ThaiPublica > คอลัมน์ > 15 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับไฟไหม้กองขยะ (แพรกษา) ตอนที่ 1

15 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับไฟไหม้กองขยะ (แพรกษา) ตอนที่ 1

5 เมษายน 2014


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไฟไหม้กองขยะที่ตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ เป็นวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่หลายคนบอกว่าต้องถือเป็นโอกาสในการให้ความรู้เรื่องมลพิษและความรุนแรงของมันแก่ประชาชน ซึ่งหลายคนในหลายสถาบันก็กำลังทำอยู่อย่างน่าชมเชย แต่ในท่ามกลางการให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างขะมักเขม้นนั้นยังมีความเข้าใจผิดอยู่หลายประการที่ต้องทำให้ถูกต้อง ดังเช่น

1. บ่อขยะนี้เป็นบ่อขยะของเทศบาล ซึ่งควรรองรับเฉพาะขยะชุมชน และไม่ควรมี (แต่ก็มี) ขยะอุตสาหกรรมมาปะปน

2. ถึงมีขยะ ‘อุตสาหกรรม’ มาปะปน ก็ใช่ว่าจะทำให้ขยะกองนี้มีพิษมากขึ้นหากขยะอุตสาหกรรมนั้นเป็นขยะ ‘ไม่อันตราย’ ตั้งแต่แรก เช่น ขยะเศษกระดาษจากโรงงานประกอบรถยนต์ หรือขยะเศษครีบปลาจากโรงงานอาหารกระป๋อง ขยะพวกนี้เป็นขยะอุตสาหกรรมเพราะมาจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นขยะอันตราย แต่ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่าขยะอุตสาหกรรมประเภทนี้โรงงานสมัยนี้เขาก็ไม่ปล่อยทิ้งออกมาได้ง่ายๆ เขาเอาไปใช้อีกหรือไม่ก็ขายเป็นขยะรีไซเคิลกันเป็นส่วนใหญ่

3. ถึงแม้ไม่มี ‘ขยะอุตสาหกรรม’ และ ‘ขยะอันตราย’ (แอบ) ทิ้งมาที่กองขยะแพรกษานี้เลย เมื่อเกิดไฟไหม้และมีการเอาน้ำฉีดดับไฟ ปัญหามลพิษจากกองขยะจากชุมชนนี้ก็ไม่ได้จะน้อยไปกว่านี้ สารมลพิษต่างๆ ไม่ว่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนและของซัลเฟอร์ ฝุ่นละอองทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ไดออกซิน ฟูราน พีเอเอช หรือสารก่อมะเร็งอื่นๆ ก็ยังมีออกมาได้ในปริมาณมากเช่นที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะในหลุมขยะชุมชนหรือบ่อขยะเทศบาลต่างก็มีพลาสติกนานาชนิดและสารอื่นๆ อีกสารพัดชนิดอยู่แล้ว เช่น กระป๋องยาฆ่าแมลง ยาหมดอายุ ก้อนโลหะอุดฟัน ถ่านไฟฉาย แบตโทรศัพท์ ฯลฯ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นปกติของกองขยะทั่วโลก เพราะประชาชนถึงจะให้มีระบบแยกขยะดีอย่างไร ก็ไม่สามารถทำได้ 100 เปอร์เซนต์ แต่ที่ไทยนี่แย่หน่อยที่เศษขยะพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยแบบถุงก๋วยเตี๋ยว ถ้วยกาแฟ ถาดโฟม ดูจะมากกว่านานาประเทศเขาไปมาก

4. การเกิดไฟไหม้กองขยะ แบบที่เทกองทิ้งๆ เอาไว้อย่างไม่ถูกหลักวิชาการนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ถ้าไม่มีไฟไหม้เลยสิจะเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะในหลุมขยะแบบนี้จำต้องมีก๊าซมีเทนซึ่งติดไฟได้เป็นปกติอยู่แล้ว การเกิดไฟลุกในกองขยะจึงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เกิดขึ้นทุกปี ในทุกกองขยะ เพียงแต่มันอาจกรุ่นๆ อยู่ใต้ผิวกองขยะซึ่งมองไม่เห็น รวมทั้งมันไม่ได้ไหม้ลามไปทั่วกองหรือเกือบทั่วกองแบบที่แพรกษา มันจึงไม่เป็นข่าว

5. ถ้าเป็นเช่นที่ข้อ 4 ว่าไว้ นั่นก็หมายความว่าบ่อขยะชุมชนหรือบ่อขยะเทศบาลทั่วประเทศก็มีโอกาสไหม้ไฟ และเกิดสารพิษกระจายไปทั่วได้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่แพรกษา ส่วนความรุนแรงของปัญหาจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่ากองขยะนั้นใหญ่หรือเล็ก และอยู่ใกล้ชุมชนมากน้อยเพียงใด และนี่คือระเบิดเวลาหลายพันลูกที่ถูกวางกระจายอยู่ทั่วประเทศ ณ ขณะนี้ รอเวลา (และความโชคร้าย) ที่จะปะทุขึ้นมาเท่านั้น

6. เมื่อเกิดไฟไหม้กองขยะและมีควันพิษรวมทั้งสารก่อมะเร็งระเหยเป็นไอออกมา แล้วมีคน (โดยเฉพาะทางการ) ไปบอกชาวบ้านว่าให้ใส่หน้ากากอนามัยแบบที่เป็นผ้าคาดจมูก เอาไว้ป้องกันควันและไอ นี่เป็นการให้ข้อมูลที่ผิดอย่างไม่น่าอภัยให้กับชาวบ้าน เพราะไปทำให้ชาวบ้านหลงผิดและเข้าใจผิดไปว่าหากคาดผ้าที่ว่านี้แล้วจะไม่เป็นอันตราย ไม่เป็นมะเร็ง นี่เป็นการก่อกรรมทำบาปแก่ชาวบ้านอย่างคนที่ไม่รู้จริงทำ ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้กำลังพูดถึงสารอะไรที่ใหญ่มากพอจนขนจมูกกรองได้ แต่เรากำลังพูดถึงไอ พูดถึงควัน พูดถึงสารพิษขนาดเล็กมาก ที่มันสามารถเข้าไปได้ถึงข้างในลึกสุดของปอด และการคาดหน้ากากอนามัยซึ่งมีรูโหว่ขนาดยักษ์อยู่ข้างจมูก (นี่พูดแบบเปรียบเทียบ) แบบนี้ แล้วมันจะไปกรองสารอันตรายเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่มีทาง

ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com/national/Praksa-fire-leads-to-calls-for-nationwide-dumpsite-30230655.html
ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com/national/Praksa-fire-leads-to-calls-for-nationwide-dumpsite-30230655.html

7. การที่บอกชาวบ้านให้ปิดหน้าต่างและอยู่แต่ในบ้าน คำแนะนำนี้แม้จะช่วยได้บ้าง แต่ก็เป็นการสื่อสารผิดในเชิงไม่บอกกล่าวถึงระดับความอันตรายของปัญหานี้อยู่ดี เพราะสารเหล่านี้เล็กมากจนเหมือนอากาศ (นี่พูดในรูปแบบภาษาที่ชาวบ้านน่าจะเข้าใจได้ แม้จะไม่ถูกต้องในเชิงวิชาการนัก) ซึ่งก็แน่นอนที่ต้องเข้ามาในบ้านได้ ไม่ว่าจะปิดหรือไม่ปิดประตูหน้าต่าง สิ่งที่ถูกคือต้องชักจูง กระตุ้น หรือแม้กระทั่งบังคับให้อพยพออกนอกพื้นที่ให้ได้ ซึ่งจะง่ายต่อการจัดการมากกว่ามากนัก ส่วนปัญหาเรื่องขโมยขโจรหากอพยพไปแล้วไม่มีคนเฝ้าบ้าน และพื้นที่ใดต้องอพยพ พื้นที่ใดยังพอปิดหน้าต่างและอยู่ต่อได้ ขอยกไปอธิบายในบทความตอน 3 ต่อไป

8. บางคนก็บอกว่าให้เอาผ้าชุบน้ำโปะตา ปิดจมูก นี่ดีขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง แต่วิธีนี้ก็เช่นเดียวกับข้อ 7 คือ การสื่อสารที่เอาง่ายเข้าว่าก็อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้เช่นกัน เพราะชาวบ้านอาจรู้สึกดีกว่าการใช้หน้ากากอนามัย และไม่ยอมอพยพออกจากบ้าน แต่ใครเล่าจะสามารถโปะตาปิดจมูกได้ตลอดทั้งวัน 24 ชั่วโมง

9. หน่วยงานบางแห่งได้พยายามทำตัวประหนึ่งว่าได้ทำอะไรสักอย่างให้ประชาชน (หรือนาย) เห็น คือการเอาน้ำไปฉีดเป็นสเปรย์ให้เป็นม่านน้ำดักสารพิษ สิ่งนี้ก็เป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะปริมาณและความกว้างรวมทั้งความสูงของแนวควันมันมหาศาลเกินกว่าที่เพียงเอาน้ำไปฉีดแล้วหวังว่าจะแก้ปัญหาได้ ถ้าเราดูข่าวในทีวี เราจะเห็นแนวควันลอยขึ้นสูงมากและไปไกลได้ถึงหลายกิโลเมตร แล้วจะเอาน้ำไปฉีดตรงไหน สูงขนาดใด จึงจะดักจับควันได้จริง นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจผิดและสิ้นเปลืองงบประมาณ เวลา และกำลังคนในขณะที่เราต้องการพวกนี้อย่างมาก ในอีกรูปแบบหนึ่ง

10. ความเข้าใจผิดประการหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ยุติธรรมเลยกับผู้ปฏิบัติงานหน้ากองเพลิงบนกองขยะ คือ การที่ผู้บริหารไม่เข้าใจหรือรับรู้เกี่ยวกับความรุนแรงของอันตรายจากสารพิษในควันไฟ ในช่วงแรกจึงได้เห็นคนเข้าไปช่วยกันดับไฟโดยไม่มีชุดแต่งกายและอุปกรณ์ป้องกันควันที่เหมาะสม คนกลุ่มนี้ถึงจะเข้าไปทำงานชั่วโมงหนึ่งออกมาพักชั่วโมงหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้สูดเอาสารพิษเข้าไปมากพอจนเป็นอันตรายได้แล้ว ถ้าจะมีเหรียญรางวัลมอบให้ ผมว่าคนพวกนี้แหละที่ควรได้ ไม่ใช่นักการเมืองที่ไปเข้าพื้นที่ก็ต่อเมื่อไฟได้ดับแล้วและควันพิษหมดไปแล้ว

ขอไปเล่าเรื่องความเข้าใจผิดนี้ต่อในตอนที่ 2 แต่ก่อนจบขอแถมข้อสังเกตนิดว่า ผมเห็นข่าวในทีวีที่ผู้บริหาร ‘ใส่สูท’ ไปตรวจงานไฟไหม้กองขยะที่แพรกษานี้ในเวลาบ่าย โดยมีคนถือร่มกางบังแดดให้ระหว่างตรวจงาน

นี่มันกองขยะที่กำลังไหม้ไฟนะครับ ท่านผู้บริหารเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่านี่