ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > จับตาโผ “ครม.นายพล” ทลายเครือข่าย “ชินวัตร” ที่เคยชนะเลือกตั้ง 4 สมัย กางสถิติจัดตั้ง-พลิกขั้วรัฐบาล 12 ชุด ในรอบ 22 ปี

จับตาโผ “ครม.นายพล” ทลายเครือข่าย “ชินวัตร” ที่เคยชนะเลือกตั้ง 4 สมัย กางสถิติจัดตั้ง-พลิกขั้วรัฐบาล 12 ชุด ในรอบ 22 ปี

28 กรกฎาคม 2014


จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ถึงการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ในรอบ 22 ปี มีการจัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว 12 ครั้ง ผ่านระบบการเลือกตั้ง 7 ครั้ง ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลด้วยการ “พลิกขั้วการเมือง” 2 ครั้ง ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีกลางสมัย เพราะนายกรัฐมนตรี (สมัคร สุนทรเวช) ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่ง 1 ครั้ง จัดรัฐบาลโดยคณะรัฐประหาร (2549) 1 ครั้ง และกำลังจะมีการจัดรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจอีกครั้ง ในอีก 1 เดือนข้างหน้านี้

รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนั้น ไม่มีประเด็นที่ซับซ้อนเรื่องอำนาจ และการจัดขั้วในคณะรัฐมนตรีมากนัก หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ นายพล และเครือข่ายอำมาตย์ แทบทั้งสิ้น อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้สืบเชื้อสายมาจากราชตระกูล “สวัสดิวัตน์”

ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 56 นั้น มี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี ลำดับที่ 3 มีคณะนายทหารที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารร่วมเป็นคณะรัฐมนตรี อาทิ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ. บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.ร.อ. ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พล.ต.ท. ธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ :  http://www.straitstimes.com/sites/straitstimes.com/files/20140526/Prayuth-Chan-ocha-thai-nation-address-260514e.jpg
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่มาภาพ : http://www.straitstimes.com/sites/straitstimes.com/files/20140526/Prayuth-Chan-ocha-thai-nation-address-260514e.jpg

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 61 ซึ่งมีการกำหนดสเปกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไว้ที่มาตรฐานสูงสุด เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ จึงคาดหมายกันว่าต้องมี “Very Good prime minister” และ “Smart Cabinet” ชื่อ-ชั้นของ ผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่มีความเป็นไปได้สูงสุดในเวลานี้คือชื่อของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การจัดคณะรัฐมนตรี กลับคืนสู่ยุคเทคโนแครตและบรรดาเครือข่ายนายพลแห่งกองทัพอีกครั้ง โดยอาจจะมีผู้บัญชาการเหล่าทัพที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2557 และอดีตผู้บริหารเหล่าทัพ ร่วมอยู่ใน “โผคณะรัฐมนตรี” มีทั้ง พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง, พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย, พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ, พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ส่วนพลเรือน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเครือข่ายอำมาตย์ อย่างน้อย 2 ราย อาจกลับเข้าสู่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายณรงค์ชัย อัครเศรณี และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

หากจะนับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีพลเรือน ที่มาจากการเลือกตั้งปกติ ที่ผ่านมา 2 ทศวรรษ กับ 2 ปี ฝ่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ภายใต้ 3 ชื่อพรรคการเมือง คือ ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งไปแล้ว 4 ครั้ง อีก 2 ครั้งเป็นชัยชนะของพรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติไทย ส่วนพรรคประชาธปัตย์ แพ้การเลือกตั้งทุกครั้งในรอบ 22 ปี

การจัดรัฐบาลแทบทุกครั้ง เป็นคณะรัฐมนตรีแบบตอบโจทย์กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในพรรคเป็นลำดับแรก และตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจที่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นลำดับสอง ส่วนนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะถูกจัดไว้เป็นลำดับท้ายๆ ในโผคณะรัฐมนตรี เสมอ

นายชวน หลีกภัย(เสื้อขาวถือสมุด) - นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กSuthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)
นายชวน หลีกภัย(เสื้อขาวถือสมุด) – นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กSuthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

หากนับจาก “รัฐบาลชวน 1” ที่ชนะเลือกตั้งเมื่อ 13 กันยายน 2535 จากนั้นจนถึงเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ประชาธิปัตย์ตกเป็น “ฝ่ายแพ้” มาโดยตลอด

ในปี 2535 “นายชวน หลีกภัย” เป็นหัวหน้าพรรค ได้เสียง ส.ส. เข้าสภาอันดับ 1 จำนวน 79 เสียง จัดรัฐบาลผสม 5 พรรค ร่วมกับพรรคความหวังใหม่, กิจสังคม, พลังธรรม และพรรคเอกภาพ

แต่หลังจาก พ.ศ. 2535 แล้ว ปรากฏว่าประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งอย่างต่อเนื่องถึง 6 ครั้ง

ในการเลือกตั้งสมัย 2 กรกฎาคม 2538 พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งครั้งแรก สมัยนั้นพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้ง ด้วยเสียงในสภาผู้แทนฯ จำนวน ส.ส. 86 ที่นั่ง ทำให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ด้วยเสียง 92 ที่นั่ง ร่วมกับรัฐบาลผสม 7 พรรค 233 เสียง จากพรรคความหวังใหม่, กิจสังคม, พลังธรรม, ประชากรไทย, นำไทย และพรรคมวลชน

ต่อมาในสมัยเลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน 2539 พรรคประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ได้ ส.ส. เพียง 123 เสียง แต่พรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสียง ส.ส. 125 คน ทำให้เกิดรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” จัดคณะรัฐบาลผสมร่วมกัน 6 พรรค คือ กิจสังคม, ประชากรไทย, ชาติพัฒนา, เสรีธรรม และพรรคมวลชน

แต่จากนั้น 1 ปีถัดมา ในเดือนพฤศจิกายน 2540 ก็เกิดอุบัติเหตุ “ลอยตัวเงินบาท” พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกกลางสมัย จึงเกิด “รัฐบาลชวน 2” และเกิดปรากฏการณ์ “พลิกขั้ว” พรรคกิจสังคมถอนตัว และเกิดประวัติศาสตร์ “งูเห่า” จากประชากรไทย 12 เสียงไปจับมือจัดตั้งรัฐบาลหนุนให้ “ชวน” เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian

การเลือกตั้งสมัยถัดมา พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏตัวขึ้นในสนามการเมืองเป็นครั้งแรก ในการเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม 2544 ยุคนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เข้าสภาเพียง 128 เสียง พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 ให้แก่พรรคไทยรักไทย ด้วยจำนวน ส.ส. ถึง 248 คน จัดตั้งรัฐบาลเพียง 3 พรรค คือ ไทยรักไทย ความหวังใหม่ และชาติไทย

การจัดรัฐบาลยุค พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นการปรับโครงสร้างการเมืองเข้าสู่ระบบ “ธุรกิจการเมือง” เกือบเต็มรูปแบบ มีการจัดให้อดีตนักธุรกิจเจ้าของกิจการโทรคมนาคม-ก่อสร้าง เข้าเป็นรัฐมนตรี หลายตำแหน่ง เช่น นายประชา มาลีนนท์ จากช่อง 3, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของกิจการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากบริษัทชิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, นายอดิศัย โพธารามิก จากบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล

การเลือกตั้งสมัยต่อมา 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 4 ด้วยจำนวน ส.ส. เพียง 96 คน ครั้งนั้นไทยรักไทยชนะด้วยคะแนนเสียง ส.ส. จำนวน 377 คน เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง ได้เสียงข้างมากเบ็ดเสร็จพรรคเดียว ครั้งแรกในรอบ 70 ปี

การเลือกตั้งครั้งต่อมา 23 ธันวาคม 2550 เป็นการจัดการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ฝ่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายประชาธิปัตย์เป็นครั้งที่ 5 ในนามของพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยจำนวน ส.ส. 233 คน จัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค รวม 315 เสียง คือ ชาติไทยพัฒนา, เพื่อแผ่นดิน, มัชฌิมาธิปไตย, รวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาราช

แต่รัฐบาล “สมัคร” ก็อายุสั้นเพราะพิษผลประโยชน์ทับซ้อน “สมัคร” พ้นจากตำแหน่งเพราะคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการรับจ้างทำของ-จัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” หลังเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงไม่ทันข้ามปี

ฝ่าย พ.ต.ท. ทักษิณ เลือกให้ “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 12 กันยายน 2551 หลังจากนั้น “รัฐบาลสมชาย” จบลงเพราะการยุบพรรคพลังประชาชนในปลายปี 2551

จากนั้นเกิดการพลิกขั้วการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อกลุ่มการเมืองสำคัญที่เคยสนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร คือกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ พลิกขั้วมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2551 ถึง 9 พฤษภาคม 2554 ด้วยจำนวนเสียงโหวตในสภาผู้แทนฯ 235 เสียง จาก 3 พรรคร่วมรัฐบาลเก่า และกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด 3 กรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 6 ได้ ส.ส. เข้าสภาผู้แทนราษฎร 159 คน แต่ฝ่ายพรรคเพื่อไทย โดยการนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. ถึง 256 เสียง

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศจัดตั้งรัฐบาล 300 เสียง จาก 6 พรรค ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ประกอบด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา 19 เสียง พรรคชาติพัฒนา 7 เสียง พรรคพลังชล 7 เสียง พรรคมหาชน 1 เสียง และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง

แต่บริหาราชการแผ่นดินได้เพียง 2 ปี 3 เดือน ก็ต้องยุบสภา เพราะการชุมนุมต่อเนื่อง 40 วัน ของกลุ่มอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ร่วมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อันมีชนวนความขัดแย้งจากเรื่อง “นิรโทษกรรมแบบสุดซอย” ทำให้ทหารกลับเข้าสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง ด้วยการรัฐประหาร และเตรียมจัดรัฐบาล ที่ขนานนามกันล่วงหน้าว่า “ครม.นายพล”

ปิดฉากการเมืองพลเรือน ที่ครอบครองอำนาจโดย 2 พี่น้อง “ชินวัตร” และเครือข่ายของ “ระบอบทักษิณ” ที่เคยลิ้มรสชัยชนะการเลือกตั้งมาถึง 4 ครั้งในรอบ 13 ปี มีชื่อนายกรัฐมนตรีประดับไว้ในทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว 4 คน