นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่เปิดเผยว่า เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เหตุการณ์ไล่ทุบตี จับมัดมือไพล่หลังและกักขังชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองทองคำและทองแดงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จนบาดเจ็บสาหัสหลายราย ด้วยการใช้กองกำลังอำพรางใบหน้าจำนวน 300 คน พร้อมอาวุธครบมือ ทั้งท่อนเหล็ก มีด และปืน
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 พล.ท. ปรเมษฐ์ ป้อมนาคพร้อมชายชุดดำ 16 คน ใส่เสื้อคลุมแขนยาวสีดำปักสัญลักษณ์กลางหลังเสื้อคลุมเป็นรูปม้าขาวยกสองขาหน้าคาบธนูแดงบนกากบาทเป้ายิงล้อมด้วยแถบสีแดงวงกลมสองแถบ แถบละหนึ่งส่วนสี่ของวงกลม พร้อมตัวอักษร “ทีมงาน พล.ท. ปรเมษฐ์ ป้อมนาค” เข้าไปในบ้านพักอาศัยของนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เพื่อขอนำแร่ทองแดงออกจากเขตเหมืองแร่ โดยขอใช้เส้นทางภายในหมู่บ้าน หรือการพังซุ้มประตูที่เชื่อมบ้านนาหนองบงระหว่างคุ้มใหญ่กับคุ้มน้อยออก โดยพล.ท. ปรเมษฐ์ ป้อมนาค พูดตะโกนต่อหน้าชาวบ้านที่เข้ามารายล้อมชายชุดดำหน้าบ้านนายสุรพันธ์ว่า“ผมมาขนแร่ทองแดงให้นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ ที่รับซื้อแร่จากทุ่งคำไปแล้ว” แต่ชาวบ้านได้ลุกฮือขับไล่ พล.ท. ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และพวก ออกไปจากหมู่บ้านได้ และไม่มีการขนแร่ทองแดงเกิดขึ้นในวันนั้น
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ได้ให้คนสนิทโทรศัพท์มานัดหมายนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำและทองแดงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด คนหนึ่ง เพื่อขอเจรจานำแร่ทองแดงออกจากเขตเหมืองแร่ที่บริษัททุ่งคำได้รับประทานบัตรบนภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน
“จนในที่สุดนายสมัย ภักดิ์มี ทนแรงกดดันรบเร้าไม่ไหว จึงไปพบนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ พร้อมสมาชิก อบต.เขาหลวง อีก 5 คน เมื่อสามเดือนก่อน (กุมภาพันธ์ 2557) ที่บ้านใหญ่ ซึ่งเป็นคำเรียกที่คุ้นเคยรู้จักกันดีของคนเมืองเลยถ้าพูดถึงบ้านพักอาศัยของนายธนาวุฒิ ในวันเข้าพบ นายธนาวุฒิยื่นข้อเสนอให้กับนายสมัย ภักดิ์มี และพวก ว่าตัวเขาเป็นตัวแทนจากบริษัททุ่งคำให้มาขอขนแร่ทองแดงออกจากเขตเหมืองแร่เพื่อเอาไปขาย โดยจะขนวันละเที่ยว เที่ยวละ 15 ตัน ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด แต่นายสมัย ภักดิ์มี ก็ไม่สามารถรับปากแทนชาวบ้านคนอื่นได้ โดยบอกแก่นายธนาวุฒิว่าขอนำเรื่องนี้กลับไปปรึกษาหารือชาวบ้านก่อน เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวไปเกี่ยวข้องกับซุ้มประตูทางเชื่อมบ้านนาหนองบงระหว่างคุ้มใหญ่กับคุ้มน้อย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อรถขนแร่ขนาดใหญ่เพราะโครงสร้างบางส่วนของซุ้มประตูไปสกัดขัดขวางถนนขนแร่ของบริษัทที่ตัดผ่านถนนเชื่อมหมู่บ้านกลายเป็นสี่แยกขึ้นมา รวมถึงบ้านนาหนองบงเองมีระเบียบชุมชนห้ามรถบรรทุกหนักเกิน 15 ตัน ผ่านถนนของหมู่บ้านอีกด้วย”
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ 2510 มาตรา 103 (อยู่ในหมวด 6 การซื้อแร่ การขายแร่ และการเก็บแร่) วรรคแรก ของกฎหมายแร่ ระบุว่า “อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในหมวดนี้เมื่อปรากฏว่าได้มีการฝ่าฝืนบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือมีเหตุอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน”
โดยข้อเท็จจริงในพื้นที่มีความขัดแย้งและไม่มีความสงบสุขตามมาตรา 103 ดังที่ได้กล่าวไป นอกจากความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาถึงคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 แล้ว ก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 เป็นต้นมา ชาวบ้านโดนคดีฟ้องร้องจากบริษัททุ่งคำ 7 คดี สองคดีแรกเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท บวก 10 ล้านบาททุกวันจนกว่าคดีจะสิ้นสุดหรือกำแพงจะถูกทำลายลง และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์จากการทำกำแพงครั้งที่หนึ่งเพื่อกั้นถนนไม่ให้รถบรรทุกแร่และสารเคมีในการทำเหมืองและประกอบโลหกรรมวิ่งผ่านเพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่เกิดขึ้น สองคดีที่สองเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกจากการทำซุ้มประตู (กำแพงครั้งที่สาม) ปิดกั้นถนนด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน สองคดีที่สามเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 150 ล้านบาท และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกพื้นที่สาธารณะด้วยการนำแท่งคอนกรีตทรงกลม (กำแพงครั้งที่สอง) ปิดกั้นถนนด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน และคดีสุดท้าย บริษัททุ่งคำร่วมกับ อบต.เขาหลวง ไปร้องทุกข์กล่าวโทษชาวบ้าน 22 คน ในข้อหาข่มขืนใจ บุกรุก และสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ จนปัจจุบันยังเป็นคดีความกันอยู่ทั้ง 7คดี
ด้านนายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ตอบคำถามผู้สื่อข่าว “ไทยพับลิก้า” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ในงานพิธีลงนามความร่วมมือและการประชุมเชิงปฎิบัติการ โครงการสินเชื่อเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับเหมืองทุ่งคำ จังหวัดเลย ต่อกรณีปัญหามลพิษปนเปื้อนจนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีการดูแลตามความรู้ความสามารถของสมัยนั้น และสารพิษก็อยู่เต็มไปหมด แต่วันนี้เมื่อมีปัญหาขึ้นมาไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตามรัฐบาลก็ลงไปช่วยทั้งหมด ซึ่งมาตรการมีอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่พื้นที่ก็มีปัญหาที่เกิดจากตัวของมันเอง ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งเรื่องอื่นๆ ปัญหาที่เกิดจากความต้องการของชาวบ้านที่เกินมาตรฐาน
“อย่างกรณีทุ่งคำเป็นความขัดแย้งของชาวบ้านกับเหมืองที่ชาวบ้านขัดขวางการขนแร่ออกนอกพื้นที่ ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานที่ต้องนำทรัพยากรแร่ออกมาใช้ เราก็ต้องดูว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบยังไงบ้างก็ต้องไปเยียวยา แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นอันตรายจริงๆ ก็โอเค แต่ที่ผ่านมาเราถามสาธารณสุขว่ายืนยันได้ไหมว่าอันตราย สาธารณสุขก็ยืนยันไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องชัดเจน เมื่อเราไปตรวจไปดูทั้งหมดแล้ว หากมีสารเคมีรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมเราก็แก้ไข แต่ถ้าไม่มีมันก็ต้องยอมรับว่าเหมืองไม่ก่อปัญหา แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันเราก็จะฟังเสียงของชาวบ้าน เมื่อเกิดปัญหาที่ผ่านมาเราก็หยุดการอนุญาตทั้งหมด เช่น กรณีบริษัททุ่งคำ”
นายปณิธานกล่าวว่า ที่ผ่านมาการให้สัมปทานเหมืองทองคำ รัฐได้ผลประโยชน์ประมาณร้อยละ 30 ในขณะที่น้ำมัน สัมปทานไทยแลนด์ 1, 2, 3 นั้น รัฐได้ผลประโยชน์ร้อยละ 60-80 เพราะฉะนั้นเราก็เห็นว่ามันไม่ถูกต้อง เงินส่วนที่รัฐควรจะได้ควรมากกว่านี้ ดังนั้นเราก็นำเรื่องการปรับปรุงผลประโยชน์พิเศษทั้งหมดเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อพฤศจิกายน 2556 ว่ารัฐควรจะได้ร้อยละ 40-60 เพราะฉะนั้นเงินส่วนหนึ่งต้องกลับเข้าสู่พื้นที่ และเอาเงินส่วนหนึ่งไปตั้งกองทุนสุขภาพ กองทุนรอบเหมือง กองทุนฟื้นฟู ฯลฯ เมื่อมีผู้ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบก็เอาจากส่วนนี้ไปเลยโดยไม่ต้องพิสูจน์หาสาเหตุ
“ถ้ากติกาตรงนี้ออกมาเราสามารถได้ผลประโยชน์และจัดตั้งกองทุนได้เยอะ ตอนนี้เรามีกองทุนของอุตสาหกรรม ซึ่งเราดูแล้วตั้ง 2 กองทุน คือ กองทุนสุขภาพ และกองทุนสิ่งแวดล้อม เราจะดูจากอัตราการผลิต ฉะนั้นในแต่ละปีจะมีเงินอย่างน้อย 700,000 บาท และเพิ่มมากขึ้นตามผลผลิต เงินนี้ต้องลงสู่พื้นที่ เราก็พยายามจะเพิ่มเงินตรงนี้ เพราะเวลามีปัญหาต้องใช้เงิน พอไม่มีเงินจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด ฉะนั้นเอาเงินมาก่อน เอามาไว้ในกองทุนเพื่อใช้บริหารจัดการเวลาเกิดปัญหา”
ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาเรื่องสัดส่วนการแบ่งค่าภาคหลวง นายปณิธานกล่าวว่า “การกระจายค่าภาคหลวงเกิดจากคณะกรรมการกระจายอำนาจ ปัจจุบันแบ่งให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ที่ตั้งเหมืองร้อยละ 20 ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ที่เหมืองตั้งอยู่ร้อยละ 20 อบต. ในจังหวัดร้อยละ 10 อบต. ทั่วประเทศ 10 ดังนั้นจึงกลายเป็นเบี้ยหัวแตก เราก็ประชุมกันระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กับกรมเชื้อเพลิงซึ่งเมื่อก่อนอยู่กรมเดียวกัน กรรมการกระจายอำนาจก็เชิญเราไปคุย เราบอกว่าจริงๆ แล้วรัฐควรได้ประโยชน์มากกว่านี้ อย่างแม่เมาะเราเห็นว่าที่ที่ตั้งกองดินซึ่งไม่มีแร่แล้วในที่ดินของชาวบ้านนั้น ชาวบ้านเขาไม่ได้ผลประโยชน์เลยหรือได้น้อย เราก็จะพยายามมาจัดการใหม่ในเรื่องนี้ แต่ว่าอยู่ในอำนาจของกรรมการกระจายอำนาจ”
“เราก็พยายามบอกว่า อบจ. ได้ร้อยละ 20 บางทีมันไม่แก้ปัญหาเพราะไกลพื้นที่ หรือที่กระจายไปยัง อบต. ทั่วประเทศเฉลี่ยได้แห่งละ 300-500 บาทนั้นไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเอามารวมกันก็ได้เงินก้อนเป็นแสนเป็นล้าน เราก็พยายามพูดไป ทั้งนี้เวลาคณะกรรมการกระจายอำนาจประชุมกัน ถ้าเขาไม่เชิญเรา เราก็เข้าไปไม่ได้ เราก็พยายามผลักดัน เฉพาะเงินค่าภาคหลวงที่คณะกรรมการกระจายอำนาจมีสิทธิจัดการได้ ซึ่งผมเห็นว่าต้องปรับปรุง”
ส่วนเรื่องทองคำเป็นอีกก้อนหนึ่งต่างหาก ที่เอามาตั้งกองทุนซึ่งอยู่ในมือเราแล้วสามารถให้ชาวบ้านได้ ไม่เกี่ยวกับเงินงบประมาณ เป็นผลประโยชน์พิเศษ แตกต่างจากค่าภาคหลวงคือ ค่าภาคหลวงเก็บเงินเมื่อเหมืองนำแร่ไปขาย แต่เงินผลประโยชน์พิเศษเก็บทันทีตอนได้ประทานบัตร ไม่สนใจว่าจะขายแร่หรือไม่ ซึ่งเงินนี้เป็นเงินที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหาได้เยอะ ผ่านการกลั่นกรองและเสนอครม.แล้ว
ส่วนประเด็นเรื่องการอนุมัติเหมืองใหม่ นายปณิธานกล่าวว่า “อย่างเหมืองทองคำที่ผ่านมามีไม่กี่เหมืองขอคลุมพื้นที่ไว้หมด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน ดังนั้นต่อไปเราก็จะทำใหม่ ไม่ใช่ขอก่อนได้ก่อน แต่ดูที่ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐจะได้รับ และจะให้เป็นโซน ปัจจุบันแร่ทองคำมีประมาณ 17 จังหวัด บางรายขอคลุมเป็นล้านไร่ ถามว่ามีศักยภาพที่จะทำไหม ถ้าดูแล้วทำได้ 2-3 หมื่นไร่ก็ให้ทำไป คนอื่นก็ต้องมาทำแข่งขันกัน ไม่ใช่ได้ครอบคลุมทั้งหมดแล้วให้ทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าผูกขาดประเทศไทย”
สำหรับการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนอกเหมืองของ กพร. นายปณิธานกล่าวว่า จริงๆ แล้วทุกอย่างระบุไว้หมดแล้วในอีไอเอหรืออีเอชไอเอก่อนที่จะอนุญาตประทานบัตร ซึ่งมีกติกาครบถ้วนแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ กพร. คิดเอง แต่มาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางมากำหนด
ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลาเกิดปัญหาขึ้นจริง ชาวบ้านจะฟ้องใครได้ กพร. ปัดความรับผิดชอบได้ไหม นายปณิธานกล่าวว่า “ถ้าชาวบ้านเสียหายแล้วจะฟ้อง เขาสามารถฟ้องใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท รัฐมนตรี ปลัด กระทรวงต่างๆ ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงก็ต้องดูว่าความเสียหายนั้นเกิดจากอะไร ซึ่ง กพร. ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ทั้งนี้ศาลจะพิจารณาเองว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง แล้วก็ว่ากันไปตามรูปคดี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบอยู่แล้ว”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การตรวจพิสูจน์หาสาเหตุหรือที่มาของสารที่ปนเปื้อน เป็นไปได้ไหมที่จะไม่ให้ผู้ก่อมลพิษจ้างคนมาตรวจ นายปณิธานกล่าวว่า “ที่ผ่านมาเราบอกให้ชาวบ้านไปหาคนมาตรวจทุกครั้ง ในการตรวจก็จะมี กพร. ตรวจ บริษัทตรวจ และชาวบ้านจะเอาใครมาตรวจก็เลือกมา แล้วมาบอกเรา เพราะมีเงินอยู่แล้ว ถ้ารัฐไม่ออกให้บางครั้งก็เป็นเงินจากเหมือง เพราะการตรวจอยู่ในเงื่อนไขอยู่แล้ว แต่จะหาใครมาตรวจเราให้ชาวบ้านเลือกมา”
นายปณิธานกล่าวว่า แม้กระทั่งที่วังสะพุง จ.เลย เราก็ให้ชาวบ้านเสนอมา ซึ่งชาวบ้านก็เสนอมา 2-3 คนแต่ยังสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราพร้อมที่จะให้ทุกคนมาตรวจ เพราะถ้าเราตรวจเอง เลือกมหาวิทยาลัยมาตรวจ หรือให้บริษัทไปตรวจ ชาวบ้านก็จะไม่สบายใจ ซึ่งเรื่องนี้เราพร้อมหมด
เรื่องงบประมาณก็เป็นของรัฐ หรือถ้าเยอะมากก็อาจประสานกับทางเหมือง เพราะบางครั้งถ้าค่าใช้จ่ายสูงแล้วรัฐไม่มีงบ เงินที่เหมืองต้องตรวจเองอยู่แล้วก็มาใช้จ่ายกับที่ชาวบ้านหาคนมาตรวจ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปัญหา แต่ ณ วันนี้ชาวบ้านเองก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะให้ใครมาตรวจ