ThaiPublica > คอลัมน์ > ความล่าช้า กับ ต้นทุนการปราบปรามคอร์รัปชัน

ความล่าช้า กับ ต้นทุนการปราบปรามคอร์รัปชัน

16 ตุลาคม 2013


Hesse004

มีคนเคยกล่าวทีเล่นทีจริงว่า “คอร์รัปชัน” เปรียบเสมือน “ผี” เราจะรู้ว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ ก็ต่อเมื่อเราต้องเจอกับมันด้วยตัวเองหรือพิสูจน์ได้ด้วยตาของเราเอง

ทุกวันนี้ เหตุที่เราเชื่อกันว่าคอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งมาจาก “ผลกระทบ” ที่เราได้รับจากการคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่แต่ละปีเราต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก แต่เพราะเหตุใดบริการสาธารณะที่ได้รับกลับคืนมาจึงไม่ดีอย่างที่คิด

อย่างไรก็แล้วแต่ ในทางกฎหมายแล้ว กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันของบ้านเราและประมวลกฎหมายอาญาอธิบายคำว่า “ทุจริต” ไว้อย่างเคร่งครัดมากๆ และการที่ผู้ใดจะกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งว่ากระทำการทุจริตหรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบนั้น ผู้กล่าวหาจะต้องมีประจักษ์พยานหลักฐานทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล ตลอดจนข้อกล่าวหาที่ชัดแจ้ง เพื่อแสดงให้กระบวนการยุติธรรมเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นกระทำการทุจริตจริง

ปัจจุบันวงการคอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา (Corruption Studies) ให้ความสำคัญกับการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือนักธุรกิจที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน เช่น ถูกรีดไถ ต้องจ่ายใต้โต๊ะ หรือถูกเรียกรับสินบน

แน่นอนว่าทัศนคติหรือการรับรู้ (perception) ดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานได้ในกระบวนการลงโทษหรือปราบปรามการคอร์รัปชัน เป็นเพียงแต่การสะท้อนภาพสถานการณ์การคอร์รัปชันในสังคม

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามน่าคิดต่อไปว่า แล้วหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันจะรู้ได้อย่างไรว่ามีเรื่องคอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว

โดยทั่วไป คดีความด้านคอร์รัปชันมักมีที่มาจาก 3 แหล่งหลักๆ ได้แก่

หนึ่ง ที่มาจากเรื่องร้องเรียน (complaint)

โดยผู้ร้องเรียนอาจเป็นผู้เสียหายหรือมีมีส่วนได้ส่วนเสียจากการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำการ “เป่านกหวีด” (whistle-blowing) ร้องเรียนเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือมีพฤติการณ์คอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น ผู้แจ้งเบาะแสจึงมีต้นทุนในการร้องเรียนอยู่เสมอ ตั้งแต่ต้นทุนในการแสวงหาข้อมูลประจักษ์พยานหลักฐานเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชัน “เชื่อได้ว่า” เรื่องดังกล่าวอาจมีมูลและจะเข้าทำการแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป

สอง ที่มาจากสื่อมวลชน

ในปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่า “สื่อมวลชน” มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะสื่อคือผู้เปิดโปงพฤติกรรมความผิดปกติต่างๆ เช่น ความผิดปกติในการดำเนินโครงการของรัฐตั้งแต่กระบวนการเสนอโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันต้องเข้ามา “เขี่ยลูกต่อ” ด้วยการแสวงหาข้อมูลพยานหลักฐานเพิ่มเติมและปรับข้อเท็จจริงที่สื่ออุตส่าห์ “ชง” มาให้แล้ว เพื่อให้ตรงกับความผิดที่เกิดขึ้นตามข้อกฎหมาย ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

สาม ที่มาจากหน่วยงานตรวจสอบ

น่าสนใจว่า หน่วยงานตรวจสอบ (audit agencies) ทั้งหน่วยตรวจสอบภายใน (internal audit) และตรวจสอบภายนอกอย่างองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน(Supreme Audit Institution) ดูจะเป็นหน่วยงานแรกด้วยซ้ำที่สามารถเข้าถึงเรื่องคอร์รัปชันได้ใกล้ชิดที่สุด ตั้งแต่การคอร์รัปชันทางบัญชี เช่น ทุจริตเงินขาดบัญชี คอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ล็อกสเปกผู้รับจ้าง ฮั้วประมูล ตรวจรับงานเบิกจ่ายเงินเป็นเท็จ หรือแม้แต่เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

หน่วยงานตรวจสอบมีความสำคัญในฐานะผู้รวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด โดยต้องชี้ให้เห็นพฤติการณ์ที่น่าเชื่อได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่การคอร์รัปชัน

ทั้งนี้ หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จะต้อง “รับลูก” ต่อ เพื่อนำไปสู่การชี้มูลความผิดต่อไป

ดังนั้น หากหน่วยงานตรวจสอบมีความเข้มแข็งในการรวบรวมพยานหลักฐานและมีการตั้งประเด็นความผิดไว้ชัดเจนย่อมช่วยแบ่งเบาภาระงานให้กับหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันอย่าง ป.ป.ช. ได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นหลักการทั่วไปในการบริหารงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเมื่อใดที่ขึ้นชื่อว่า “บริหาร” แล้ว เมื่อนั้นต้องมี “ต้นทุน” ด้วยกันทั้งสิ้น

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เคยศึกษาหรือวิจัยอย่างจริงจังเสียทีว่า ต้นทุนในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่สังคมไทยต้องจ่ายไปในแต่ละปีนั้นเราต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วเท่าไร ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด สามารถลดปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยได้จริงหรือไม่ และรัฐบาลควรจะจัดสรรงบประมาณเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชันมากที่สุด

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลสถิติปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของ ป.ป.ช. พบว่า มีตัวอย่างที่ทั้ง “น่าสนใจ” และ “น่าตกใจ” ถึงสถานการณ์ปราบปรามการคอร์รัปชันในปัจจุบัน

ข้อร้องเรียนป.ป.ช.

เพราะ ณ ปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาที่อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ถึง 1,509 รายการ! ขณะที่จำนวนข้าราชการ ป.ป.ช. มีเพียงไม่กี่พันคน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเพียง 8 คน 1

และที่น่าสนใจยิ่งไปกว่า คือ เรื่องร้องเรียนที่ยังค้างอยู่ใน ป.ป.ช. นานที่สุด คือ เรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2541 !!! ซึ่งร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจรับเครื่องคอมพิวเตอร์มูลค่า 1,000 ล้านบาท ของกรมอุตุฯ โดยข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. (www.nacc.go.th ) พบว่า สถานะล่าสุดของเรื่องอยู่ระหว่างเสนอสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาลงนาม ซึ่งยังไม่เข้าสู่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ด้วยซ้ำ2

น่าคิดเหมือนกันว่า เพราะเหตุใดระยะเวลาที่ล่วงผ่านมา 15 ปีร่วมจะ 16 ปีแล้ว เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการชี้มูลเสียทีเดียวว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่ อย่างไร

เพราะหากไม่มีความผิด ก็นับเป็นเรื่องน่าเห็นใจผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องคอยแก้ต่างให้ตัวเองตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ป.ป.ช. รับเรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน ความล่าช้าในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการ “ส่งสัญญาณ” กลายๆ ให้กับคนที่คิดจะโกงอยู่แล้วสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น เพราะหากกระบวนการปราบปรามคอร์รัปชันในบ้านเรายังมีอยู่ในสถานะ “ลั้ลลา” เช่นนี้แล้ว โอกาสที่จะถูกลงโทษย่อมมีความน่าจะเป็นน้อยเต็มที

ด้วยเหตุนี้ “ความล่าช้า” จึงเป็นต้นทุนสำคัญของการปราบปรามคอร์รัปชัน แม้ว่าเหตุผลของความล่าช้าอาจมาจาก “เทคนิคทางกฎหมาย” หรือ เพื่อความรอบคอบในการรวบรวมพยานหลักฐานก็ตามที

นอกจากนี้ความล่าช้ายังทำให้ต้นทุนปราบปรามคอร์รัปชันนั้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมันกลับไป “ลดต้นทุน” ของคนจะคอร์รัปชันให้สามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น เพราะกว่ากระบวนการยุติธรรมจะ “ส่งมาถึง” ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็สร้างความพึงพอใจให้กับคนโกงเหล่านั้นไปเรียบร้อยแล้ว

เข้าทำนอง “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้”

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่าการทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับล่าสุด (2557-2561) ได้มีการพูดถึงต้นทุนในการปราบปรามคอร์รัปชันนี้ด้วยหรือไม่ เพราะหากไม่หยิบเรื่องนี้มาพูดกันแล้ว ดูเหมือนว่าต้นทุนปราบปรามการคอร์รัปชันในสังคมไทยก็คงยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปจนทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามขึ้นมาว่า

…ปราบโกงกันเท่าไหร่ ทำไมยังไม่หมดกันเสียที!

หมายเหตุ:

1 รายงานผลงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ช่วงระหว่าง ต.ค. 2552-มิ.ย.2553 กล่าวถึงข้อจำกัดของการทำงานปราบปรามทุจริตไว้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. 1 คนต้องรับผิดชอบงานคดีถึง 50 คดีต่อปี นับว่าสูงกว่ามาตรฐานที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งควรจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ประมาณ 8-10 คดีต่อปี

2ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูสถานะล่าสุดและรายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวได้ทาง http://www.nacc.go.th