ข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ผลการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” ชี้ว่า โรงงานผลิตอาหารสัตว์รายสำคัญอย่างเครือซีพีและเบทาโกร รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีศักยภาพในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ อันเกิดจากการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างไม่เหมาะสมในจังหวัดน่าน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุด จึงสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้ผู้เล่นรายอื่นๆ ปฏิบัติตามได้
งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โดยคณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด ซึ่งนำทีมวิจัยโดย สฤณี อาชวานันทกุล ได้ดำเนินการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณตลอดระยะเวลาครึ่งปี ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำสาขายาว-อวน-มวบ จังหวัดน่าน ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลพงษ์ ตำบลดู่พงษ์ และตำบลป่าแลวหลวง ในอำเภอสันติสุข และตำบลอวน ในอำเภอปัว เพื่อจัดทำแผนที่และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน รวมถึงค้นหาศักยภาพในการจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
คณะวิจัยพบว่า พฤติกรรมของเกษตรกรรายย่อยซึ่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ชัน ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะนอกจากจะไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกแล้ว พื้นที่ชันส่วนใหญ่ยังเกิดจากการบุกรุกป่าต้นน้ำสำคัญ ซึ่งจากการคำนวณเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียมโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า ระหว่างปี 2545 และ 2556 พื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่วิจัยในลุ่มน้ำยาว-อวน-มวบ ในตำบลป่าแลวหลวง พงษ์ ดู่พงษ์ และอวน ร้อยละ 60 หรือ 35,440 ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่งได้มาจากการบุกรุกป่า
นอกจากนี้ การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ชันยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิ ปัญหาอุทกภัยอันเนื่องมาจากการมีพื้นที่ป่าลดลง ปัญหาหมอกควันจากการเผาเตรียมพื้นที่ เนื่องจากที่ดอนไม่สามารถใช้วิธีไถกลบแบบพื้นที่ราบได้ และปัญหาต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีเกินขนาด โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มองว่าที่ดอนต้องใช้ยาฆ่าหญ้ามากกว่าปริมาณปลอดภัยที่ระบุบนฉลาก
อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ จากการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน คณะวิจัยพบว่า เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจการต่อรองน้อยที่สุดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ชันมีอำนาจต่อรองและทางเลือกน้อยกว่าเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ราบ เพราะผลผลิตที่ได้คุณภาพด้อยกว่า แต่ต้นทุนในการผลิตกลับสูงกว่า ดังนั้น เพียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญที่มีอำนาจในการต่อรองสูงหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ก็มีโอกาสที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างการใช้ “มาตรฐานการรับซื้อที่ยั่งยืน” ในต่างประเทศ ซึ่งบางกรณีสามารถปรับปรุงระดับความยั่งยืน ลดผลกระทบเชิงลบจากการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ บทเรียนจากมาตรฐาน Coffee and Farmer Equity Practices (C.A.F.E.) ของสตาร์บัคส์ และนโยบายการอนุรักษ์ป่าของ Golden Agri-Resources (GAR) ในประเทศอินโดนีเซีย
จากการวิเคราะห์ข้อมูล คณะวิจัยพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญที่มีอำนาจในการต่อรองสูงอันดับแรก คือโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพราะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตตัวจริงที่มีอยู่น้อยราย ซึ่งปัจจุบันเบทาโกร และเครือซีพี เป็นผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายสำคัญจากผลผลิตทั้งหมดในพื้นที่วิจัย ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% และ 28% ตามลำดับ ดังนั้น หากโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุดเงื่อนไขในการรับซื้อผลผลิต เช่น ห้ามเปลี่ยนป่าไม้เป็นพื้นที่การเกษตร ห้ามใช้สารเคมีเกษตรในระยะเกิน 5 เมตรจากแหล่งน้ำถาวร ก็จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพ
นอกจากโรงงานอาหารสัตว์แล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกรายที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรได้คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ในจังหวัดน่าน โดย ธ.ก.ส. ควรพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกรที่ขอกู้เงิน เช่น เกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิมาแสดงในการขอรับสินเชื่อตามนโยบายที่กำหนดไว้ แทนที่จะกำหนดแต่เฉพาะเงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก เช่น ใช้เพียงบุคคล 5 คนมาค้ำประกันเงินกู้แบบกลุ่มก็กู้ได้ ดังที่ใช้จริงอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายภาคส่วน ไม่ต่างจากการขับเคลื่อนไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในธุรกิจอื่น นอกจากผู้เล่นรายใหญ่จะสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในการกำหนดมาตรฐานการรับซื้อหรือปล่อยกู้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สร้าง “ซีเอสอาร์” ที่ยั่งยืนกว่าการทำกิจกรรมซีเอสอาร์แบบครั้งเดียวจบ ผู้เล่นก็ควรให้เวลาที่เพียงพอและอุดหนุนทรัพยากรแก่เกษตรกรรายย่อยในการปรับตัว เพื่อไม่ให้พวกเขาประสบปัญหาทางการเงินมากกว่าเดิม มิฉะนั้นอาจกลายเป็นว่า ความยั่งยืนและการฟื้นฟูระบบนิเวศต้อง “แลก” มาด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่แย่ลง
หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้จากเว็บไซต์บริษัท ป่าสาละ จำกัด www.salforest.com
อ่านเพิ่มเติมข่าวตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ (1)