ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นักวิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ แก้วงจรอุบาทว์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน รัฐอย่าส่งสัญญาณผิด ต้องหากลไกช่วยชาวบ้านปรับตัว

นักวิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ แก้วงจรอุบาทว์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน รัฐอย่าส่งสัญญาณผิด ต้องหากลไกช่วยชาวบ้านปรับตัว

8 ตุลาคม 2012


ที่มาภาพ: http://www.peithailand.org/th/nan.php
ที่มาภาพ: http://www.peithailand.org/th/nan.php

จากการศึกษาของแผนงานความยากจนและสิ่งแวดล้อม (Poverty-Environment Initiative: PEI) ในประเทศไทยได้ระบุชัดว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าธรรมชาติในจังหวัดน่านได้ถูกเปลี่ยนเป็นที่พื้นการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เห็นได้จากสองข้างทางสัญจร การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง จนกระทั่งปี 2553 มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณเกือบ 9 แสนไร่

และในรายงานโครงการประเมินระบบนิเวศในจังหวัดน่านระบุว่า เกษตรกรไม่มีทางเลือก ต้องหาเงินเพื่อการศึกษาของลูกหลาน นักวิชาการชี้ว่าเพราะนโยบายรับจำนำผลผลิตการเกษตรและการประกันราคาพืชผลการเกษตรของรัฐบาลเป็นตัวกระตุ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นชัดเจนและมากขึ้น โดยเฉพาะการพังทลายของดินบนพื้นที่ลาดชันและที่สูง การชะล้างตะกอนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำใช้ และพิษของสารเคมีต่อเกษตรกร ทำให้เกษตรกรพยายามปรับเปลี่ยนและลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปปลูกไม้ยืนต้นต่างๆ

ข้อสรุปของ PEI ระบุว่า 1. ทรัพยากรเปลี่ยนแปลง พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ แหล่งน้ำตื้นเขิน น้ำไม่เพียงพอในการเกษตร ในบางช่วงมีการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร จนไม่สามารถนำมาใช้อุปโภค และยังต้องประสบปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน การพังทลายของหน้าดินรุนแรงและบ่อยขึ้น เกิดไฟป่าและหมอกควันในหน้าแล้งกระจายทั่วพื้นที่

2. สังคมและสุขภาพเปลี่ยนไป ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่หนี้สินก็เพิ่มขึ้นด้วย เพราะต้นทุนเกษตรสูงขึ้น ต้องพึ่งพากู้ยืมเงินสูงขึ้น พบการปนเปื้อนของสารเคมีในเลือดของผู้ที่เข้าตรวจส่วนใหญ่

ส่วนรายงานของจังหวัดน่านมีการระบุถึงปัญหาของการใช้สารเคมี และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)มีการรณรงค์การลดใช้สารเคมี รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆช่วยรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่งานวิจัยของ ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี และ ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ศึกษาประเด็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลไกสู่ความเหลื่อมล้ำในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษา: ห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.เวียงสา จ.น่าน นักวิจัยทั้งสองได้เล่าถึงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อำเภอเวียงสาว่า จริง ๆ แล้วการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นหรือจนน้อยลง และช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ได้มากน้อยแค่ไหน

ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี และ ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี (ซ้าย) และ ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักวิจัยทั้งสองได้กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ ได้สัมภาษณ์และทำแบบสอบถามกับเกษตรกร เพื่อให้ได้ข้อมูลการปลูกข้าวโพดว่าขั้นตอนหรือกลไกใดที่ทำให้คนจนลง เพราะแทนที่จะช่วยแก้ปัญหา แต่กลับทำให้ปัญหาแย่ลง รวมทั้งความไม่เท่าเทียมกันนั้นเกิดขึ้นทั้งในระดับเกษตรกรด้วยกันที่อยู่คนละพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ก็มีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างห่วงโซ่ตั้งแต่เกษตรกร ผู้รับจ้างสี ผู้รวบรวมขาย ที่กว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

“สำหรับพื้นที่ที่ไปคือที่เวียงสา ซึ่งเป็นอำเภอที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดในจังหวัดน่าน แต่ว่ากลุ่มที่เราไปสัมภาษณ์นั้นเขาไม่ได้เป็นลักษณะคอนแทร็กฟาร์มมิง (contract farming) กับซีพี แน่นอนว่าซีพีเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ โดยเป็นกลไกตลาดที่มีการผูกขาดเป็นขั้นๆ แต่ว่าด้วยความที่ซีพีเขาเสนอราคาที่สูงกว่าที่อื่น ตามกลไตลาดนั้นผู้ผลิตก็อยากขายให้ซีพีมากกว่า ซีพีก็เลยดูเหมือนจะเป็นผู้ร้าย”

ดร.สิทธิเดชกล่าวว่า ตอนแรกที่ทำวิจัย โจทย์ที่ตั้งก็คือ คอนแทร็กฟาร์มมิง แต่ตอนลงพื้นที่จริง ๆ ก็พบว่าเฉพาะพื้นที่อำเภอเวียงสาที่ไม่ได้เป็นคอนแทร็กฟาร์มมิง เพราะเกษตรกรในพื้นที่เขาผลิตข้าวโพดอยู่แล้ว ซีพีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำสัญญา และข้าวโพดที่ผลิตส่วนใหญ่ก็ไปรวมอยู่ที่ไซโล แล้วสุดท้ายไซโลก็ขนมาขายอยู่ดี ซึ่งซีพีก็ให้ราคาสูงที่สุด ดังนั้น ข้าวโพดคุณภาพจึงเข้าไปหาซีพีก่อน ที่เหลือจึงค่อยไปโรงงานอื่น

ดร.เขมรัฐกล่าวเสริมว่า เนื่องจากการปลูกข้าวโพดเน้นใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่อนข้างมาก เพราะเขามีพื้นที่จำกัด จึงต้องเพิ่มผลผลิตด้วยการเน้นใช้ปัจจัยการผลิต ยิ่งราคาปัจจัยการผลิตสูง เกษตรกรก็จะยิ่งเข้าไปอยู่ในบ่วงต้นทุนสูง สำหรับผู้ที่ปลูกในที่ชันจะปลูกได้ปีละครั้ง รายได้ครั้งเดียวทั้งปี นี่คือเงินที่ต้องเฉลี่ยใช้ทุกเดือน ซึ่งข้าวโพดที่ปลูกในที่ชันใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ที่ราบ 2 เดือน และคนละพันธุ์กัน ปลูกขายคนละลักษณะ ราคาที่ได้ก็ต่างกัน

เมื่อต้นทุนสูงและปลูกได้ปีละครั้ง เกษตรจึงต้องเชื่อวัตถุดิบจากไซโลที่รับซื้อ ผ่านหัวสี (ผู้รับจ้างสี) ที่จะคอยขนส่งปัจจัยการผลิตมาให้เกษตรกร และขนส่งผลผลิตไปยังไซโล สุดท้ายเมื่อได้ผลผลิตเกษตรกรก็จะเอามาขายยังไซโลเดิมที่เชื่อวัตถุดิบมา แล้วไซโลก็จะหักค่าปัจจัยการผลิตจากราคาข้าวโพดที่เอามาขาย

“แต่การที่เกษตรกรเชื่อวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เขาไม่รู้ว่าราคาปัจจัยการผลิตที่เขาต้องจ่ายนั้นเท่าไหร่ และไม่มีโอกาสซื้อปัจจัยการผลิตจากแหล่งอื่นที่ถูกกว่า เพราะราคาถูกกำหนดโดยไซโล เกษตรกรไม่มีอำนาจในการต่อรอง ดังนั้น เงินจึงเสียไปกับต้นทุนตรงนี้เยอะ” นักวิจัยทั้งสองให้ความเห็น

นอกจากนี้ เมื่อได้เงินก็ต้องรีบไปจ่ายเงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วก็กู้ลอตใหม่ออกมา เมื่อกู้ไม่พอก็ต้องกลับไปเอาวัตถุดิบจากไซโลอย่างเดิม ซึ่งที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตก็ต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากดินเสื่อมโทรม เขาก็ต้องยิ่งกู้หนัก ทำให้วนเวียนอยู่ในบ่วงนี้ เกษตรกรเองก็อยากจะออกแต่ออกไม่ได้ เพราะถูกฝังลึกไปในวงจรนี้แล้ว

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ที่มาภาพ: http://www.peithailand.org/th/nan.php
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มาภาพ: http://www.peithailand.org/th/nan.php

อีกทั้งมีสัญญาณจากรัฐบาล ด้วยนโยบายทั้งการจำนำข้าวโพด ประกันข้าวโพด เกษตรกรจึงมีความรู้สึกว่า การอยู่ในวงจรนี้นั้ อย่างน้อยก็ยังได้เงินมาอย่างชัดเจน

ดร.สิทธิเดชกล่าวว่า ในภาพรวม รัฐให้การสนับสนุนโดยมีทั้ง ธ.ก.ส. กองทุนหมู่บ้าน การประกันราคา การรับจำนำ มีคำถามว่าแล้วทำไมยังมีปัญหาอยู่ พื้นที่ปลูกข้าวโพดในจังหวัดน่านที่เราไปดูมี 2 ลักษณะ คือ ที่ราบ ซึ่งมีปัญหาไม่เยอะ เพราะมีที่ดินของตนเอง ปลูกได้ 2 ครั้ง/ปี เพราะฉะนั้น พื้นที่ที่ใช้ปลูกจึงน้อยกว่าในที่ชัน ส่วนที่ชันนั้นปลูกได้ครั้งเดียวจึงใช้เงินลงทุนเยอะ

“งานวิจัยนี้เราศึกษาที่เวียงสาอำเภอเดียว โดยแบ่งเกษตรกรเป็น 2 กลุ่ม คือ เกษตรกรในที่ราบ 2 หมู่บ้าน และที่ชัน 3 หมู่บ้าน แล้วเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกัน พบว่า เกษตรกรในที่ราบส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ปลูกน้อยกว่า 30 ไร่ แต่เกษตรกรในที่ชันส่วนใหญ่จะมีที่ 30-50 ไร่ เนื่องจากปลูกได้ครั้งเดียวจึงขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น จนเข้าไปทำลายป่าไม้เพราะที่ชันส่วนใหญ่ก็เป็นป่า และไม่มีโฉนด”

ถ้าดูการถือครองที่ดิน ในที่ราบส่วนใหญ่จะเป็นโฉนดกับ สปก. แต่ในที่ชันนั้นพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นที่ ภ.บ.ท. หรือไม่มีเอกสารสิทธิ ปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่น่านตอนนี้คือรัฐเข้าไปดูแลไม่เพียงพอ การเผาป่าไม้เพื่อมาปลูกข้าวโพดจึงขยายพื้นที่ออกไปมากมาย จากข้อมูลสถิติทางการคือ 4-5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จาก 3 แสนไร่ในปี 2548-2549 เป็น 9 แสนไร่ในปี 2553

ทางด้านแหล่งเงินทุนในที่ราบจะกู้ในระบบจาก ธ.ก.ส.เป็นส่วนใหญ่ แต่ในที่ชัน แม้จะกู้ในระบบเยอะ แต่ก็กู้นอกระบบเยอะด้วย ในที่นี้ก็คือกู้เป็นของหรือวัตถุดิบ

นักวิจัยทั้งสองอธิบายต่อว่า ด้านการกระจายผลตอบแทน อันนี้คือความไม่เท่าเทียมความเหลื่อมล้ำระหว่างชั้นจาก 3 ผู้เล่นหลัก คือ เกษตรกร หัวสี (ผู้รับจ้างสีและขนส่ง) และไซโล โดยดูว่าหลังจากหักต้นทุนแล้ว แต่ละคนจะได้เงินกิโลกรัมละกี่บาทพบว่า ถ้าข้าวโพดราคาสูง เกษตรกรที่มีทุนเองได้เงินเยอะมาก ส่วนกลุ่มหัวสีแม้ว่าจะได้เงินต่อกิโลกรัมน้อย แต่เขามีปริมาณข้าวโพดมาก เช่นเดียวกับไซโลซึ่งมีปริมาณข้าวโพดมากกว่าหัวสีอีก ซึ่งคนที่ได้ไปคือหัวสีและไซโล ซึ่งเป็นคนปล่อยกู้นอกระบบ นี่คือภาพแรก

ภาพที่สอง คือ ในกรณีที่ราคาข้าวโพดต่ำ พบว่า ทั้งเกษตรกรที่มีทุนและไม่มีทุนจะเป็นผู้ที่รับความเสี่ยง เพราะราคาลงค่อนข้างมาก ในขณะที่รายได้ของหัวสีและไซโลไม่ค่อยเปลี่ยน โดยสรุปคือ การกู้นอกระบบมีผลมากต่อเกษตรกร และถ้าราคาแกว่ง คนที่รับเคราะห์คือเกษตรกร

จากข้อมูลย้อนหลังจะเห็นว่า ในปีที่ข้าวโพดราคาตกแม้เพียงนิดเดียว รายได้เกษตรกรลดลงไปมากเลย สำหรับคนที่กู้นอกระบบจะยิ่งติดลบ ในขณะที่หัวสีและไซโลคงที่ เนื่องจากเขารักษาส่วนต่างราคาซื้อมาขายไป

หากพิจารณาจากรายได้สะสมของเกษตรกรจากการปลูกข้าวโพดอย่างเดียวรวม 7 ปี มีรายได้ประมาณ 3 แสนกว่าบาท เฉลี่ย 5-7 หมื่นบาท/ปี ในขณะที่หัวสีมีรายได้รวม 7 ปี อยู่ที่ 6-7 แสนบาท ที่ได้เยอะเพราะเก็บค่าขนส่งแพงกว่า เช่น ขนส่งในที่ราบ 0.30 บาท/กก. ส่วนที่ชัน 0.50 บาท/กก.

นักวิจัยทั้งสองกล่าวว่า จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เกษตรกรไม่ได้รวยขึ้นจากการปลูกข้าวโพดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่มีการปลูกข้าวโพดหนักๆ เนื่องจากข้าวโพดมีราคาดี จากปี 2547 ราคาไม่ถึง กก. ละ 5 บาท ล่าสุด กก. ละ 8 บาท ซึ่งเกษตรกรพอใจมากเนื่องจากรู้สึกว่าได้เงินเยอะ เพราะเงินก้อนที่เขารับมานั้นเยอะ แต่พอหักต้นทุนที่กู้ตอนเริ่มต้นก็เหลือประมาณหลักหมื่น ซึ่งหากเอามากระจายเป็นเงินต่อเดือนก็แทบจะไม่ได้อะไร

ส่วนในช่วงที่ไม่ปลูกข้าวโพด เกษตรกรมีอาชีพรับจ้างเป็นรายได้เสริม แต่ก็เพียงไม่กี่วัน เพราะเวลาส่วนใหญ่ก็ใช้เตรียมพื้นที่ปลูกครั้งต่อไป เพราะเขาปลูกข้าวโพดเป็นรายได้หลัก

ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี
ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี

สำหรับการบุกรุกป่าของเกษตรกรในที่ชัน ก็เพราะต้องการพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น และที่ป่านั้นก็ไม่มีเจ้าของ ปีไหนเขามีแรงมากก็ถางป่ามากเพาะปลูกเพิ่มได้มาก อีกทั้งนโยบายของภาครัฐก็จูงใจให้เกษตรกรบุกรุกป่ามากขึ้น ทั้งการประกันราคา การจำนำ ต่างๆ เพราะว่าถ้ามีผลผลิตเยอะก็จะจำนำได้เยอะ ชาวบ้านก็เลยขยายพื้นที่ปลูกใหญ่เลย เพราะคิดว่าขนาดพื้นที่แค่นี้ได้เท่านี้ ถ้าขยายเพิ่มพื้นที่ก็ต้องได้มากขึ้น แต่เนื่องจากดินเสื่อมโทรม ดังนั้นเขาก็ต้องซื้อปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันหลายพื้นที่ในจังหวัดน่านไม่สามารถเพาะปลูกได้แล้ว เพราะดินถูกฝนชะล้างหน้าดินไปหมดจนเหลือแต่ชั้นหิน ส่วนที่พอปลูกได้ก็ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม เพราะสิ่งที่เขาได้จากป่าเริ่มหมดแล้ว ดังนั้นค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตาม วนเวียนอยู่ในวงจรอย่างนี้

ถ้าหากให้สรุปจากผลการวิจัยจะได้ว่า 1. ความเหลื่อมล้ำเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งที่ราบและที่ชัน แต่ปัญหาที่ชันรุนแรงกว่า 2. เกษตรกรเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการผันผวนของราคา

นักวิจัยทั้งสองกล่าวสรุปว่าสุดท้ายสิ่งที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวงจรการปลูกข้าวโพด หรือวงจรอุบาทว์ของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คืออะไร ก็พบว่า ด้วยกายภาพของพื้นที่และภูมิประเทศทำให้เกษตรกรตัดสินใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เมื่อมาอยู่ในวงจรนี้แล้วก็พบกับปัญหาดินเสื่อมโทรม ต้นทุนที่สูง ต้องกู้ เข้ามาอยู่ในการปลูกพืชที่เขามีการต่อรอง เพราะมีกระบวนการที่อาศัยตัวกลางทั้งหัวสีและไซโล รวมถึงแรงจูงใจจากภาครัฐ จึงทำให้เขาตัดสินใจเพิ่มผลผลิตเพื่อรักษาระดับรายได้ของตน

แต่ถ้าไม่เพิ่มผลผลิต รายได้ลดลง เขาก็เจอความยากจน แต่ถ้าเพิ่มผลผลิต ก็เจอต้นทุนสูงขึ้นจากค่ายา ค่าปุ๋ย รายจ่ายมากขึ้น คุณภาพชีวิตและสุขภาพแย่ลง จากการตรวจสารพิษในเลือดก็พบว่ามีปัญหา เพียงแต่เรายังไม่มีข้อมูลตรงนี้มากพอ แล้วก็การกู้นอกระบบ ด้วยภาระหนี้เช่นนี้ทำให้เขาไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ ต้องทำงานที่ได้เงินแน่ๆ เรื่อยไป ก็คือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะมีสัญญาณจากภาครัฐตลอดเวลาว่าข้าวโพดได้เงินแน่ๆ มันก็วนไปยังจุดเริ่มต้นใหม่อีก สิ่งที่ทำให้คนมาติดอยู่ในวงจรนี้มากขึ้น หรือติดอยู่ในวงจรแน่นมากขึ้น วงจรอุบาทว์นี้จึงหมุนเร็วขึ้น คนปลูกมากขึ้น ซื้อปุ๋ยเคมี-ยาฆ่าแมลง และกู้นอกระบบ พ่อค้ารวยขึ้น แถมมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ในขณะที่เกษตรกรออกจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการถูกบีบทางปัจจัยการผลิตและแหล่งเงินทุน

นักวิจัยทั้งสองกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาที่จังหวัดน่าน ตอนนี้เริ่มมีจุดเปลี่ยนมาในทางฟื้นฟูบ้างแล้ว เพราะเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการปลูกข้าวโพดหนักๆ มา 4-5 ปี ตอนนี้จึงตัดสินใจหยุดแล้ว เช่น หมู่บ้านที่ไปดูมา จากเดิมที่เกษตรกรปลูกข้าวโพด 50 ไร่ ตอนนี้เขาเปลี่ยนมาปลูกแค่ 20 ไร่ ส่วนที่ที่เหลือก็คืนเป็นป่าหมดเลย แต่มันใช้เวลานานมากกว่าจะได้ป่าคืนมา เช่น หากมีเงินจากรัฐมาช่วยก็ใช้เวลา 5-10 ปี แต่ถ้าปล่อยที่ว่างเลยก็ประมาณ 20 ปี ทั้งนี้พื้นที่เพาะปลูก 20 ไร่ นั้นก็ต้องได้รับการสนับสนุนด้วย เช่น รัฐเข้าไปจัดการหาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เขาได้ใช้ทั้งปี หรือสอนว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถปลูกอะไรได้บ้างนอกจากข้าวโพด และที่สำคัญการที่หมู่บ้านหนึ่งๆ ทำสำเร็จก็เพราะมีผู้นำที่เข้มแข็งและต้องต่อสู้มากๆ หาทุนเอง ทำเองทุกอย่างโดยที่รัฐไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย

ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน
ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน

“สิ่งที่เกษตรกรต้องการมากที่สุดคือแหล่งน้ำ เพราะถ้ามีเขาจะสามารถทำอะไรได้หลายอย่างตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า ตามกฎหมายจะสร้างสิ่งก่อสร้างถาวรไม่ได้ ก็เป็นภาพที่ขัดแย้งกันว่า รัฐคิดว่าการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำให้จะทำให้ชาวบ้านขยายพื้นที่เพาะปลูกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น ในขณะที่ชาวบ้านมองว่าถ้ามีแหล่งน้ำเขาก็ไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกหรอก เพราะเขามีน้ำ จะปลูกอะไรก็ได้ตลอดปี ไม่ใช่ปลูกได้ปีละครั้งอย่างปัจจุบัน”

อีกปัญหาหนึ่งในที่ชันก็คือ การผูกขาดรับซื้อสินค้าเนื่องจากการคมนาคมที่ไม่สะดวก ดังนั้นจึงเสนอว่า จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐจะสนับสนุนพวก social enterprise ที่ไม่เน้นทำกำไรโดยการลดภาษีให้ และให้ผู้ประกอบการเน้นที่การรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกรลงมาหาตลาดให้เลย โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้า เป็นต้น

ส่วนระบบสหกรณ์ก็มี แต่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ค่อนข้างมีทุน มีชาวบ้านบางกลุ่มที่รวมตัวกัน รวบรวมลงมาขายเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้ชาวบ้านเองก็ไม่ได้คิดว่านายทุนโหดร้าย เขามองว่าเป็นคนใจดีที่มาช่วยเหลือเขา ไม่มีเงินก็ให้เชื่อก่อนได้ แล้วนายทุนเขาก็มีกลุ่มลูกค้าที่แบ่งกันชัดเจน ไม่แย่งกัน

ดร.สิทธิเดชกล่าวว่า ทุกวันนี้ตนคิดว่าชาวบ้านพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง เพราะเขาก็อยู่กันเอง ใครจะลุกขึ้นมาลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดโดยรายได้ไม่ลด รัฐจึงต้องส่งสัญญาณสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านเปลี่ยน อีกทั้งการเปลี่ยนก็ต้องใช้เงินมหาศาล ณ ตอนนี้ก็มีชาวบ้านส่วนหนึ่งเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดมาปลูกยางพาราแล้ว แต่ถ้าไม่รีบสร้างความเข้าใจตั้งแต่ตอนนี้ อีกไม่นานภูเขาก็จะกลายเป็นภูเขายางพาราอีก

“อย่างงบประมาณการจำนำปี 2556 ใช้งบ 3 หมื่นล้าน โดยรัฐรับจำนำราคาข้าวโพด 9 บาท ชาวบ้านก็ดีใจมาก ยิ้มเลย แล้วจะลดการปลูกได้ยังไง”