ThaiPublica > คอลัมน์ > สินบน…จ่ายได้ รับไม่ได้

สินบน…จ่ายได้ รับไม่ได้

21 กรกฎาคม 2014


หางกระดิกหมา

วันนี้ตื่นขึ้นมาดูฟ้าดูฝนและดูประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 แล้ว ก็รู้สึกว่าเขียนเรื่องนอกประเทศจะจำเริญสวัสดีกับตัวเองที่สุด ดังนั้นจึงขอนำเสนออีกหนึ่งแนวคิดต้านคอร์รัปชันจากประเทศอินเดีย ใครอ่านแล้วจะอภิปรายเชื่อมโยงอย่างไรก็เชิญทำได้ตามฤทธิ์ตามเดช ขอเพียงอย่าให้พลอยซวยมาถึงผู้เขียนก็แล้วกัน

แนวคิดนี้เป็นของเก่า เคยเป็นกระแสเมื่อสองสามปีที่แล้ว กล่าวคืออาจารย์โกสิก พสุ (Kaushik Basu) หัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดียในสมัยนั้น ได้เสนอแนวคิดลดคอร์รัปชันประเภทการติดสินบน ด้วยการยกเลิกความผิดของการให้สินบนไปให้รู้แล้วรู้รอด

โดยบอกว่าหากโทษตามกฎหมายเก่ากำหนดให้ผู้รับสินบนถูกปรับ x รูปี ผู้ให้สินบนถูกปรับ x รูปี ตามกฎหมายใหม่ก็ควรจะเป็นว่าในกรณีสินบน ผู้รับถูกปรับ 2x รูปี และผู้ให้ไม่ถูกปรับเลย ยิ่งกว่านั้น ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามีการรับ-จ่ายสินบนกันขึ้นจริงในชั้นศาล ก็ให้คนรับสินบนจ่ายค่าสินบนคืนแก่ผู้ให้สินบนเสียด้วย

ฟังเผินๆ แนวคิดนี้ออกจะวิตถารเต็มที่ เพราะย่อมไม่มีที่ไหนในโลกเขาปรามอะไรสำเร็จด้วยการอนุญาต แต่อาจารย์โกสิกลึกซึ้งกว่านั้นมาก เพราะแกใช้ทฤษฎีเกม (Game Theory) มาอธิบายเรื่องนี้

นัยว่าตามกฎหมายเก่า เมื่อใดที่มีการจ่ายสินบนเกิดขึ้นแล้ว ผู้รับและผู้ให้สินบนย่อมอยู่ในฐานะของ “ผู้ร่วมกันกระทำความผิด” หรือ partners in crime ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันในอันที่จะต้องปกปิดการกระทำนั้นๆ ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปล่อยให้เรื่องแดงขึ้นมา ทั้งสองก็จะต้องถูกลงโทษ กฎหมายอย่างนี้ จึงทำให้หนึ่งในผู้ที่จะรู้เรื่องเหตุคอร์รัปชันดีที่สุด กล่าวคือคนจ่าย ไม่ยอมมาให้เบาะแสแก่ทางการ เพราะจะเป็นเรื่องเข้าตัวและโง่เขลาสุดประมาณ

ตรงกันข้าม ถ้าแก้กฎหมายเป็นอย่างที่อาจารย์โกสิกว่า สถานการณ์จะผิดกันทีเดียว เพราะทันทีที่มีการจ่ายสินบนเกิดขึ้น และผู้ให้สินบนได้สิ่งที่ตัวเองต้องการมาแล้ว (เช่น ใบอนุญาตที่ถูกดึงเรื่องไว้) ผลประโยชน์ของผู้รับและผู้ให้สินบนจะวิ่งไปคนละทางทันที กล่าวคือ ผู้รับย่อมอยากให้เรื่องไม่แดงเหมือนเดิม แต่ฝ่ายผู้จ่ายจะกลับอยากให้เรื่องแดงโดยเร็วแล้ว เพราะหากทางการเข้ามาจับผู้รับได้ ผู้ให้สินบนก็จะทั้งไม่มีความผิด ทั้งยังจะได้เงินสินบนที่จ่ายไปคืนอีกด้วย ดังนั้น หลังแก้กฎหมาย เมื่อใดก็ตามที่เกิดการจ่ายสินบน ผู้ให้สินบนก็จะให้ความร่วมมือกับทางการอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้รับสินบนถูกจับ ซึ่งนี่จะช่วยให้การตามเช็คบิลกรณีสินบนทำได้ง่ายขึ้นมาก อันเป็นประโยชน์ในชั้นที่หนึ่ง

แต่ที่เด็ดกว่านั้นก็คือ เวลากฎหมายเป็นอย่างนี้ ฝ่ายผู้รับสินบนก็จะเปลี่ยนไปเหมือนกัน เพราะฝ่ายผู้รับสินบนก็ย่อมรู้เต็มอกว่าหากมีการเรียกสินบนเมื่อใด ไม่ช้าก็เร็วอีกฝ่ายย่อมจะหาทางรวบหัวรวบหางตน (เช่น อาจจะแอบถ่ายรูปถ่ายคลิปตอนจ่าย หรือแอบทำสัญลักษณ์บนธนบัตรสินบนเพื่อใช้เป็นหลักฐานมัดตัว) ดังนั้น ฝ่ายผู้รับสินบน ย่อมจะตัดปัญหาโดยไม่ยอมเรียกสินบนเสียตั้งแต่ต้น และนั่นเองที่จะทำให้การคอร์รัปชันประเภทสินบนหายไปได้อย่างผิดหูผิดตา

อย่างไรก็ดี อาจารย์โกสิกย้ำว่า การยกเลิกความผิดจากการให้สินบนนี้ใช้กับสินบนบางประเภทเท่านั้น คือสินบนที่ผู้ให้ถูกบังคับให้จ่ายเพื่อแลกกับสิ่งที่คนคนนั้นมีสิทธิได้รับตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น สินบนที่ผู้ส่งออกที่ทำเรื่องถูกต้องทำเอกสารครบทุกอย่างยังต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือสินบนที่ชาวนาที่มีสิทธิได้รับที่ดินเอื้ออาทรจากหลวงและมีเอกสารยืนยันครบทุกอย่างยังต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเพื่อออกเอกสารสิทธิ อันเป็นสินบนที่แกบัญญัติศัพท์เรียกเอาเองว่า “สินบนขจัดรังควาน” หรือ Harassment Bribe เท่านั้น

ส่วนสินบนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ได้แก่ สินบนที่ผู้ให้จ่ายไปเพื่อซื้อสิ่งที่ตนไม่ควรมีควรได้ตามกฎหมาย เช่น ซื้อการได้เป็นผู้รับเหมา ซื้อการได้เป็นผู้รับสัมปทานนั้น ไม่ควรได้รับการยกเว้นความผิด เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นสิ่งที่ใครจะได้ต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านระบบว่าดีเหนือคนอื่นเท่านั้น การที่ใครไปซื้อสิ่งเหล่านี้โดยไม่ผ่านระบบ จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุให้ต้องเห็นอกเห็นใจ จับขึ้นมาได้เมื่อไหร่ก็ควรจะเอาเสียให้หนัก

อย่างไรก็ดี แนวคิดก็ยังเป็นแนวคิด คือปฎิบัติจริงไม่รู้จะได้ผลตามนี้หรือไม่ อย่างอาจารย์โกสิกเองก็ยอมรับว่าอุปสรรคของแนวคิดนี้คือกรณีของนักให้สินบนที่มีธุระต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่อยู่เรื่อยๆ เพราะสำหรับบุคคลเหล่านี้ ประโยชน์ที่ได้จากการร่วมมือกับทางการก็อาจไม่คุ้มกับการสูญเสียความสัมพันธ์อันดีกับทางราชการที่ตนอุตส่าห์สร้างสมมาและยังต้องใช้ต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับประเทศที่กระบวนการยุติธรรมยุรยาตรอืดอาดอย่างอินเดียด้วยแล้ว ต่อให้ร่วมมือกับทางการ ก็ไม่ใช่ว่าทางการจะทำเรื่องให้จบได้ง่ายๆ ดังนั้น แม้ไม่เอาผิดผู้ให้สินบน แต่ผู้ให้สินบนก็อาจยังไม่เห็นว่าการร่วมมือกับทางการจะทำให้ตนขจัดอุปสรรคทางธุรกิจอันเกิดจากข้าราชการได้รวดเร็วกว่าวิธีการใช้เงินหยอดแล้วเงียบๆ แบบเก่า ตรงกันข้าม เป็นไปได้มากว่าพอเอกชนเอาเรื่องกับกรมใดกรมหนึ่งแล้ว เลยพาลพาให้ต้องไปเข้าเกี่ยวข้องกับกระบวนการศาลให้มันเนิ่นช้าหนักเข้าไปอีก

จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้ยังมีจุดอ่อนหลายอย่าง และเท่าที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังไม่ได้ยกเลิกความผิดของการให้สินบนก็ยิ่งเป็นข้อที่ทำให้ต้องระวังให้มาก

แต่ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ก็เพราะอยากจะแสดงธรรมชาติประการหนึ่งของการต้านคอร์รัปชันให้เห็น คือ ไม่ว่าจะคิดนโยบายอะไรออกมาก็อย่าคิดว่ามันจะสมบูรณ์ครบถ้วนไปได้ง่าย เพราะนี่คือการเล่นกับสิ่งที่ฉลาดที่สุดในธรรมชาติอย่างมนุษย์

อาจารย์โกสิกเองก็คงเข้าใจความยากข้อนี้ดี ก่อนจบรายงานนำเสนอแนวคิดข้างต้นแกจึงได้ยกคำของปราชญ์เกาฏิลยะ จากคัมภีร์อรรถศาสตร์อันเก่าแก่นับสองพันกว่าปีของอินเดียมาเป็นอุทธาหรณ์ประกอบการพิจารณาว่า

“เฉกเช่นที่เรามิอาจล่วงรู้ว่ามัจฉาที่แหวกว่ายอยู่ในมหานทีนั้นดื่มกินคงคาไปมากปานใด เราย่อมมิอาจบอกได้ว่าเสนามาตย์ทั้งปวงที่มีปกติใช้ทรัพย์จากคลังหลวงดำเนินกรณียกิจนั้น จักยักยอกโภคะเข้าสู่ตนเพียงใดเลย”

คนโบราณท่านอ่านเกมขาดแท้ๆ ทีเดียว

ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2557