ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดน่านอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ทวงห่วงใยและทรงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ให้คืนสู่สมดุลโดยรวดเร็ว จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกันในการจัดประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 โดยพระองค์เสด็จมาเป็นองค์ประธานงานเสวนา ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
ผู้ร่วมเสวนา “รักษ์ป่าน่าน” ได้แก่ ศจ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พลโท ภาณุวัชร นาควงษม์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกิจการพลเรือน, นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน, พระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาสและเจ้าคณะอำเภอสันติสุข ดำเนินรายการโดยนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
นายภิญโญกล่าวว่า การบรรยายของนายบัณฑูร บอกว่าทุกคนที่มารวมกันอยู่ ณ ที่นี่มีความตั้งใจดีๆ ทั้งนั้น แต่ทว่าสอบตกเพราะว่าตัวเลขป่าหายไปจำนวนมาก ก็ขอเริ่มที่ฝ่ายทหารก่อนว่าทำไมทำกันขนาดนี้แต่ยังสอบตก (ป่าไม้ถูกทำลายมากขึ้น)
กองทัพบกเป็นผู้ช่วยรักษาป่า
พลโท ภาณุวัชรกล่าวว่า หากตอบในเชิงบวก กรณีที่ไม่สำเร็จเพราะพื้นที่ถูกทำลายมาก การปลูกซ่อมยังมีน้อย และป่าที่ปลูกไปแล้วยังไม่โต หากตอบในเชิงลบ คือแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ต่างคนต่างทำ ไม่มีแผนรองรับ ไม่บูรณาการ แต่จะตอบบวกหรือลบก็ตาม ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะทำไม่ได้ สิ่งที่เราควรจะทำต่อไปคือเรื่องปลูกจิตสำนึก
ที่ผ่านมาเราประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนร่วมกันปลูกป่า แต่ผมว่าต่อไปนี้เราต้องเปลี่ยนแนวประชาสัมพันธ์ใหม่ สุภาษิตจีนบอกว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา เราจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนรักษาป่า ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ขณะนี้ ภัยพิบัติมหันต์ในปีนี้คือภัยแล้ง ส่วนภัยที่สองกลับกัน น้ำมากเกิดอุทกภัย ปลายปีที่แล้วจังหวัดปราจีนบุรีน้ำท่วมมาก แต่เชื่อไหมว่าวันนี้ปราจีนบุรีประกาศเป็นจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง นั่นคือไม่มีน้ำ นี่คือเรื่องใกล้ตัวที่สุด
เมื่อก่อนเราบอกว่าป่าหมด คนภาคเหนือก็รับไป คนภาคกลางไม่เกี่ยว โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ปัจจุบันน้ำประปาเริ่มเค็ม คนกรุงเทพฯ ทุกข์ที่สุด ถ้าไม่มีป่า ไม่มีน้ำ
คนเฒ่าคนแก่เคยบอกว่าคนทั้งประเทศกำลังรับชะตากรรม ป่ามีรุกขเทวดา มีนางไม้อยู่ คนตัดป่าทำให้ท่านไม่มีที่อยู่ นั่นคือกรรม ไม่มีน้ำกิน แต่กรรมยังไม่หมด นอกจากไม่มีน้ำกินแล้ว น้ำที่มีอยู่ก็กินไม่ได้ เพราะคนมีความโลภ ปลูกพืชผักใส่ยาฆ่าแมลงไป
สำหรับกองทัพบกไม่มีหน้าที่ปลูกป่า แต่มีภารกิจทางอ้อม เป็นผู้สนับสนุน โครงการที่ทำคืองานในโครงการพระราชดำริ มี 130 กว่าโครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาคน การส่งเสริมอาชีพ และปี 2550 กองทัพบกทำเอ็มโอยูกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ในการดูแลป่าในพื้นที่ตามชายแดนเป็นหลัก โดยนำแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ คือ 1. การปลูกป่าในใจคน ต้องสร้างจิตสำนึก ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ 2. การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก อย่าเผาป่า ทำเขตกันไฟ สร้างป่าเปียก หากทำแบบนี้ป่าเกิดแน่นอน 3. เมื่อมีความพร้อม ก็ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ลงมือปฏิบัติ
ทั้งนี้ โครงการที่ทหารได้ทำไป ได้แก่ บ้านเล็กในป่าใหญ่, โครงการธนาคารอาหารชุมชน, ทำให้ป่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต, สร้างฝายชะลอน้ำ, ขุดลอกคูคลอง, โครงการปลูกป่าต้นน้ำเฉลิมพระเกียรติ, โครงการครอบครัวต้นไม้ และทำโครงการปลูกผืนป่าอาเซียนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านตามเขตแดนแล้วช่วยกันดูแล เพื่อเปิดประตูเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ส่วนแนวทางที่จะทำให้การรักษาป่าต้นน้ำประสบความสำเร็จ คือ 1. หน่วยที่รับผิดชอบ ทั้งอุทยาน กรมป่าไม้ กรมที่ดิน ต้องเข้าใจเรื่องการจัดการพื้นที่ 2. มีงานวิชาการ งานวิจัย ทั้งในเรื่องดิน น้ำ พืชพันธุ์ 3. งบประมาณ 4. คน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ มีนายอำเภอ มีกำนัน มีผู้ใหญ่บ้าน พี่น้องชาวบ้าน และองค์กรส่วนท้องถิ่น ที่ต้องทำงานร่วมกัน สามัคคีกัน จึงจะประสบความสำเร็จได้
สร้างเมืองน่านน่าอยู่คู่ป่าต้นน้ำ
ในคำถามเดียวกัน นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า สิ่งที่ผมพูดกับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ว่าทำไมคนน่านจึงปล่อยให้น่านเป็นมะเร็งระยะที่สองและเข้าสู่ระยะที่สาม เมื่อผมได้พบกับคุณบัณฑูรและบอกว่าคุณบัณฑูรได้ทำให้คนทั่วประเทศรู้จักน่านในภาพเชิงบวกมาแล้ว ผมก็ได้ขอให้คุณบัณฑูรกลับมาทำให้ “สิเนหามนตาแห่งลานนา รุ่งราตรีกลับมารอบที่สอง” ทำให้คนทั้งประเทศมาช่วยทำให้น่านหายป่วยมะเร็งได้ไหม และวันนี้ (งานสัมมนาวิชาการ “รักษ์ป่าน่าน”) คุณบัณฑูรได้ทำแล้ว
เมื่อ 20 ปีที่แล้วมีโครงการ “น่านเขียวขจี” และเมื่อ 30 ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา จังหวัดน่านมีมติร่วมกัน “สร้างเมืองน่านน่าอยู่คู่ป่าต้นน้ำ” หากป่าต้นน้ำหายไป ความน่าอยู่มันจะเหลือได้อย่างไร จังหวัดน่านไม่ได้เป็นป่าต้นน้ำน่านอย่างเดียว แต่อีก 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ สองแคว ที่ตำบลยอด เป็นยอดของแม่น้ำยม, ที่อำเภอท่าวังผา เป็นส่วนหนึ่งของยอดแม่น้ำยม และที่อำเภอบ้านหลวง นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำยม
เพราะฉะนั้น น่านเป็นป่าต้นน้ำของสองแม่น้ำ คือลุ่มน้ำยมและน่าน
การแก้ปัญหาต้องสำรวจแนวเขตที่ดินทำกินและกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน ทุกอำเภอทำพร้อมกัน สำรวจพื้นที่ แนวป่าอุทยาน แนวป่าสงวน แนวป่าต้นน้ำ แนวป่าเสื่อมโทรม สำหรับแนวป่าเสื่อมโทรมเรามาร่วมกันทำเป็นป่าชุมชนว่าแนวนี้เป็นพื้นที่ทำกิน ที่เราก็จะไปช่วยและสร้างเครือข่ายกับองค์กร มูลนิธิ พี่น้องชาวบ้าน พร้อมปลูกฝังเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของชุมชน โดยทำให้เขาเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เมื่อชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้าใจภูมิสังคมของตัวเอง พูดภาษาเดียวกัน สิ่งที่ตามมาคือการลงมือทำร่วมกัน
ถ้าเราทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน มองเป็นระบบ สร้างป่าในใจคน เพระเราเชื่อว่าคนหิวป่าหาย จากข้อมูลปี 2548 ปลูกข้าวโพด 300,000 ไร่ ปลูกยางไม่ถึงแสนไร่ ปี 2556 ปลูกข้าวโพด 800,000 ไร่ ปลูกยางร่วม 3 แสนไร่ ซึ่งอย่าไปโทษใคร เพราะเรายังมีปัญหาอื่นๆ อีก แต่หากสร้างจิตสำนึกได้ เข้าใจร่วมกันก็จบ
และเสวนาในวันนี้จังหวัดจะนำไปทำแผนยุทธศาสตร์ สิ่งที่บอกว่าต้องลงมือทำเลย สิ่งสำคัญคือการบูรณาการต้องไร้ตะเข็บ หากเรายึดตัวตน ยึดติด มองว่าตรงนั้นมีคนสนับสนุน ตรงนี้ขาดแคลน งานจบ ดังนั้นงานบูรณาการไร้ตะเข็บคือสิ่งที่บอกว่าต้องมีเจ้าภาพ ให้หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด วันนี้มีคนมาร่วมฟังเสวนา 1400 คน อยากฝากว่า “ใช่หวังเพียงเฟื่องฟุ้ง จึงได้มุ่งเป็นนักพัฒนา ใช่หวังเพียงเกียรติเงินตรา เพื่อนำมาแผ้วถางทาง แท้จริงหมู่มวลมิตร พึงได้คิดสักนิดบ้าง การพัฒนาคือแนวทาง การสรรสร้างสุขมวลชน”
นโยบายทางการปู้ยี่ปู้ยำป่าเมืองน่าน
ขณะที่พระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาสและเจ้าคณะอำเภอสันติสุข ตอบคำถามที่ว่าทำไมป่าหายไปจากเมืองน่าน และจะทำอย่างไรให้ป่ากลับมา
พระครูพิทักษ์นันทคุณกล่าวว่า ขอถวายพระพร ขอเจริญพรทุกท่าน จากการถอดบทเรียนของเครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน ประชาคมเมืองน่านร่วมกันวิเคราะห์มาตลอด ไม่น้อยกว่า 10 ปี สามารถแบ่งเป็น 3 ระยะ
ช่วงที่ 1 ราว 40 ปีมาแล้ว ตอนนั้นอาตมายังเด็ก นโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาลต้องการงบประมาณมาบริหารประเทศ เปิดให้ประมูลป่าทั่วบ้านทั่วเมือง นายทุนเข้ามาสัมปทาน อาตมาวิ่งเล่นบนกองซุงที่บ้านเกิด ชาวบ้านเห็นว่าป่าเป็นของหลวงจะเอาไปไหนก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ ไม่มีคนต่อต้านหรอก แต่มีกลุ่มเดียวคือกลุ่มบ้านหลวงหวงป่า อำเภอบ้านหลวง ลุกขึ้นมาต่อต้าน ต่อสู้นายทุน คนบ้านหลวงห้ามเอาไม้ออกจากป่าจำนวน 5 พันกว่าท่อน ปล่อยให้เน่าอยู่ในป่านั่น มีเพียงกลุ่มเดียวที่ต่อต้าน หากใครต้องการรายละเอียดให้ตามไปค้นหาความจริงที่บ้านหลวงได้
เมื่อมีการสัมปทานป่า รถเกรด รถไถ เข้าป่าเป็นขบวน ช้าง 20-30 เชือก ขนเข้าป่า ชักลากไม้ออก พื้นที่ตรงนี้หมด ก็ย้ายไปเรื่อยๆ ทั่วเมืองน่าน พอบริษัทสัมปทานออกไป นายทุนย่อยเข้าไปอีก จ้างชาวบ้านเข้าไปตัด ขนไม้ออกไปขาย นี่เป็นประเด็นแรกที่ทำให้ป่าลดลง แต่ไม่มากนัก
ต่อมายุทธศาสตร์ปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทำถนนสายยุทธศาสตร์เส้นเขาต่างๆ ไปรอบเมืองน่าน ป่าก็เสียหาย ต่อมามีพี่น้องอพยพมาจากต่างถิ่น เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อพยพชนเผ่าเหล่านี้มารวมในศูนย์ เมื่อคนจำนวนมากไปอยู่ในศูนย์ ความจำเป็นในการใช้พลังงาน ไฟ ฟืน มีเยอะ ต้องเข้าป่าตัดไม้มาทำฟืน ป้อนให้กับศูนย์อพยพ ต่อมามากันเยอะจนล้นศูนย์ ต้องย้ายไปตามแนวตะเข็บชายแดน ให้เขาอยู่ตรงนั้น เป็นหมู่บ้านกันชน พี่น้องเหล่านั้นก็เกิดลูกเกิดหลาน เต็มยอดเขาไปหมด ก็ต้องบุกรุกทำลายป่า ทำเกษตร ทำมาหากิน ไม่ให้เขาทำไม่ได้ เพราะโยกย้ายเขาอยู่ตรงนั้น นั่นคือยุค 40-50 ปี ที่เป็นแบบนั้น
ช่วงที่ 2 เริ่มมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง เข้าสู่เมืองน่าน นี่แหละ นโยบายน่านเขียวขจี อาตมาว่าดีนะ หากเอามาฟื้นฟูใหม่ ตอนนั้นผิดพลาดที่มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกสักทอง ยูคาลิปตัส และมีไม้ผลบางส่วน เอามะม่วงพันธุ์ไปปลูกในป่า มันไม่ได้ผลหรอก เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ก็น่าเสียดาย ท่านมีนโยบายว่า 5 ปีรวยๆๆ ป่าเก่าๆ เป็นเงินเป็นทอง ต้องตัดมันลงแล้วปลูกป่าเศรษฐกิจลงไป ปรากฏว่าบนเขาเต็มไปด้วยสักทองดังที่เห็น และมีการออกสินเชื่อเอื้ออาทรให้เกษตรกรไปซื้อเครื่องจักร เครื่องมือเกษตรที่ทันสมัย มีการขนปุ๋ยขนยาฆ่าแมลงยาฆ่าหญ้ามาที่น่านมากขึ้น และมีการส่งเสริมสนับสนุนทุกด้านแบบครบวงจร
นโยบายประชานิยม ใครเป็นตัวแทนพรรคไหนฟังไว้หน่อย เป็นตัวที่ทำลายป่านะ ไปสนับสนุนไปส่งเสริมประกันราคาพืชผล จำนำพืชผล โอ้…คนเฮโลขึ้นเขา ล้มป่าเพื่อปลูกพืชผล มันมีแต่ได้กับได้ ไม่มีเสีย ปลูกแล้วแล้งก็ได้ น้ำท่วมก็ได้ ลมพัดล้มก็ได้ นี่แหละ อันตราย ต้องระวัง ขอฝากไว้
ในช่วงสุดท้าย ช่วงปัจจุบันนี้ยิ่งหนักกว่าเดิม เพราะนโยบายสร้างถนนเข้าสู่พื้นที่เกษตร อาตมาไม่ได้โจมตีนายก อบต. นายกเทศมนตรีทั้งหลายหาเสียงมาตลอดว่าจะสร้างถนนเข้าสู่พื้นที่เกษตร ปรากฏว่ามันไม่ได้เข้าสู่พื้นที่เกษตรทั้งหมด ตรงไหนมีป่ามันเข้าตรงนั้น ที่บ้านอาตมามีเขาอยู่ลูกหนึ่ง อุดมสมบูรณ์มาก มีทางเข้าทางออกทางเดียว ไม่สะดวก เดี๋ยวนี้ถนนเข้าสู่พื้นที่ทำกิน ปรากฏว่าภูเขาทั้งลูกหมดเลย เพราะถนนออกได้ทุกด้าน ดังนั้น จะทำอะไรต้องระวังหน่อย ต้องมีความรับผิดชอบ อาตมาติงมาตลอด อย่าไปโยนบาปให้ชาวบ้าน ว่าชาวบ้านต้องการ ชาวบ้านอยากได้ แต่งบประมาณอยู่ที่ อบต. อบจ. ท่านเป็นผู้ออกนโยบายและส่งเสริม ดังนั้นอย่าไปสร้างตราบาปให้สิ่งแวดล้อม อันนี้อาตมาขอฝาก
นอกจากนั้น ตอนนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ เงินทุนเยอะ เข้ามากว้านซื้อภูเขาเมืองน่าน เพื่อเข้ามาปลูกพืชปลูกผลไม้เพื่อป้อนให้กับโรงงานตัวเองมากขึ้น นายทุนนักเก็งกำไรทยอยเข้ามาเมืองน่าน ซื้อที่ดิน ซื้อเขา ซื้อป่า นำมาจัดสรรขาย นอกจากนี้มีเกษตรกรต่างถิ่นเข้ามาเมืองน่าน ซื้อที่ดินปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น โดยเฉพาะนักการเมืองระดับชาติ เดี๋ยวนี้ผันตัวเองมาเป็นนักสะสมที่ดินมากขึ้น บางคนมีเป็นพันไร่ หมื่นไร่ ใครฟังอยู่ อาตมาขอบิณฑบาตให้ลดน้อยหน่อย ยังไงท่านไม่อยู่ถึง 100 ปีหรอก
ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ อนาคตที่ดินเมืองน่านจะอยู่ในกำมือของคนไม่กี่คนหรอก อาตมาเชื่อแน่ อันนี้ไม่เกี่ยวกับบ้านเจ้าสัวนะ (หัวเราะ) เพราะบ้านเจ้าสัวเป็นสวนสัตว์ร้าง เขาทิ้งแล้ว อาตมาไปดูแล้ว ไม่เกี่ยวกับการบุกรุกป่าแต่ประการใด ต่อไปก็จะมีสนามกอล์ฟ รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ และมีอะไรเข้ามาอีกมากมาย เหมือนเมืองปาย ตอนนี้คนปายหายเข้าป่าหมดแล้ว ที่เห็นสลอนอยู่นั่นเป็นคนที่อื่นหมด ต่อไปคนน่านจะหนีเข้าป่าหมด เพราะขายที่ขายทางให้คนที่อื่น แล้วจะทำอย่างไร
ในเมื่อเรารู้ที่มาของป่าเมืองน่านมันหมด ต่างฝ่ายก็รุมปู้ยี่ปู้ยำ แล้วเราจะหาทางออกอย่างไร ที่ผ่านมาเราพยายามหาทางออก เราพยายามรวมกลุ่มคนเมืองน่าน จากกลุ่มเล็กๆ มีพระสงฆ์ องค์กรพัฒนาเอกชน ข้าราชการ ผู้นำชุมชน รวมตัวกันตั้งชื่อว่ากลุ่มฮักเมืองน่าน ตั้งแต่ปี 2530 ออกรณรงค์ชักชวนชักจูง ปลูกฝังให้คนดูแลป่า ใครที่อยู่ใกล้ป่าให้ดูแลป่า ใครอยู่ใกล้น้ำให้ดูแลรักษาน้ำ พระเอากิจกรรมทางศาสนาพิธีกรรมเข้าไปเสริม ชวนเขาบวชป่า ตั้งกองทุนดูแลป่า ถวายทานผ้าป่าต้นไม้ ชวนสืบชะตาแม่น้ำ ถวายทานผ้าป่าพันธุ์ปลา อนุรักษ์แม่น้ำ
“มาจนถึง ณ วันนี้ ก็สามารถรวบรวมป่าชุมชนได้ 300 กว่าป่า พื้นที่อนุรักษ์วังปลาทั้งน้ำน่าน ห้วยเล็กห้วยน้อย ไม่น้อยกว่า 200 เราทำได้แค่นี้แหละ”
แหล่งทุนเข้าถึงไหน ป่าไม้ย่อยยับอับปางถึงที่นั่น
แต่เราจะทำอย่างไรให้ป่าเมืองน่านมันฟื้น อยากเสนอว่า เครือข่ายเมืองน่านที่มีอยู่ในเมืองน่าน ไม่ว่าเครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน เครือข่ายทหารที่สนับสนุน เครือข่ายเทศบาล อบต. อบจ. ที่มีอยู่ เครือข่ายของหน่วยที่จัดการต้นน้ำ เครือข่ายป่าชุมชนของป่าไม้ และเครือข่ายของป่าชุมชนโครงการปิดทองหลังพระ เราเอาทุกเครือข่ายป่าชุมชนมารวมกันไม่ดีหรือ
ที่ผ่านมาเมื่อเครือข่ายไหนเข้มแข็ง มีพลังกว่า ก็มีงบเข้ามาบริหาร ดูแลดี เครือข่ายไหนที่อ่อนแอ ปล่อยให้ไฟไหม้ อาตมาไปเจอ ถามว่าทำไมไม่ดับไฟล่ะ เขาบอกว่าไม่มีงบ พอไม่มีงบปล่อยให้ไฟไหม้ป่าเลย ที่ผ่านมาก็ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ตลอด เพราะเราไม่ได้เอื้อต่อกันและกัน ปล่อยตามยถากรรม อยากให้ทุกเครือข่ายป่าชุมชนมารวมตัวกัน ผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไม่ต้องกลัวว่ายกป่าให้ชาวบ้านดูแลแล้วป่าจะหาย ไม่หายหรอก เพราะในเมื่อเขารวมตัวกันเป็นเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด เขามีพี่เลี้ยงมาดูแล มีงบประมาณมาบริหาร เครือข่ายไหนที่เข้มแข็งไปเป็นพี่เลี้ยงเครือข่ายที่อ่อนแอ ช่วยกันสนับสนุนส่งเสริม
และขอเสนอให้มูลนิธิกสิกรไทยตั้งสถานีวิทยุชุมชนคนฮักป่าเมืองน่าน เอาแต่ละเครือข่ายป่าชุมชนมาออกวิทยุทุกวัน ตัวเองมีกิจกรรมอะไร ติดตามผล หรือมีเรื่องอะไรที่ขอความช่วยเหลือ เครือข่ายก็ลงไปช่วยกัน แล้วก็ถ่ายทอดแนวคิด ปลุกจิตสำนึกไปสู่เยาวชน โดยเฉพาะสถานศึกษาต่างๆ ต้องหนึ่งโรงเรียนหนึ่งป่าชุมชน ต้องทำให้เกิด และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาในจังหวัดน่าน 15 โรง อาตมากำลังเสนอโครงการจัดธรรมยาตราป่าชุมชน ให้พระเณรออกเดินธุดงค์เข้าไปในแต่ละป่าชุมชน ป่าไหนไม่มีก็ไปปลุกจิตสำนึกให้เข้าช่วยกันลุกขึ้นมาคืนผืนป่าให้กับหมู่บ้านกับชุมชนบ้าง ใครที่มีที่ดินเยอะๆ ขอฝากอธิบดีกรมป่าไม้ด้วย เพราะจากที่อ่านข่าวทราบว่าท่านกำลังเก็บข้อมูลป่าไม้ทั่วประเทศไทย และเจอหลายจังหวัดว่าออกเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐสมรู้ร่วมคิดกับนายทุน ขอให้ท่านมาเก็บข้อมูลที่เมืองน่านหน่อยนะ
นอกจากนั้น อยากให้ส่งเสริมเครือข่ายที่ดินภาคประชาชนให้มีพลัง กลุ่มนี้เขาไม่เข้าพรรคไหน ไม่เข้าสีไหน เขาได้เก็บข้อมูลติดตามแผ่นดินเมืองน่านว่าไปอยู่ในมือของใครเท่าไหร่ ถ้าเยอะเกินไปก็ขอคืนเอามาเป็นป่าชุมชน เสริมพลังให้กับเครือข่ายทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภาคประชาชน ปัจจุบันนี้เขามีอาสาสมัครมาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม
“ส่วนมูลนิธิฮักเมืองน่าน ตอนนี้เริ่มอ่อนแรงแล้วนะ ที่ผ่านมาใช้งบหลวงตลอด คืองบหลวงพ่อ เดี๋ยวนี้หลวงพ่อไม่มีงบแล้ว อยากให้อาสาสมัครมาช่วยกันต่อยอด เพื่อให้เดินต่อกันไปได้”
และขอให้ช่วยกันขยายโครงการหลวง โครงการปิดทองหลังพระเยอะๆ อาตมาเห็นด้วยถ้าจะมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด ที่ปลูกบนยอดเขาไม่ได้ ปลูกแล้วไม่ได้ผล ปลูกแล้วมันล้ม แต่อย่าเพิ่งทำตอนนี้เดี๋ยวชาวบ้านจะแขวนคอตาย
อาตมาเห็นด้วยกับการไม่รับซื้อพืชเกษตรที่มาจากยอดเขาสูง ป่าต้นน้ำ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนั้น อาตมาอยากให้ทุกท่านลุกขึ้นมาทำจริงทำจัง ไม่ใช่ว่าพอพระองค์จะเสด็จแล้วรีบไปเอาภาพไหนไม่รู้มาจัดอวด พอพระองค์เสด็จกลับแล้วหลับต่อเลย (หัวเราะ) อันนี้คือมันหลอกกันชัดๆ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ละโรงเรียนก็เหมือนกัน ที่ผ่านมาเอานักเรียนไปเดินป่ารอบสองรอบ ถ่ายรูปเอามาจัดนิทรรศการ เสร็จแล้วก็จบเลย มันไม่ได้ผลหรอก ทำอย่างนี้อีกร้อยปีก็ไม่ได้ผล
และอีกประเด็นที่อาตมาขอแสดงความเป็นห่วงนะ คือค่านิยม ขอพูดแรงๆ หน่อยนะว่าปัจจุบันนี้มีค่านิยม “การฆ่าล้างโคตร-ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เกิดขึ้น ฆ่าล้างโคตรคือเอายาไปราดรอบต้นไม้ใหญ่ให้เขายืนต้นตายและโค่นล้มลงมา ปรากฏว่ารากเหง้า ตอยังอยู่ เมล็ดพันธุ์ยังอยู่ เขาพร้อมจะเจริญเติบโต ก็เอายาฆ่าหญ้าไปราดซ้ำ ตายหมด นี่คือฆ่าล้างโคตร ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาตมายกมือไหว้ทุกครั้งเมื่อเห็นต้นไม่ใหญ่ เพราะต้นไม้เขาให้ประโยชน์ มีบุญคุณกับเรา ต่อสรรพสิ่งในโลกนี้มหาศาล แต่บางคนไปยืนมองตนไม้ใหญ่ โอ้ ต้นนี้ได้หลายหมื่นได้หลายแสน แปรรูปแล้วเราจะได้เงิน จะทำให้เรารวย ก็มีการฆ่าล้างโคตรเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ใครที่จับสัตว์ป่ามาขังกรง เป็นการจับเขามาขังคุกโดยที่เขาไม่มีความผิด ให้เลิกทำ เพราะสัตว์เหล่านั้นเขาขยายพันธุ์ต้นไม้ได้เยอะแยะ ดีกว่ามนุษย์ แต่เราจับเขามาขังกรงเป็นการไปลดบทบาทของเขา
ทั้งหมดที่พูดมา เข้าทำนองที่ว่าข้าวโพดเข้าถึงไหนภูเขาหัวโล้นที่นั่น ถนนเขาถึงไหนป่าไม้วอดวายถึงที่นั่น ตอนนี้ห้วยหนองคลองบึงเดี๋ยวนี้ตื้นเขินหมด ขุดถนนทีขยายออกข้างละ 20 เมตร แต่ราดยางจริงๆ 6-8 เมตร เนี่ย…เสียหาย ไฟฟ้าเข้าถึงไหนหนี้สินตามถึงที่นั่น สินค้าขายผ่อนขายส่งถึงหมู่บ้าน แหล่งทุนเข้าถึงไหนป่าไม้ย่อยยับอับปางถึงที่นั่น
ถวายฎีกาด้วยวาจากลางวงเสวนา
ล่าสุดชาวบ้านมาปรึกษาอาตมา เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย มีหน่วยงานราชการจังหวัดน่านได้งบมาหลายร้อยล้านจะไปสร้างอยู่ในป่า ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านอนุรักษ์มาร้อยกว่าปี หลายชั่วอายุคน ปรากฏว่าเรียกชาวบ้านมาทำประชาคมหมู่บ้าน บอกว่าถ้าท่านอนุญาตให้ผมสร้างตรงนี้ น้ำจะไหล ไฟจะสว่าง ทางเจริญ ต่อไปท่านไม่ต้องตากแดดตากฝน ไม่ต้องตรากตรำทำงานหนัก ท่านจะต้องมาเปิดโรงแรม ร้านอาหารรอบๆ สำนักงานของผม ทุกคนในหมู่บ้านท่านจะมีงานทำ ทำให้ชาวบ้านหูตูบเลย เซ็นชื่อหมดเลย เหลืออยู่ส่วนหนึ่งดอดมาหาอาตมาบอกว่าไม่เห็นด้วย ป่าเหลือยู่แค่นั้น ร้อยกว่าไร่ อนุรักษ์มาหลายชั่วอายุคน
อาตมาบอกว่าเอาอย่างนี้ อาตมาทำหนังสือถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าอาตมาขอบิณฑบาตป่าผืนนี้ เพราะเป็นป่าที่สวยมาก ตอนนี้กำลังถูกล้มเพื่อสร้างสำนักงานราชการแห่งหนึ่ง
ล่าสุด 2-3 วันที่ผ่านมามีการจัดประชาคมอีก ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยโดนขู่ว่าที่ดินตรงนี้เป็นที่สาธารณะใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างราชการกับประชาชน โดยผู้มีอำนาจครอบครองคือกระทรวงมหาดไทย เขาไปขู่ว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ ใครคัดค้านโดนจับเข้าคุกหมด ชาวบ้านมาถามอาตมาว่าโดนจับจริงเหรอ อาตมาบอกว่าไม่จริง ชาวบ้านบ่นว่ารู้อย่างนี้เอาไปปลูกยางพาราหลายปีแล้ว ไม่น่าอนุรักษ์ไว้เลย ทั้งๆ ที่ป่าแปลงที่ 1 ของหมู่บ้านนี้ถูกบุกรุกไปแล้วเป็นพันไร่ ชาวบ้านประท้วงขอคืนมาได้ 300 กว่าไร่ แต่ได้มาแบบทรุดโทรมแล้ว ชาวบ้านอยากให้ไปสร้างตรงนั้นมากกว่าพื้นที่ที่เป็นป่า อาตมาจึงถือโอกาส ขอพระราชทานวโรกาสถวายฎีกาเป็นวาจา ควรมิควรสุดแท้แต่จะโปรด
พื้นที่ดังกล่าวคือป่าชุมชนบ้านนาซาว ตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อสร้างเรือนจำและสถานพินิจ แต่ว่าอาตมาไม่เห็นด้วยเพราะเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก อยากให้ไปสร้างที่เสื่อมโทรมแล้ว ซึ่งอยู่ห่างไม่มากนัก ขอเจริญพร หากท่านผู้ว่าฯ เซ็นอนุมัติไปแล้ว ไม่เป็นไร แต่ท่านมีสิทธิ์คืนได้ ถ้าหากว่าท่านผู้ว่าฯ ยอมให้ล้มป่าผืนนี้ อาตมาคนหนึ่งล่ะที่จะลงชื่อสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดน่านคนต่อไป (หัวเราะ)
และกรณีสุดท้ายที่น่าห่วง กับคำพูดที่ว่าป่าเก่าๆ เป็นเงินเป็นทองไม่ได้ ต้องตัดมันลงปลูกป่าเศรษฐกิจลงไป อันนี้เราต้องไปทำความเข้าใจกันใหม่ ป่าเก่าๆ เป็นเงินเป็นทองไม่ได้ ต้องสร้างหน่วยงานหรือสถานที่อะไรลงไปเพื่อเก็บยอดกินไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะ อบต. เทศบาลทั้งหลาย ท่านยอมให้เขาล้มป่าเพื่อสร้างสนามกอล์ฟ ท่านจะเก็บภาษีเข้าหน่วยงานของท่าน สร้างโรงงานอุตสาหกรรมในตำบลของท่าน สร้างแหล่งอะไรสักอย่างเพื่อท่านจะได้เก็บภาษีเข้าหน่วยงานของท่าน ขอให้ท่านคิดใหม่ อย่าไปล้มป่าเพื่อเก็บยอดในด้านธุรกิจ ผลประโยชน์ แหล่งทุน อาตมาพูดไม่ได้อิจฉาใคร และไม่ได้ขัดผลประโยชน์ใคร แต่เพื่อให้ป่าเมืองน่านมันลุก
เรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ตอนนี้มีนักการเมืองระดับชาติ นายทุน เข้ามากว้านซื้อที่ดินทั้งที่ถูกต้องไม่ถูกต้อง ไปออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ทำกินของชาวบ้าน มีการฟ้องร้องกันไปหมด ห่างจากหอประชุมไม่ถึงกิโล เมื่อสามปีที่แล้วมีไก่ป่ากระรอกกระแต เดี๋ยวนี้กลายเป็นป่าข้าวโพดไปหมดแล้ว และมีชาวบ้านมาร้องไห้ว่าไม่เคยขายที่ดินให้ใครตั้งแต่ปู่ ปัจจุบันเป็นของนายทุนไปแล้ว ไม่รู้จะต่อสู้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วเมืองน่าน
สุดท้าย การที่ทุกฝ่ายทุกองค์กรมาร่วมมือทำงานกัน ต้องลดทิฐิ อย่าแย่งกันเป็นพระเอก อย่าเกี่ยงกัน อย่าระแวง ใครจะมาทำงานด้วยอย่าตั้งข้อสงสัยว่าจะมาเด็ดยอดอีกแล้ว อย่าไปคิดว่าใครจะมาเด็ดยอด ต้องคิดว่าทุกคนมาต่อยอด นับว่าโชคดีที่ได้มูลนิธิองค์กรต่างๆ มาเสริม โครงการปิดทองหลังพระ มูลนิธิกสิกรไทย และซีพีมาไถ่บาปให้คนเมืองน่านแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิต บริษัทบ้านปู ต้องมาร่วมกัน อย่าตั้งข้อรังเกียจ หากมาเกี่ยง มาระแวงกัน ไม่สำเร็จหรอก
จุฬาฯ ใช้นวัตกรรม 3 ประสาน
ส่วน ศจ.นพ.ภิรมย์ ได้กล่าวว่า ที่คุณบัณฑูรเปรียบการทำลายป่าที่น่านเหมือนกับมะเร็งและเป็นมะเร็งที่อวัยวะสำคัญของร่างกาย เพราะเป็นป่าต้นน้ำน่านที่สำคัญของน่าน หากให้ผมวินิจฉัยยังพอมีทางรักษา แต่มีข้อแม้ 4 ประการ ประการที่ 1 ต้องเป็นการรักษาที่เป็นระบบครบวงจร 2. ต้องทำเป็นทีม ร่วมกันทำ 3. ต้องมีหัวหน้าทีม
จุฬาฯ มาเกี่ยวข้องเรื่องนี้อย่างไร เมื่อ 20 ปีก่อน จุฬาฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของน่าน ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทางด้านวิชาการ เรามีที่ที่นี่คือ เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และที่อำเภอเวียงสา ด้วยจุฬาฯ มีครบทุกสาขาวิชา รวมทั้งคณะเกษตรเพิ่งก่อตั้งเป็นสำนักวิชา เทียบเท่าคณะ เรียกว่าสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร อยากจะเรียนว่าเมื่อจุฬาฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของน่าน จึงถือเป็นภาระหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบ ที่จะช่วยฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าไม้ของน่าน โดยใช้มาตรการนวัตกรรม 3 ประสาน เราใช้องค์ความรู้ของจุฬาฯ เอง จากการค้นคว้าศึกษาวิจัยและเทคโนโลยี ประสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วก็ฐานทรัพยากรที่มีคุณค่ามาก เป็น 3 ประสานที่สำคัญ และเอามาสำรวจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อทราบปัญหาและต้นเหตุของปัญหา
อย่างที่อำเภอเวียงสา เราแบ่งเป็นสองเรื่องใหญ่ คือ การรักษาป่า และการสร้างจิตสำนึก โดยเน้นเยาวชน
การรักษาป่าเราได้ทำใน 3 เรื่อง ทั้ง 3 เรื่องมีฐานการวิจัยเข้าไปสนับสนุนตลอด เรื่องแรก คือ การจัดโซนนิง พื้นที่เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการ พื้นที่ป่าไหนทรุดโทรมแล้ว หรือถ้าพื้นที่ป่าไหนที่ยังสมบูรณ์อยู่ เราจะพยายามไม่ไปยุ่งเกี่ยวให้ป่าฟื้นฟูตนเอง
เรื่องที่สอง การจัดการน้ำ ผืนดินให้ชุ่มชื้น เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์มาคืนผืนป่าอีกครั้ง ตรงนี้เราใช้หลักการของศูนย์ศึกษาของห้วยฮ่องไคร้มาเป็นต้นแบบในการดำเนินการ นำมาใช้แต่ต้องปรับโดยการทำวิจัย เพราะบางครั้งอาจไม่เหมาะกับพื้นที่ จึงต้องทำวิจัยไป ปรับปรุงไป ตอนนี้เราทำฝาย 100 ฝาย ครอบคลุมในเครือข่ายของปัญหาทั้งหมดในเขตพื้นที่ รวมทั้งการสร้างบ่อน้ำเพิ่ม หากปล่อยให้ป่าฟื้นเอง ก็พบว่าป่าฟื้นตัวได้ภายใน 5 ปี อย่างมีนัยสำคัญ
ประการที่สาม การฟื้นฟูป่าเต็งรัง การสำรวจพื้นที่ป่าไม้เวียงสา เป็นพื้นที่ที่มีเห็ดที่สำคัญมาก จากการศึกษาวิจัยพันธุ์เห็ดต่างๆ รวบรวมพันธุ์เห็ด พบว่ามีพันธุ์หนึ่งที่จะช่วยในการฟื้นฟูในการเจริญเติบโตของกล้าไม้วงยางนา เป็นกล้าไม้ป่าเต็งรัง หากไปปลูกแซม มันจะแข็งแรงทนแดดทนฝน พอต้นไม้เจริญเติบโต จะมีเห็ดเผาะที่ชาวบ้านเก็บไปกินไปขายได้ เราคิดต่อไปว่าหากเอากล้าไม้ที่ผ่านการวิจัยมาหลายไซเคิล เอาไปให้กองทัพบกไปและให้ชาวบ้านมาดูแล ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่หากมีเห็ดด้วยเขามีรายได้เพิ่ม มีกินก็มีกำลังใจในการดำเนินการ นี่เป็นความร่วมของทางวิชาการ ทหาร ชาวบ้าน ธนาคารกสิกรไทย
นอกจากนี้ การสร้างจิตสำนึก เรามีศักยภาพ เอาผลงานวิจัยมาย่อยทำเป็นระบบให้หน่วยการเรียนการสอนต่างๆ นำไปใช้สำหรับชั้นเรียนต่างๆ ขยายไปหลายโรงเรียน และมีโครงการต่างๆ เป็นระยะๆ นี่คือศักยภาพของสถาบันวิชาการที่สนับสนุนในแง่องค์ความรู้ เทคโนโลยีการวิจัย เพื่อไปสนับสนกับคนอื่นๆ โดยจุฬาฯ มีความมุ่งมั่นพัฒนาและอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำ
และสุดท้าย การทำให้สำเร็จ ต้องมีเจ้าภาพ ผมเห็นว่าจังหวัดมีความพร้อม และไม่ได้เริ่มจากศูนย์ จังหวัดมีแผนอยู่แล้ว มาช่วยให้องค์กรต่างๆ ทำให้เป็นแผนที่แพ้ไม่ได้ ปีหน้ากลับมาจะไม่สอบตก ด้วยความสุข
ดูวีดิโอเสวนารักษ์ป่าน่าน