“บรรยง พงษ์พานิช” บรรยายพิเศษในงาน “ครบรอบ 3 ปี สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ในหัวข้อ “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า การเมือง เศรษฐกิจไทย” โดยเริ่มเล่าว่าวันที่เปิดตัว”ไทยพับลิก้า” ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่เขียนบทความเกี่ยวกับคอร์รัปชัน และจากบทความนั่นทำให้ติดลมมาถึงวันนี้ มีบทความในไทยพับลิก้ากว่า 110 ชิ้น กลายเป็นนักเขียนคอลัมน์ประจำไป
จริงๆ หัวข้อที่พูดในวันนี้ เป็นเรื่องที่เขียนบทความค้างไว้ เกี่ยวกับเรื่องของการมองย้อนหลังไป 60 ปี ก็เลยเขียนบทความ “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า การเมือง สังคม เศรษฐกิจของประเทศไทย” ว่าใน 60 ปีที่ผ่านมาเรามีวิวัฒนาการอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของคนแก่เล่าเรื่องเก่า ก็หวังว่าบริบทที่มันเปลี่ยนแปลงแล้วเรามานั่งสังเกต แล้วจับมันมาร้อยเรียงกัน มันจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างสำหรับการที่จะได้บทเรียนหรือการที่จะนำไปใช้ในอนาคต
เหลียวหลังการเมือง เศรษฐกิจ ตลาดการเงิน 60 ปีไปแล้ว ส่วนแลไปข้างหน้า ไม่มีการพยากรณ์ใดๆ เพียงแต่หยิบประเด็นที่คิดว่าจะส่งผลมากกับการพัฒนาประเทศกับภาวะของประเทศจะเป็นตัวชี้ว่าเราจะสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้มากน้อยขนาดไหน
ประเด็นแรก คำว่า ขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ คือประเทศไทยนี่ ถ้าดูเผินๆ เราบอกว่าเราเป็นประเทศที่อยู่ในระบบเสรีนิยม เขียนในรัฐธรรมนูญเลยด้วยซ้ำ ดูเผินๆ เราไปกับโลก แต่ขณะที่ทั้งโลกเขาลดขนาด บทบาท และอำนาจ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราเพิ่มขนาด บทบาท และอำนาจรัฐตลอดมา ซึ่งเป็นประเด็นที่คนไม่ค่อยจะสังเกต
และตัวนี้แหละครับผมก็จะบอกเลยว่าเป็นตัวที่ทำให้ประเทศติดกับดัก
เรื่องงบประมาณแผ่นดิน เรามีงบประมาณแผ่นดินอยู่ร้อยละ 22 ต่ำด้วยซ้ำถ้าเทียบกับประเทศที่เขามีรัฐสวัสดิการสูงๆ แต่อย่าลืมว่าของเรามันไม่มีรัฐสวัสดิการ งบทั้งหมดมันเป็นงบที่เอาไปใช้จ่าย ซึ่งก็ต้องถือว่าไม่สูงก็จริง แต่ก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17-18 เป็นร้อยละ 23 แต่ตัวที่เพิ่มมากคือรัฐวิสาหกิจกับสถาบันการเงินของรัฐ
รัฐวิสาหกิจในปี ค.ศ. 1998 หรือหลังวิกฤติ พ.ศ. 2541 ขนาดค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเทียบกับจีดีพี ไม่ได้เป็นส่วนของจีดีพี เขาเทียบกับจีดีพีในปีนั้น อยู่ที่ร้อยละ 17-18 ของจีดีพี วันนี้ร้อยละ 42 ของจีดีพี ค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งรวมกัน ค่าใช้จ่ายปีที่แล้ว 4.6 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณรัฐบาลเกือบเท่าตัว โดยจำนวน 49 แห่ง ไม่รวมสถาบันการเงิน 7 แห่ง มีงบลงทุน 5 แสนล้านบาท มีขนาดของทรัพย์สินรัฐวิสาหกิจ 5 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องถือว่าทรัพย์สินที่รัฐดำเนินการอยู่ ธุรกิจที่รัฐดำเนินการอยู่ รัฐควบคุมอำนาจอยู่ มีขนาดใหญ่มากในระบบเศรษฐกิจนี้
ผมจะพูดเสมอว่ามันเป็นที่พิสูจน์แล้วในโลกนี้ว่ารัฐที่แสนดีแสนเก่งนั้นไม่มี ระบบคอมมิวนิสต์เขาถึงเลิกไง เพราะว่ารัฐแสนดีแสนเก่งไม่มี มีแต่รัฐห่วยและรัฐชั่ว ผมไม่ได้ว่ารัฐไทยนะครับ นี่พูดถึงทั้งโลกเลย ถ้าให้รัฐทำเมื่อไร เขาบอกว่ากิจการอะไรก็ตามให้รัฐทำจะเกิด 3 อย่าง คือ ของคุณภาพไม่ดี ต้นทุนสูง และปริมาณไม่เพียงพอ ที่บอกต้นทุนสูงไม่ได้บอกราคาสูง เพราะบางทีมีการอุดหนุนราคา (subsidize) แล้วอาจจะขายถูกแต่ต้นทุนจริงสูง ซึ่งมันต้องไปอยู่ที่ไหนสักแห่ง
ผมมีตัวเปรียบเทียบให้ดู นี่กำลังพูดเรื่องรัฐวิสาหกิจ ไม่ค่อยถูกมารยาทสักเท่าไหร่ นี่เป็นตัวเลขไม่ได้บอกแผนหรือนโยบายของคณะกรรมการดูแลรัฐนะ
รัฐวิสาหกิจไทยที่แข่งขันกับเอกชนโดยไม่ได้สิทธิครอบงำตลาดมีทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย 2 แห่งที่ดูพอใช้ได้ แห่งที่ 1 คือ ธนาคารกรุงไทย แต่มันก็มีเหตุผลหลายๆ อย่างว่าทำไมธนาคารกรุงไทยถึงอยู่ในระดับไม่ดีเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ ด้อยกว่าเขาหน่อยแต่ก็ถือว่าใช้ได้ มีกำไร มีคุณภาพทรัพย์สินที่ค่อนข้างจะดี แต่อย่างไรก็ดี ก็แข่งกับกิจกรรมผู้ขายน้อยรายด้วยกันในประเทศ
แห่งที่ 2 ที่ดูเหมือนดีแต่คนก็จะโจมตีกันทุกวัน ก็คือ ปตท. แต่ ปตท. ก็มีสิทธิพิเศษบางเรื่อง เช่น เรื่องท่อแก๊ส เรื่องโรงแยกแก๊ส เรื่องการได้สิทธิที่จะซื้อแก๊สธรรมชาติในส่วนที่เป็นวัตถุของปิโตรเคมีในราคาที่ค่อนข้างจะต่ำ แต่อย่างอื่นก็ต้องแข่งกับเอกชน แต่ก็ถือว่าไปได้ดีเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับ
อีก 4 แห่งคือ การบินไทย องค์การโทรศัพท์ (ทีโอที) กสท. และ อสมท. พวกนี้จะไม่มีสิทธิพิเศษแล้ว
การบินไทยเคยได้สิทธิพิเศษเส้นทางการบิน แต่สิทธินั้นหายไปแล้วเพราะว่าประเทศเราเปิดเสรีการบินในขั้นที่ 5 เรียกว่า Fifth Freedom ก็ทำให้สิทธินี้หาย หัวทิ่มเลย ก็ต้องแข่งกับเอมิเรตและอื่นๆ ซึ่งบังเอิญคนที่แข่งด้วยเขาเก่งที่สุดโลกทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเอมิเรต สิงคโปร์ การ์ตา คาเธ่ย์แปซิฟิค ก็ทำให้เห็นอาการ
ทีโอที ชัดเจนมาก ทีโอทีขาดทุน 14,000 ล้านบาทต่อปี แล้วทีโอทีก็แข่งกับเอกชนซึ่งมีอยู่ 3 เจ้า ซึ่งกำไรกันเยอะมาก ก็ไม่รู้ว่าทำไมทั้งๆ ที่ต้องจ่ายค่าหัวคิว แบ่งส่วนแบ่งรายได้ แล้วทีโอที กสท. ไม่ต้องแบ่งแล้วทำไมขาดทุนมาก อันนี้ไม่ใช่ผมพูด ผมอ่านงานวิจัย เขาบอกว่าเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพต่อหัวพนักงานต่ำที่สุดในโลก มีพนักงาน 22,000 คน ขณะที่บริษัทเอไอเอสมี 9,000 คน แต่มีรายได้ 6 เท่าของทีโอที เพราะเฉพาะผลิตภาพต่อหัวก็ต่างกัน 15 เท่า คนเรามันจะเก่งกว่ากัน 15 เท่าได้ไง ก็เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ ขอทิ้งไว้แค่นั้น
เพราะฉะนั้น การกำหนดขนาด บทบาท และอำนาจรัฐเป็นเรื่องสำคัญ
บทบาทก็คือเข้าไปยุ่งทุกเรื่อง ไปทำเรื่องที่ไม่ควรทำ แล้วทำให้ทรัพยากรซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศ ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
แปลกมากเลยครับ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นคำหยาบในประเทศนี้ จริงๆ คนที่ไม่ชอบการแปรรูปโดยทฤษฎีมีอยู่ 4 พวก คือ 1. นักการเมือง เพราะนักการเมืองบริหาร 4.6 ล้านล้านบาท ลงทุนปีละ 5 แสนล้านบาท ใครจะไม่อยากทำ
2. ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็ไม่ชอบแปรรูป เพราะการบริหารกิจการที่เป็นตลาดผูกขาดมันง่าย คือบริหารยังไงก็ได้ ยังไงก็กำไรเพราะมันได้สิทธิพิเศษอะไรเยอะแยะ
3. พนักงานสบาย พนักงานรัฐวิสาหกิจสบายมาก
4. คู่ค้า คือซัพพลายเออร์ที่ไหนก็ตาม ถ้าคุณสามารถจ่ายเงินได้เพื่อได้ธุรกิจ นักธุรกิจยัดเงินเพื่อซื้อความได้เปรียบ พอเขาได้เปรียบเขาจะมีกำไรส่วนเกิน เขาจะจ่ายเงินก็ต่อเมื่อจำนวนเงินที่จ่ายนั้นน้อยกว่ากำไรส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการล็อกสเปกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่มีการแข่งขัน เพราะฉะนั้นที่เหลือแต่ตัวก็ยังมากกว่า
เพราะฉะนั้น จริงๆ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะถูกต่อต้านจากคน 4 กลุ่ม คือ นักการเมือง ผู้บริหาร พนักงานที่ไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ พนักงานที่ดีจริงๆ เขาจะดีขึ้น แต่บังเอิญไม่ค่อยเหลือ ขอโทษครับเดี๋ยวจะไปก้าวล่วงที่ดีก็มีแต่พนักงานที่สบายๆ ก็ไม่ชอบ แล้วก็พวกคู่ค้าก็ไม่ชอบ
ที่ผมแปลกใจมากคือ ภาคประชาสังคมทั้งหลายไปเข้าทางเขาได้ยังไง ไปต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้ยังไง ไม่เข้าใจจริงๆ ว่างๆ คงต้องขอเข้าไปถกชี้แจงกันหน่อย
อันนั้นประเด็นว่ารัฐจะเอายังไง บทบาทที่รัฐมากขึ้นชัดเจนที่สุดคือจำนำข้าว ชัดเจนมากเลย คือตลาดมีอยู่ดีๆ ถ้าคุณจะเอาเงินไปอุดหนุน คุณต้องผ่านกระบวนการที่คุณไม่ต้องไปทำอะไร ใส่เงินเข้าไป ใส่แต่เงินเข้าไปในระบบ แต่นี่ไม่ยึดมาหมด กระบวนการซื้อ จัดเก็บ จัดขาย นั่นคือรัฐเข้าไปยุ่งแล้ว พอรัฐเข้าไปยุ่งก็ชัดเจนว่าพัง เพราะเรื่องนี้ ผมขอยกที่คุณอานันท์ ปันยารชุน ท่านพูดไว้ทีหนึ่งว่าท่านได้เตือนคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ต้นแล้วว่าอย่าไปทำนะ เพราะเน วิน (พม่า) เขาทำแบบนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เน วิน ก็ยึดตลาดข้าวของพม่า
ปี พ.ศ. 2506 พม่าเป็นแชมป์โลกเรื่องข้าวอยู่ ส่งออกข้าว 1.6 ล้านตัน ไทยส่งออก 1.3 เป็นรองแชมป์โลก แล้วเน วิน ก็บอกคล้ายๆ นี้คือยึดมาทำเองทั้งหมด ยึดจากเอกชนมาทำเองทั้งหมด 3 ปีเท่านั้นไทยแซง ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2510 พม่าก็ไม่เคยส่งออกถึงล้านตันอีกเลย จนกระทั่งมาเปิดประเทศกำลังทำท่าจะเกินล้าน อยู่ๆ ข้าวหาย เคยได้ยินไหมครับ ข้าวพม่าหายหมด ปลูกแล้วหายหมด ข้ามแม่น้ำมาอยู่ฝั่งไทย มาจำนำอยู่ตามโกดังต่างๆ
เรื่องที่สองคอร์รัปชัน อันนี้จะเป็นประเด็นใหญ่มากเลย คอร์รัปชันสมัยนี้มันพัฒนาการล้ำลึก อยากจะรู้ว่าล้ำลึกขนาดไหนไปหาซื้อหนังสือหางกระดิกหมาอ่านได้ หรืออ่านใน ไทยพับลิก้าก็ได้ ผมเอาสั้นๆ แล้วกันว่า ถ้าการต่อสู้กับคอร์รัปชันไม่ได้ผลประเทศก็คงหายนะ ซึ่งเรื่องนี้ผมขอตั้งให้เป็น KPI ของรัฐบาลชุดนี้ เพราะท่านประกาศไม่ยอมให้ใครคอร์รัปชัน
วิธีวัดง่ายมากเลยนะครับ ใช้ Corruption Perception Index ของ Transparency International นี่แหละครับวัด ผมจะเล่าให้ฟัง เมื่อ 5 ปีที่แล้วเราอยู่อันดับที่ 62 เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราอยู่ที่อันดับ 80 ปีที่แล้วเราอยู่อันดับ 102 ซึ่งอันดับมากแปลว่าเลว
เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีประเทศที่แซงเราไป 40 ประเทศ ผมจะกล่าวถึงบางประเทศที่แซงเราไป เช่น จีน เดี๋ยวนี้อยู่อันดับ 60 กว่า ดีกว่าเราแล้ว เพราะเราอยู่ 102 แต่จีนเขาดีกว่าเราแล้ว ต้นตำรับคอร์รัปชัน เขาแทรกเราไปหมดแล้ว
อินเดีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่คอร์รัปชันสูง ยาวนาน แต่ภาคเอกชนและประชาชนเขาลุกขึ้นมา ตอนนี้อินเดียเขาดีกว่าเราแล้ว
ที่น่าเจ็บใจที่สุดคือฟิลิปปินส์ 5 ปีที่แล้วเขาอยู่อันดับ 127 แล้วที่ขึ้นไปอยู่อันดับ 92
เพราะฉะนั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ต้องเบรกมาอยู่ 10 อันดับ หลายคนอาจจะไปพูดว่ามันเป็นแค่ perception แต่มันเป็นมาตรวัดที่สากลเขายอมรับมาตามหลักวิชาการเชื่อถือได้ และโอกาสที่รัฐบาลนี้ทำได้คือ เขาไม่ได้วัดเงินที่โกงกินกันเพราะนับเงินไม่ได้ แต่เขาวัดตามมาตรการต่างๆ ฉะนั้นมาตรการต่างๆ ที่ต้องทยอยออกมา มาตรการแค่ “ผมจะไม่ยอมให้รัฐมนตรีคนไหนคอร์รัปชัน” มันยังไม่ใช่มาตรการ มันต้องมีมาตรการต่างๆ ที่ทยอยออกมาให้สังคมเห็นและสังคมรับรู้
เรื่องที่สามความเหลื่อมล้ำ มิติความเหลื่อมล้ำนี่ก็พูดกันมาก หลายๆ คนก็คิดว่าความเหลื่อมล้ำเราไม่ได้แย่ลง ผมก็หวังว่าจะมีการวิเคราะห์วิจัย แต่ว่าความเหลื่อมล้ำมาปนกับเรื่องของการกลายเป็นเมือง (urbanization) คือเมื่อก่อนมันเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท แต่วันนี้ความเหลื่อมล้ำมาเหลื่อมล้ำกันในเมือง
ซึ่งมิติอันนี้มีมิติ คือเวลาคุณอยู่ชนบท โดยเฉพาะชนบทของเราที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อย่างที่ 1 คือไม่มีอดตาย อย่างที่ 2 คือลักษณะสังคมที่ยังมีความเกื้อหนุนกันอยู่ เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำจะไม่ส่งผลไปสู่ความแตกแยกรุนแรง แต่พอความเหลื่อมล้ำมันย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองโดยผ่านกระบวนการ urbanization
มีงานวิจัยเกี่ยวกับเกษตรอีกว่าคนรุ่นใหม่ไม่ทำเกษตรแล้ว อายุเฉลี่ยเกษตรกรเพิ่มจาก 45 ปี เป็น 52 ปี ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำเข้ามาอยู่ในเมือง ขณะนี้มีงานวิจัยเยอะแยะเลยว่าแรงเสียดทานหรือแรงที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกก็จะมากขึ้น
และสุดท้ายการเปิดเสรีและเออีซี พูดกันมากแล้วผมคงไม่ลงรายละเอียดมากนัก รู้สึกจะพูดเกินเวลาด้วยซ้ำ ก็ไม่มีอะไรเลยครับวันนี้ก็มานั่งเล่าประวัติให้ฟัง ให้เห็นบริบท ความเปลี่ยนแปลงของประเทศ ของโลก ของตลาดการเงิน ของระบบเศรษฐกิจไทยตลอด 60 ปี เท่ากับอายุผม ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่อุตส่าห์นั่งฟัง
อ่านตอนที่ 1 เหลียวหลัง 60 ปีการเมืองไทย