การประมาณการประชากรของประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2553-2583 แสดงให้เห็นว่า โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลกระทบเชิงนโยบายในวงกว้าง อาทิ นโยบายแรงงาน นโยบายด้านการศึกษา เป็นต้น
นอกจากผลกระทบดังกล่าวแล้ว การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 โดย “ศุภกิจ ศิริลักษณ์” ที่ปรึกษากระทรวงระดับทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินผลกระทบด้าน “สุขภาพอนามัย” ซึ่งมีความท้าทายเชิงนโยบายด้านภาระการคลังในอนาคต
เนื่องจากการประชากรที่สูงวัยขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบของความเจ็บป่วยจะเปลี่ยนแปลงไป ความชุกของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความเสื่อมถอยของอวัยวะจะเพิ่มมากขึ้น และโรคของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลระยะยาว นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลสุขภาพจะต้องเพิ่มสูงขึ้นตามการสูงวัยของประชากรด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลการคาดประมาณการประชากรของประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2553-2583 ระบุว่า ประชากรสูงอายุ 60 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8.4 ล้านคนในปี 2553 เป็น 20.5 ล้านคนในปี 2583 และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ประชากรสูงวัยอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคน เป็น 4 ล้านคน ในอีก 30 ปีข้างหน้า
ขณะที่ผลการศึกษาของศุภกิจระบุว่า มีการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในปี 2556 พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพของภาครัฐภายใต้การดูแล 3 กองทุน ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในปี 2553 เป็น 2.8% ในปี 2565
ทั้งนี้ เป็นภาระค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 0.6% ในปี 2553 เป็น 1.1% ในปี 2565
อนึ่ง ข้อสมมติฐานดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ถ้าระบบบริการสุขภาพภาครัฐของไทยยังมีการดำเนินการในการตั้งรับและแยกส่วนเช่นลักษณะในปัจจุบัน คือมีระบบประกันสุขภาพ 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โดยทั้ง 3 กองทุนยังมีความเหลื่อมล้ำ ระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุนมีแหล่งที่มาของการคลังสุขภาพ ชุดสิทธิประโยชน์ จำนวนเงินที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และวิธีการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลต่างกัน รวมทั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพ และคุณภาพการรักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ที่ประชาชนได้รับระหว่าง 3 กองทุน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปีสำหรับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสูงเป็น 4 เท่าของสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับประมาณการค่าใช้จ่ายในการบริการสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุของกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐในปี 2565 คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% (0.8-1.5%) ของจีดีพี จาก 0.64% ในปี 2553 ขึ้นกับการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น แนวทางลดค่าใช้จ่ายสุขภาพต่อหน่วย และการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสุขภาพของประชาชน
โดยมีข้อมูลชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นตามลักษณะอายุ โดยจะสูงในช่วงวัยแรกเกิด จากนั้นจะลดต่ำลงในช่วงหนุ่มสาว แล้วจะกลับสูงในวัยกลางคน และสูงที่สุดในวัยสูงอายุ โดยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มอัตราการใช้บริการ อัตราค่าบริการและค่ายา ขณะที่โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ภาวะสูงอายุมีผลบ้างแต่ไม่มากนัก
แต่ประเด็นสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเกิดจากปัจจัยร่วมที่สำคัญ 2 ปัจจัย คือ ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่สูงขึ้นตามอายุ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ “ก่อนการเสียชีวิต”
โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนตลอดช่วงอายุขัย “กระจุกตัว” อยู่ที่ระยะเวลาก่อนเสียชีวิต โดยไม่เกี่ยวกับกว่าจะเสียชีวิตอายุเท่าไร แต่การที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุสูงกว่ากลุ่มอื่นนั้นเกิดจากประชากรกลุ่มนี้มี “โอกาส” เสียชีวิตในช่วงอายุนั้นสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น จึงมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก่อนการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอายุอื่น
นี่คือสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ
และบทเรียนจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีผู้สูงอายุกว่า 20% ในปัจจุบัน ทำให้มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงถึง 204% ในปี 2555 แต่ไม่มีปัญหาเพราะหนี้ทั้งหมดเป็นการกู้ในประเทศญี่ปุ่นเอง
สำหรับประเทศไทยจะเป็นอย่างไรนั้น รายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 สรุปทิ้งท้ายว่าต้องระลึกเสมอว่า
“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ประชากรวัยแรงงานสูงที่เรียกว่า “ระยะปันผลประชากร” (population dividend) มีทรัพยากรมากพอ หากเลยเวลานี้ไป ประเทศก็จะมีความยากลำบากและอาจถึงจุดที่ไม่ทันการณ์ (point of no return)”