พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ที่ถูกจับตามากที่สุดในปัญหาหมอกควันไฟป่า อย่างน้อยๆ ก็ราวๆ 5-6 ปีที่ แม่แจ่มเป็นอำเภอที่มีสถิติการเกิดจุดความร้อนจากการเผาไหม้หรือฮอตสปอต (Hotspot) สูงที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่สูงที่สุดตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จนถึง 15 เมษายน ซึ่งถือเป็น 60 วันอันตรายที่ต้องจับตาซึ่งพึ่งผ่านไป
แม่แจ่มจึงตกเป็นจำเลยของสังคมในปัญหาหมอกควันไฟป่าที่สุดวิกฤติ
ในปัญหาที่ดูเหมือนไร้ทางออก “แม่แจ่มโมเดล” จึงเกิดขึ้นเพื่อจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังที่สุด และในปี 2559 นี้ถือเป็นครั้งแรกที่ฮอตสปอตที่แม่แจ่มต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
“ถ้ามาในพื้นที่นี้ปีที่แล้วในเวลาเดียวกัน เราจะนั่งแบบนี้ไม่ได้ ต้องใส่มาสก์ (mask) ที่สนามบินเชียงใหม่ นักบินที่จะบินลงสนามบินมองสนามบินไม่เห็นลงไม่ได้ เป็นข่าวไปทั่วโลก คนเมืองก็พยายามค้นหาว่าใครคือต้นเหตุ ก็บอกว่าคนดอย คนแม่แจ่ม คนชี้มือมาที่นี่โดยไม่เข้าใจบริบทของคนที่นี่ว่าเป็นยังไง” ทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอแม่แจ่ม ให้ข้อมูลกับคณะที่เข้าไปดูงานในพื้นที่ ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หนึ่งในสองของพื้นที่หมู่บ้านปลอดเผา ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านหยุดเผาตอซังข้าวโพด โดยหันมาใช้วิธีการไกกลบแทนการเผา โดยพื้นที่นำร่องที่ดำเนินโครงการประกอบด้วยตำบลแม่นาจรและตำบลบ้านทับ ที่กินพื้นที่ประมาณ 1,500ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมดในแม่แจ่มจำนวน 110,000 ไร่
โครงการนี้เป็นเพียงส่วนเดียวของแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า แม่แจ่มโมเดล ที่วางกรอบโดยคณะกรรมการบูรณาการทุกภาคส่วน รัฐ ราษฎร์ เอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการ (ประชารัฐ) ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ การ “ป้องกัน” “รับมือ” และ “สร้างความยั่งยืน” หมายถึง แผนนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันทั้งในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ วิธีจัดการปัญหาใหม่ ภายใต้ “แม่แจ่มโมเดล” ที่ทำให้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน แม่แจ่มสามารถลดจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้หรือฮอตสปอตลงไปได้กว่า 90% จากที่เคยเกิดราว 240 จุด เหลือเพียง 9 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2559)
อะไรทำให้ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ไม่เคยคิดว่าจะแก้ได้ แก้ได้!!
“แม่แจ่มโมเดล” เปลี่ยนวิธีคิด สร้างแนวร่วมและบริหารบนฐานข้อมูล
“ชาวบ้านบ่ได้พูดยากอะไร แต่ที่ผ่านมาบ่มีใครเอาเจริงเอาจัง ทุกคนมาพูด พูดแบบไม่มีแผน แล้วก็ไป” พ่อหลวงอุทธา สารินจา ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านสบลอง กล่าวในวงคุยเรื่อง “ยุทธศาสตร์และแนวทางการแก้ปัญหาหมอกควัน และการจัดการบนวิถีของชุมชนคนแม่แจ่ม” เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อตอบคำถามถึงเหตุผลที่ทำให้แม่แจ่มสามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าได้สำเร็จในปีนี้ ทั้งที่ในเวลาที่ผ่านมาปัญหานี้ดูไร้ทางออก
การทำงานสื่อสารและงานมวลชนสัมพันธ์กับชาวบ้านอย่างหนักน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งของคำตอบ โดยมีรูปแบบการทำงานแบบประชารัฐหรือการประสานงานร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาสังคมและชาวบ้านในพื้นที่ ผนึกพลังร่วมเป็นแนวทางในการทำงาน นี่คือหลายปัจจัยที่ทำให้ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่แม่แจ่มคลี่คลาย
บทเรียนที่น่าสนใจของแม่แจ่มคือการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีจัดการ และการทำงานเชิงรุกในหลายๆ เรื่อง โดยวิเคราะห์จากปัญหาที่แท้จริงของเกิดไฟป่าในพื้นที่จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากการทำไร่ข้าวโพดที่มีกว่า 110,000 ไร่ และการเผาในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ในการเข้าป่า ล่าสัตว์ และบุกรุกป่าเพิ่มเติม โดยแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
- การใช้ข้อเท็จจริงของข้อมูลการใช้พื้นที่บริหารจัดการ – เดิมภาครัฐมีชุดข้อมูลเดียวในการจัดแบ่งพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เช่น การใช้ข้อมูลพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ทางราชการ เดิมมี 23,815 ไร่ หรือเพียง 1.40% ทั้งที่ความเป็นจริงในข้อมูลชุดใหม่มีพื้นที่การใช้ประโยชน์มากกว่าพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ถึง 437,712 ไร่ หรือ 25.60% (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในภาพประกอบ) การนำข้อเท็จจริงขึ้นมากางทำให้การกำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานมีความชัดเจนและทั่วถึงมากขึ้น
- การใช้ข้อมูลวิเคราะห์ปัญหาและมอนิเตอร์จุดเสี่ยง จากข้อมูลฮอตสปอตย้อนหลัง 4 ปี ทำให้เห็นชุดข้อมูลในจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวัง มี 52 หมู่บ้านที่มีปัญหาไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี มี 40 หมู่บ้านที่มีปัญหาไฟป่าแต่ไม่เกิดขึ้นทุกปี และมี 12 หมู่บ้านที่ไม่มีปัญหาไฟป่าเลย
- มาตรการการลดเชื้อเพลิง – จากข้อมูลวิจัยพบว่า ในการทำข้าวโพดประมาณ 110,000 ไร่ จะมีเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร 96,000 ตัน การลดเศษวัสดุเหลือใช้จึงเท่ากับเป็นการลดเชื้อเพลิงที่จะนำไปเผา จึงมีมาตรการหลายอย่างในการบริหารเชื้อเพลิง แบ่งเป็น การจัดการเศษวัสดุจากไร่ข้าวโพด 60,000 ตัน ผ่านโครงการหยุดเผาพื้นที่การเกษตร ส่งเสริมการไถกลบตอซังทำปุ๋ยหมักในพื้นที่ราบ เป้าหมาย 11,000 ไร่ จัดระเบียบพื้นที่ที่เหลือ 90,000 ไร่ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงเขา และการบริหารเชื้อเพลิงในจุดโม่อีก 35,000 ตัน โดยการรณรงค์ให้ทำอาหารโค กระบือ ปุ๋ยหมักอินทรีย์ การตั้งโรงงานเชื้อเพลิงอัดแท่ง อัดฟ่อนจำหน่าย ให้กลุ่มพลังงานชีวมวล ฯลฯ
- มาตรการรับมือในแบบ Area Base Approach & Incident Command System :ICS จังหวัดได้กำหนดให้นายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยงานในพื้นที่ช่วงเหตุการณ์ไฟป่าหมอกควัน สามารถสั่งกำลงพลในพื้นที่และประสานงานกำลังพลนอกพื้นที่ โดยบูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ให้สามารถลาดตระเวนและดับไฟป่าได้เร็วที่สุด โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ในพื้นที่ใช้ประโยชน์มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบ โดยในส่วนป่าธรรมชาติให้อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานฯ และหน่วยงานของกรมป่าไม้
การระดมสรรพกำลังจากทั้งภายในและภายนอกท้องถิ่น ของหลายกรม กระทรวง ทำให้ปีนี้แม่แจ่มเปลี่ยนไป กลายเป็นต้นแบบการจัดการหมอกควันไฟป่า กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมามี 2 รัฐมนตรี 4 อธิบดี และคณะดูงานกว่า 40-60 คณะ มาดูงานความสำเร็จที่แม่แจ่ม
ทว่า สำหรับคนที่คลุกคลีกับการแก้ปัญหาหน้างานของทีมประชารัฐแม่แจ่มที่นำโดยนายอำเภอแม่แจ่มแล้ว รู้ดีว่านี่เป็นเพียงความสำเร็จบนยอดภูเขาน้ำแข็ง และอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นบนปัญหาที่ซับซ้อน!!!
ปัญหาหมอกควัน ปัญหาปากท้อง
ในทรรศนะของทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอแม่แจ่ม เขามองว่า “ปัญหาหมอกควันคือปลายเหตุ มันเป็นภาพสะท้อนความไม่เป็นธรรม ความล้มเหลวในการพัฒนา เป็นภาพสะท้อนของการมองที่ไม่เข้าใจ เข้าถึง การเปลี่ยนแปลง”
นายอำเภอแม่แจ่มอธิบายว่า “ข้าวโพดเข้ามาที่นี่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เข้ามาในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ มีประมาณ 40 ไร่ มันจึงเป็นความหวังเดียวของคนที่นี่ มันใช้น้ำจากฟ้า มันจึงเป็นทางออกให้คนอยู่บนดอยที่จน ท่านไปถามได้เลย ธนาคารที่เห็นในพื้นราบ เซเว่น–อีเลฟเว่น ปตท. ความเจริญที่มาที่นี่มาจากการขายข้าวโพดทั้งสิ้น”
“ความไม่เข้าใจในปัญหาหรือบริบทของพื้นที่ จะทำให้การแก้ปัญหามันไปไม่ได้ เราต้องมาดูรากเหง้าของปัญหา การที่คุณภาพชีวิตของคนต่ำมากถึงนำคนไปสู่เรื่องยาเสพติด ข้าวโพด เพราะคนไม่มีที่ทำกิน ไม่มีน้ำ ไม่มีอาชีพ”
เราให้เขาเฝ้าก๊อกน้ำให้คนเมือง แต่เราให้เขามีคุณภาพชีวิตแค่นี้ ถ้าไม่แก้ไปถึงรากของปัญหา ให้คนมีที่ดินทำกิน มีน้ำใช้สำหรับการเกษตร มีอาชีพ และพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น ทั้งระบบชลประทาน ไฟฟ้า ถนน ฯลฯ มาไม่ถึงที่นี่เพราะติดขัดการเป็นพื้นที่ป่าตามหลักกฎหมายป่าไม้
“เวลานี้คนแม่แจ่มทำการเกษตรตลอดฤดูกาลไม่ได้ เพราะคนแม่แจ่มมีชลประมาณสัก 2 หมื่นไร่ คนที่ทำเกษตรได้ทั้งปีจะไม่เผาไฟ เพราะทำกินได้ตลอด แต่คนที่ทำข้าวโพดช่วงนี้ตกงาน ก็จะนั่งคิดว่าปีที่แล้วเราทำข้าวโพด 50 ไร่ ปีนี้จะทำเพิ่มอีก 50ไร่ วิธีการทำลายป่าของที่นี่ก็คือจะไปเฉาะต้นไม้ให้เป็นแผลแล้วเอาไตรโครเซสหยอดไปที่ต้นไม้ ต้นไม้ก็จะตายซาก ก็รุกคืบเข้าไป ปีต่อไปก็เผา และทำให้ดูเหมือนเป็นไฟป่า”
จากข้อเท็จจริงในพื้นที่ ทำให้นายอำเภอแม่แจ่มนำเสนอต่อคณะประชารัฐแม่แจ่มถึงมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งกับปัญหาหมอกควันไฟป่า ปัญหาเขาหัวโล้น จนขณะนี้ประชารัฐแม่แจ่มได้ร่างสัญญาประชารัฐแม่แจ่ม เพื่อการพัฒนาอำเภอแม่แจ่มอย่างยั่งยืน โดยจะยื่นข้อเสนอนี้ต่อรัฐบาล
ในข้อตกลงดังกล่าว ชาวแม่แจ่มสัญญาว่าไฟป่าจะหมดไปจากแม่แจ่มภายใน 2-3 ปี สัญญาว่าจะหยุดการบุกรุกในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ภายใน 5 ปี และสัญญาว่าจะลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ต้นน้ำภายใน 5 ปีเช่นเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกันก็เรียกร้องต่อรัฐเพื่อขอให้รัฐพิจารณาคืนความเป็นธรรม พิจารณาให้สิทธิในแผ่นดินเกิดแก่คนแม่แจ่มที่เกิดและอาศัยในพื้นที่ให้เสร็จภายใน 5 ปี โดยปรับปรุงจากมติรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เน้นตามหลักสิทธิในแผ่นดินเกิดตามหลักข้อเท็จจริงแห่งชีวิตคนต้นน้ำ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่จำนวน 213,462 ไร่หรือร้อยละ 12.5 ขณะที่อีก 170,000 ไร่ ไม่ขอสิทธิแต่จะขอผ่อนผัน เพื่อให้รัฐพิจารณาการจัดระเบียบพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริ สร้างป่าสร้างรายได้
นายอำเภอแม่แจ่มประเมินถึง 170,000 ไร่ว่า ถ้าให้คนปลูกต้นไม้ 15 ต้นต่อไร่ จะสามารถสร้างต้นไม้เพิ่มได้ถึง 2.4 ล้านต้น การฟื้นฟูป่าต้นน้ำแบบนี้ดีกว่าการสร้างเขื่อนทั้งเขื่อน
“เรื่องนี้มีหลักคิดว่าการฟื้นฟูป่าต้องฟื้นฟูคนต้นน้ำ เพราะถ้าไม่ทำเรื่องก็ไม่มีวันจบ” ปัญหาก็จะหมักหมมแบบนี้ การพัฒนาประเทศเราไม่ดูข้อเท็จจริง เรามัวไปดูแต่กรอบกฎหมาย แต่เป็นธรรมหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่านี่คือกฎหมายไม่มีใครกล้าสู้ถึงข้อเท็จจริงของปัญหา” ทศพลกล่าว
ข้อมูลจากการเปิดเผยของนายอำเภอแม่แจ่มระบุว่า อำเภอแม่แจ่ม ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในฐานพื้นที่ต้นน้ำในการก่อกำเนิดแม่น้ำแม่แจ่ม ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำปิง มีพื้นที่ 1.7 ล้านไร่ ใหญ่กว่าสิงคโปร์ และจังหวัดเล็กๆ ในประเทศไทย 15 จังหวัดรวมกัน พื้นที่ส่วนใหญ่ 70% เป็นที่ราบเชิงเขา 20% มีพื้นที่ราบ 10% โดยพื้นที่เหล่านี้แบ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1,351,110 ไร่ หรือ 79.60% ป่าอนุรักษ์ จำนวน 317,773 ไร่ หรือ 19%
มีพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธ์เพียง 23,815 ไร่ หรือ1.40% ในขณะที่มีประชากร 59,203 คน 17,908 ครัวเรือน ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์มากถึง 25.60% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีพื้นที่ใช้ประโยชน์จำนวน 437,712 ไร่
ขณะที่ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ระบุว่า พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม (ตามกฎกระทรวง ฉบับ 712 พ.ศ. 2517) และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ (ตามมติ ครม. พ.ศ. 2528) คิดเป็นร้อยละ 81 และร้อยละ 58.66 ของพื้นที่ทั้งหมด การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม (ตามกฎกระทรวง ฉบับ 712 พ.ศ. 2517) และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ (ตามมติ ครม. พ.ศ. 2528) โดยทางการไม่ได้กันชุมชนและที่ทำกินออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำก่อนประกาศแต่อย่างใด ส่งผลทำให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่กันมายาวนานผิดกฎหมายทันที เป็นปัญหา “ป่ารุกคน” ที่ตราบจนทุกวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ มติคณะรัฐมนตรี และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)
นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้แทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะที่คลุกคลีกับปัญหานี้มายาวนาน ชี้ให้เห็นจุดสำคัญของสภาพความเป็นจริงในการใช้ที่ดินในปัจจุบันว่า การใช้ที่ดินแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ช่วงกลางๆ สูงเกิน 850 เมตรขึ้นไป และพื้นที่ต้นน้ำซึ่งอยู่ด้านบนสุด ทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่ต้นน้ำไม่มีปัญหาเพราะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แต่พื้นที่กลางๆ ที่มีความสูงของพื้นที่ 850 เมตรขึ้นไปที่สามารถปลูกพืชได้ครั้งเดียวทั้งปีโดยรอฝน การใช้พื้นที่ตรงกลางนี่เองที่ทำข้าวโพดและส่งผลกระทบอย่างเป็นลูกโซ่ในเวลาที่ผ่านมา
“เรื่องทางออกของการใช้ที่ดินต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับที่ดินให้กับชาวบ้านหรือการให้สิทธิทำกิน จะมีคนบางกลุ่มโลกสวยมองว่าเป็นการให้ที่ดินกับชาวบ้าน ซึ่งไม่ใช่ เราหมายถึงการอนุญาตให้ใช้ประโชน์ต่อเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เช่น ต้องปลูกป่าให้ได้และถ้าเราทำได้ป่าจะเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจะลดการเพาะปลูกลง โดยสิ่งที่ต้องพยายามผลักดันคืออุปสรรคในแง่กฎหมาย ที่ผ่านมาเราเห็นชัดอยู่แล้วว่าการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่กรมป่าไม้ทำมามันแก้ไม่ได้ ทางออกคือต้องทำแม่แจ่มโมเดลในการแก้ปัญหา” สมเกียรติกล่าว
เศรษฐกิจข้าวโพด อดีต ปัจจุบัน อนาคตที่รอเปลี่ยนผ่าน
นายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้ามาดูงานเครือเจริญโภคภัณฑ์ในกลุ่มอื่นเห็นปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเขาหัวโล้นที่จังหวัดน่านและไฟป่าหมอกควันที่แม่แจ่ม รากปัญหาของ 2 เรื่องนี้เหมือนกัน คือ การขาดโอกาสของคนในพื้นที่
“ถามว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์เกี่ยวข้องตรงไหน เราอยู่ในภาคส่วนราชการ เอ็นจีโอ มีจำเลยหลายคนด้วยกันบังเอิญซีพีอยู่ในจุดที่เป็นจำเลยสังคมนั้นด้วย ก็คือข้าวโพด”
ในเวลาที่ผ่านมา ซีพีมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ข้าวโพด” ที่แม่แจ่มใน 2 ธุรกิจ หนึ่ง คือธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์ ที่เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในการทำแปลงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งราคาสูงกว่าข้าวโพดทั่วไปหลายเท่า สอง คือการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร ปัจจุบันในเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 888 ซีพีมีส่วนแบ่งตลาดในราว 20-25%
“เราไม่ใช่เจ้าใหญ่ในการขายและรับซื้อข้าวโพด แต่เราก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาทางซีพีเองก็อาจจะละเลย ที่ลงไปดูถึงเกษตรกรว่าเขาปลูกที่ไหน เพราะเราจะซื้อมาจากผู้รวบรวมรายใหญ่ที่เขาจะซื้อมาจากหัวสีอีกทีหนึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประมงถูกให้ใบเหลือง และส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมกุ้ง ถึงวันนี้เกษตรหลักเราคือกุ้งและไก่ ถ้าเกิดวันหนึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมไก่มันจะล้มทั้งกระดาน วันนั้นเราจะช็อกแน่นอน ”
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา วันนี้ซีพีจึงทำแผนทบทวนเรื่องการดูไปถึงต้นทางของวัตถุดิบที่ซื้อว่ามาจากแหล่งเพาะปลูกไหน ถ้าอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงทำลายสิ่งแวดล้อม เราจะไม่รับซื้อ เว้นแต่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังดำเนินโครงการฟื้นฟูโดยทำงานกับภาครัฐหรือเอ็นจีโอในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายในการบูรณาการเพื่อศึกษาทางเลือกให้คนในท้องถิ่นทดแทนการปลูกข้าวโพด ในการสร้างป่าไม้ให้เกิดขึ้นโดยปลูกพืชเศรษฐกิจ ขณะนี้มีพื้นที่นำร่องที่ ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม ซึ่งเป็นการทดลองเพื่อหาความเป็นไปได้ในการปลูกในพื้นที่สูง 800-900 โดยใช้พื้นที่ต่ำกว่า 500 ปลูกข้าวโพด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องให้เกษตรกรยั่งยืนมีรายได้ประจำอยู่
ผู้บริหารโครงการพิเศษให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ซีพีใช้งบประมาณราว 3 ล้านบาทสำหรับปีนี้เพื่อแก้ปัญหาการรุกป่า โดยใช้พื้นฐานของการทำงานเชิงพื้นที่จากปัญหาหมอกควันไฟป่าและการปลูกพืชเศรษฐกิจรวมทั้งหาอาชีพอื่น เช่น ปศุสัตว์เพื่อทดแทนข้าวโพดซึ่งทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน
ความสำเร็จของ “แม่แจ่มโมเดล” ในปัญหาหมอกควันวันนี้จึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ยังต้องใช้เวลาและการเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะโจทย์ที่ยากที่สุดอย่างเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกอย่างยั่งยืนในการแก้ปัญหาที่แท้จริงในอนาคต!!