จากข่าวตอนที่แล้ว โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้า (1) ได้พยายามชี้ประเด็นให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ อัตราการเกิดน้อยลง แต่ผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน และเป็นโจทย์ท้าทายประเทศไทย
โจทย์แรกที่ภาครัฐและภาคเอกชนมองเป็นเรื่องใกล้ตัวและให้ความสำคัญกันมากที่สุดคือ “แรงงาน” เพราะเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมีข้อมูลสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้วิเคราะห์ “ข้อจำกัดด้านแรงงานต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศไทยอยู่ใน “ภาวะกำลังแรงงานเติบโตช้า”
คือโดยเฉลี่ยเพียง 1.9% ต่อปีในช่วงปี พ.ศ. 2543-2553 เทียบกับ 2.4% ต่อปีในช่วงปี พ.ศ. 2529-2539
และข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2583 โดย “คณะอนุกรรมการคาดประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583” พบว่า “สัดส่วนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง”
คือจาก 67% ในปี 2553 เป็น 55.1% ในปี 2583
ข้อมูลทั้งสองแหล่งระบุตรงกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้กำลังแรงงานเติบโตช้า และสัดส่วนประชากรในวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง มาจากอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดจำนวนบุตรเฉลี่ยต่อหญิง 1 คนในวัยเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.6 คน และในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2583 จำนวนบุตรเฉลี่ยต่อหญิง 1 คน จะลดลงอยู่ที่ 1.3 คน ส่งผลให้ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานขยายตัวน้อย
นอกจากนี้ ในรายงาน “การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลการคาดประมาณประชากรของไทย พ.ศ. 2553-2583” ได้ระบุถึงผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการคาดประมาณการความต้องการแรงงาน พบว่า
ความต้องการแรงงานโดยรวมในปี 2565 จะมีสูงถึง 48.9 ล้านคน แต่อุปทานแรงงานมีเพียง 41.8%
หรืออีกนัยคือมีอุปสงค์ส่วนเกินประมาณ 7.1 ล้านคน ซึ่งหมายถึงว่า จำนวนแรงงานมีไม่เพียงพอกับความต้องการ
เพราะฉะนั้น ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิด “วิกฤติขาดแคลนแรงงาน”
อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานต่างด้าวจากประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงานก็เป็นวิธีการหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันก็ดำเนินการอยู่แล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยสำรวจผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวในปี 2555 พบว่า 54% ของผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามนั้น จ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อแก้ปัญหาด้านขาดแคลนแรงงาน
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมามีแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก เป็นเพราะค่าจ้างแรงงานรายวันของไทยสูงกว่า 3 เท่าของค่าจ้างแรงงานในประเทศลาว และกัมพูชา รวมถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ยังคงดึงดูดให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกด้วย
แต่มีข้อสังเกตว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 จะทำให้เกิดการค้าและการลงทุนขนาดใหญ่ อาจส่งผลให้แรงงานบางส่วนกลับบ้านและเคลื่อนย้ายกลับประเทศเพราะค่าแรงอาจปรับสูงขึ้น ประกอบกับความยากลำบากและซับซ้อนในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานข้ามชาติกลับประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องมีแนวทางบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ดีและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เมื่อกำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลง และผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น มีอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงของ “อัตราส่วนการพึ่งพิง” ซึ่งหมายถึง อัตราส่วนระหว่างประชากรวัยเด็กและประชากรวัยสูงอายุต่อประชากรวัยทำงาน 100 คน
โดยในปี พ.ศ. 2553 ประชากรวัยทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูเด็ก 0.3 คน และผู้สูงอายุ 0.2 คน
แต่ในปี พ.ศ. 2583 อัตราส่วนพึ่งพิงเพิ่มขึ้นเป็นประชากรวัยทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 0.6 คน
และประชากรวัยทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงดูวัยเด็ก 0.2 คน
เพราะฉะนั้น โครงการสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในที่สุด
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทย “การขาดแคลนแรงงานของไทย: ปัญหาโครงสร้างที่ต้องแก้ไขแบบบูรณาการ” และ “ทีดีอาร์ไอ เสนอมาตรการ “3 : เลิก เร่ง รุก โล๊ะ” คุมต่างด้าวยั่งยืน”