ThaiPublica > คอลัมน์ > 15 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับไฟไหม้กองขยะ (แพรกษา) ตอนที่ 2

15 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับไฟไหม้กองขยะ (แพรกษา) ตอนที่ 2

6 เมษายน 2014


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความเข้าใจผิดสามารถนำไปสู่การตัดสินใจและการสั่งการรวมทั้งการปฏิบัติงานที่ผิด ในบทความตอนที่ 1 ผมได้บอกเล่าความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไฟไหม้กองขยะไปแล้ว 10 ข้อ คราวนี้มาต่ออีก 5 ข้อ

11. ข้อนี้ สำหรับนักวิชาการที่รู้เรื่องจริง เรื่องนี้อาจเป็นความไม่รู้มากกว่าเป็นความเข้าใจผิด แต่สำหรับประชาชน หรือผู้บริหาร และนักการเมืองที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างจำกัด อาจถูกป้อนข้อมูลจนกลายเป็นความเข้าใจผิดได้ สิ่งนี้คือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้แก่ชนิดหรือประเภทและความเข้มข้นของสารมลพิษที่ต้องตรวจวัดและชี้แจงต่อประชาชน

ขณะนี้ทางการหลายหน่วยงานต่างก็ได้ตรวจวัดและนำเสนอข้อมูลในรูปของก๊าซและสารมลพิษต่างๆ ได้แก่ CO, CO2, NOx, SOx, HCl, VOC, PAH, dioxin, furan, PM10, PM2.5 ฯลฯ ซึ่งต้องขอบอกให้รู้ว่าบรรดาพารามิเตอร์เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดมาตรฐาน (หรือพื้นฐาน) ที่เขาต้องทำกัน แต่ที่ไม่ได้ทำกันคือสารอื่นๆ ที่อาจมีอยู่ในควันพิษ เช่น ปรอท, สารหนู, ตะกั่ว, แคดเมียม หรือสารอินทรีย์ก่อมะเร็งตัวอื่นๆ ถามว่าทำไมไม่วัด คำตอบแรกคือ ในช่วงเร่งด่วนฉุกเฉินแบบนี้เราคงเพ่งเล็งไปที่สารพื้นฐานก่อน เรื่องอื่นแม้จะอาจอันตรายก็รอไว้ทีหลัง สอง คือ ทำไม่ทัน มีคนแค่นี้ มีห้องปฏิบัติการแค่นี้ ก็ทำได้เร็วแค่นี้ สาม คือ ทำแล้วแต่อาจรอผลจากห้องปฏิบัติการอยู่ (การวัดบางทีใช้เวลานานพอควร) และ สี่ ข้อนี้สำคัญมาก คือ เราเองก็ไม่รู้ว่าจะวัดตัวอะไร จริงครับ! ไม่รู้จะวัดตัวอะไร เพราะสารในโลกนี้มีจำนวนเป็นร้อยเป็นล้านชนิด ถ้าเราไม่รู้ว่ากองขยะมีสารพิษตัวใดอยู่ เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะวิเคราะห์สารตัวใดเหมือนกัน อันนี้เป็นช่องโหว่ของเทคโนโลยี แต่ก็อย่าวิตกจริตจนเกินควรเพราะเป็นกันทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย

12. มีคนบอกว่าตอนไฟไหม้กองขยะ ต้องเร่งเอาน้ำมาฉีดเพื่อดับไฟ แต่เมื่อไฟดับแล้วน้ำนั้นจะเป็นน้ำเสียที่มีสารพิษอยู่ ต้องเอาไปบำบัดและกำจัดอย่างดีก่อนด้วย นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกประการ เพราะจะฉีดน้ำดับไฟหรือไม่ฉีด น้ำเสียในหลุมขยะก็มีอยู่แล้ว เพราะบ่อขยะแบบที่แพรกษาใช้อยู่เป็นแบบไม่ถูกหลักวิชาการ เป็นเพียงขุดหลุมลึกๆ และเอาขยะมาเทกองๆ ทับกันไปเรื่อยๆ จนเต็มหลุม ซึ่งเมื่อฝนตกน้ำฝนก็ลงไปแช่อยู่ในกองขยะ สำหรับบ่อขยะนี้อายุน่าจะประมาณอย่างน้อย 30 ปี ดังนั้น ปริมาณฝนที่ตกลงมาสะสมในหลุมเป็นเวลา 30 ปีนี้มันมากกว่าน้ำที่เอามาดับไฟ 6-7 วันนี้มหาศาลอย่างเทียบกันไม่ได้ ได้มีการคำนวณกันคร่าวๆ พบว่าปริมาณน้ำในหลุมขยะแพรกษานี้มีมากถึง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าตึกใบหยกประมาณ 10-15 ตึกนั่นแหละ

นี่ก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง เพราะหากทิ้งไว้น้ำเสียปนสารพิษนี้อาจซึมลงไปปะปนบ่อน้ำบาดาลหรือทางน้ำใต้ดินได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงจนคาดไม่ถึงทีเดียว แต่นั่นขอไปพูดในตอนที่ 3 ว่าด้วยเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ

ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com
ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com

13. ในกรณีวิกฤติและฉุกเฉินเช่นนี้ ปัญหาซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิคสิ่งแวดล้อม ต้องได้รับการเข้าไปดูแลและจัดการโดยนักเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมก่อนเป็นด่านแรก เรื่องอื่นไม่ว่าจะเป็นคดีความ เรื่องการแจ้งจับ ฯลฯ ยังเป็นเรื่องรอง แต่ด้วยความที่ไม่เข้าใจในปัญหาและความรุนแรงของปัญหา (สารพิษ) จึงมีเจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมลงพื้นที่ไปตรวจงานในส่วนของตนในวันแรกๆ ที่คนทำงานที่หน้างานต้องการสมาธิในการจัดการกับปัญหา แต่เมื่อคนกลุ่มนี้ลงไป ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่สื่อต้องเข้าไปสอบถาม ทำให้บางคนก็ให้คำตอบมาราวกับตัวเองเป็นนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ซึ่งในความเห็นของผม มันผิดฝาผิดตัว ผิดบทบาทอย่างมาก

ลองนึกย้อนกลับไปดูเหตุการณ์น้ำท่วมมหาวิปโยคเมื่อปี 2554 ดูก็ได้ว่า เมื่อเราไม่ใช้นักเทคนิคเฉพาะทางมาแก้ไขปัญหาเทคนิคแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา

14. ความเข้าใจไม่ถูกต้อง ผนวกกับความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ทำให้ผู้คนไม่เห็นความสำคัญหรือความคุ้มค่าของการจ่ายค่ากำจัดขยะ [หมายเหตุ: แม้กระทั่งคนของรัฐก็คิด (แบบยอมแพ้) ไปในทำนองนี้ ผมเคยได้ยินกับหูที่คนของกรมควบคุมมลพิษบอกว่าค่าขยะมันแพง ชาวบ้านจึงไม่ยอมจ่าย] ซึ่งเมื่อเข้าใจผิดและไม่จ่ายค่าขยะให้สมน้ำสมเนื้อและมากพอที่จะเอาไปจัดการกับปัญหาได้ ปัญหามันถึงได้รุนแรงและสะสมอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้ก็ต้องเอาไปว่าต่อในตอนที่ 3 อีกเช่นกัน

แต่ก่อนไปหัวข้อถัดไป ผมอยากให้พวกเราถามตัวเองว่า ระหว่างสิ่งแวดล้อม สุขภาพ กับโทรศัพท์มือถือ อะไรสำคัญแก่ชีวิตเรามากกว่ากัน และในแต่ละเดือน ระหว่างค่าขยะกับค่าโทรศัพท์มือถือ เราจ่ายอะไรมากกว่ากัน หรือว่าไม่รู้แม้กระทั่งว่าเราจ่ายค่าขยะต่อเดือนเท่าไร ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำตอบต่อคำถามแรกหรือทั้ง 3 คำถาม ก็แสดงว่าเรายังไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะมากพอนั่นเอง ปัญหาที่แพรกษากำลังฟ้องเราว่าพวกเรานั่นแหละเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น

15. ความไม่เข้าใจในความรุนแรงของปัญหาที่รอวันระเบิดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองซึ่งในกรณีนี้คือตำบลแพรกษา (แต่ความจริงเป็นทุกเทศบาลและทุก อบต.) ที่มีการรายงานออกสื่อชัดแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการเทียบปรับผู้กระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยเงินค่าปรับเพียง 2,000–4,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับผลกระทบที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ นี่ก็ยังไม่มีใครรู้เลยว่าใครเป็นผู้เสียหาย จะเรียกค่าเสียหายจากใคร ด้วยวิธีใด เป็นเงินเท่าใด ใครจะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าอพยพ ค่าฟื้นฟูพื้นที่ ค่าฟื้นฟูคน ค่าฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งค่าดำเนินการที่จ่ายไปแล้วและจะต้องจ่ายต่อไปทั้งช่วงดับไฟและหลังจากนั้น

ถ้าเทศบาลหรือ อบต. เข้าใจความรุนแรงของปัญหานี้ก็ย่อมจะไม่ยอมให้มีการลักลอบมาทิ้งขยะแบบสะเปะสะปะแบบนี้ และจะไม่ปรับแบบหยิกแกมหยอกแบบนี้ ผมได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับอดีตปลัดจังหวัดคนหนึ่ง ปลัดฯ บอกว่าคนอย่างเจ้าของบ่อขยะกับคนอย่างผู้ว่าฯ นี่เขาสั่งกันได้ ผมถามว่าใครสั่งใคร ปลัดฯ ยิ้มแล้วถามกลับว่าอาจารย์คิดว่าใครสั่งใครได้ล่ะ ปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องขยะกับปัญหาคอร์รัปชันนี้เป็นเรื่องเดียวกันไหม ผมเองก็กำลังหาคำตอบอยู่

ตอนต่อไปเป็นตอนที่ 3 คงไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิดแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่จะมีการเสนอแนะว่าหากมองไปข้างหน้า เราจะกำกับดูแลและจัดการกับปัญหานี้ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศได้อย่างไร