ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (4)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์แดนสฟิงซ์ (4)

26 กุมภาพันธ์ 2013


รายงานโดย: อิสรนันท์

ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/
ที่มาภาพ: http://static.guim.co.uk/

แม้ว่าสื่อตะวันตกได้ช่วยกันระบายสีทรัพย์สมบัติ ที่อดีตครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งแดนสฟิงซ์ได้ทุจริตคอร์รัปชันและยักยอกสมบัติของแผ่นดินมาเป็นสมบัติส่วนตัวว่าอาจสูงถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับว่า ร่ำรวยกว่านายคาร์ลอส สลิม เจ้าพ่อธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจากแดนจังโก้เม็กซิโก ซึ่งรั้งอันดับ 1 อภิมหาเศรษฐีโลกถึง 3 ปีซ้อน จากการจัดอันดับของนิตยสาร “ฟอบส์” ด้วยรายได้ 69,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท หรือรวยกว่านายบิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์เสียอีก

แต่ทุกสื่อก็ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันทรัพย์สินเหล่านั้นได้ ได้แต่อ้างลอยๆ ว่าส่วนใหญ่ซ่อนในบัญชีลับและการลงทุนผ่านนอมินีหลายซับหลายซ้อน

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้นำเสนอข่าวเจาะพิเศษชิ้นหนึ่ง โดยอ้างหลักฐานของทนายความอียิปต์หลายคนว่า บรรดาเครือญาติของนายฮอสนี มูบารัก ได้แอบยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ในรูปของเงินสด ทองคำ และสินทรัพย์ ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงทองคำหนัก 70 ตัน ที่ธนาคารกลางสหรัฐได้สั่งอายัดไว้ ถ้าเป็นจริงเท่ากับเป็นการปล้นสมบัติของแผ่นดินมูลค่ามหาศาลที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับจีดีพีของอียิปต์ที่สูงแค่ 500,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

จากเอกสารหนา 12 หน้า ที่รายงานให้ทางการทราบถึงการประเมินทรัพย์สินของนายมูบารักรวมทั้งลูกเมียและบริวารหว่านเครือว่ามีมากถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้อียิปต์ต้องส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อตามล่าสมบัติที่เชื่อว่าซุกซ่อนอยู่เหล่านั้น เอกสารแผ่นหนึ่งอ้างพยานคนหนึ่งที่กล่าวหาว่า เมื่อปี 2535 นายมูบารักได้ฝากแพลตตินัมหรือทองคำขาวหนัก 19,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 450,000 ล้านบาท) ไว้ในบัญชีลับส่วนตัวในธนาคารยูบีเอส ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ เอกสารนี้ได้ระบุหมายเลขบัญชี 19 หลักด้วย แต่โฆษกของธนาคารแห่งนี้โต้ว่าเป็นเอกสารปลอม นอกจากนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งในแดนสฟิงซ์ยังอ้างหลักฐานว่า อดีตฟาโรห์แห่งศตวรรษที่ 20 ยังได้ถือครองพันธบัตรมูลค่า 620 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,600 ล้านบาท) ออกโดยธนาคารบาร์เคลย์ อินเตอร์เนชั่นแนล แบงก์ แต่โฆษกธนาคารในกรุงลอนดอนปฏิเสธข่าวนี้ พร้อมกับโต้ว่าข้อกล่าวหานี้เหมือนกับที่มีการโพสต์ในอินเทอร์เน็ตว่ามีการฟอกเงินกัน

นายมูบารักเองยืนกรานตลอดมาว่า ไม่เคยมีบัญชีเงินฝากซ่อนในธนาคารต่างชาติ พร้อมกับย้ำว่าตัวเองมีเงินฝากในธนาคารอียิปต์เพียงแห่งเดียว ซึ่งยินดีให้อัยการตรวจสอบผ่านกระทรวงต่างประเทศอียิปต์ ที่จะสอบถามไปยังกระทรวงต่างประเทศของประเทศต้องสงสัย

ขณะเดียวกัน ทั้งสื่ออาหรับและนักวิชาการที่เชี่ยวชาญกิจการตะวันออกกลางต่างให้ข้อมูลคล้ายกันว่า ทรัพย์สินของอดีตครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งอียิปต์อยู่ระหว่าง 40,000-70,000 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น โดยนางอามาเนย์ จามาล ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเมินว่า ครอบครัวนายมูบารักอาจมีทรัพย์สินราว 40,000-70,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนทางเศรษฐกิจโดยอาศัยสายสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะอดีตนายทหารใหญ่และผู้นำรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชัน ในส่วนของลูกชายสองคน อาจมีทรัพย์สินเหยียบขั้นมหาเศรษฐีพันล้าน ส่วนนางซูซานน์ผู้เป็นภรรยาอาจมีทรัพย์สินประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 150,000 ล้านบาท)

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเผยว่า นายมูบารักอาจมีทรัพย์สินไม่ถึง 40,000 ล้านปอนด์ ส่วนใหญ่จากค่าคอมมิชชันในการซื้ออาวุธและการซื้อขายที่ดินที่น่าสงสัยในกรุงไคโรและในเขตส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยวที่เออร์กาดาและชาร์ม เอล ชีค นอกเหนือจากผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติต้องเจียดกำไรถึง 50 เปอร์เซ็นต์ให้ครอบครัวหมายเลขหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่มาร์ลโบโร, เมโทร, แอร์เมส, แมคโดนัลด์, สโกดา, อาห์หมัด เอซซ์, ดรีมแลนด์, อาร์ท, มูฟเวนพิค, โวดาโฟน, เซรามิกา, วีฟเวอส์ โมบินิล, ฮุนได, อัล อาห์ราม บีเวอรเรจ, ซิตี้สตาร์, อเมริกานา ฯลฯ

Mubarak pharaoh ที่มาภาพ :http://4.bp.blogspot.com/
Mubarak pharaoh ที่มาภาพ: http://4.bp.blogspot.com/

อาบาดิน อีลาซาร์ ผู้เขียนเรื่อง “The Last Pharaoh: Mubarak and the Uncertain Future of Egypt in the Obama Age,” หรือ “ฟาโรห์องค์สุดท้าย: มูบารักและอนาคตที่ไม่แน่นอนของอียิปต์ในยุคโอบามา” ซึ่งประเมินว่านายมูบารักมีสมบัติราว 50,000-70,000 ล้านดอลลาร์ กล่าวว่า นายมูบารักมีบ้านพักหลายหลังในอียิปต์ บางหลังเป็นของอดีตประธานาธิบดี บางแห่งก็เป็นอดีตพระราชวังหรือตำหนักเก่าของอดีตกษัตริย์และอดีตเชื้อพระวงศ์ บางหลังก็สร้างขึ้นมาใหม่ “มูบารักชอบชีวิตหรูหรา จึงมีบ้านหลายหลังทั่วประเทศ”

หนังสือของอาบาดินเล่มนี้ยังเปิดเผยด้วยว่า ลูกชายสองคนของนายมูบารักต่างมีหุ้นลมอยู่ในบริษัทการค้าและอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในอียิปต์โดยไม่ต้องควักเงินแม้แต่ดอลลาร์เดียว รวมไปถึงการมีหุ้นในภัตตาคารชื่อดังหลายแห่งของชิลี หุ้นในฮุนได สโกดา โวดาโฟน รวมทั้งโรงแรมหรูหราและอสังหาริมทรัพย์ แต่ผู้บริหารที่มีชื่อเหล่านั้นต่างปฏิเสธว่าครอบครัวนายมูบารักไม่มีหุ้นอยู่ในบริษัทแต่อย่างใด

นายคริสโตเฟอร์ เดวิดสัน ศาสตราจารย์ด้านการเมืองในตะวันออกกลางแห่งมหาวิทยาลัยเดอร์แฮมในอังกฤษกล่าวว่า ในส่วนของนางซูซานน์และลูกชายอีกสองคนนั้น ได้สั่งสมความมั่งคั่งร่ำรวยในรูปของการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัทต่างชาติ เพราะตามกฎหมายอียิปต์ได้บังคับให้ชาวต่างชาติต้องยอมให้นักลงทุนท้องถิ่นถือหุ้นใหญ่ 51 เปอร์เซ็นต์ ต่อกรณีนี้ อาลาดิน อีลาซาร์ นักเขียนชื่อดังเสริมว่า ผลพวงจากกฎหมายนี้ทำให้บรรษัทข้ามชาติจำเป็นต้องหาสปอนเซอร์ท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือครอบครัวหมายเลขหนึ่งหรือผู้ทรงอิทธิพลในพรรครัฐบาล

ขณะเดียวกัน โครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสำนักงานพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ ก็กลายเป็นโครงการเล่นเส้นหรือโครงการ “เสน่หานิยม” โรงแรมที่เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์หลายแห่งต้องถูกขายให้กับรัฐบาลหรือเพื่อนสนิทของนายมูบารัก หนังสือพิมพ์หลายฉบับถึงกับพาดหัวว่า “ได้กลิ่นของการคอร์รัปชันโชยไปทั่ว”

นักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งของอียิปต์ให้ความเห็นว่า ในช่วงแรกที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจ ดูเหมือนว่านายมูบารักมีความจริงใจที่จะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้พ้นจากเงาของอดีตประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มญาติโกโหติกาและคนสนิทที่รายล้อมนายมูบารักต่างเริ่มต้นแสวงหาประโยชน์ใส่ตัว ทุกอย่างเริ่มเลวร้ายมากขึ้นเมื่อนายอาลา ลูกชายคนโตของนายมูบารัก ได้กระโจนเข้าสู่วงการธุรกิจเอง และได้เม็ดเงินก้อนใหญ่จากค่าคอมมิชชันจากทุกบริษัทที่เข้าไปลงทุนในอียิปต์ ซึ่งเงินก้อนใหญ่ที่ได้มานั้นไม่ใช่การขโมย แต่เป็นการประกันว่าธุรกิจจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ต่อมาค่าคอมมิชชันก็พุ่งขึ้นจาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 20 เปอร์เซ็นต์

นายเดวิดสันยอมรับว่าตัวเลขที่ว่านายมูบารักมีทรัพย์สินราว 17,000 ล้านดอลลาร์ นายกามาล ลูกชายคนที่สอง มีราว 10,000 ล้านดอลลาร์ และทั้งครอบครัวมีรวมกันราว 40,000 ล้านดอลลาร์ ล้วนแต่เป็นตัวเลขประเมินที่ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ เพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลบัญชีลับธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของสื่ออาหรับหลายเว็บรายงานว่า นายมูบารักและคนสนิทยังได้รับของขวัญล้ำค่าจากอัล อาห์ราม สถาบันสื่อภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ โดยนายอิบรอฮิม นานาอี ผู้เป็นประธานอัล อาห์ราม มานานถูกกล่าวหาว่า เป็นคนประเคนของขวัญราคาแพงให้นายมูบารักและเจ้าหน้าที่ระดับสูงนับตั้งแต่นายนานาอีเริ่มรับตำแหน่งเมื่อปี 2527 จนกระทั่งถูกปลดเมื่อปี 2548 โดยคนที่ขึ้นมารับตำแหน่งแทนก็ได้เดินตามรอยนั้น จนกระทั่งเกิดปฏิวัติประชาชนล้มรัฐบาลนายมูบารัก ประเพณีการมอบของขวัญแพงๆ จึงยุติลงโดยปริยาย

ว่ากันว่ามีการมอบของขวัญราคาแพงรวมมูลค่าราว 100 ล้านปอนด์อียิปต์ให้นายมูบารัก นางซูซานน์ และลูกชายทั้ง 2 คน รวมทั้งนายอาเหม็ด นาซิฟ อดีตนายกรัฐมนตรี นายซากาเรีย อัซมี อดีตประธานเจ้าหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดี ตลอดจน นายฟาธี ซูรัวร์ และ นายซาฟวัต อัล เชอริฟ อดีตประธานสภาผู้แทนฯ ทั้ง 2 คน นายฮาบิบ อัล แอดลี อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย และอดีตนักโฆษณาชวนเชื่อในสื่อรัฐอีกหลายคน โดยให้เหตุผลว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์

จากผลการตรวจสอบการกระทำของอัล อาห์ราม ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์และวารสารต่างๆ พบว่า “ประธานของอัล อาห์ราม ได้ใช้อำนาจยึดเงินของรัฐจากนักเก็งกำไรผิดกฎหมาย และได้ผลาญเงินของสถาบันจำนวนมาก”

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของสื่ออาหรับหลายแห่ง อาทิ อัล มัสร์ อัล ยูม เผยว่า ทางการอียิปต์ยังได้สอบสวนนายมูบารักและอดีตรัฐมนตรีน้ำมันคู่ใจในข้อหาคอร์รัปชัน กรณีแอบขายน้ำมันราคาถูกให้กับอิสราเอลและ 6 ประเทศยุโรป มาเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 170 ล้านดอลลาร์ (ราว 5,100 ล้านบาท) ขณะที่เว็บไซต์ของเด็บการะบุว่า เฉพาะการทำสัญญาระยะ 15 ปี เมื่อปี 2548 ที่แอบขายน้ำมันให้กับอิสราเอลเพียงประเทศเดียว ทำให้รัฐสูญเสียได้มากถึง 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 15,000 ล้านบาท)