ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศูนย์รักษาความสงบใช้งบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน 2 เดือน 2,747 ล้าน สำนักงานตำรวจฯ เยอะสุดเกือบ 2 พันล้าน

ศูนย์รักษาความสงบใช้งบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน 2 เดือน 2,747 ล้าน สำนักงานตำรวจฯ เยอะสุดเกือบ 2 พันล้าน

19 พฤษภาคม 2014


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก  Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)https://www.facebook.com/suthep.fb?fref=ts
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)https://www.facebook.com/suthep.fb?fref=ts

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นางสาวประพีร์ อังกินันทน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 เรื่องการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) เป็นหน่วยงานพิเศษ ตามมาตรา 7 วรรค 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ติดตามภารกิจของ ศรส. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารทรัพย์สิน พบข้อมูลว่า

1) วันที่ 21 มกราคม 2557 มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2557

2) วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือด่วนสุด เรื่องขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จากงบกลาง เป็นค่าใช้จ่ายของ ศรส. ในการรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุม ระหว่างวันที่ 22 มกราคมถึง 22 มีนาคม 2557 รวมเป็นเงิน 2,747.12 ล้านบาท เพื่อให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบภารกิจของ ศรส. มีงบประมาณไว้ใช้จ่าย

3) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 สำนักงบประมาณมีหนังสือด่วนสุด ขอใช้งบกลางของงบประมาณปี 2557 เพื่อเป็นรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของ 10 หน่วย ตามวงเงิน 2,747.12 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว อนุมัติให้ 2,309.12 ล้านบาทโดยมีรายละเอียดดังนี้ (ดูตารางประกอบ)

ค่าใช้จ่ายศรส.

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยที่ขอรับเงินงบประมาณสนับสนุนมากสุด 1,978.93 ล้านบาท พบว่า ค่าใช้จ่ายระหว่างวันที่ 22 มกราคม ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2557 ประกอบด้วย

1) ค่าใช้จ่ายด้านกำลังพลของตำรวจ 1,444 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าตอบแทนคนละ 400 บาท และค่าอาหารคนละ 300 บาท เมื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายด้านกำลังพล 60 วัน เฉลี่ยวันละ 24 ล้านบาท

2) ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ 303.20 ล้านบาท
-เครื่องแบบสนาม 59.02 ล้านบาท ได้แก่ ชุดเครื่องแบบสนามสำหรับ 224 กองร้อย จำนวน 34,720 ชุดๆละ 1,700 บาท
-วัสดุอุปกรณืสำนักงาน 43.72 ล้านบาท ได้แก่ กระดานไวท์บอร์ด กระดาษเขียนข่าว โต๊ะอเนกประสงค์ หมึกพิมพ์ เครื่องเขียนต่างๆ
-ค่าจ้างเหมาบริการ 36 ล้านบาท ได้แก่ ค่าขนย้ายและติดตั้งลวดหนาม เต้นท์ แท่งปูน ไฟฟ้า ที่พัก รถสุขา พลาสติกฯ
-อุปกรณ์ไฟฟ้า งานบ้าน งานครัวและวัสดุคอมพิวเตอร์ 90 ล้านบาท ได้แก่ 1)อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นสายไฟ หลอดไฟ ปลั๊กไฟฯ 2)อุปกรณ์งานบ้านงานครัว เป็นผ้าถูกพื้น อุปกรณ์ทำความสะอาด เตียงพับ3 เตียงชาดหาด ลวด ฯ 3)วัสดุคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์รับสัญญาณ แผ่นซีดีฯ
-ค่าเช่าระบบตรวจสอบยืนยันบุคคลด้วยหน้า(Face Recognition) 14.7 ล้านบาท เป็นค่าเช่ารายเดือนๆละ 2.1 ล้านบาท รวม 7 เดือน(มีนาคม-กันยายน 2557)

3) งบลงทุน จำนวน 231.73 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสูง 3 อันดับแรกได้แก่
– หมวกกันกระสุน 208.32 ล้านบาท สำหรับ 112 กองร้อย กองร้อยละ 155 คน ใบละ 12,000 บาท
– กล้องส่องทางไกลดิจิทัล บันทึกภาพสองตา 18.2 ล้านบาท จำนวน 260 กล้อง กล้องละ 70,000 บาท สำหรับ 224 กองร้อยเพื่อบันทึกภาพระยะไกล
– ครุภัณฑ์กล้องวงจรปิดและระบบบันทึกภาพ 3.85 ล้านบาท (CCTV) แบบส่ายก้มเงยขยายภาพ พร้อมอุปกรณ์และค่าติดตั้งตามมุมสูงและจุดเสี่ยงภัย 20 ชุด ชุดละ 184,575 บาท

ค่าใช้จ่ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า ศรส. เป็นหน่วยงานพิเศษที่มีส่วนราชการเกี่ยวข้องหลายแห่งและต้องสนับสนุนเงินงบประมาณจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวน 2,747.12 บาท หรือจะมีการใช้จ่ายในภารกิจของ ศรส. ต่อไป ไม่เกิดความซ้ำซ้อนและมีเอกสารการใช้จ่ายเงินอย่างครบถ้วน จึงเห็นควรให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบกำหนดแนวทางในการจัดเก็บเอกสารการจ่ายเงินทุกประเภทให้ครบถ้วน พร้อมที่จะให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและกำหนดผู้รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้จากผลการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณ 1,978.93 ล้านบาท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความกังวลและห่วงใยต่อความซ้ำซ้อนของการใช้จ่ายเงินตามภารกิจของ ศรส. กับงบประมาณปกติ หรืองบประมาณเกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบอื่น จึงเห็นควรให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ผู้อำนวยการ ศรส. จัดให้มีระบบการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณเฉพาะในภารกิจของ ศรส. อย่างเคร่งครัด