากมาย และเราพยายามทำอย่างดีที่สุด”

“ถ้าผมเปรียบเทียบว่าเราเดินเข้าไปห้องสมุดแล้วหยิบหนังสือมาอ่าน เราก็ต้องเอาหนังสือเล่มนั้นกลับไปเก็บในที่เดิม ก็เหมือนเราใช้ทรัพยากรต่างๆ สิ่งที่สำคัญคือเริ่มจากตัวเราเอง circular living start with you”

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีพีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

PTT GC สร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมผ่านการมีส่วนร่วม

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีพีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า PTTGC เป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ภายใต้สโลแกน “Chemistry for Better Living” ในความหมายว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น กับอีกความหมายคือเคมีภัณฑ์ต้องสร้างความสมดุลให้ทั้งสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือสังคม

ดร.คงกระพันกล่าวต่อว่า กลยุทธ์ของบริษัทแบ่งเป็น 3 ด้าน เรื่องแรกเป็นความสามารถในการแข่งขัน สองคือการขยายธุรกิจ และกลยุทธ์ที่สามคือความยั่งยืน

ตัวอย่างเช่นประเด็น Climate Change และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก GC ได้นำความคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในทุกภาคธุรกิจ หรือประเด็นพลาสติกที่มองว่าลำพังเพียงการแบนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด

ดร.คงกระพันมองว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องมี total solution for everyone (ทางแก้ปัญหาร่วมกันสำหรับทุกคน) ใช้นวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหา

“ถ้าเราอยากใช้ชีวิตปกติก็ใช้พลาสติก แต่ขอให้มีความตระหนักรู้ รู้จักทิ้ง รีไซเคิล แต่ถ้าเรารักโลกมากๆ ก็ไปใช้ไบโอพลาสติก มันย่อยสลายได้ ใช้แล้วทิ้งเป็นปุ๋ย”

ดร.คงกระพันกล่าวต่อว่า GC ได้พยายามมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเก็บ โลจิสติกส์ และการจัดการ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งทำเรื่องความยั่งยืนได้เพียงลำพัง

“เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาให้ครบวงจร ทุกภาคส่วน และมันต้องมีผู้มีส่วนร่วมช่วยให้คนที่มีกำลังน้อยกว่า และช่วยคนที่ไม่ได้ตระหนักมากพอมาช่วยกันทำให้เกิดผล”

ทั้งหมดจะสอดคล้องกับเป้าหมายของ GC ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก GHG) จากกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี 2030 และลดความเข้มข้นของการปล่อย GHG ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 52% ภายในปี 2050 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน