สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบโครงการประชาสัมพันธ์ด้านพลังงานของสำนักนโยบายและพลังงาน (สนพ.) จำนวน 9 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 96,249,266 บาท พบพิรุธกระบวนการจัดจ้างไม่โปร่งใสไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดถึงการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ดำเนินงานเพียงรายเดียวเท่านั้น โดยวิธีพิเศษมี 4 โครงการที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง ส่วนอีก 5 โครงการ เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการจัดจ้างมีพฤติการณ์การกระทำความผิดลักษณะเดียวกัน คือ กระทำการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำการใด ๆที่มุ่งหมายไม่ให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส
จากผลการตรวจสอบของสตง.มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ระบุในสัญญาจัดจ้างบริษัทเพียงรายเดียวเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าบริษัทนี้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ ซึ่งข้อเท็จจริงการจัดจ้างในลักษณะที่มีวงเงินงบประมาณสูง จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติ ความสามารถของผู้เสนอราคาให้เหมาะสมกับวงเงินงบประมาณ และสนพ.สามารถดำเนินจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาได้ หากใช้วิธีประกวดราคา จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านเทคนิค และเกิดราคาเหมาะสมที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ
2. การจ้างเพิ่มเติม หรือ Repeat Order เมื่อแต่งตั้งให้มีคณะกรรมการจัดจ้างแล้ว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 24 (5) ได้กำหนดให้ คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษมีหน้าที่ต้องเจรจากับผู้รับจ้างรายเดิมตามสัญญาที่ยังไม่สิ้นระยะเวลาส่งมอบ เพื่อให้มีการจ้างตามรายละเอียดและราคาที่ต่ำกว่าหรือราคาเดิม ในข้อเท็จจริง สนพ.มีการทำสัญญาใหม่เกิดขึ้นรายละเอียดแตกต่างไปจากสัญญาเดิมมิได้แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการ ฯ ได้เจราจากับบริษัทสัญญาเดิมเพื่อขอให้มีการจ้างตามรายละเอียดและราคาที่ต่ำกว่า จึงไม่ใช่เป็นกรณีการจ้างเพิ่มเติม ( Repeat Order ) แต่เป็นการจ้างทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ โดยมีสัญญาใหม่และไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีจุดมุ่งหมายไม่ให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานรัฐเพียงรายเดียว
3. สนพ. ไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดและข้อกำหนด TOR และไม่มีระเบียบของทางราชการรองรับที่กำหนดให้เปิดซองได้เฉพาะบริษัทรายที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก เรื่องรายละเอียดแผนการดำเนินงานโดยรวมคะแนนไม่น้อยกว่า 80% โดยให้บริษัทที่เสนอราคาทั้ง 2 ราย ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดี โดยไม่มีการเปิดซองราคาของทั้งสองบริษัทว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ และได้ทำสัญญากับผู้รับจ้างรายเดิมที่เป็นคู่สัญญากับ สนพ.ในทุกโครงการ การกระทำเช่นนี้เป็นการดำเนินการที่นอกเหนือจาก TOR และเป็นการทำให้ราชการเสียประโยชน์จากการแข่งขันทางด้านราคาและไม่มีระเบียบของราชการรองรับ จึงเป็นการทุจริต
4. ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีคัดเลือก คณะกรรมการดำเนินการจ้างได้คัดเลือกและลงนามทำหนังสือเชิญบริษัทให้มายื่นข้อเสนอทั้งที่บริษัทแห่งนี้ ไม่มีคุณสมบัติที่ถูกต้องและเหมาะสม ด้วยเหตุที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษากระทรวงการคลัง จึงถือได้ว่าการมีหนังสือถึงบริษัทแห่งนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและคณะกรรมการจัดจ้างส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขั้นตอนกระบวนการจัดจ้างให้เป็นความผิดดังนี้
1.เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา
2.มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
3.เป็นการกระทำความผิดที่ไม่เปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถือเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ ดังนั้นสตง. จึงดำเนินการ ตามมาตรา 44 มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังกับผู้กระทำความผิด โดยเสนอเรื่องดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป