ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “กิตติรัตน์” ออก Letter of Comfort ค้ำหนี้ให้ ธ.ก.ส. กู้อินเตอร์แบงก์จากออมสิน ปลดหนี้จำนำข้าวลอตแรก 5,000 ล้านบาท – ภาคไหนได้เงินเยอะสุด

“กิตติรัตน์” ออก Letter of Comfort ค้ำหนี้ให้ ธ.ก.ส. กู้อินเตอร์แบงก์จากออมสิน ปลดหนี้จำนำข้าวลอตแรก 5,000 ล้านบาท – ภาคไหนได้เงินเยอะสุด

14 กุมภาพันธ์ 2014


นางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้รับทราบจากนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่าหาแหล่งเงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำไปชำระหนี้ชาวนาได้แล้ว ยืนยันว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ 181(3) เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจใช้จ่ายเงินโครงการจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 ไม่เกิน 2.7 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหา คำว่า “จัดหา” นั้นมีความหมายครอบคลุมการค้ำประกันเงินกู้ กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการกู้เงินให้กับ ธ.ก.ส. ไม่ถือเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการใหม่ และไม่มีผลผูกพัน ครม. ชุดต่อไป เพราะการค้ำประกันเงินกู้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินตามที่กำหนดในแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2557 ซึ่งผ่านการอนุมัติจาก ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556

ต่อข้อถามที่ว่าทำไมกระทรวงการคลังไม่จัดหาเงินกู้ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนยุบสภา ทำให้สถาบันการเงินไม่มั่นใจเกรงว่าขัดรัฐธรรมนูญ 181(3) นางเบญจาชี้แจงว่า หลังจาก ครม. อนุมัติกรอบการใช้จ่ายเงิน 2.7 แสนล้านบาท ในตอนนั้นกระทรวงการคลังต้องเร่งปิดบัญชีจำนำข้าว ตามมติ ครม. ที่กำหนดว่า “ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 การใช้จ่ายเงินรับจำนำข้าวปี 2554/55 และ 2555/56 ต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท” ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งระบายข้าว นำเงินรายได้ส่งคืน ธ.ก.ส. เพื่อรักษากรอบการใช้จ่ายเงินไม่ให้เกิน 5 แสนล้านบาท ณ วันสิ้นปี 2556

“หากรักษาวงเงินดังกล่าวไว้ได้ณ วันสิ้นปี เมื่อพ้นกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ไปแล้ว รัฐบาลสามารถจัดหาเงินมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวปี 2556/57 เกินกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทได้ แต่พอถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 คือปลายปีนี้ ก็ต้องปรับลดยอดการใช้จ่ายเงินทุนหมุนเวียนลงมาไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ตามมติ ครม. วันที่ 21 มกราคม 2557 รัฐบาลยังยึดกรอบวงเงินเดิมอยู่” นางเบญจากล่าว

นางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นางเบญจา หลุยเจริญ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แหล่งเงินที่นายทนุศักดิ์จัดหามาให้ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ชาวนาคือเงินสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. เอง หรือเป็นเงินที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจนำมาฝาก นางเบญจากล่าวว่า “ไม่ใช่เงินฝากของประชาชน และไม่ใช่เงินที่รัฐวิสาหกิจนำมาฝากกับ ธ.ก.ส. แต่ถ้าอยากทราบต้องไปถามนายทนุศักดิ์”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หลังจาก “แผนการจัดหาเงินกู้ลอตแรก 20,000 ล้านบาทล้ม” ไม่มีสถาบันการเงินรายใดมายื่นซองประกวดราคาวันที่ 30 มกราคม 2557 ล่าสุด สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดหาเงินกู้ใหม่ โดยให้ ธ.ก.ส. กู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร หรือที่เรียกว่า “ตลาดอินเตอร์แบงก์” (Inter bank) ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ยื่นความจำนงขอกู้ยืมเงินลอตแรก 5,000 ล้านบาท ผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ ระยะเวลา 30 วัน โดยธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้

“การกู้ในอินเตอร์แบงก์ถือเป็นการทำธุรกรรมตามปกติของออมสิน เนื่องจากธนาคารมีสินทรัพย์ 2.2 ล้านล้านบาท จำเป็นต้องบริหารสินทรัพย์ส่วนเกิน 3.2 แสนล้านบาท ให้เกิดดอกออกผลเตรียมไว้จ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงิน แต่ละวันออมสินจะนำสภาพคล่องส่วนเกินปล่อยกู้ในอินเตอร์แบงก์อยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. เป็นระยะๆ รวมทั้งสถาบันการเงินอื่นกว่า 30 แห่ง เมื่อครบกำหนด 30 วัน หากธ.ก.ส. ไม่มีเงิน ก็ขอขยายเวลาได้ แต่เท่าที่หารือกับผู้บริหารของออมสิน ตามระเบียบของธนาคารสามารถปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. ผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์สูงสุดไม่เกิน 17,000 ล้านบาทเท่านั้น” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวต่ออีกว่า การจัดหาแหล่งเงินให้ ธ.ก.ส. ส่วนที่เหลือ คงต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการอื่น อย่างเช่น ธ.ก.ส. ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน ขายให้กับรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน แบบเฉพาะเจาะจง (Private placement) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบัญชีและการเงินของรัฐวิสาหกิจ 2548 ข้อ 14 กำหนด “ให้รัฐวิสาหกิจที่มีสภาพคล่องเหลือ สามารถนำเงินไปลงทุนในตราสารระยะสั้นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจได้” ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ขอความร่วมมือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจให้ถอนสภาพคล่องส่วนเกินที่ฝากกับธนาคารพาณิชย์ เตรียมมาลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน ธ.ก.ส.

แหล่งข่าวจากกระทรวงอีกรายกล่าวว่า การกู้เงินของ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้วงเงิน 20,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จะกู้แต่ต้องให้ทางกระทรวงการคลังทำ Letter of Comfort ลักษณะรับประกันหรือค้ำประกันหนี้ ธ.ก.ส.

“เรื่องการค้ำประกันนั้น ทางคุณกิตติรัตน์สั่งให้สำนักบริหารหนี้ทำ Letter of Comfort จากนั้นนำหนังสือดังกล่าวให้ ธ.ก.ส. ดู แล้วเก็บเอกสารดังกล่าวไว้เอง ซึ่งการออก Letter of Comfort ต้องผ่าน ครม. และเรื่องนี้เข้าข่ายผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) และ (4)” แหล่งข่าวกล่าว

นางเบญจาเปิดเผยว่า “ขณะนี้ ธ.ก.ส. ทยอยจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไปแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท โดยใช้เงินที่ได้มาจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนการจ่ายเงินให้กับชาวนาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. กล่าวคือ ใครนำข้าวมาเข้าโครงการก่อนก็ได้รับเงินก่อน ตามลำดับก่อนหลัง ไม่มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”

อนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2556 ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินให้กับชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 วงเงิน 54,950 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้ชาวนาแล้ว 50,066 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างรอการอนุมัติอีก 4,884 ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารได้มีการจัดสรรเม็ดเงินนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรตามภาคต่างๆ ดังนี้

การจ่ายเงินจำนำข้าว-1

ผลการเบิกจ่ายเงินจำนำข้าว

1. ภาคเหนือ จัดสรรวงเงิน 18,700 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้ว 17,723 ล้านบาท
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดสรรวงเงิน 15,510 ล้านบาท เบิกจ่ายเงิน 13,850 ล้านบาท
3. ภาคกลาง จัดสรรวงเงิน 7,510 ล้านบาท เบิกจ่ายเงิน 6,931 ล้านบาท
4. ภาคตะวันออก จัดสรรวงเงิน 5,670 ล้านบาท เบิกจ่าย 4,631 ล้านบาท
5. ภาคตะวันตก จัดสรรวงเงิน 7,320 ล้านบาท เบิกจ่าย 6,806 ล้านบาท
6. ภาคใต้ จัดสรรวงเงิน 240 ล้านบาท เบิกจ่าย 126 ล้านบาท

แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. กล่าวว่า การจัดสรรเม็ดเงินจำนำข้าวกระจายไปยังภาคและจังหวัดต่างๆ ธนาคารจะยึดหลักการที่ว่า “ใครนำข้าวมาเข้าโครงการก่อนก็จะได้รับเงินก่อน ตามลำดับ” กรณีชาวนาที่ได้รับการจัดสรรเม็ดเงินและเบิกจ่ายมากกว่าทุกภาค เนื่องจากภาคเหนือเก็บเกี่ยวข้าวเร็วกว่าภาคอื่นๆ ถัดมาจะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้เกี่ยวข้าวช้ากว่าทุกภาคประมาณ 30 วัน

ส่วนจังหวัดที่ได้รับวงเงินจำนำข้าวและเบิกจ่ายเงินมากที่สุด 10 อันดับแรก เรียงตามลำดับดังนี้

10 จังหวัดที่ได้รับเงินมากสุดจ่ายเงินชาวนา

1. เชียงราย ได้รับจัดสรรวงเงิน 3,504 ล้านบาท เบิกจ่าย 3,492.09 ล้านบาท
2. สุพรรณบุรี ได้รับจัดสรรวงเงิน 3,419.61 ล้านบาท เบิกจ่าย 3,256.95 ล้านบาท
3. ฉะเชิงเทรา ได้รับจัดสรรวงเงิน 2,974 ล้านบาท เบิกจ่าย 2,548.89 ล้านบาท
4. นครสวรรค์ ได้รับจัดสรรวงเงิน 2,407 ล้านบาท เบิกจ่าย 2,169.30 ล้านบาท
5. กำแพงเพชร ได้รับจัดสรรวงเงิน 2,096 ล้านบาท เบิกจ่าย 2,084.86 ล้านบาท
6. อุบลราชธานี ได้รับจัดสรรวงเงิน 2,079.56 ล้านบาท เบิกจ่าย 1,890.39 ล้านบาท
7. ร้อยเอ็ด ได้รับจัดสรรวงเงิน 1,970 ล้านบาท เบิกจ่าย 1,972.29 ล้านบาท
8. พิจิตร ได้รับจัดสรรวงเงิน 1,816 ล้านบาท เบิกจ่าย 1,692.61 ล้านบาท
9. พะเยา ได้รับจัดสรรวงเงิน 1,792 ล้านบาท เบิกจ่าย 1,776.90 ล้านบาท
10. ชัยนาท ได้รับจัดสรรวงเงิน 1,670 ล้านบาท เบิกจ่าย 1,497.99 ล้านบาท