ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คดีข้อพิพาทเหมืองทองคำ “ทุ่งคาฮาเบอร์ บริษัทแม่ของทุ่งคำ” ไม่ส่งงบการเงินปี ’56 ตลาดหลักทรัพย์เตรียมเพิกถอนหุ้น – บริษัทอ้างอยู่ระหว่างขอฟื้นฟูกิจการ

คดีข้อพิพาทเหมืองทองคำ “ทุ่งคาฮาเบอร์ บริษัทแม่ของทุ่งคำ” ไม่ส่งงบการเงินปี ’56 ตลาดหลักทรัพย์เตรียมเพิกถอนหุ้น – บริษัทอ้างอยู่ระหว่างขอฟื้นฟูกิจการ

5 มิถุนายน 2014


ภาพถ่ายทางอากาศภูทับฟ้าที่เคยสูงเด่นใน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ปัจจุบันกลายเป็นหลุมเหมืองทองคำ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย
ภาพถ่ายทางอากาศภูทับฟ้าที่เคยสูงเด่นใน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ปัจจุบันกลายเป็นหลุมเหมืองทองคำ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย

จากเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยข้อพิพาทดังกล่าวนั้นเนื่องจากปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมกรณีไซยาไนด์ของบริษัททุ่งคำรั่วจนเกิดการปนเปื้อนทั้งในดินและน้ำ ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้ รวมทั้งการสร้างกำแพงปิดกั้นถนน นำมาสู่การฟ้องร้องและการบุกรุกและทำร้ายชาวบ้านเกิดขึ้น ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้ว

เหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดที่ชาวบ้านถูกทำร้ายจากกลุ่มชายฉกรรจ์ เนื่องจากต้องการขนแร่ทองแดงออกนอกพื้นที่เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นชาวบ้านได้ถูกข่มขู่อีกหลายครั้งตามการรายงานของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดผ่านเฟซบุ๊ก “เหมืองแร่เมืองเลย” ขณะที่บริษัททุ่งคำก็ได้เปิดเฟซบุ๊ก “ความจริงเหมืองแร่เมืองเลย”

แต่อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (THL) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด พบว่าบริษัททุ่งคาฯ ขาดส่งงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินปี 2556 โดยทาง ตลท. ประกาศแจ้งเตือนหลายครั้ง รวมทั้งประกาศเพิ่มเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท 2 ครั้ง (NC ระยะที่ 3) และถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ ในขณะที่ผลประกอบการบริษัทฯ ขาดทุนสะสมหนัก

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งเตือนบริษัททุ่งคาฯ และการชี้แจงของบริษัทเป็นดังนี้(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

คำเตือนทุ่งคาฮาเบอร์

11 ธันวาคม 2556 ตลท. ประกาศว่าบริษัททุ่งคาฯ เข้าข่ายต้องปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานระยะที่ 3 (NC ระยะที่ 3) ตามข้อ 9 (6) ของข้อบังคับ ตลท. เรื่อง การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2542 เพราะยังไม่สามารถแก้ไขฐานะการเงินและผลการดำเนินงานได้ ซึ่งหากบริษัททุ่งคาฯ ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ ตลท. จะพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทต่อไป

2 มกราคม 2557 ตลท. ประกาศว่าบริษัททุ่งคาฯ ไม่ส่งงบการเงินไตรมาส 1-3 ปี 2556

14 มกราคม 2557 บริษัททุ่งคาฯ แจ้ง ตลท. ว่า ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ เพราะความไม่สงบทางการเมืองที่ใช้มาตรการปิดกรุงเทพฯ ทำให้ผู้ตรวจสอบบัญชีเดินทางมาตรวจสอบงบการเงินของบริษัทไม่ได้

3 กุมภาพันธ์ 2557 ตลท. ประกาศว่าบริษัททุ่งคาฯ ไม่ส่งงบการเงินปี 2556 ไตรมาส 1-3

ในวันเดียวกันนี้ทางบริษัททุ่งคาฯ แจ้งว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ได้ถือหุ้นไว้ร้อยละ 98.03 นั้น ได้ถูกธนาคารดอยซ์ แบงก์ เอจี ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทย์ได้ยื่นฟ้องบริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ ตามคดีหมายเลขดำที่ ล.3991/2556 โดยเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องขอให้ลูกหนี้ตกเป็นผู้ล้มละลาย ซึ่งศาลล้มละลายกลางนัดนั่งพิจารณาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

10 กุมภาพันธ์ 2557 บริษัททุ่งคาฯ แจ้ง ตลท. เรื่องคำร้องขอฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลางในคดีหมายเลขดำที่ 21/2556 ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องเป็นวันที่ 20 มีนาคม 2557 จากที่นัดไต่สวนวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2557

19 กุมภาพันธ์ 2557 ตลท. ประกาศเพิ่มเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัททุ่งคาฯ เนื่องจากไม่นำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2556 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ซึ่งล่าช้าเกินกว่า 180 วัน ตามข้อบังคับ ตลท. เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2542 ข้อ 9 (3) และข้อ 9 (5) และนโยบายการประกาศเข้าเกณฑ์อาจถูกเพิกถอนกรณีบริษัทจดทะเบียนนำส่งงบการเงินล่าช้าเกินกว่าที่กำหนด

4 มีนาคม 2557 ตลท. ประกาศว่าบริษัททุ่งคาฯ ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินไตรมาส 1-3 ปี 2556

20 มีนาคม 2557 บริษัททุ่งคาฯ แจ้ง ตลท. เรื่่องความคืบหน้าคดีฟื้นฟูกิจการว่า จากที่ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนในวันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2557 นั้น มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้านจำนวน 7 ราย และขอเลื่อนวันนัดไต่สวนไปเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 วันที่ 30 มิถุนายน 2557 และวันที่ 28 กรกฎาคม 2557

1 เมษายน 2557 ตลท. คงสั่งห้ามการซื้อหรือขาย (SP-Suspension) หลักทรัพย์ของบริษัททุ่งคาฯ ต่อไปเนื่องจากไม่ส่งงบการเงิน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 มายัง ตลท. ภายในเวลากำหนด 3 เดือน (31 มีนาคม 2557)

2 เมษายน 2557 ตลท. ประกาศว่าบริษัททุ่งคาฯ ไม่ส่งงบการเงินไตรมาส 1-3 ปี 2556 งบการเงินรายปี 2556 และแบบรายงานการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมของบริษัทที่ออกหุ้น (แบบ 56-1) ปี 2556

4 เมษายน 2557 บริษัททุ่งคาฯ แจ้งต่อ ตลท. ว่างบการเงินไตรมาส 1-3 ปี 2556 และงบการเงินประจำปี 2556 อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งคาดว่าจะนำส่ง ตลท. ได้วันที่ 31 กรกฎาคม 2557

6 พฤษภาคม 2557 ตลท. ประกาศว่าบริษัททุ่งคาฯ ยังไม่ได้ส่งงบการเงินไตรมาส 1-3 ปี 2556 งบการเงินรายปี 2556 แบบ 56-1 ปี 2556 และรายงานประจำปี 2556 (แบบ 56-2)

16 พฤษภาคม 2557 ตลท. ประกาศเพิ่มเหตุเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัททุ่งคาฯ เนื่องจากยังไม่นำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2556 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2556 ซึ่งล่าช้าเกินกว่า 180 วัน

2 มิถุนายน 2556 ตลท. ประกาศว่าบริษัททุ่งคาฯ ไม่ส่งงบการเงินไตรมาส 1-2 ปี 2556 งบการเงินรายปี 2556 และแบบ 56-1 ปี 2556

ในวันเดียวกัน บริษัททุ่งคาฯ แจ้งกับ ตลท. ว่า ตามที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางซึ่งศาลรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วนั้น ทำให้บริษัทฯ ได้รับการยกเว้นการนำส่งงบการเงินประจำไตรมาสที่ผ่านการสอบบัญชี โดยให้นำส่งรายงานทางการเงินสำหรับรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีบัญชี แต่ไม่จำเป็นต้องผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชี โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ทำรายงานทางการเงินดังต่อไปนี้ 1) รายงานทางการเงินสำหรับรอบระยะเวลา 6 เดือนแรก 2) งบการเงินประจำปี ฉบับตรวจสอบโดยมีผลตั้งแต่รอบบัญชีไตรมาส 3 ปี 2556 เป็นต้นไป (อ่านเพิ่มเติม)

ด้านฐานะทางการเงินของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) จากงบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 พบว่า บริษัทขาดสภาพคล่อง โดยในปี 2555 มีสินทรัพย์รวม 1,772.38 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 2,061.27 ล้านบาท นั่นคือมีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สินถึง 288.88 ล้านบาท ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีระบุในหมายเหตุงบการเงินว่ามีผลขาดทุนสะสมเกินทุน เนื่องจากเหตุผลหลายประการ เช่น ความล่าช้าในการอนุญาตประทานบัตรใหม่ รวมทั้งค่าภาคหลวงและค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่ที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในการขอสัมปทานครั้งแรก และการไม่ปฏิบัติตามสัญญาส่งออกทองคำ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารเชื่อว่าการจัดทำงบการเงินตามข้อสมมติฐานว่าบริษัทฯ และบริษัทย่อยจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนั้นเหมาะสม เนื่องจากบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีเงินสดและสินค้าคงเหลือ และสินทรัพย์ที่ดี เช่น ที่ดิน ที่จะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในอนาคต นอกจากนั้นประมาณการค่าเสียหายตามสัญญาส่งมอบทองคำ จำนวน 849.50 ล้านบาทนั้นยังมีความไม่แน่นอน

รวมทั้งระหว่างปี 2555 ใบอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าไม้และใบอนุญาตโลหกรรมของบริษัทย่อย (“ทุ่งคำ”) ได้หมดอายุลงทำให้ “ทุ่งคำ” ต้องหยุดกระบวนหน้าเหมือง (การขุด/ระเบิดหินในเขตป่าไม้) อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2556 ใบอนุญาตโลหกรรมได้รับการพิจารณาให้ต่อใบอนุญาตไปจนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2560 แล้ว สำหรับใบอนุญาตเข้าใช้พื้นที่ป่าไม้ยังอยู่ระหว่างประสานงานกับกรมป่าไม้

ในหมายเหตุงบการเงินปี 2555 ผู้สอบบัญชียังได้ระบุอีกว่างบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ของบริษัทฯ ที่นำส่งไปยัง ตลท. แสดงส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ทำให้หุ้นของบริษัททุ่งคาฯ ถูกประกาศ เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตามข้อบังคับ ตลท. อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 บริษัทฯ ได้ชี้แจงแนวทางแก้ไขเหตุแห่งการอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนแก่ ตลท. ว่า บริษัทฯ ตัดสินใจเตรียมการฟื้นฟูกิจการด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อดำเนินการเสนอแผนการฟื้นฟูให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทราบ โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ตลท. ได้อนุญาตให้หุ้นของบริษัทฯ ซื้อหรือขายได้ระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 โดย ตลท. ขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ จากรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น วันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ระบุว่ากิจการของบริษัททุ่งคำมีรายได้จากการขายทองคำลดลง เนื่องจากสินแร่ทองคำลดลงและมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น แต่มีรายได้จากการขายทองแดงเพิ่มขึ้น การแก้ไขที่ดำเนินการอยู่คือการหาพื้นที่เหมืองแร่ใหม่ โดยมีการประชาพิจารณ์รอบแรกเสร็จแล้ว 2 พื้นที่คือ T1-S และ T3 ซึ่งผลประกอบการกำไรขั้นต้นมีผลติดลบ (ไม่ระบุตัวเลข) และจะทำประชาพิจารณ์รอบสองในปี 2557

พร้อมระบุว่าในปี 2557 คาดว่าบริษัทจะเปิดพื้นที่เหมืองใหม่ได้ ซึ่งในส่วนราชการนั้นมีความร่วมมือด้วยดี ขาดแต่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องมาปรับความเข้าใจกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้พื้นที่เหมืองใหม่อย่างน้อย 1 แปลงในปี 2557 ในส่วนรายจ่ายที่เพิ่มคือค่าสำนักงานทนายในคดีดอยซ์แบงก์ในต่างประเทศ คดีความกับหน่วยราชการ โดยบริษัทคาดว่าน่าจะสิ้นกระบวนการเจรจาและเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการได้

นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2555 มีการทรุดตัวของบ่อกักเก็บกากแร่ ทำให้ถูกสั่งปิดเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากนั้นมีกลุ่มต่อต้านเกิดขึ้น ทำให้ตัวเลขผลประกอบการในปี 2555 ต่อเนื่องปี 2556 ติดลบ ปัจจุบันบริษัทประสบภาวะมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์

ปี 2556 อนุญาโตตุลาการ กรุงลอนดอน อังกฤษ ชี้ขาดให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด แพ้คดีดอยซ์แบงก์ ต้องตั้งสำรองเต็มหนี้ 51.44 ล้านเหรียญซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาประนอมหนี้ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด และบริษัทยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้การประนอมหนี้โดยคาดหวังให้ตัวเลขหนี้ลดลง