ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (3) : เสี่ยงขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ

โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (3) : เสี่ยงขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพ

14 กันยายน 2013


การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรไทยอย่างรวดเร็วของไทย โดยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ( aging society) ตั้งแต่ปี 2547 และก้าวเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าประเทศในอาเซียนประมาณ 20 ปี

ขณะที่อัตราการเจริญพันธ์ลดต่ำลง ทำให้เด็กเกิดน้อย และยังเป็นการเกิดน้อยที่มาจาก แม่วัยใสที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ ซึ่งในอีก 30 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าประชากรวัยทำงานต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เรื่องผลิตภาพแรงงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้ว่าจำนวนแรงงานจะลดลง แต่ถ้าเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพ มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลในการทำงานมากขึ้น ความกังวลเรื่องภาระการเลี้ยงดูผู้สูงอายุก็ไม่น่าห่วงมากนัก แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและน่าเป็นห่วงในระยะยาว คือ เรากำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนทั้งปริมาณ และคุณภาพแรงงาน

จากข้อมูลภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งรายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีเรื่องหนึ่งกล่าวถึง “ความท้าทายของประเทศไทยในการเตรียมกำลังแรงงานเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอันเนื่องจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งมีบางประเด็นที่น่าใจเกี่ยวกับปัญหาแรงงานคือ

1.กำลังแรงงงานกลุ่มเยาวชน ( อายุ 15-24 ปี) มีสัดส่วนลดลงจาก 53.1% ในปี 2544 เป็น 46.8% ในปี 2555 หรือมีประมาณ 4.82 ล้านคน เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2513-2533 ประกอบกับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามีมากขึ้น ทำให้การเข้าสู่กำลังแรงงานของกลุ่มเยาวชนมีจำนวนลดลง

ทั้งนี้ ข้อมูลผลการคาดการประชากรของไทยปี 2553-2583 ระบุว่า อัตราเจริญพันธุ์รวมหรือจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อสตรีคนหนึ่งตลอดวัยเจริญพันธุ์เคยสูงมากถึง 6.3 คน ก่อนมีโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติในปี 2513 หลังจากนั้นได้ลดลงเหลือ 1.6 คนในปัจจุบัน

ภาวะเจริญพันธ์ที่ลดลงทำให้อัตราการเพิ่มประชากรลดลงตามไปด้วย โดยอัตราเพิ่มประชากรที่เคยสูงมากเกินกว่า 3% ต่อปีเมื่อปี 50 ปีก่อน ได้ลดลงเหลือเพียง 0.5% ในปัจจุบัน

2.กำลังแรงงานกลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับต่ำ

67.9% มีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า
18.8% มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย
5.7% มีการศึกษาระดับ ปวช.
3.9% มีการศึกษาระดับ ปวส.
3.7% มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและมากกว่า

ระดับการศึกษาของแรงงานกลุ่มเยาวชน (15-24 ปี)

โครงสร้างการศึกษาของแรงงานดังกล่าว สะท้อนถึงโครงสร้างกำลังแรงงานในอนาคตที่ยังไม่สามารถยกระดับไปสู่การมีทักษะแรงงานที่สูงขึ้นได้ ที่สำคัญกังแรงงานระดับ ปวช. ปวส. ซึ่งตลาดแรงงานมีความต้องการสูง แต่มีสัดส่วนการศึกษาค่อนข้างต่ำมาก

3.ความไม่สอดคล้องระหว่างการศึกษาของแรงงานและความต้องการของตลาด ทำให้ไม่สามารถดึงศักยภาพของแรงงานมาใช้ได้อย่างเต็มที่และเกิดการสูญเสียต้นทุนทางสังคม เห็นได้จากการว่างงานทั้งในระดับการศึกษาและสาขาการศึกษา โดยการว่างงานตามระดับการศึกษาในปี 2555 พบว่า

10.8% เป็นการว่างงานในระดับอุดมศึกษา
5.7% เป็นการว่างงานในระดับ ปวส.
2.8% เป็นการว่างงานในระดับ ปวช.
2.3% เป็นการว่างงานในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
1.9% เป็นการว่างงานในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
1.7% เป็นการว่างงานในระดับประถมศึกษา

การว่างงานในระดับการศึกษาต่างๆ นั้น สะท้อนถึงโครงสร้างการผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และใช้กำลังแรงงานเป็นหลัก

4.การขาดทักษะในการทำงาน และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของแรงงานกลุ่มเยาวชน

โดยแรงงานอายุ 15-18 ปี ซึ่งหลุดจากระบบการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็ว ทำให้ขาดทักษะทั้งด้านความรู้พื้นฐานและวิชาชีพ ประกอบกับก่ำกึ่งของวัยอาจทำให้ขาดวุฒิภาวะในการทำงาน เช่น ความรับผิดชอบ ความอดทน และความใส่ใจในการทำทานมีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนงานบ่อย และขาดการต่อยอดประสบการทำงาน

ขณะที่แรงงานอายุ 19-24 ปี เป็นกลุ่มที่จัดอยู่ใน Generation-Y (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 2523-2538) หรือ Millennials มีทัศนคติเรื่องความสมดุลนชีวิตและการทำงาน มีความมั่นใจและเป็นตัวของตัวเองสูง และมีความคิดสร้างสรรค์ แต่มักมีความอดทนต่ำ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ไม่ฟังคำสั่ง ทำให้ขาดทักษะในการทำงานเป็นทีม ขาดการทุ่มเทเวลาในการทาน และเปลี่ยนงานบ่อย

สศช. สรุปว่า จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น ชี้ความเสี่ยงที่กำลังแรงงานหลักในอนาคตส่วนใหญ่จะยังคงเป็นแรงงานทักษะต่ำ โอกาสการเคลื่อนย้ายไปสู่สาขาการผลิตที่มีผลิตภาพสูงมีน้อย และมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของรายได้และขาดความมั่นคงในอาชีพ

เพราะฉะนั้น ปัญหาแรงงานทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ น่าจะเป็นโจทย์ใกล้ตัวที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว