ThaiPublica > คอลัมน์ > คอร์รัปชันแดนภารตะ

คอร์รัปชันแดนภารตะ

19 พฤษภาคม 2014


หางกระดิกหมา

วันนี้จะเล่าสถานการณ์คอร์รัปชันในอินเดียให้ฟัง

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ลงว่า เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของเอเชียในขณะนี้ กำลังดิ้นพราดๆ อยู่ด้วยอาการของคอร์รัปชัน ในโพลที่เพิ่งสำรวจไม่นานบอกว่าคนอินเดียร้อยละ 96 เชื่อว่าคอร์รัปชันกำลังทำให้อินเดียถอยหลัง และร้อยละ 92 บอกว่าสภาพปัญหาทรามลงทุกวันตลอดห้าปีที่ผ่านมา กฎหมายที่ใช้บังคับกับคนทั่วไปดูเหมือนจะยกเว้นไม่ใช้กับนักการเมืองและนักธุรกิจใหญ่ มีการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะจากรัฐให้เอกชนเมื่อใด (อย่างเช่นการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือการให้เงินกู้จากธนาคารของรัฐ) ก็คอร์รัปชันอยู่ตลอด เรียกว่าในสิบตระกูลธุรกิจใหญ่สุดของอินเดียในขณะนี้ มีกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับคอร์รัปชันอยู่เสียเจ็ดตระกูล จนกลัวกันว่าอินเดียกำลังจะเดินไปสู่สภาพสังคมอย่างรัสเซีย กล่าวคือเป็นคณาธิปไตย ที่คนจะได้ดีหรือฉิบหายตามความใกล้หรือความห่างกับรัฐบาลเพียงประการเดียว

แล้วผลกระทบจากคอร์รัปชันนี้ก็ชิ่งเป็นหลายทอด อันดับแรกเลยก็คือเศรษฐกิจอินเดียกำลังต้องการให้เอกชนเข้ามาสร้างถนน สร้างโรงงาน สร้างเมือง ฯลฯ แต่คอร์รัปชันก็มาทำให้รัฐกับเอกชนประสานกันไม่สนิท เพราะพอมีคอร์รัปชันแล้ว รัฐก็จะตัดสินใจทำโปรเจกต์แบบไม่เข้าท่า หรืออีกทีหนึ่ง พอเอกชนโจมตีรัฐบาลเรื่องคอร์รัปชันมากๆ เข้า รัฐก็กลายเป็นไม่กล้าตัดสินใจทำโปรเจกต์ไปเลย

ทุกวันนี้ ภาคธุรกิจที่พัวพันกับคอร์รัปชันเป็นสาเหตุของหนี้เน่าในธนาคารรัฐเป็นจำนวนมากถึงหนึ่งในสิบ และทำให้โครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่นถนนหรือโรงไฟฟ้ามีปัญหา ในขณะที่อีกทางหนึ่ง ระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีคอร์รัปชัน ก็ทำให้ทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นเหมือง ต้องถูกอายัด ถูกปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ เอาไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เกิดค่าเสียโอกาสแก่เศรษฐกิจอย่างมาก

ยิ่งกว่านั้น พอเจอปัญหาอย่างนี้ เอกชนก็เลยลดการลงทุนจากร้อยละ 17 ของ GDP ในปี 2007 มาเป็นร้อยละ 11 ในปี 2011 จนอัตราเติบโตของ GDP อินเดียต่ำเตี้ยที่สุดในรอบทศวรรษ กลไกปราบปรามคอร์รัปชันที่บางอย่างยังไม่ค่อยเข้าที่ (ไม่ว่าจะเป็นอำนาจขององค์กรตรวจสอบที่ซ้ำซ้อน สื่อที่เน้นปลุกเฉพาะประเด็นที่ขายได้ หรือระบบกฎหมายที่เร่อร่าล้าสมัย) ก็สร้างปัญหามากกว่าจะแก้ เพราะส่วนใหญ่มีแต่สร้างภาระทำให้ภาคธุรกิจดำเนินไปได้อย่างล่าช้า ในขณะที่ไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้แต่อย่างใด

ที่มาภาพ : http://www.economist.com/news/briefing/21598967-graft-india-damaging-economy-country-needs-get-serious-about-dealing-it
ที่มาภาพ : http://www.economist.com/news/briefing/21598967-graft-india-damaging-economy-country-needs-get-serious-about-dealing-it

ทั้งนี้ คอร์รัปชันในอินเดียนั้นมีตั้งแต่การจ่ายเงินให้กับเจ้าที่เพื่อเร่งเอกสาร ไปจนกระทั่งจ่ายค่าไถ่บริษัท อย่างที่มหาเศรษฐีอินเดียเจ้าของธุรกิจรายหนึ่งบอกว่า ขึ้นชื่อว่าทำธุรกิจแล้ว ก็ยากจะปฏิบัติตามกฎหมายได้ครบถ้วน ดังนั้นเป็นใครก็ต้องยอมจ่ายคอร์รัปชัน โดยเฉพาะจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งคุมเรื่องภาษีหรือกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพราะพวกนี้สามารถสั่งอายัดเงินหรือเอาคนเข้าคุกได้ทีเดียวถ้าขืนไปแข็งเมือง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบแล้วคอร์รัปชันอย่างที่พูดไปก็ถือเป็นแค่อย่าง “โบราณ” เท่านั้น เพราะเขาบอกว่าสิ่งที่เปิดศักราชการคอร์รัปชันยุคใหม่ในอินเดีย ไม่ใช่เพียงการจ่ายเพื่อซื้อความสะดวกอย่างนี้ แต่เป็น “large-scale rent-seeking” กล่าวคือการใช้เงินบังคับนโยบายและโปรเจกต์ของรัฐให้มาเข้าทางธุรกิจของตนเพื่อจะได้สร้างโอกาสกอบโกยเงินให้มันถล่มทลายเลยทีเดียว

ทุกวันนี้ ในอินเดียนี่แยกไม่ออกแล้วว่าอันไหนนักการเมืองอันไหนเอกชน เพราะในโปรเจกต์ใหญ่ๆ ทั้งหลาย บริษัทที่เข้ามาประมูลงานมักเป็นบริษัทลม (shell company) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับทรัพย์แทนนักการเมืองแทบทั้งนั้น แล้วบริษัทลมอย่างนี้ พอตั้งซ้อนกันมากๆ เข้าการจะสืบสาวไปถึงนักการเมืองก็เป็นไปได้ยาก ยิ่งถ้าเป็นบริษัทลมที่ไปจดทะเบียนอยู่ในประเทศที่เป็นเขตปลอดภาษี หรือบริษัทออฟชอร์ (offshore) ด้วยแล้ว การตรวจสอบยิ่งไม่มีให้พูดถึง

ทั้งนี้ วิธีที่นักการเมืองจะยักย้ายถ่ายเทเงินคอร์รัปชันไปเก็บไว้ยังบริษัทออฟชอร์นอกประเทศพวกนี้ ก็ไม่ใช่จะยากเย็นอะไร เขาจะทำกันโดยการออกใบแจ้งราคาเท็จ หรือที่เรียกว่า mis-invoicing กล่าวคือนักการเมืองจะให้บริษัทในประเทศที่ตนคุมอยู่ซื้อเพชรหรือซอฟต์แวร์จากบริษัทออฟชอร์ในราคาที่สูงผิดปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้ตนสามารถโอนเงินไปเข้ากระเป๋าของบริษัทออฟชอร์เหล่านั้นได้ในรูปของกำไรส่วนเกิน ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทออฟชอร์นั้นก็เป็นบริษัทของตัวเองนั่นเอง ภาษีอะไรก็ไม่ต้องเสีย เพราะตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษีอยู่แล้ว ถึงเวลาจะเอาเงินกลับก็ง่ายเหมือนกัน คือให้บริษัทออฟชอร์ที่ว่าส่งเงินเข้ามาในรูปของการลงทุนจากต่างประเทศ เท่านี้คนก็จับได้ยาก

ถามว่าเวลาเงินกลับมาแล้วไปไหน ก็ตอบได้ว่าก็เอาไปจ่ายสินบนเพื่อรักษาโอกาสให้ตนบิดเบือนนโยบายของประเทศต่อไปเป็นวงจรไม่รู้จบ เพราะการเมืองอินเดียทุกวันนี้แทบจะดำเนินอยู่ด้วยสินบน เลือกตั้งทีก็ต้องใช้เงินทุนซื้อเสียงมหาศาล แล้วเงินอะไรต้นทุนจะถูกกว่าสินบน ยิ่งกว่านั้น เดี๋ยวนี้พรรคใหญ่ต้องพึ่งพรรคเล็กมากขึ้นๆ กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น ส่วนใหญ่ก็เลยต้องตอบแทนบุญคุณโดยให้โอกาสพรรคเล็กได้คอร์รัปชันยามอยู่ในอำนาจ จะไปหวังพึ่งให้ผู้รักษากฎหมายมาจัดการนักการเมืองหรือข้าราชการโกงๆ พวกนี้ก็ปรากฏว่ายากอีกเหมือนกัน เพราะเจ้าหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชันยอมรับว่า ในทางปฏิบัติ การจะดำเนินคดีเอาผิดใครสักคนจนถึงที่สุดต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ก็หนึ่งทศวรรษ คนโกงจึงสันนิษฐานได้สบายๆ เลยว่าโกงไปแล้ว นอกจากยมบาลใครก็เอาผิดตัวไม่ได้

ทั้งหมดนี้ขอให้ฟังโดยสำนึกว่าความจริงอินเดียก็เป็นประเทศที่พยายามกับการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมากแห่งหนึ่ง กฎหมายข้อมูลข่าวสารของเขาถือว่าดีติดอันดับโลก กฎหมายคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล (whistleblower’s protection) เขาก็มี ประชาชนทั่วไปก็เริ่มตื่นตัวไม่น้อย ขนาดที่ว่าพรรคเล็กหน้าใหม่ก็ยังชนะเลือกตั้งเขามามีที่นั่งในสภาเพียงเพราะชูนโยบายต้านคอร์รัปชันอย่างเดียวเท่านั้น

ดังนั้น คิดดูแล้วกันว่าประเทศที่เขาลงมือกันไปแล้ว มีเครื่องไม้เครื่องมือต้านคอร์รัปชันบ้างแล้ว งานมันยังยากอย่างนี้ แล้วประเทศที่ปีหนึ่งๆ ไม่ได้ทำอะไรสักทีเพราะมัวแต่ประท้วงกันอยู่บนถนนนี่อะไรต่างๆ มันจะไปสำเร็จเอาเมื่อชาติไหน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2557