ThaiPublica > เกาะกระแส > “นิพนธ์ พัวพงศกร” จวก “เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์” กำลังถดถอย และ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” กำลังหายไป

“นิพนธ์ พัวพงศกร” จวก “เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์” กำลังถดถอย และ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” กำลังหายไป

25 กุมภาพันธ์ 2014


80 ปี ธรรมศาสตร์

ในการเสวนาวิชาการชุด “8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย” ด้านเศรษฐกิจ ในโอกาสครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “ปฏิรูปเศรษฐกิจ กู้ไทยพ้นวิกฤติ” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 มีประเด็น “ไฮไลท์” ที่น่าสนใจคือ การวิพากษณ์ถึงบทบาทของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และคณาจารย์ในรั้วมหาลัย โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขา ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะเคยเป็นศิษย์เก่า เป็นอาจารย์ และเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มาที่ไปก่อนจะวิพากษณ์บทบาทของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ดร.นิพนธ์กล่าวถึงการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยด้านสถาบัน ซึ่งโดยสรุปคือ ประเทศไทยมีปัญหาติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไม่สามารถยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยี (technological upgrading) และการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ทำให้เกิดการกินดีอยู่ดี รวมทั้งยังมีแนวโน้มชะลอตัวอีกนาน เนื่องจากมีปัญหาด้านสถาบัน ซึ่งหมายถึง กฎ กติกา

โดยประเทศไทยขาดสถาบันที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมการยกระดับคุณภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยี ขาดสถาบันควบคุมการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ-การทุจริต ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของอภิมหาเศรษฐี 1% และไม่มีกฎหมายควบคุมวินัยการใช้เงินนอกงบประมาณ คือ เงินของสถาบันการเงินรัฐ และกองทุนนอกงบประมาณ ทำให้เงินนอกงบประมาณเป็นเช็คเปล่า แต่จะเกิดภาระผูกพันมหาศาล (contingent liability) นอกจากนี้ รัฐไทยขาดสถาบันและเครื่องมือในการประเมินโครงการขนาดใหญ่และกฎหมายที่จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม

การจะวิเคราะห์และแก้ปัญหาข้างต้น ดร.นิพนธ์ระบุว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันและกฎหมายทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปฏิรูปทางการเมือง แต่น่าเสียดายว่านักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักวิชาการด้านกฎหมายของไทยมีผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ด้านความขัดแย้งทางการเมืองและการใช้อำนาจของรัฐน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ ไม่ได้เป็นการวิจัย

“เรื่องนี้ต้องพูดในธรรมศาสตร์ และต้องพูดเรื่องนี้ เพราะถ้ามหาวิทยาลัยไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ แล้วประเทศชาติจะพึ่งใคร” ดร.นิพนธ์กล่าว

จากนั้น ดร.นิพนธ์กล่าวถึง “บทบาทางวิชาการ” ว่า มาถึงถิ่นไม่พูดเรื่องนี้ไม่ได้ และขอเล่นที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เพราะเคยเป็นนักศึกษา เป็นอาจารย์ และเป็นคณบดี ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางวิชาการ โดยมีผลงานวิจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในระหว่างที่เจริญรุ่งเรือง “หัวกระได” คณะเศรษฐศาสตร์ไม่เคยแห้ง แขกต่างประเทศ แขกจากที่ไหนเวลามาจะต้องมาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มาแสวงหาความรู้

โดยสาขาวิชาที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เราสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การกระจายรายได้ มีอาจารย์เมธี ครองแก้ว เป็นผู้เชี่ยวชาญ นโยบายพรีเมียมข้าว มีอาจารย์อัมมาร สยามวาลา อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นโยบายการค้าและอุตสาหกรรม มีอาจารย์ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ปัญหาหนี้สาธารณะ อาจารย์บัณฑิต นิจถาวร นโยบายการคลัง มีอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นโยบายการศึกษา และตลาดแรงงาน นโยบายพลังงานและสาธารณะ อาจารย์พลายพล คุ้มทรัพย์

“เราเคยมีอาจารย์ที่มีบทบาทสำคัญกว่า 20 คน และอยู่ทั้งในวงการวิชาการ และวงการการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และการบริหารประเทศทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ แต่ขณะนี้ คณะนี้กำลังถดถอย อาจารย์รุ่นหนุ่มสาวเติบโตไม่ทัน” ดร.นิพนธ์กล่าว

ดร.นิพนธ์ฝากโจทย์ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ต้องจัดการการเรียน การสอน และการวิจัยด้านต่างๆ ตามที่กล่าวมา เพราะมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องศึกษาวิจัยปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ของประเทศ คือมีภาพใหญ่ แล้วมีการแบ่งงานกันทำระหว่างคณะต่างๆ ตั้งประเด็นหลักในการวิจัย ปัญหาการพัฒนาประเทศปัญหาอยู่ที่ไหน แล้ว “ผลิตตำรา” เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย เฉพาะคณะเศรษฐศาสตร์ต้องมี “ตำราเศรษฐกิจไทย”

“เราไม่มีตำราเศรษฐกิจไทย เราจึงมองไม่เห็นภาพใหญ่ และต้องปฏิรูปหลักสูตร คือสิ่งที่ต้องทำ” ดร.นิพนธ์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.นิพนธ์ยังระบุถึงวิชาและสาขาความรู้ใหม่ๆ ที่ธรรมศาสตร์ควรมี อาทิ เรื่องการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย เรื่อง Experimental Control หรือเรื่องการพัฒนาและปัญหาความยากจน ที่เวลานี้มีศาสตราจารย์ในต่างประเทศที่เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ความยากจน เปิดเว็บไซต์ทางด้านนี้ คือในเรื่องเศรษฐศาสตร์ความยากจน ซึ่งมีงานวิชาการเรื่องนี้เต็มไปหมด แต่ประเทศไทยไม่เคยมีการทำงานด้านนี้แม้แต่ชิ้นเดียว

รวมทั้งเรื่อง “Political Economy” ทั้งจากมุมของนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และนักกฎหมาย แต่นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และนักกฎหมายไม่เคยทำงานเรื่องนี้ร่วมกัน และสาขาเศรษฐศาสตร์สถาบัน ที่เน้นเรื่อง collective decision ซึ่งปัจจุบันเรามีปัญหามาก รวมถึงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Economics) เราอ่อนแอมาก

“นักศึกษาธรรมศาสตร์ควรได้มีโอกาสได้เรียนรู้วิชาใหม่ๆ เหล่านี้ เพื่อเสริมองค์ความรู้ แต่วันนี้เราไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่งานวิจัยข้างต้นจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้เรียนวิชาใหม่ๆ” ดร.นิพนธ์กล่าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

จากนั้น ดร.นิพนธ์ได้ตอบคำถามเรื่องการปฏิรูป และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันว่าเรายังยึดถือวิถีทางประชาธิปไตยอยู่หรือไม่ว่า “ผมเติบโตในยุค 14 ตุลา ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์แล้ว แต่ก็อยู่ในกระบวนการนั้นด้วย” เราต่อสู้มาเพื่อระบอบประชาธิปไตย แล้วเราได้ประชาธิปไตยมา ธรรมศาสตร์พูดตลอดเวลา ธรรมศาสตร์มี “เสรีภาพทุกตารางนิ้ว” แล้วเราก็ต่อสู้กับระบบเผด็จการ และเรายึดมั่นในระบบประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบ

ระบบประชาธิปไตยไม่ได้มีขาเดียวคือการเลือกตั้งเท่านั้น แต่การเลือกตั้งต้องมาจากรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ เคารพเสียงข้างน้อย และมีความรับผิดรับชอบด้วยจึงจะเป็นระบบประชาธิปไตยที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใฝ่ผันอยากจะได้ตั้งแต่ปี 2475 แต่จนถึงวันนี้เราก็ยังไม่มี

“เรามีรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับผู้ชนะ เมื่อไรเราจะมีรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยฉบับประชาชนจริงๆ อันนั้นคือเรื่องใหญ่ที่เราต้องทำ” ดร.นิพนธ์กล่าว

ขณะเดียวกัน ดร.นิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่เข้าไปร่วมกับกลุ่ม 2 เอา 2 ไม่เอา ซึ่งมีจุดยืนคือ “คัดค้านรัฐประหาร ความรุนแรงทุกรูปแบบ เคารพการใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย” ว่า เพราะคิดว่าเรื่องหลักประชาธิปไตย และเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นหลักสำคัญ

“ผมถูกเพื่อนฝูงผมต่อว่า เรา 3 คนที่ทีดีอาร์ไอ อดีตประธาน 2 คน และประธานคนปัจจุบัน โดนต่อว่าอย่างรุนแรง แต่ผมคิดว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุด แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่สมบรูณ์แบบอย่างที่เราคุยกัน และนั่นคือเป้าหมายที่เราต้องต่อสู้ และนั่นคือวิถีทางเดียวที่ทำให้ผลประโยชน์ในการพัฒนาจะแบ่งปันลงไปถ้วนหน้าทั่วหน้ากัน” ดร.นิพนธ์กล่าว

จากนั้น ดร.นิพนธ์ย้ำว่า ธรรมศาสตร์เราใช้หลักการของประชาธิปไตยคือว่า “ทำเพื่อประชาชน” คนที่เรียนธรรมศาสตร์เราได้จิตวิญญาณนี้มา เราจำเป็นต้องยึดมั่นในจิตวิญญาณนี้ ถ้าใครไม่มีจิตวิญญาณนี้ ผมก็คิดว่าไม่ควรเป็นคนธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ดร.นิพนธ์ยอมรับว่า ไม่มีคำตอบสำหรับว่า การผ่านทางตันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ที่ไปร่วมกับกลุ่ม 2 เอา 2 ไม่เอา เพราะคิดว่าในภาวะที่มีความขัดแย้ง นักวิชาการผู้มีสติปัญญา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ต้องลดละทิฐิ และจะต้องลดละความร้อนทางวิชา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงจนต้องบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งตรงนี้เราต้องสามารถคุยกันได้

“ถ้านักวิชาการผู้มีสติปัญญาไม่สามารถพูดเรื่องเหล่านี้ด้วยเหตุด้วยผลบนโต๊ะเดียวกันได้ แล้วเราจะหวังอะไรให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองสองฝ่ายมานั่งโต๊ะคุยกัน แล้วจะหวังคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงมานั่งคุยกันได้อย่าไร สิ่งที่เราหวัง เราอยากเห็น คือประชาชนคนธรรมดาๆ ไม่ว่าจะมีความเห็นอย่างไรคุยกันได้” ดร.นิพนธ์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.นิพนธ์เล่าถึงสิ่งที่ได้ยินมาจากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ว่า มีกลุ่มนักศึกษาเข้ามาปีแรก เป็นกลุ่มนักศึกษาทั้งเหลืองและแดงที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง อาจารย์ก็เปิดเวทีให้สองกลุ่มนี้มานั่งคุยกัน จนกระทั่งตอนหลังถึงแม้จะมีความเห็นแตกต่างกัน คือยังเป็นเหลือง เป็นแดง มีอุดมการณ์แตกต่างกัน แต่เขาคุยกันได้ เขาไม่ทะเลาะกัน เขาใช้เหตุใช้ผลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี

“แล้วนับประสาอะไรถ้าอาจารย์ไม่สามารถนั่งโต๊ะกันได้แบบนักศึกษา แล้วจะเอาหน้าที่ไหนไปสอนเด็กพวกนี้ เราต้องให้เด็กมาสอนเรา (เสียงปรบมือดัง) ที่นี่เป็นเวทีที่มีเสรีภาพถึงพูดแบบนี้ได้” ดร.นิพนธ์กล่าวว่า วันนี้มาธรรมศาสตร์จึงต้องพูดเรื่องนี้ และพูดกับนักวิชาการทั้งสองฝ่าย คือเหลืองและแดง คุณมีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์จริงหรือเปล่า ถ้าคุณมีจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ คุณต้องเริ่มต้นมาเจรจากัน

“คุณจะมาพูดทำไม ผมหมดความศรัทธาคนนั้นคนนี้แล้ว ทุกคนมีเหตุมีผล มีสติปัญญากันทั้งคู่ ช่วยเคารพเหตุ เคารพผล แล้วมานั่งคุยกัน เวลานี้ต้องลดทิฐิบางเรื่อง หากยังสร้างทิฐิ สร้างความร้อนวิชาไปจนถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน ทำสงครามกลางเมืองกัน ผมว่าเราอย่าเป็นนักวิชาการกันเลย ลาออกซะแล้วไปเป็นนักเคลื่อนไหวดีกว่า” ดร.นิพนธ์กล่าว